ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 31 December 2010

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: 2553 ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น

ที่มา ประชาไท

ปีที่แล้วจัดอันดับข่าวฮา แต่ปีนี้ที่เกิดเหตุการณ์นองเลือด เข่นฆ่า จับกุมคุมขัง ละเมิดสิทธิเสรีภาพมวลชนอย่างร้ายแรง จึงไม่มีอารมณ์จัดอันดับข่าวฮา ขอสรุปภาพเหตุการณ์ตามใจฉัน (ผม) ก็แล้วกัน

ก่อนอื่นขอชมนักข่าวทำเนียบ นักข่าวสภา ที่ตั้งฉายารัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างตรงไปตรงมา แสดงออกซึ่งความเป็นกลางและเป็นอิสระ ของนักข่าวพื้นที่ ไม่แสดงอคติเลือกข้างเหมือนข่าวที่ผ่านการเรียบเรียงและพาดหัวโดยหัวหน้าข่าว บรรณาธิการข่าว

ฉายาที่สะใจนอกจาก ‘ซีมาร์คโลชั่น’ ก็คือ ‘กริ๊ง...สิงสื่อ’ ซึ่งแฉหมดเปลือกว่า สาทิตย์โทรศัพท์สายตรงไปถึงกองบรรณาธิการสื่อของรัฐ ชี้นำกำหนดประเด็นการเสนอข่าว

นี่หรือรัฐบาล ปชป.ที่เคยตีฆ้องร้องป่าวว่า ทักษิณแทรกแซงสื่อ ซื้อสื่อ แต่เปิดหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้เราจะเห็นแต่โฆษณาหน่วยงานของรัฐเต็มไปหมดทุกฉบับ พร้อมกับใบหน้านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ (โฆษณาฟรีจากเงินภาษีประชาชน)

ส่วนนักข่าวสภาก็สะใจที่ให้ 40 สว.เป็น ‘ดาวดับ’ ไม่ไว้หน้า สมชาย แสวงการ กับคำนูณ สิทธิสมาน และที่ขำกลิ้งโดยอาจไม่ได้ตั้งใจคือ คนดีศรีสภาได้แก่ ทิวา เงินยวง (ตายแล้ว)

1.ปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น
ทำไมจะไม่ใช่ล่ะ ก็ในเมื่อ CNN ยังยกให้เหตุการณ์ชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นอันดับ 1 ใน 20 ข่าวเปลี่ยนแปลงโลกของภูมิภาคเอเชีย

สังคมไทยมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมุม ตามทัศนะชนชั้น ไม่เฉพาะการชุมนุมและการใช้กำลัง ‘กระชับพื้นที่’ น้ำท่วมใหญ่ปลายปี ก็เจือปน ‘ทัศนะชนชั้น’ เพราะที่ผ่านมาน้ำท่วมเรือกสวนไร่นาทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ คนอยุธยา คนปทุม ‘ชนชั้นแก้มลิง’ อ่วมอรทัยทุกปี คนกรุงไม่เคยสนใจ แต่ปีนี้ คนกรุงเห็นภาพสดๆ ทางทีวี น้ำหลากเข้าท่วมเมือง โรงพยาบาล บ้านจัดสรรที่โคราช ท่วมตลาดหาดใหญ่ แหม! มันเข้าถึงหัวอกคนชั้นกลางด้วยกัน

นอกจากนี้ยังรวมกระแส ‘กอดต้นไม้’ คัดค้านถนนขึ้นเขาใหญ่ ปลุกคนชั้นกลางให้กอดภูเขา กอดทะเล กอดแม่น้ำ (อนุรักษ์ไว้เพื่อห้กรูไปเที่ยวนอนรีสอร์ท) แต่ไม่ยักอยากกอดเพื่อนมนุษย์

สิ่งที่สะท้อนว่านี่เป็นปีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้น คือเราสามารถจัดอันดับเรื่องต่างๆ ได้เป็น 2 มุมที่ต่างกันสุดขั้ว เช่น

บุคคลแห่งปี ‘ไพร่’ หรือ ‘คนชั้นกลางเฟซบุค’
อาจพูดได้อีกอย่างว่า พระ(นาง)เอกแห่งปี หรือพระ(นาง)ร้ายแห่งปี

‘ไพร่แดง’ กรีธาทัพเข้าเมืองหลวง ยกขบวนไปทั่วกรุงท่ามกลางการโบกธงต้อนรับของแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน คนงานก่อสร้าง ทำให้คนชั้นกลางวิตกอกสั่น เพราะเพิ่งรู้ว่าคนสวน คนขับรถ แม่บ้านที่ชงกาแฟให้กินทุกวัน ล้วนเป็นเสื้อแดง

‘ไพร่แดง’ ยึดราชดำเนิน ยึดราชประสงค์ ยึดสถานีไทยคม ใช้กำลังคนที่มีแต่สองมือเปล่าปิดล้อมปลดอาวุธทหาร เหตุการณ์ 10 เมษายน แม้ถูกยิงล้มตายราวใบไม้ร่วง แต่มวลชนที่โกรธแค้นก็ลุกฮือไล่ ‘ทหารเสือ’ หนีกระเจิง ทิ้งอาวุธ ทิ้งรถหุ้มเกราะ กระทั่งถอดเครื่องแบบเอาตัวรอด

แม้ต่อมา มวลชนเสื้อแดงถูกปราบด้วยปฏิบัติการกระชับพื้นที่ พร้อม ‘สไนเปอร์’ ใน ‘เขตใช้กระสุนจริง’ พวกเขาก็ยืนหยัดต้านทานอยู่ในวงล้อมจนวาระสุดท้ายอย่างองอาจกล้าหาญไม่กลัวความตาย

แน่นอน ในนั้นมีความมุทะลุ มีความคิดรุนแรง เลยธง บ้าระห่ำ การนำที่สะเปะสะปะ ขาดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี แต่สำหรับมวลชน ‘คนชั้นต่ำของแผ่นดิน’ นี่คือวีรกรรมและความเคียดแค้นเจ็บช้ำที่จะจดจำไปตลอดกาล

ขณะเดียวกัน เมื่อ ‘แดงถ่อย’ ยึดราชประสงค์ แหล่งชอปกระหน่ำซัมเมอร์เซล ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ทั้งยังอาละวาดบุกที่นั่นที่นี่ ทำลาย ‘ความสงบสุข’ ของคนกรุง ก็เกิดกระแส ‘มวลชนเฟซบุค’ ล่า 1 ล้านชื่อสนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ ให้ใช้กำลังทหารปราบม็อบ หรืออีกนัยหนึ่ง ‘ออกใบอนุญาตฆ่า’ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องเกิดบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนกลาด แต่ต้องทำ เพื่อ ‘เอาความสุขของกรูคืนมา’

หลังเหตุการณ์ คนชั้นกลางชาวกรุงยังสร้างอารมณ์ร่วมทางชนชั้น หลั่งน้ำตาอาลัยตึกเวิลด์เทรด หวนหาความผูกพันอันโรแมนติกที่มีต่อโรงหนังสยามและโรงเรียนกวดวิชา (ตลอดจนไปเข้าคิวซื้อโดนัทที่สยามพารากอน) พวกเขาและเธอช่วยกันปกป้องอภิสิทธิ์และกองทัพ กระทั่งเขียนไปตอบโต้แดน ริเวอร์ แห่ง CNN อย่าง ‘องอาจกล้าหาญ’ กรี๊ดสนั่น ‘ไก่อู’ เป็นหนุ่มเนื้อหอมแห่งปี

นี่คือ ‘วีรกรรม’ ในทัศนะของคนกรุงเช่นกัน

วีรบุรุษแห่งปี เสธ.แดง หรือร่มเกล้า
วีรบุรุษในภาพรวมทุกชนชั้นเห็นพ้องว่าได้แก่ ‘จ่าเพียร’ ตำรวจดีไม่มีเส้น ผู้ตรากตรำทำหน้าที่จนวาระสุดท้าย

แต่วีรบุรุษทางการเมือง มีช้อยส์ให้เลือก 2 ข้อเช่นกัน คือ เสธ.แดง หรือ พ.อ.ร่มเกล้า

ผมเคยเปรียบเทียบไว้แล้วว่า เสธ.แดงจะเป็น ‘ตำนาน’ ส่วน พ.อ.ร่มเกล้าจะเป็น ‘อนุสาวรีย์’ แม้บ้าระห่ำไร้ทิศทาง มุทะลุไร้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างไร เสธ.แดงก็ ‘ได้ใจ’ เข้าถึงหัวจิตหัวใจมวลชน งานศพเสธ.แดงมีคนมาไว้อาลัยล้นหลาม เรื่องราวของนายพลขวัญใจคนชั้นล่างคงเล่าขานกันไปอีกนาน ...แต่ไม่ทราบว่ากองทัพสร้างรูปปั้นให้ พ.อ.ร่มเกล้า หรือยัง

ตัวตลกแห่งปี หมอเหวง หรือหมอประเวศ
หมอเหวงออกทีวีกับอภิสิทธิ์ แต่กลับออกทะเลจนคำว่า ‘เหวง’ กลายเป็นศัพท์แสลงใหม่ฮิตในหมู่คนกรุง ขณะที่คนเสื้อแดงเองก็บ่นเซ็งอุบอิบ

หมอประเวศกับอานันท์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ใช้งบประมาณ 600 ล้าน กระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่ นอกจากทฤษฎีชุมชนนิยมที่พูดไว้ซ้ำซาก จนถูกคนรุ่นหลังถอนหงอกสนุกสนาน ไม่ใช่แค่ ‘คำ ผกา’ แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์หรือผู้สนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ก็ออกอาการเซ็งและอดแซวไม่ได้เช่นกัน

ป.ล.ถ้าเลือกหมอประเวศ ก็รวมอานันท์และกรรมการปฏิรูปทั้งสองชุด

Idol แห่งปี อภิชาติพงศ์ หรือแทนคุณ
แทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้มีภาพลักษณ์ ‘ลูกกตัญญู’ เป็นจุดขาย ทำหน้าที่พิธีกร NBT ตอบโต้ ‘ไพร่แดง’ อย่างแข็งขัน เป็นขวัญใจคนชั้นกลางเฟซบุค ปกป้องระบอบอภิสิทธิ์ และกองทัพ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ก้าวขึ้นรับรางวัลปาล์มทองที่เมืองคานส์ โดยไม่กล่าวขอบคุณใครให้ยืดยาวแบบไทยๆ แต่กลับขอบคุณ ‘ภูติผีปีศาจ’ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า การต่อสู้ของเสื้อแดงคือการต่อสู้ทางชนชั้น นอกจากนี้ เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคัดค้านกระทรวงวัฒนธรรมที่ให้งบ 100 ล้านกับหนัง ‘นเรศวร’ เรื่องเดียว


2.สิ่งต่างๆ แห่งปี
ข่าวฮาแห่งปี : น้ำท่วมให้รีบตัก ทันทีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ก็มีคนบอกว่านี่คือ ‘นาทีทอง’ ของรัฐบาล ที่จะเก็บเกี่ยวเยียวยากลบปัญหาความขัดแย้ง แต่ที่ไหนได้ กลับกลายเป็นนาทีทองของสรยุทธ์ กับครอบครัวข่าว 3 แม้จะมีคำถามถึงการทำเกินหน้าที่สื่อ (คือตีปี๊บเฉพาะพื้นที่ที่ตนลงไปช่วย) แต่ก็ทำให้รัฐบาลหน้าแหกเสียรังวัด พิสูจน์ความไร้กึ๋นไร้ประสิทธิภาพ

หัวข่าวฮาแห่งปี : เนวินทอดกฐินโจร ที่จริงต้องยกเป็นข่าวยอดเยี่ยม ด้านให้การศึกษาเด็กและเยาวชนรู้จักประเพณีสำคัญทางศาสนา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักว่า ‘กฐินโจร’ คือการทอดกฐินตกค้างให้กับวัดที่ไม่มีเจ้าภาพ เมื่อเห็นหัวข่าว ‘เนวินทอดกฐินโจร’ จึงฮือฮา พลิกอ่านแล้วค่อยร้องอ๋อ ที่แท้ทอดกฐินตกค้างให้ 239 วัดในบุรีรัมย์ ถ้าเป็นคนอื่นทอดกฐินโจร ก็คงไม่เรียกความสนใจได้เช่นนี้

หัวข่าวเฮ(โล)แห่งปี : ทักษิณ 1 ใน 5 ผู้นำยอดแย่ แพร่มาจากข้อเขียนของโจชัว คีทติ้ง ในเว็บไซต์นิตยสาร Foreign Policy ในเครือวอชิงตันโพสต์ กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่แทบทุกฉบับ ขณะที่ข่าวนายกฯ อังกฤษไม่มาเที่ยวเมืองไทยเพราะเกรงจะส่งสัญญาณหนุนอภิสิทธิ์ ตกหายจากหัวข่าวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ มีมติชนพาดหัวใหญ่ฉบับเดียว

ที่จริงทั้งสองข่าวต้องเสนอแก่ผู้อ่านแต่ไม่จำเป็นต้องเน้นมากนัก เพราะข่าวแรกแค่ทัศนะฝรั่งคนเดียว ข่าวหลังก็อ้างแหล่งข่าวไม่เป็นทางการ เรื่องตลกคือ ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ Foreign Policy จะพบว่าข้อเขียนเรื่องอื่นๆ ของคีทติ้งมีคนโหวตพอใจ 20-30 หรืออย่างเก่งก็ 100-200 ราย แต่ข้อเขียนเรื่องนี้มีคนโหวตถล่มทลาย 4 พันกว่าราย คาดว่าเป็นข้อเขียนที่มีคนอ่านมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งนิตยสารฉบับนี้มาเลยทีเดียว (คนชาติไหนคงเดาได้)

ไร้สาระแห่งปี : กฎเหล็กของมาร์ค กฎเหล็ก รธน. ขวัญใจจริตนิยมให้เทพเทือกลาออกก่อนลงเลือกตั้ง ชนะแล้วกลับมาเป็นรองนายกฯ ใหม่ จากนั้นก็ใช้กฎเดียวกันบีบให้บุญจง-เกื้อกูล ทำตาม ชนะแล้วกลับมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ ถามว่ามีประโยชน์อะไร เพราะข้าราชการหัวคะแนนกำนันผู้ใหญ่บ้านรับรู้ทั่วกัน มี-ตรงที่ทำให้มาร์คได้คะแนนนิยม

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับการแต่งตั้งปลัดมหาดไทย ที่ถูกตีกลับ แต่ก็เพียงเปลี่ยนจากศิษย์ ‘โรงเรียนเนฯ’ เบอร์ 1 มาเป็นเบอร์ 2 กลบเกลื่อน

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ 6 ส.ส.พ้นสภาพ เนื่องจากถือหุ้นบริษัทสัมปทานรัฐ ทั้งที่เป็นการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีจำนวนน้อยนิด ไม่ส่งผลให้มีสิทธิเสียงในการบริหาร นี่คือกฎเกณฑ์หยุมหยิมจับยายฉิมเก็บเห็ดในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งทำให้ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินจัดการเลือกตั้งใหม่ 5 เขต โดยยังคล้ายคดีสมัครชิมไปบ่นไป พ้นนายกฯ เพราะพจนานุกรม วันรุ่งขึ้นก็ยังมีสิทธิเป็นนายกฯ อีก ในกรณีนี้ 5 ส.ส.เขตยังกลับมาลงเลือกตั้งได้อีก ถามว่าถ้าขาดคุณสมบัติ ผิดจริยธรรมร้ายแรง จนถูกถอดถอนแล้ว ยังให้กลับมาได้อย่างไร คำตอบคือ พวกเขาไม่ได้ขาดคุณสมบัติ และไม่ควรถูกถอดถอนตั้งแต่แรก ถ้าจะวินิจฉัยว่าผิด อย่างเก่งก็คือมี ‘ลักษณะต้องห้าม’ ให้จำหน่ายจ่ายหุ้นเสียแล้วเป็น ส.ส.ต่อไป

บุคคลตัวอย่าง : ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถ้าธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ปชป.ก็คงไม่นับเป็นบุคคลตัวอย่าง แต่ธาริตเป็นผู้ใกล้ชิด ทรท.มาก่อน เริ่มจากเป็นอัยการ หน้าห้องคณิต ณ นคร หมอมิ้งดึงไปช่วยราชการสำนักนายกฯ เป็นที่ปรึกษาพันศักดิ์ วิญญรัตน์ แล้วก็ย้ายจากอัยการมาเป็นรองอธิบดี DSI ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งคงจะหวังให้เป็นมือเป็นไม้ แต่กลับได้ขึ้นเป็นอธิบดีในยุคพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค สร้างชื่อเป็นมือปราบ ‘ผู้ก่อการร้ายเสื้อแดง’ ด้วยการสืบสวนสอบสวนแบบ ‘กันไว้เป็นพยาน’ และตีปี๊บข่าวฝึกอาวุธในเขมร กระทั่งได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก ม.ธุรกิจบัณฑิตย์

นี่คือ ‘บุคคลตัวอย่าง’ ที่เยาวชนคนรุ่นหลังต้องจดจำและเลียนแบบ ถ้าอยากจะได้ดิบได้ดีในสังคมนี้

สถาบันตัวอย่าง : ม.รังสิต รักพี่เสียดายน้อง เลือกยากจริงๆ ธรรมศาสตร์เลือกอธิการบดีได้สมคิด เลิศไพฑูรย์ สืบทอดเก้าอี้สุรพล นิติไกรพจน์ จุฬาฯ ยึดป้ายนักศึกษาประท้วงอภิสิทธิ์ ขณะที่นิด้าของสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ต้องยกให้เป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ บทบาทไม่ตกฟาก

อย่างไรก็ดี สุดท้ายขอเลือก ม.รังสิต เพราะออกแถลงการณ์ 3 ฉบับในนามมหาวิทยาลัย คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชา เปล่า ไม่ติดใจเนื้อหาหรอก แต่แถลงการณ์ลงชื่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับ ดร.สมปอง สุจริตกุล แค่ 2 คน! รู้สึกประทับใจที่ 2 คนลงชื่อแทนทั้งมหาวิทยาลัยได้ (ถ้าใช้คำว่าบริษัทมหาวิทยาลัยรังสิต จำกัด จะไม่แปลกใจเลย)

คดีส่งผลสะเทือนแห่งปี : 3G คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุดที่ทำแท้งการประมูลใบอนุญาต 3G เป็นคดีที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง รุนแรง ลึกซึ้ง ยาวนาน ผลการตีความของศาลทำให้การแข่งขันเสรีเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีก้าวสำคัญต้องชะงักงันไปเป็นปีๆ ขณะที่ ทศท.กสท. (ภายใต้กำกับของจุติ ไกรฤกษ์) สามารถนำคลื่น 3G ที่มีอยู่แล้วมาเปิดสัมปทานได้ กลายเป็น tiger eat sleep สบายใจเฉิบต่อไป (ก่อนหน้านี้ก็ได้ค่าสัมปทานคืนมาเพราะยกเลิก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต) หนำซ้ำ กสท.ยังแบะท่าจะยกคลื่นให้ True ของเจ้าสัวซีพี ชิงความได้เปรียบอีก 2 บริษัทอย่างมหาศาล ทั้งที่ถ้าเข้าประมูลใบอนุญาตกับ กทช.True คือผู้ที่มีความพร้อมน้อยที่สุด

คดีนี้วินิจฉัยโดยองค์คณะที่ท่านหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ‘ศิษย์เอกโกเอ็นก้า’ เป็นตุลาการหัวหน้าคณะ ก่อนขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดแทน อ.อักขราทร จุฬารัตน์ ในอีก 7 วันต่อมา

คดีกังขาแห่งปี : 29 ล้านกับ 258 ล้าน คดี 29 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า ปชป.ไม่ผิด 4-2 คดี 258 ล้าน ปชป.ชนะฟาวล์ โดยศาลยังไม่ทันไต่สวนข้อเท็จจริง ถ้าเอาตรรกมาเรียบเรียงใหม่ สมมติศาลเห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยุบพรรค คดีแรก ยังไงๆ ปชป.ก็ไม่ผิด แต่คดีหลังล่ะ ฉะนั้น การชนะฟาวล์จริงๆ แล้วไม่มีประโยชน์ต่อคดีแรก แต่อาจสำคัญมากๆๆ กับคดีหลัง

คดีแรกชนะฟาวล์ด้วยมติ 3-1-2 แต่กลับรวบรัดเป็น 4-2 และเอาความเห็นของ 1 เสียงมาใช้ในคำวินิจฉัยชั่วคราว แต่แก้ไขใหม่ในคำวินิจฉัยค้างคืน คดีหลังถ้ามีตุลาการ 6 คนเท่าเดิม มติก็จะออกมาเป็น 3-3 แต่ ปชป.โชคดีตามเคยที่องค์คณะกลับมาเป็น 7 คน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจแห่งปี: ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอภิปรายทักษิณ ฐานทางกฎหมายของคดีนี้คือมาตรา 4 กฎหมาย ปปช.ซึ่งระบุว่า ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ หมายถึง ‘ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง’ คำวินิจฉัยพยายามเชื่อมโยงองค์ประกอบ 3 ส่วนเข้าด้วยกันคือ หนึ่ง หุ้นเป็นของทักษิณ สอง มีการแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาที่เกิดประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อมกับชินคอร์ป และสาม เกิดในขณะที่ทักษิณเป็นนายกฯ แต่องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไป คือการพิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปสั่งการให้เอื้อประโยชน์ ซึ่งจะเข้าข่ายทุจริตประพฤติมิชอบตามมาตรา 157

คำวินิจฉัยมุ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ไปยังประเด็นที่สอง ว่ามีการแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาให้ได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ ซึ่งคำว่า ‘ไม่สมควร’ ฟ้องในตัวว่าเป็นเพียงทัศนะหรือความเห็น ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ทางกฎหมาย ไม่ชัดเจนเหมือนคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ถามว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือไหม-มี เพราะสังคม (แม้แต่ผม) ก็เชื่ออยู่แล้วว่าทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่เมื่อเป็นทัศนะหรือความเห็น ก็เป็นสิ่งที่โต้แย้งเห็นต่างได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยว่า ‘ไม่สมควร’ ทั้ง 5 ประเด็น บางคนอาจเห็นด้วยบางประเด็น ไม่เห็นด้วยบางประเด็น หรือไม่เห็นด้วยเลย การแก้ไขกฎหมายหรือแก้ไขสัญญาในทุกรัฐบาล ก็มีบ่อยครั้งที่เอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์ โดยรัฐอาจมองถึงประโยชน์ส่วนรวม เช่น เพื่อให้โครงการลุล่วง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง หรือเพื่อให้รัฐได้ส่วนแบ่งค่าสัมปทานมากขึ้น กรณีนี้ ประเด็นที่โต้เถียงกันเยอะมากคือ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งทำให้คลังได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องเข้าปาก tiger eat sleep แต่ศาลเห็นตาม คตส.ว่าเป็นการกีดกันคู่แข่ง

เมื่อไม่ได้พิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่แทรกแซงสั่งการ เพียงอนุมานว่า ‘ทักษิณเป็นเจ้าของ ทักษิณเป็นนายกฯ ทักษิณได้ประโยชน์ ซ.ต.พ.’ คำวินิจฉัยจึงไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต่างจากที่ อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ พูดไว้ หรือที่พรรคประชาธิปัตย์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งทำให้สังคมเชื่อ ทำให้สังคมเคลือบแคลงกังขาว่าทักษิณไม่โปร่งใส แต่ไม่ได้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่

ศาลตีความมาตรา 4 ว่าต้องการข้อสรุปเพียง ‘ไม่สมควร’ ไม่ต้องพิสูจน์ว่า ‘ทุจริต’ การวินิจฉัยคดีนี้จึงกลายเป็นเรื่องของความเห็น ไม่ใช่เรื่องของการพิสูจน์ข้อเท็จจริง คำวินิจฉัยทั้งหมดเป็นความเห็นที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เราๆ ท่านๆ เคยเคลือบแคลงสงสัยกันมาก่อน เพียงนำมาจัดเรียงใหม่ให้หนักแน่นและเข้าองค์ประกอบของกฎหมายตามที่ศาลตีความ

ให้สังเกตด้วยว่าเมื่อคำวินิจฉัยขาดคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ก็ทำให้รัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาที่ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์โดย ‘ไม่สมควร’ แต่ถ้ามีคำว่า ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ พิสูจน์ได้ว่าทักษิณแทรกแซงสั่งการ สัญญาเหล่านั้นจะเป็นโมฆะทันที

ช้อยส์แห่งปี : สนธิ ลิ้ม กับวีระ สมความคิด จะเลือกบริจาคกล่องไหน

ช้อยส์แห่งปี (สำหรับตุลาการภิวัตน์) : ชัช ชลวร หรืออภิชาติ สุขัคคานนท์ ใครจะไปก่อน

วาทะแห่งปี : ‘ล้มเจ้า’ ข้อกล่าวหาที่ครอบกะลาหัวมวลชนเสื้อแดง กระทั่งมีแผนผัง ศอฉ.โยงใครต่อใครมั่วไปหมด สาเหตุที่เลือกวาทะนี้ เป็นเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ เพราะคนที่เอามาจุดชนวน เป็นคนเดือนตุลาที่เคยถูกข้อกล่าวหาแบบเดียวกันเมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 จนต้องหนีหัวซุกหัวซุนเข้าป่า

ผู้แพ้แห่งปี : ‘หญิงเป็ด จากนางเอ๊กนางเอกที่มีแค่คนแซ่ซ้องสดุดี ว่านี่แหละมือปราบทุจริต ไม่ทราบว่าเกิดความพลิกผันอย่างไร คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้พยายามจะกลับมาทวงเก้าอี้ผู้ว่า สตง.จึงถูกรุมแซนด์วิชโดยศิษย์ก้นกุฎีอย่าง พิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กับเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นอกจากนี้ยังโดนกระหนาบโดยมีชัย ฤชุพันธ์ และกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจำใจยุติบทบาทตามคำสั่งศาลปกครอง ที่น่าประหลาดใจคือไม่ยักมีใครช่วย’หญิงเป็ด แม้แต่สื่อต่างๆ ที่เคยแซ่ซ้องก็ยังกลับมาตำหนิติติง

ดาวดับแห่งปี : ................ อิอิ อ้าปากก็คงเดาได้ อุตส่าห์เก็บไว้ตอนท้าย ไม่ใช่แค่ 40 สว. แต่ใครเอ่ย แพ้เลือกตั้ง สก.สข.จู๋น-จู๋น ยกพลไปประท้วง MOU ปี 43 ม็อบหน้าสภาค้านแก้รัฐธรรมนูญ ก็นับหัวแล้วใจหาย ศิษย์เก่ามัฆวาฬ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ไปไหนหมด ไม่กลับมารำลึกความหลังกันมั่งเลย

ขนาดสื่อพวกกันเองยังเผลอซ้ำเติม บอกว่าคนกรุงไม่เลือกม็อบ ไม่เลือกความรุนแรง จึงไม่เลือกทั้งเพื่อไทยและการเมืองใหม่ พูดอีกก็ถูกอีก แน่นอนคนกรุงคนชั้นกลางปฏิเสธทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง แต่เสื้อแดงไม่ตายเพราะมีฐานมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลในชนบท ขณะที่ พธม.หากินกับการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่งของคนชั้นกลาง ทั้งกระแสเกลียดทักษิณ ทั้งอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แต่ตอนนี้ อภิสิทธิ์ขโมยซีนไปหมด ทั้งยังขายโปรโมชั่น ‘ไทยนี้รักสงบ’ ถูกอกถูกใจคนชั้นกลางผู้เบื่อหน่าย ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ

พันธมิตรจึงเสียมวลชนให้อภิสิทธิ์ อีกด้านหนึ่ง มวลชน ปชป.ที่แฝงตัวเข้าพันธมิตรก็ถอยกลับ แกนนำพันธมิตรเริ่มเอ่ยปากทำนองว่า ‘เหลืองแดงรวมกันได้’ แต่ไม่มีทาง ภารกิจที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องในปีหน้าคือการเย้ยหยันพันธมิตร แม้โดยส่วนตัวจะเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่ต้อง ‘ทำลายล้าง’ ในเชิงหลักการ เพราะพันธมิตรบิดเบือนหลักการจนเลอะไปหมด ต้อง ‘กระชับพื้นที่’ ยึดพื้นที่ทางหลักการคืนมา