ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 30 December 2010

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ : บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2553 สาขา "วิชาการ"

ที่มา มติชน



นักวิชาการที่มีความคงเส้นคงวาทางวิชาการในบ้านเรามีน้อยคนนัก นักวิชาการหลายคนเมื่อเข้าไปรับใช้การเมือง สุ่มเสียงก็เปลี่ยนไป


ยิ่งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยิ่งหานักวิชาการกล้าตั้งคำถามต่อเรื่องหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ...นับคนได้


ในรอบปี 2553 ท่ามกลางความเงียบงันทางวิชาการ เมื่อนักวิชาการถูกรัฐบาล "เทพประทาน" แต่งตั้งเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ มากมาย ขณะที่อีกหลายคนเตรียมลงชิงเก้าอี้วุฒิสมาชิกแบบแต่งตั้งชุดใหม่


แต่ในปลายปีเดียวกัน นักวิชาการกลุ่มเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพสอนวิชากฎหมาย ได้รวมตัวกันขึ้นในนามของกลุ่ม "นิติราษฎร์" นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

7 เซียนซามูไรของกลุ่ม "นิติราษฎร์" ประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ธีระ สุธีวรางกูร, สาวตรี สุขศรี, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช เช่นกันกับที่ทั้งหมดคือผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.enlightened-jurists.com


แถลงการณ์ของนิติราษฎร์ ฉบับที่ 1 ระบุว่า 19 กันยายน 2549 รัฐประหารโดยกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า "คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" รัฐประหารอัปยศกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ประกอบอาชีพสอนวิชากฎหมาย ในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากยินดีกับรัฐประหาร บ้างก็ว่าไม่เห็นด้วยแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เราจึงตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร


"ภายหลังรัฐประหารสำเร็จ ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ"


"โลกปัจจุบัน ′กฎหมาย′ เป็นแก่นกลางของสังคม เป็นทั้งที่มาอันชอบธรรมของการใช้อำนาจ และเป็นทั้งข้อจำกัดมิให้ใช้อำนาจไปตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม ′กฎหมาย′ เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจสถาปนานิติรัฐ-ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ได้ เพราะ ′กฎหมาย′ อาจถูกผู้ปฏิบัติการทางกฎหมายซึ่งมีอุดมการณ์แบบเก่า นำไปเล่นแร่แปรธาตุเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของตน ดังนั้น นอกจาก ′กฎหมาย′ แล้ว เราจำเป็นต้องสร้างอุดมการณ์ทางกฎหมาย-การเมืองที่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย เพื่อแทนที่อุดมการณ์แบบเก่าและปลูกฝังให้เป็นอุดมการณ์ใหม่ของสังคม"


ตลอดปี 2553 ดร.วรเจตน์ และพวก ไม่เพียงประณามผลต่อเนื่องจากการรัฐประหาร แต่ยังได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2550 ตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลในหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น คำพิพากษาศาลฎีกาคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯทักษิณ คำพิพากษาของศาลปกครองในคดีมาบตาพุด และคดียกเลิกประมูล 3 G รวมถึงล่าสุด บทวิเคราะห์ศาลรัฐธรรมนูญ กรณียกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์


ไม่นับรวม การวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นสื่อออนไลน์ผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของ อาจารย์ สาวตรี สุขศรี ที่เปิดเผยว่า ในปี 2553 มีจำนวนสื่อออนไลน์ที่ถูกระงับการเผยแพร่โดยมีคำสั่งศาลทั้งสิ้น 74,686 ยูอาร์แอล แต่องค์กรสื่อกลับนิ่งดูดาย !!!


ความกล้าหาญทางวิชาการ ของคนกลุ่มเล็กๆ ในนาม "นิติราษฎร์" จึงถือเป็นการจุดประกายทางปัญญาครั้งสำคัญที่คู่ควรแก่การเคารพเป็นอย่างยิ่ง !!!


(คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" และเพื่อนนักวิชาการกลุ่ม "นิติราษฎร์" ได้ที่นี่)