ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 28 December 2010

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์(1): พลเอกสนธิบอกทูตอเมริกันเรื่องเข้าเฝ้าคืนรัฐประหาร

ที่มา ประชาไท

ชื่อบทความเดิม: บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (1): พลเอกสนธิ บอกทูตสหรัฐ “ในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า” ในคืนรัฐประหาร และการประเมินผลสะเทือนการเข้าเฝ้าของทูตสหรัฐ

คำชี้แจง: โทรเลขที่ทูตสหรัฐประจำไทยส่งรายงานยังวอชิงตัน ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549, 1 ตุลาคม 2551, 6 พฤศจิกายน 2551 และ 25 มกราคม 2553 ที่วิกิลีกส์นำออกเผยแพร่ ผ่านทาง นสพ.เดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษ มีเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งเกียวกับการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา โดยเฉพาะในประเด็นสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม เชนเดียวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทุกประเภท โทรเลขดังกล่าวยังต้องผ่านการวิเคราะห์ตีความและนำเข้าสู่การเรียบเรียงเป็นการนำเสนอในรูปงานเขียนหรือการพูดอภิปรายจึงจะมีความหมายสมบูรณ์โดยแท้จริง แต่ภายใต้กฎหมายที่เกียวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 8, ประมวลอาญา มาตรา 112) การจะกระทำดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างรุนแรง กระนั้นก็ตาม ผมเห็นว่าโทรเลขเหล่านี้ มีความสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้ความเงียบเกือบจะโดยสิ้นเชิงอย่างที่เป็นอยู่ในสื่อสาธารณะที่เปิดเผยในขณะนี้

ในบันทึกสั้นๆ ข้างล่างนี้ และในบันทึกฉบับอื่นที่หวังว่าจะตามมาในอนาคตอันใกล้ ผมจะได้พยายามนำเสนอข้อความหรือเนื้อหาในโทรเลขวิกิลีกส์ทั้ง 4 ฉบับเท่าที่จะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายที่เป็นอยู่ เริ่มต้นด้วยโทรเลขฉบับแรกที่กล่าวถึงการเข้าเฝ้าในคืนวันรัฐประหาร

ในโทรเลขฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549 ทูตสหรัฐได้รายงานการพบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา เมื่อบ่ายวันที่ 20 กันยายน 2549 การสนทนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ตามที่ทูตสหรัฐบันทึกไว้ มีเพียงสั้นๆ 5-6 บรรทัด ดังนี้

ผมได้เริ่มต้นด้วยการถามสนธิเกี่ยวกับการเข้าเฝ้าในหลวงเมื่อคืนนี้ มีใครเข้าเฝ้าบ้าง? สนธิกล่าวว่าประธานองคมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ได้นำเขา, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรืองโรจน์ และผู้บัญชาการทหารเรือ สถิรพันธุ์ เข้าเฝ้า. สนธิเน้นว่า พวกเขาเป็นฝ่ายถูกเรียกเข้าไปในวัง; เขาไม่ได้เป็นฝ่ายพยายามขอเข้าเฝ้า. เขากล่าวว่าในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม.

ถ้าพระอากัปกริยาของในหลวงเป็นไปตามที่สนธิบอกทูตสหรัฐจริง เราสามารถ “อ่าน” (ตีความ) อะไรได้หรือไม่? ดูเหมือน เดอะการ์เดี้ยน คิดว่าได้ ถ้าดูจากการพาดหัวและสรุปเนื้อหาโทรเลขที่ นสพ.จัดให้ (ผมได้ลบพาดหัวและสรุปเนื้อหาดังกล่าวออกจากภาพประกอบข้างบน) ทูตสหรัฐเองได้ประเมินความสำคัญของการเข้าเฝ้าค่อนข้างสูง ใน “ความเห็น” ตอนท้ายของโทรเลข เขากล่าวว่า

สนธิมีท่าทีผ่อนคลายและสงบ เห็นได้ชัดว่าการเข้าเฝ้าเป็นจุดหักเลี้ยวเมื่อคืนนี้ (โทรเลขอีกฉบับหนึ่ง [Septel = separate telegram] รายงานเรื่องท่าทีไม่ยอมแพ้ จะสู้ต่อของทักษิณสูญสลายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเขาได้รู้ข่าวการเข้าเฝ้า)

ขณะนี้เรายังไม่มี “โทรเลขอีกฉบับหนึ่ง” ของสถานทูตสหรัฐที่เล่าเรื่องการเปลี่ยนท่าทีของทักษิณหลังทราบข่าวการเข้าเฝ้า จึงไม่อาจทราบว่าทางสถานทูตสหรัฐมีข้อมูลอะไรเป็นพิเศษในเรื่องนี้หรือไม่ หรือเพียงแต่ใช้การสังเกตแล้วตีความเอา อย่างไรก็ตาม ใครที่ติดตามการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารโดยใกล้ชิดอาจจะพอจำได้ว่า เคยมีการหยิบยกมาอภิปรายในที่สาธารณะเรื่องการเปลี่ยนท่าทีของทักษิณ จาก “ทำท่าจะสู้-ตอบโต้” มาเป็น “ยอมรับ” สิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีประเด็นเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ด้วย เพียงแต่ไมใช่เรื่องการได้เข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แบบเดียวกับความเห็นของทูตสหรัฐ

กล่าวคือ ในปี 2550 นักการเมืองและนักเขียนในค่ายทักษิณบางคนได้อ้างว่า เดิมทักษิณซึ่งอยู่ที่นิวยอร์คขณะเกิดรัฐประหาร มีความคิดจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและประกาศสู้การรัฐประหาร แต่ล้มเลิกความคิด หลังจากสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งอยู่ที่นิวยอร์คด้วย โทรศัพท์มากรุงเทพ แล้วอ้างข้อมูลบางอย่างจากแวดวงราชสำนัก (สุรเกียรติ์ เป็นหลานเขยของพระราชินี) มาแจ้งกับทักษิณ ตามคำของ “ประดาบ” นักเขียนค่ายทักษิณในขณะนั้นคือ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นคนที่แนะนำให้นายกฯทักษิณ ยอมจำนนต่อการรัฐประหาร โดยอ้างว่าได้รับข้อมูลจาก ‘ฟ้าเบื้องบน’ . . .” สุรเกียรติ์เองไม่เคยชี้แจงเรื่องนี้ แต่ได้ตอบโต้ด้วยการกล่าวหาเป็นนัยว่า “บางคนในพรรคไทยรักไทย” พูดให้เขา “ได้ยินกับหูตัวเอง” ในลักษณะที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ของเขาที่ “ทำงานเพื่อชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์” ในขณะที่สุรเกียรติ์พูดเป็นนัย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ระบุออกมาตรงๆ โดยอ้างว่าสุรเกียรติ์เป็นคนบอกเขาเอง ว่าในระหว่างที่อยู่นิวยอร์คช่วงรัฐประหาร ทักษิณได้ “พูดจาจาบจ้วงดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัว” ต่อหน้าสุรเกียรติ์ (ดูตัวบทถอดเทปการพูดของสนธิ ที่นี่ ข้อความดังกล่าวอยู่ในย่อหน้าที่ 6 ของหัวข้อ “ยามเฝ้าแผ่นดิน ช่วงที่ 2”) ทักษิณจึงฟ้องสนธิหมิ่นประมาท และศาลเพิ่งพิพากษาให้สนธิผิดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ทักษิณเองไม่เคยพูดถึงไอเดียเรื่องการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเมื่อเกิดรัฐประหารหรือเรื่องผลกระทบของการเข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แต่ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ของสหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 (ที่นี่) เมื่อถูกถามว่าถ้ารัฐบาลของเขาเป็นที่นิยมของประชาชนมาก ทำไมแทบไม่มีประชาชนออกมาโวยวายประท้วงเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งทักษิณตอบว่า “มันก็เหมือนกับการรัฐประหาร 17 ครั้งก่อนหน้านี้ในประเทศไทย แรกทีเดียว ประชาชนจะช็อค แล้วพวกเขาก็เริ่มแสดงความไม่เห็นด้วย และแล้วพวกเขาก็เริ่มจะยอมรับมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐประหารนั้นได้รับการรับรองจากพระเจ้าอยู่หัว” (It was the same with Thailand’s 17 other coups. First, the people are shocked. Then they start to voice their concerns. And then they start to accept it, especially after it’s endorsed by His Majesty the King.) ผมคิดว่า เราคงยังไม่ถึงกับสามารถใช้คำสัมภาษณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันโดยตรง ต่อรายงานของทูตสหรัฐที่ว่าทักษิณเปลี่ยนท่าทีต่อการรัฐประหาร 19 กันยา หลังการได้เข้าเฝ้าของคณะรัฐประหาร แม้ว่าการที่ทักษิณให้ความสำคัญกับประเด็น “ได้รับการรับรองจากพระพระเจ้าอยู่หัว” และยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเหตุผลอธิบายปฏิกิริยาต่อรัฐประหารของประชาชนทั่วไป นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

โปรดติดตามตอนต่อไป “บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (2) : กรณี พระราชินี กับ พันธมิตร