ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday 16 September 2009

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องถอนหมายจับแกนนำสหภาพแรงงาน 3 คน พร้อมเรียกร้องตำรวจและรัฐบาลตรวจสอบการใช้ LRAD

ที่มา ประชาไท

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลดุสิต ดำเนินการเพื่อขอถอนหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ทั้งสามคนในทันที และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อไป พึงตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มีวัตถุประสงค์และข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้นการดำเนินคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพของประชาชนและเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังเรียกร้องให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบการนำเครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าวมาใช้ในการชุมนุมว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายประชาชนเพียงใด พร้อมทั้งดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าพนักงานที่นำเครื่องเสียงดังกล่าวมาใช้อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแถลงความคืบหน้าให้สาธารณชนทราบ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีนโยบายที่ชัดเจนห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าวในการสลายการชุมนุมทั้งโดยชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นวิธีการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวด้านสุขภาพของผู้ชุมนุม และเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์ของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

000


แถลงการณ์ :
กรณีการออกหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
เผยแพร่ ณ วันที่ 15 กันยายน 2552

ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้ออกหมายจับนายสุนทร บุญยอด นางสาวบุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และนางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิกตามมาตรา 215 และมาตรา 216ประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 เนื่องจากการเดินทางมาชุมนุมยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือปัญหาการเลิกจ้างงานเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีความเห็นทางกฎหมายต่อประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. การชุมนุมกันของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นการชุมนุมตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิและแสดงออกซึ่งความเห็น เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธอันเป็นเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ได้รองรับและคุ้มครองไว้ เจ้าพนักงานมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างถูกต้องและไม่ให้เกิดความวุ่นวาย การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเครื่องขยายเสียงระดับไกล (Long Range Acoustic Device) มาเปิดเพื่อรบกวนการชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานสตรี สตรีมีครรภ์ และแรงงานที่ใกล้เกษียณอายุ ในขณะที่ตัวแทนได้ติดต่อประสานงานเพื่อเข้าไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านแทนรัฐบาล จึงเป็นการกระทำไปโดยที่เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจกระทำได้ เป็นการกระทำซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19 อันเป็นสิทธิที่บุคคลมีสิทธิแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. การออกหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 นั้น เป็นการใช้กฎหมายอาญาที่ไม่ถูกต้องและเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 แม้จะมีขึ้นเพื่อคุ้มครอง “ความสงบสุขของประชาชน” แต่การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 นั้น แม้โดยสภาพของการรวมตัวของบุคคลจำนวนมากอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้เสรีภาพของบุคคลอื่นอยู่บ้าง ก็เป็นไปโดยธรรมชาติของการชุมนุมของคนจำนวนมาก มิใช่เจตนาของผู้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด จึงไม่อาจตีความได้ว่าการชุมนุมดังกล่าว “ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 ได้ หากยอมรับตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความว่าการใช้เสรีภาพชุมนุมของสมาชิกสหภาพแรงงานเพื่อการเจรจา ยื่นหนังสือและแยกย้ายกันกลับดังกล่าวเป็นความผิดอาญา ทุกครั้งที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมโดยอ้างฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 ได้เสมอ ก็เท่ากับการยอมรับว่าประเทศไทยไม่ได้ปกครองโดยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ (The Rule of Law) อีกต่อไป เพราะเป็นการยอมให้กฎหมายอาญาที่มีฐานะต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มีผลยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ดำเนินการเพื่อขอถอนหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ทั้งสามคนในทันที และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อไป พึงตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ มีวัตถุประสงค์และข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่าฝืนกฎหมายแต่ประการใด ดังนั้นการดำเนินคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อสาธารณะ และสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพของประชาชนและเป็นหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบการนำเครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าวมาใช้ในการชุมนุมว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายประชาชนเพียงใด พร้อมทั้งดำเนินการทางกฎหมายกับเจ้าพนักงานที่นำเครื่องเสียงดังกล่าวมาใช้อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแถลงความคืบหน้าให้สาธารณชนทราบ

3. รัฐบาล ควรมีนโยบายที่ชัดเจนห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เครื่องเสียงระดับไกลดังกล่าวในการสลายการชุมนุมทั้งโดยชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นวิธีการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวด้านสุขภาพของผู้ชุมนุม และเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์ของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

ด้วยจิตรักความเป็นธรรม
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน