'สมเกียรติ' แนะ 'สรยุทธ' ยุติอาชีพสื่อไปสู้คดีก่อนแม้ไม่มีกฏหมายบังคับแต่เป็นเรื่องจรรยาบรรณ-จริยธรรม
นายสมเกียรติ อ่อนวิมล
อดีตนักสร้างสรรค์รายการข่าวและผู้ประกาศข่าวของหลายสถานีโทรทัศน์ในประเทศ
ไทยเปิดเผยว่า กรณีนายสรยุทธ สุทัศนจินดา ผู้ดำเนินรายการทีวีช่อง 3
ในฐานะผู้บริหารบริษัท ไร่ส้ม
ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ชี้มูลว่ามีความผิด ฐานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ บริษัท อสมท
ยักยอกเงินค่าโฆษณา จำนวน 138 ล้านบาท โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้
กรณีนี้ก็ถือว่าเป็นความผิดตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล มี 2 เรื่อง คือ
ประการแรกความผิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจ
นายสรยุทธต้องรับผิดชอบต่อความผิดในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัท ประการที่ 2
คือความผิดในเชิงจรรยาบรรณ
ทำให้แปดเปื้อนต่อจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งก็อยู่ที่จิตสำนึกของนาย
สรยุทธเอง
นายสรยุทธคือสื่อมวลชนที่ทำธุรกิจแล้วมีจุดด่างพร้อย
ก็ควรจะยุติการประกอบอาชีพนี้ แล้วไปสู้คดีให้เรียบร้อยก่อน
ซึ่งมันไม่ได้มีกฎหมายบังคับหรอก
แต่มันเป็นเรื่องของจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อ
ขณะเดียวกันผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
ก็น่าจะหาทางออกว่าควรทำอย่างไร
เพราะอาชีพสื่อสารมวลมวลชนคือการผลิตข่าวสารให้แก่ประชาชน
มันต้องมีความน่าเชื่อถือ ถ้ามีอะไรด่างพร้อยก็ควรยุติบทบาทการทำงาน
และไปเคลียร์คดีเสียก่อน
การที่จะอยู่ในอาชีพสื่ออย่างสง่าผ่าเลยก็คงจะลำบาก
เพราะจะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป แต่ถ้ากรณีนี้สังคมปล่อยให้ทำมาหากินกันไป
มันก็เป็นความตกต่ำของสังคมเอง
จรรยาบรรณในวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนฉบับแรกนั้นออกมาจาก
'อิศรา อมันตกุล' นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.
2500 ต้นๆ ซึ่งจริงๆก็มีอยู่ไม่กี่ข้อนะ ข้อแรกคือ
จะต้องไม่ทุจริตประพฤติมิชอบ
ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม
ถ้าเป็นสื่อมวลชนแล้วทำไม่ได้เลย
ยิ่งเป็นทั้งสื่อมวลชนแล้วยังไปทำธุรกิจด้วยเนี่ยอันนี้ทำไม่ได้
อันนี้คือจรรยาบรรณ
จากนั้นก็มีจรรยาบรรณที่ร่างโดยสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่ละองค์กรก็จะมีกรอบจรรยาบรรณของตัวเอง
แล้วเขาก็สอนกันมาในคณะนิเทศศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์
สื่อสารมวลชนทุกหนทุกแห่งในเมืองไทยและในโลกนี้ มีในตำรับตำรา
จิ้มไปตรงไหนก็เจอ ไม่ใช่ความลับ
และไม่ใช่สิ่งที่ไม่คุ้นเคยในหัวใจของคนเป็นสื่อ
โดยไม่จำเป็นต้องจบมาจากคณะนิเทศฯ หรือวารสารฯนะ
คุณมาทำอาชีพนี้ปุ๊บก็ต้องรู้แล้ว
เรามีหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจในสังคม
เราต้องไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นเพราะเรามีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น
มันเป็นเรื่องของจริยธรรมไม่มีคำสั่งจากศาล
แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึกส่วนตัว นายสรยุทธไม่ใช่นักข่าว หรือผู้ผลิตข่าว
ไม่ใช่นักข่าวของสถานีโทรทัศน์ แต่เป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทข่าว
เป็นผู้ดำเนินรายการเชิงข่าว ใช้หนังสือพิมพ์ที่วางแผงทุกเช้า
แล้วก็ผสมกับข่าวที่ช่อง 3 ส่งมา ก็อาจจะมีที่นายสรยุทธออกไปทำข่าวเองบ้าง
เช่นช่วงน้ำท่วม หรือข่าวสำคัญบางเรื่อง
จึงเป็นลักษณะของนักข่าวปนนักดำเนินรายการและผู้ผลิตรายการ
ข่าวที่ได้มันก็ผิดบ้างถูกบ้าง
มันไม่ใช่ผู้สื่อข่าวอย่างจริงจังอย่างที่เราเข้าใจกัน
Source : news center/posttoday/positioningmag.com(Image)
by
Supatsorn
7 ตุลาคม 2555 เวลา 09:09 น.