ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 9 October 2012

ธ.ก.ส. ระบุได้เงินคืนจากรัฐบาลตามโครงการจำนำข้าว 9.1 หมื่นล้าน

ที่มา ประชาไท


ขณะนี้รับจำนำไปแล้ว 19.77 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 3 แสนล้านบาท เกษตรกรร่วมโครงการ 2.1 ล้านราย โดยเงินที่ได้จะนำมาหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ด้าน "นิด้าโพล" พบกลุ่มสำรวจ 64.53% เห็นด้วยกับจำนำข้าว แต่ 66.29% หวั่นทุจริตถ้ารัฐบาลไม่เข้ม ส่วนโฆษกศาล รธน. คำร้อง "อ.นิด้า" เข้าที่ประชุมตุลาการ 10 ต.ค.
วันนี้ (8 ต.ค.) เว็บไซต์ฐานเศรษฐิจ รายงานคำแถลงของนายบุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งระบุว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. ได้รับคืนเงินจากการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. การชดเชยภาระต้นเงินและดอกเบี้ย เป็นเงินจำนวน 91,827 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ที่จัดสรรมาให้จำนวน 49,877 ล้านบาท และเงินคืนค่าระบายข้าวสารจากโครงการรับจำนำ 41,950 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ธ.ก.ส. จะนำมาใช้หมุนเวียนในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ธ.ก.ส. ขอยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินงานตามปกติของ ธ.ก.ส. เนื่องจาก ธ.ก.ส. ได้มีการจัดวางระบบการบริหารงานอย่างชัดเจน เช่น มีการแยกบัญชีโครงการหรือธุรกรรมตามนโยบายของรัฐบาล (Public Service Account : PSA) เป็นบัญชีเฉพาะ แยกจากบัญชีการดำเนินงานตามปกติของธนาคารทำให้สามารถทราบผลการดำเนินงานใน แต่ละบัญชีชัดเจน ขณะเดียวกันการดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลทุกโครงการ จะมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและภาระการขาด ทุนจากโครงการของรัฐทั้งหมด
โดยผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ณ ปัจจุบัน แบ่งเป็น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 จำนวน 6.95 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 1,142,587 ราย จำนวนเงิน 118,576 ล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 2555 จำนวน 12.82 ล้านตัน จำนวนเกษตรกร 1,021,018 ราย จำนวนเงิน 190,013 ล้านบาท

"นิด้าโพล" 64.53% เห็นด้วยโครงการจำนำข้าว แต่ 66.29% หวั่นทุจริตถ้ารัฐบาลไม่เข้ม
ด้านเว็บไซต์ครอบครัวข่าว รายงานผลสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ต่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งพบว่ากลุ่มสำรวจ ร้อยละ 64.53 เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีเพียง ร้อยละ 22.90 ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้มาตรฐานของข้าวไทยตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงและไม่มีความโปร่งใส
ขณะเดียวกันกลุ่มสำรวจร้อยละ 49.64 ยังเห็นว่า ควรทำโครงการรับจำนำข้าวต่อไป เนื่องจากเกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง ร้อยละ 27.06 เห็นว่าควรทำต่อ แต่ปรับปรุงตามกลไกราคาตลาด ร้อยละ 20.18 ให้ยกเลิกโครงการ เนื่องจากเห็นว่า ชาวนาไม่ได้รับประโยชน์ ขาดความโปร่งใส ราคาเกินความจริง ทำให้ขาดทุนและต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น
ต่อเรื่องการทุจริต ร้อยละ 66.29 เห็นว่า มีการทุจริต ถ้ารัฐบาลไม่เข้มงวด จะเป็นการเอื้อประโยชน์กับนายทุนและโรงสี  ร้อยละ 26.42 ไม่แน่ใจ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้และยังจับกุมผู้กระทำผิดไม่ได้  ส่วนร้อยละ 7.29 เห็นว่าไม่มีการทุจริต โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลควบคุมได้ นอกจากนี้ ร้อยละ 59.97 ยังเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะมีการสวมสิทธิ์ขึ้นได้ เนื่องจากมีกลุ่มนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง

40 ส.ว. จี้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดเอาข้าวไปขายจีทูจีให้ใคร
อนึ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปได้มากแล้ว ประมาณ 7 ล้านกว่าตันแล้วโดยเป็นการขายแบบจีทูจี หรือรัฐบาลต่อรัฐบาล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ขณะที่วันนี้ (8 ต.ค.) กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ อภิปรายในสภาว่าไม่เชื่อคำแถลงของนายบุญทรง และเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดการขายข้าวดังกล่าว นอกจากนี้ น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ได้เรียกร้องให้กรมการค้าต่างประเทศต้องชี้แจงว่าใครเป็นผู้ซื้อไป (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

คำร้อง อ.นิด้า เข้าที่ประชุมตุลาการ รธน. 10 ต.ค. นี้
ขณะเดียวกันวันนี้ (8 ต.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่ยื่นหนังสือต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 84 (1) นั้นเข้าที่ประชุมตุลาการในวันพุธ ที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยตุลาการจะเป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยต่อไปว่าจะรับคำร้องหรือไม่