ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 8 October 2012

ฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ ล้มประมูล 3จี ?by วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

ที่มา uddred

 วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ (Verapat Pariyawong)

จากกรณีที่มีนักวิชาการจะไป ฟ้องให้ศาลปกครอง “สั่งระงับการประมูล 3จี” ไว้ก่อน โดยอ้างว่า กสทช. ยังไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลเพื่อประโยชน์ประชาชน 4 เรื่อง คือ
1. เรื่องคุณภาพการให้บริการ
2. เรื่องราคาค่าบริการ
3. เรื่องคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส
4. เรื่องการนำเงินประมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ฟังในเบื้องต้น ผมเห็นว่า การฟ้องดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่การระงับการประมูล 3จี ได้ โดยเหตุผลต่อไปนี้

1. การจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น “ผู้มีสิทธิฟ้องคดี” ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย “โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” อีกทั้งยังต้องได้ดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนตามขั้นตอนวิธีการที่กฎหมาย กำหนดไปก่อนแล้ว ดังนั้น หากผู้ใดฟ้องคดีอย่างกว้างๆ โดยคาดคะเนถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป ศาลอาจมองว่าผู้นั้น “ไม่มีสิทธิฟ้องคดี”

2. แม้สมมติว่า “มีสิทธิฟ้อง” แต่เหตุผลที่จะนำไปฟ้องนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่า กสทช. ได้ “ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ” ซึ่งย่อมเป็นคนละประเด็นกับ “การจัดการประมูล” กล่าวคือ การฟ้องว่า กสทช. กำหนดกฎระเบียบไม่ครบถ้วน ย่อมเป็นคนละประเด็นกับการฟ้องว่า การประมูลจัดขึ้นโดยผิดกฎหมาย ดังนั้น การจะขอให้ศาลสั่งระงับการประมูล ก็อาจเป็นคำขอที่ไม่ตรงประเด็น

3. ที่สำคัญ เนื้อหาสาระที่ฟ้อง ก็ฟังดูขาดน้ำหนัก เพราะหากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น “ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ ย่าน 2.1 GHz” จะเห็นว่า กสทช. เอง ก็มีข้อกำหนดเพื่อกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว เช่น ข้อ 16 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการให้โครงข่ายรองรับความเร็วได้ตาม มาตรฐานและคุณภาพ ต้องสนับสนุนการอำนวยความสะดวกต่อผู้มีรายได้น้อย คนพิการ อีกทั้งต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ฯลฯ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ กสทช. ต้องกำหนดในรายละเอียดนั้น บางส่วน กสทช. ได้กำหนดไว้แล้ว แต่บางส่วน ก็ไม่อาจกำหนดล่วงหน้าเร็วเกินไป เช่น เรื่อง ราคาหรืออัตราขั้นสูงของค่าบริการ ซึ่ง กสทช. ย่อมต้องกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น สภาพตลาด ต้นทุนจากการประมูล ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและขยายโครงข่าย ฯลฯ ซึ่ง กสทช. อาจกำหนดขึ้นหลังการประมูลเพื่อให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริง ก็เป็นได้

ส่วนประเด็นเรื่องการนำรายได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์นั้น พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้บัญญัติไว้แล้ว เช่น มาตรา 50 ที่กำหนดให้ กสทช. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปจัดการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานโดยทั่วถึง หรือ มาตรา 65 ที่กำหนดเกี่ยวกับการนำรายได้ต่างๆ ของ กสทช. มาจัดสรรเพื่อสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ หรือ กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ เป็นต้น การจะมองเฉพาะเงินประมูลส่วนเดียว ย่อมเป็นการมองที่แคบเกินไป

ที่ สำคัญ เมื่อสุดท้ายมีการนำเงินประมูลที่เหลือส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน ก็ย่อมเป็นความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะนำราย ได้ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยให้ กสทช. ซึ่งเป็นเพียงองค์กรกำกับดูแลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มากำหนดวิธีการใช้จ่ายเงินดังกล่าวเสียเอง และหากจะให้องค์กรตุลาการเข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารรายได้แผ่นดิน ก็ยิ่งเป็นการไม่สมควรขึ้นไปอีก