ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday 11 October 2012

กบฏบวรเดช เริ่มทำการกบฏกันตอนเก้าโมงเช้าวันนี้ เมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2476

ที่มา thaifreenews



โดยกำลังทหารในโคราช ที่อ้างชื่อตนเองว่า เป็น “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ภายใต้การนำของ พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยราชาธิปไตย ร่วมกับ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ตาของพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ และนายทหารอีกหลายคน นำกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้ายึดที่ทำการเทศาภิบาลจังหวัด นครราชสีมา แล้วคุมตัวผู้รักษาราชการจังหวัด กับข้าราชการใหญ่น้อยอีกหลายนายไปกักขังไว้ 
ในเวลาเดียวกัน พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช พร้อมด้วยคณะนายทหารติดตามก็เข้าสู่หน่วยทหารที่ทุกวันนี้คือค่ายสุรนารี แล้วแจ้งต่อข้าราชการทหารตำรวจพลเรือนว่า ทางพระนครเกิดเหตุร้าย คณะกู้บ้านกู้เมืองจึงจำเป็นจะต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม ขอให้ข้าราชการ อย่าได้กระทำการใดเป็นที่ขัดขวางเป็นอันขาด หลังจากนั้นก็ประกาศกฎอัยการศึก เรียกทหารกองหนุนเจ้าประจำการทันที แล้วรอกำลังสนับสนุนจากทหารหัวเมืองอีกหลายจังหวัด ก่อนเดินทางด้วยขบวนรถไฟเข้ามายึดกรมอากาศยานที่ดอนเมืองในวันที่  11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ประกาศคำขาดให้รัฐบาลทำตาม มิฉะนั้น จะใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
ข้อเรียกร้องหรือคำขาดเหล่านั้น ถ้าอ่านดูแล้วจะรู้ได้ทัันทีว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเลย เป็นเรื่องส่วนตัวของนายทหารต่างกลุ่มที่ต้องการประโยชน์ที่พวกตนสูญเสียไป เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่น่าสนใจก็คือการเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้แต่งตั้ง สส.บางส่วน หรืออีกนัยหนึ่งคือให้มีการแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยโดยทางราชสำนักได้ด้วย ที่น่าจะพัฒนามาเป็นวุฒิสมาชิกลากตั้งของพวกอำมาตย์ในปัจจุบัน 
แต่รัฐบาลของคณะราษฎร์ ซึ่งขณะนั้นนำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ปฏิเสธ และแต่งตั้งให้ พันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพเข้าปราบกบฏ ได้รับชัยชนะในอีกสิบกว่าวันต่อมา ทหารรัฐบาลและฝ่ายกบฏเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง 
กบฏบวรเดช เป็นการเริ่มต้นต่อต้านขบวนการประชาธิปไตยไทยด้วยกำลัง ของพวกทหารอนุรักษ์นิยมและกลุ่มศักดินาอำมาตย์ ภายหลังใช้วิธีการทางกฎหมายโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผู้สั่งปิดรัฐสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ฯลฯ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทางคณะราษฎร์นำกำลังเข้ายึดอำนาจกลับคืนมายังฝ่ายประชาธิปไตยมาได้ก่อน หน้านั้น 
ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ กองทัพสยามหลังอภิวัฒน์ 2475 นั้น มีนายทหารลูกชาวบ้านที่นิยมคณะราษฎร์อยู่จำนวนมาก เพราะคณะราษฎร์สนับสนุนให้ได้ตำแหน่งหน้าที่ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายกบฏบวรเดชต้องพ่ายแพ้นั้น ก็เพราะผู้นำทหารเหล่านั้นไม่ยอมรับการเป็นหัวหน้าคณะกู้บ้านกู้เมืองของ พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ พวกเขาเกรงว่า พระองค์จะนำระบอบราชาธิปไตยกลับมาปกครองประเทศไทยอีกครั้ง และนั่นหมายถึงจุดจบของโอกาสของทหารลูกชาวบ้าน หรือทหารฝ่ายไพร่ในประเทศนี้ เนื่องจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น รู้กันดีว่า นายทหารลูกชาวบ้านไม่มีทางเจริญเติบโตอย่างแน่นอน เพราะตำแหน่งหน้าที่ผู้นำกองทัพนั้น สงวนไว้เฉพาะผู้มีเชื้อสายศักดินาและพวกผู้จงรักภักดีต่อระบอบนั้นอย่างสุด จิตสุดใจเท่านั้น นี่เป็นความจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปในระยะก่อนหน้านั้น 
กบฏบวรเดชมีรายละเอียดการสู้รบซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป แต่จบลงด้วยการพ่ายแพ้ทางทหารของฝ่ายผู้ก่อการ ตัวพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เองก็เสียชีวิตในสนามรบ แต่พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ และครอบครัว นำเงินทองทรัพย์สินขึ้นเครื่องบินจากสนามบินโคราช หนีไปอยู่กัมพูชา โดยปล่อยทหารและข้าราชการที่เข้าร่วมก่อการหรือผู้สนับสนุนให้ต้องรับโทษ หนัก จำคุกกันคนละหลาย ๆ ปี จนมีคำกล่าวซุบซิบในหมู่ทหารรุ่นนั้นว่า “ไอ้เดชหนี ไอ้ศรีตาย” ผลที่ตามมาคือกลุ่มเจ้าถูกลดบทบาทและอำนาจลงไปนาน จนถึงการรัฐประหาร 2490 ที่กลุ่มนี้แฝงตนกลับเข้าอีกครั้ง 
การปราบกบฏบวรเดชครั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดการพิธีศพทหารรัฐบาล สร้างอนุสาวรีย์ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ “ขึ้นที่หลักสี่อันเป็นสนามรบ ตามมาด้วยการสร้าง “วัดประชาธิปไตย” ขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ” เพราะ ชื่อเดิมคงจะแสลงใจพวกศักดินาอำมาตย์นิยมทั้งหลาย ที่เข้ามาครอบงำวงการศิลปวัฒนธรรม และการศึกษาของชาติต่อมา จึงต้องทำให้เลือนหายไปให้ได้มากที่สุด
อยากให้ภาคประชาชนให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้และอนุสรณ์สถานทั้งหลายที่ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ให้มาก เพราะมันแสดงชัดว่า ทหารกองทัพไทยนั้น ไม่ได้เป็นพวกต่อต้านประชาชนและระบอบประชาธิปไตยกันทุกคน นี่รวมถึงทหารอาชีพมากมายในปัจจุบันด้วยเช่นกัน