ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 8 August 2012

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ว่าด้วยการหนีทหาร

ที่มา ประชาไท

 
จากหลักฐานล่าสุด ของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เอกสารเท็จในการเกณฑ์ทหาร เมื่อตรวจสอบถือว่า ครบถ้วนทั้งเอกสาร และพยานบุคคลในเหตุการณ์ ก็ยังพบว่า การดำเนินการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. และการขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ สด.3 ของ นายอภิสิทธิ์ นั้น ก็เป็นการใช้เอกสารเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการรับราชการทหาร และแม้ว่าคดีนี้จะหมดอายุความ เพราะนายอภิสิทธิ์ครบอายุ 20 ปี ไปตั้งแต่ พ.ศ.2527 และหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารตั้งแต่ พ.ศ.2530 แต่การดำเนินการทางราชการนั้น ไม่มีอายุความ จึงจะส่งผลให้นายอภิสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินการถอดยศ ว่าที่ร้อยตรี และต้องถูกเรียกเอาเงินเดือนและเบี้ยหวัดคืน
อันที่จริงแล้ว ถ้าหากว่ากรณีหนีทหารเป็นข้อบกพร่องเพียงประการเดียวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คงถือได้ว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก เพราะลูกหลานอภิสิทธิ์ชนคนร่ำรวยจำนวนมากในประเทศนี้ ส่วนมากก็มีวิธีการในการหนีเกณฑ์ทหารอยู่แล้ว จนทำให้การเกณฑ์ทหารในแต่ละปี ส่วนใหญ่ก็เหลือแต่ลูกหลานประชาชนคนยากจนเท่านั้น ที่จะต้องไปฝึกทหารและเป็นทหารประจำการ ยิ่งกว่านั้น ในปัจจุบันนี้ ระบบการเกณฑ์ทหารก็เป็นที่วิจารณ์อย่างมาก และหลายประเทศก็ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วหันมาใช้ทหารอาสาสมัครและทหารอาชีพแทน ในประเทศไทยก็เคยมีการเสนอในลักษณะเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เป็นที่พิจารณาของกองทัพไทยอย่างจริงจัง
ในสังคมก่อนสมัยใหม่นั้น ถือว่ายังไม่มีกองทัพประจำการและระบบทหารเกณฑ์ จนกระทั่งหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 แล้ว จึงเกิดการเกณฑ์พลเมืองที่เป็นชายหนุ่มเข้าเป็นทหารในกองทัพ เพราะหลังการปฏิวัติ เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับชาติยุโรปอื่นที่อยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ จึงมีการนำเสนอในลักษณะที่ว่า ชายชาวฝรั่งเศสทุกคนมีหน้าที่จะต้องปกป้องปิตุภูมิฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1798 เกิดกองทัพประจำการแห่งชาติฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางบกอันเข้มแข็ง เพราะมีกองทัพประจำการมากถึง 2.6 ล้านคนในระยะต่อมา
หลังจาก ค.ศ.1800 ประเทศอื่นในยุโรปก็รับเอาแบบอย่าง ให้พลเมืองที่เป็นชายของหลายประเทศจึงต้องถูกเกณฑ์ไปเข้าประจำการทหาร 1-3 ปี และเมื่อปลดประจำการแล้ว ก็ยังถือว่าเป็นทหารกองเกิน สำรองไว้ใช้ในกิจการทหารได้ ประเพณีในลักษณะนี้ขยายไปทั่วโลก และการมีกองทัพประจำการสมัยใหม่กลายเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของยุคใหม่ ในสหรัฐฯการเกณฑ์ทหารเริ่มเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่าย ใต้ ใน ค.ศ.1861 และได้ใช้ระบบการเกณฑ์ทหารเรื่อยมา
สมัยที่ลัทธิชาตินิยมเฟื่องฟู มหาประเทศต่างก็เร่งการเกณฑ์หารเพื่อสร้างกองทัพประจำการขนาดใหญ่ ใครหลีกหนีการเกณฑ์ทหาร นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังถูกประนามว่าขี้ขลาดและไม่รักชาติ ในที่สุดเกิดการแข่งขันด้านอาวุธและเกิดสงครามระหว่างชาติ เช่น สงครามโลก ซึ่งสร้างความเสียหายมากมาย และเนื่องด้วยสถานการณ์สงครามโลก ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านคัดค้านในหลายประเทศ เช่น ในกรณีของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย ทหารที่ถูกเกณฑ์ถูกส่งไปรบให้อังกฤษ ทั้งที่ประเทศเหล่านั้น ไม่ได้รู้สึกว่า สงครามนั้นจะเกี่ยวข้องกับตนเลย
ความจริงการใช้ระบบการเกณฑ์ทหาร ก็มีปัญหาเชิงทฤษฎีแต่แรก นักคิดเช่น อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ ก็เคยกล่าวว่า “การเกณฑ์ทหารเป็นการใช้แรงงานทาสชนิดหนึ่ง” นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเชิงมนุษยธรรมของสงคราม จากการที่ประเทศสองประเทศนำเอาทหารเกณฑ์ซึ่งไม่ได้สมัครใจมารบแล้วมาตายทั้ง สองฝ่าย การคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ในลักษณะเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ และยิ่งต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง เกิดการตั้งคำถามต่อลัทธิชาตินิยมอย่างมาก ในกรณีที่ชาตินิยมกลายเป็นสาเหตุนำไปสู่สงครามที่สร้างความเสียหายแก่ มนุษยชาติ จึงทำให้อิทธิพลของชาตินิยมในโลกตะวันตกเสื่อมลง การมีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ และการเกณฑ์ทหารเพื่อเข้าประจำการเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับ และต่อมายังถือกันว่าการบังคับคนให้ไปจับอาวุธเพื่อการสงคราม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง
การเกณฑ์ทหารถูกตั้งคำถามในเชิงทฤษฎี เช่น การมีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ที่ใช้การเกณฑ์ทหาร เป็นการขัดกับนโยบายสันติภาพของประเทศเช่น สวีเดน ฟินแลนด์ พวกสันตินิยมในยุโรปถือด้วยซ้ำว่า การเลี่ยงการเกณฑ์ทหารเป็นการกระทำที่ชอบธรรม พวกสันตินิยมจำนวนไม่น้อยยอมติดคุกโดยไม่ยอมจับอาวุธไปประจำการ อังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ลังเลที่สุดในการใช้ระบบเกณฑ์ทหาร จึงยกเลิกการเกณฑ์ตั้งแต่ ค.ศ.1957 ประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลียยกเลิกเกณฑ์ทหารตั้งแต่ ค.ศ.1972 สเปน และฝรั่งเศสยกเลิกเกณฑ์ทหาร ตั้งแต่ ค.ศ.2001 และในขณะนี้ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ไม่มีระบบเกณฑ์ทหารกันแล้ว
ประเทศอื่นเช่น ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกห้ามมีกองทัพประจำการ จึงไม่มีการเกณฑ์ทหารเลย ส่วนอินเดียนับตั้งแต่ได้เอกราช ก็ไม่เคยมีการเกณฑ์ทหาร ประเทศใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย ก็ไม่มีระบบการเกณฑ์ทหารเช่นกัน ประเทศที่ยังคงระบบการเกณฑ์ทหารอย่างเข้มข้น คือ ประเทศระหว่างเผชิญหน้า เช่น เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ แต่ในกรณีของเกาหลีนี้ การเกณฑ์ทหารทั่วถึงและไม่มีข้อยกเว้นให้ใครเลย เราจึงพบว่า นักศึกษา หรือดาราชายของเกาหลี ต่างก็ต้องไปถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่อถึงเวลาทั้งหมด
ในอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม การเกณฑ์ทหารมีปัญหาอย่างมาก เพราะนำมาซึ่งการประท้วงอย่างหนัก บิดามารดาของทหารทั่วประเทศประท้วงการที่รัฐบาลส่งลูกหลานของตนไปรบใน สมรภูมิเวียดนาม ในขณะนั้น ชาวอเมริกาจำนวนมากหนีทหาร โดยข้ามพรมแดนไปยังเม็กซิโกหรือแคนาดา หรือหนีไปยุโรป ในที่สุด รัฐบาลอเมริกาต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เมื่อ ค.ศ.1973
ในประเทศสยาม การเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นใน พ.ศ.2448 (ค.ศ.1905) หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกระบบไพร่ และใช้การเกณฑ์ทหารเข้าประจำการแทน โดยกำหนดให้ชายไทยอายุ 21 ปีต้องไปรับการคัดเลือกเข้าเป็นทหาร เรียกว่า “ไล่ทหาร” ซึ่งกำหนดให้เป็นวันที่ 1 เมษายน ปฏิกิริยาต่อต้านมีมาตั้งแต่แรก โดยในแต่ละมีจะมีคนจำนวนมากหนีทหาร ไม่ยอมมาคัดเลือกเข้าประจำการ หรือไม่ก็ส่งลูกชายไปบวชเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร นอกจากนี้ พ่อค้าชาวจีนจำนวนมากจะเลี่ยงการไล่ทหารโดยการส่งลูกชายไปเมืองจีนในวัยเด็ก และให้ลูกถือใบต่างด้าว
ในระยะต่อมา การเกณฑ์ทหารในประเทศไทยก็ยังมีปัญหาต่อเนื่อง จนต้องมีการแก้ไขด้วยการตั้งหน่วยทหารรักษาดินแดนขึ้นมา เมื่อ พ.ศ.2491 เพื่อนำเอาเยาวชนนักเรียนนักศึกษามาฝึกทหารเสียก่อน เรียกว่า “เรียน ร.ด.” แล้วอนุญาตให้คนเหล่านี้เลี่ยงจากการถูกเกณฑ์ทหารได้ นอกจากนี้ รายงานข่าวเรื่องเกี่ยวกับทุจริตการเกณฑ์ทหารมีขึ้นตลอดมา เป็นที่ทราบกันว่า ลูกหลานคนมีเงินสามารถที่จะจ่ายเงินซื้อ”ใบดำ”ได้เสมอ ทำให้ไม่ต้องไปฝึกเป็นทหารประจำการ จนกระทั่งบางสมัย เช่น ยุคปฏิวัติของจอมพลถนอม กิตติขจร ใน พ.ศ.2515 ต้องตั้ง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร มาแก้ปัญหานี้ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่ทราบกันดีว่า การเกณฑ์ทหารได้กลายเป็นช่องทางในการหารายได้ประจำปีของนายทหารที่เกี่ยว ข้องเสมอมา กรณีการทุจริตเรื่องเอกสารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
เมื่อเหตุการณ์กรณีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเช่นนี้ ความจริงน่าจะถึงเวลาของสังคมไทย ที่จะใช้โอกาสทบทวนเรื่องการเกณฑ์ทหาร เป็นการน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง ถ้าสังคมไทยจะเลิกการเกณฑ์ทหารเสียเลย แล้วหันมาใช้ระบบทหารอาสา หรือทหารอาชีพ แทน ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดแก่กองทัพเลย อาจจะเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ดีกว่าการที่จะไปไล่เอาลูกชาวบ้านมาบังคับเป็นทหาร
ที่นำเสนอมานี้ ไม่ใช่เพราะเห็นชอบด้วย หรือเห็นว่ากรณีหนีทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เห็นว่า ความชั่วร้ายของนายอภิสิทธิ์เป็นเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่า ที่ให้อภัยกันไม่ได้คือเรื่องความรับผิดชอบในการเข่นฆ่าพี่น้องประชาชนคน เสื้อแดง 98 ศพ นอกจากนี้ คือเรื่องการโกหก ดีแต่พูดเอาตัวรอดเป็นรายวัน โดยไม่ต้องผูกมัดว่าตัวเองเคยพูดอะไรไว้ เรื่องการหนีทหารจึงเป็นเพียงเรื่องเล็ก ที่ไปยืนยันเรื่องใหญ่ คือ การโกหกและไม่รักษาคำพูด และการแสร้งแสดงตัวเป็นคนดี สร้างภาพหลอกประชาชน
ดังนั้น การถูกเปิดโปงเรื่องหนีทหารจึงเป็นวิบากกรรมส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ที่ตามมา ทัน ส่วนสังคมไทยน่าจะพิจารณาในประเด็นที่ใหญ่กว่า คือ เรื่องการเลิกเกณฑ์ทหาร ซึ่งจะเป็นการปลดเปลื้องความทุกข์ของประชาชนจำนวนมากด้วย