ข่าวสด 12 สิงหาคม 2555 >>>
การเมืองครึ่งหลังเดือนสิงหาคมต้องจับตาไปที่คิวการช่วงชิงเก้าอี้ประธาน วุฒิสภาคนใหม่ที่กำลังจะตัดสินชี้ขาดกันในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า
ระหว่างนายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวแทน ส.ว.สายเลือกตั้ง ส่งเข้าประกวด ขณะที่นายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นตัวแทน ส.ว.สายสรรหา ลงชิงชัย
ใครเป็นฝ่ายชนะ จะตัดสินกันด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 73 เสียง จากจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ 146 เสียง แบ่งเป็นสายเลือกตั้ง 76 คน และสายสรรหา 70 คน
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านายนิคม ซึ่งมีภาพลักษณ์โน้มเอียงไปทางฝั่งรัฐบาลจะ "แบเบอร์" เพราะความจริงคือในหมู่ ส.ว.สายเลือกตั้ง มีจำนวนหนึ่งที่อิงอยู่กับฐานเสียงการเมืองในซีกพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้นศึกชี้ชะตาวันที่ 14 สิงหาคมนี้ จึงคู่คี่ก้ำกึ่ง สามารถออกได้ทั้งสองหน้า
โดยเฉพาะ ส.ว.สายเลือกตั้ง ถ้ายังรักษาอาการ "เสียงแตก" ไม่ได้ โอกาสที่ ส.ว.สายสรรหา จะผนึกกำลังโหวตส่งให้นายพิเชต ขึ้นยึดโควตาเก้าอี้ประธานเป็นสมัยที่ 3 ต่อจากนายประสพสุข บุญเดช และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ก็มีความเป็นไปได้สูง
การที่ใครจะได้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่นั้นนอกจากเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึง ทิศทางการทำหน้าที่ตรวจสอบ คานอำนาจรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น หรือลดดีกรีลงแล้ว ยังจะมีผลต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าทั้งในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแรงผลัก ดันของรัฐบาล และกระบวนการถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่วุฒิสภารับเรื่องต่อมาจาก ป.ป.ช. อีกด้วย
จบจากเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ จะเป็นคิวของสภาผู้แทนฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 ที่มีการวางโปรแกรมการอภิปรายไว้ 3 วันต่อเนื่อง 15-17 สิงหาคม
ถัดจากนั้นจะเป็นวาระการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ที่เลื่อนจากเดิม 23 สิงหาคมออกไปเป็นราวๆ ต้นเดือนกันยายน
ทั้ง 2 เวทีถูกมองว่าเป็นสนาม "ซ้อมใหญ่" ของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งจะประกาศทอดเวลาการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐบาล จากเดิมที่เคยคาดหมายว่าจะยื่นทันทีที่สภาเปิดสมัยประชุมเดือนสิงหาคม เลื่อนไปเป็นช่วงปลายสมัยประชุม หรือในราวๆ เดือนพฤศจิกายน
พรรคประชาธิปัตย์และวิปฝ่ายค้านให้เหตุผลการลากยาวเกมซักฟอกออกไปอีก 2-3 เดือนว่า ต้องการเห็นความล้มเหลวผิดพลาดในโครงการของรัฐบาลเป็นรูปธรรมชัดเจนกว่านี้ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มมีกลิ่นตุๆ โชยมาเข้าจมูกฝ่ายจ้องขย้ำรัฐบาล
พรรคประชาธิปัตย์จับจ้อง 2 ประเด็นนี้ชนิดตาเป็นมัน หวังจะใช้เป็นประเด็นขยายผลลบล้างคำสบประมาท ที่ว่าฝ่ายค้านชุดนี้ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เก่งแต่คัดค้านในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ
ตรงตามโพลให้คะแนนผลงานพรรคแกนนำฝ่ายค้านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สอบตกได้แค่ 3.5 คะแนนกว่าๆ สวนทางกับคะแนนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ที่ปรับตัวขึ้นจากเมื่อ 6 เดือนก่อน มาอยู่ที่ 5.3 คะแนน
ตรงจุดนี้เองที่หลายคนเชื่อว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฝ่ายค้านยังรีรอ ไม่กล้ายื่นขอเปิดอภิปรายซักฟอกรัฐบาลในตอนนี้ เพราะรู้ว่ากระแสนิยมยังตกเป็นรอง
การอาศัยวาทกรรมสาดโคลน จ้องจับผิดแต่ในเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งแล้วนำมาปั่นกระแสหวังให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต
ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า ไม่ได้ผล หนำซ้ำยังเป็นการเพิ่มคะแนนความเห็นใจให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยไม่รู้ตัว
เหนือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมสำหรับการเปิดศึกชี้เป็นชี้ ตายกับรัฐบาลก็เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านเองก็ยังมีแผลฉกรรจ์ติดตัว ทั้งในเรื่องประวัติการติดยศ "ร้อยตรี" รับราชการทหารเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่โดน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ขุดเอกสารการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาโชว์ให้เห็นพิรุธกันแบบจะจะ
แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายกาจเท่ากับข้อมูลฉบับซีรีส์ของ "สิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร" ที่มีการนำมาตั้งข้อสังเกตเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เล่นงาน "เจ้าของสุนัข" เสียอ่วม
เถียงไม่ออกทั้งเรื่องการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. เพียงแค่ 35 วัน หรือการลาราชการ 221 วัน เพื่อไป "ฮันนีมูน" ในต่างประเทศหลังแต่งงาน
หลายคนเฝ้ารอดูอยู่ว่าร้อยตรีอภิสิทธิ์ จะฟ้องร้องกลับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และสิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร ที่นำเรื่องนี้มากล่าวร้ายให้เสื่อมเสีย เหมือนอย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แจ้งความฟ้องร้อง 3 เกลอสายล่อฟ้ากรณี "ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" หรือไม่
นอกเหนือจาก 3 คำ "ดีแต่พูด" ที่เหมือนจะเป็นยี่ห้อประจำตัวใครบางคนไปแล้ว กรณีที่ว่า "ใคร" เป็นคนสั่งการสลายม็อบเสื้อแดง 98 ศพเมื่อปี 2553 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโต้ตอบกันทุกครั้งระหว่างการอภิปราย ในสภา ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายนโยบาย หรือผลงานของรัฐบาล
เป็นชนักปักหลังอดีตรัฐบาลที่นอกจากจะสลัดไม่หลุดแล้ว นับวันยิ่งบาดลึกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ มีการปรับเปลี่ยนทีมพนักงานสอบสวนคดี 98 ศพชุดใหม่ เพื่อให้คดีเดินหน้ารวดเร็วกว่าเดิม
ที่ต้องจับตาควบคู่กันไปก็คือการปรับทีมสอบสวนครั้งนี้ยังมุ่งไปที่การสอบ สวนคดีที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนเกือบ 2,000 คน เพื่อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายฐานความผิดพยายามฆ่า หรือเจตนาทำให้บาดเจ็บสาหัสได้หรือไม่
โดยขั้นตอนทางดีเอสไอจะเรียกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใน เหตุการณ์มาสอบปากคำถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเกิดเหตุ ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร ผู้ใดเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับสำนวนสอบสวนของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบสวนพยานแวดล้อมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วเกือบทุกสำนวน
เป็นวิบากกรรมใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์โดยแท้