ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 9 August 2012

เผยครึ่งปีแรกคนกัมพูชาเที่ยวต่างประเทศ 389,000 คน เพิ่มขึ้น 33% จากปีที่แล้ว

ที่มา ประชาไท

 
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 55 ที่ผ่านมา สำนักข่าว BERNAMA รายงานว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2012 นี้มีชาวกัมพูชาออกไปเที่ยวต่างประเทศถึง 389,000 คน
Ho Vandy ประธานคณะทำงานร่วมภาครัฐ-เอกชนด้านนโยบายการท่องเที่ยวของกัมพูชา เปิดเผยว่าชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่ออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศละแวกแถบอา เซียนมากที่สุด เนื่องจากไม่ไกล รวมถึงการที่มีข้อตกลงยกเว้นการตรวจวีซ่า โดยประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวกัมพูชานิยมเดินทางไปนั้นได้แก่ เวียดนาม, ไทย, สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวนอกอาเซียนที่เป็นที่นิยมของคนกัมพูชาได้แก่ฮ่องกง มาเก๊า คุนหมิง และเซี่ยงไฮ้ของจีน ตามการรายงานจากสำนักข่าว Xinhua
ทั้งนี้ประเมินกันว่าสาเหตุที่ชาวกัมพูชาออกไปท่องเที่ยวต่างแดนมากขึ้น นั้นเนื่องจากมาตรฐานและรายได้ในการดำรงชีพที่สูงขึ้น รวมถึงมีเที่ยวบินตรงระหว่างกัมพูชากับหลายประเทศในอาเซียน
โดยตัวเลขนี้ ถือว่าเพิ่มขึ้น 33% จาก 293,100 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2011
ความห่างระหว่างรายได้
กัมพูชาเป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 14.5 ล้านคน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงาน ว่าทางการกัมพูชาได้เปิดเผยว่า ในปี 2011 ชาวกัมพูชามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีสูงขึ้นเป็น 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28,179 บาท) ในขณะที่ผลผลิตมวลรวมประชาชาติขยายตัว 7% เป็น 12,937 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอัตราความยากจนลดลงเหลือประมาณ 26% โดยเศรษฐกิจกัมพูชาขึ้นกับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งทำรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด ถัดไปเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร
อย่างไรก็ดีกว่า 90% ของชาวกัมพูชาเกือบ 14.5 ล้านคน ยังประกอบอาชีพการเกษตร ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าขีดแห่งความยากจนของสหประชาชาติ
จากข้อมูลของ tradingeconomics.com พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (GINI index) ของกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่การสำรวจในปี 1995 ที่มีค่าเฉลี่ยความเหลื่อมล้ำอยู่ที่ 38.28 ในปี 2004 เพิ่มเป็น 41.85 และในปี 2007 เพิ่มสูงเป็น 44.37
*ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) เป็นวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย สัมประสิทธิ์จีนีถูกนิยามให้เป็นอัตราส่วนซึ่งมีค่าระหว่าง 0 และ 1 (หรือ 0-100%) สัมประสิทธิ์จีนีที่ต่ำจะแสดงถึงความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ หากค่านี้สูงขึ้นจะบ่งชี้ถึงการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น ซึ่งจากการประมาณการของธนาคารโลก (World Bank Gini %)
การค้า-การลงทุนในกัมพูชา
ด้านจากข้อมูลของกรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในสถานการณ์ด้านการค้ากับต่างประเทศของกัมพูชา จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาแจ้งว่าในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2011 (ม.ค.-ต.ค.) กัมพูชามีมูลค่าการค้ารวม 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออก 4.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กัมพูชานำเข้าจาก 86 ประเทศทั่วโลกมูลค่า 5.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือเวียดนามมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯไทยมูลค่า 0.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และฮ่องกง 0.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
ด้านสถานการณ์ด้านการลงทุน การลงทุนในกัมพูชานับแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2011 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board: CIB) ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนรวมจำนวน 1,946 โครงการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,811.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนเกาหลีใต้เป็นผู้ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุดจำนวน 24 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.7 ของจำนวนโครงการรวม รองลงมาคือไต้หวันจำนวน 20 โครงการ และจีนกับฮ่องกง ประเทศละ 16 โครงการ ด้านจำนวนเงินลงทุนมากที่สุดคือเวียดนาม 155.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของมูลค่าเงินลงทุนรวม รองลงไปได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ในสาขาต่างๆ ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ยางพารา กระเป๋า รองเท้า อาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม เครื่องหนัง โรงงานประกอบชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ เหมืองแร่ โรงสี อุตสาหกรรมการเกษตร โทรคมนาคมและการท่องเที่ยว เป็นต้น พื้นที่ที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ กรุงพนมเปญ รองลงไปคือ จังหวัดรัตนคีรี จังหวัดเสียมเรียบ จังหวัดพระสีหนุ และจังหวัดมณฑลคีรี