Tue, 2012-07-17 21:18
ระยะหลังนี้ สังเกตว่าผู้คนในแวดวงที่ติดตามการเมืองจะออกอาการเอียนสิ่งที่เรียกกันว่า “จริยธรรม” มาก เนื่องจากเบื่อหน่าย “มายาคติ” ของการใช้คำว่า “จริยธรรม” เพื่อกดเหยียดนักการเมืองและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เลวบริสุทธิ์ เกินมนุษย์ปกติทั่วไป และอ้างจริยธรรมอวยเครือข่ายอำมาตย์ให้ดีงามสูงส่งเกินมนุษย์ปกติเช่นกัน
ดังคำว่า “ไร้จริยธรรม” ที่ขยายความครอบความชั่วร้ายทุกมิติ เช่นทุจริตคอรัปชัน โกงทั้งโคตรเผด็จการรัฐสภา โง่ ถูกสนตะพาย ขี้ข้าทักษิณ ล้มสถาบัน ฯลฯ ดูเหมือนจะเลือกใช้กับ “นักการเมือง” และฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น ส่วนคำว่า “มีจริยธรรม” ซึ่งขยายความครอบคลุมความเป็นคนดี กตัญญูต่อแผ่นดิน ซื่อสัตย์ เสียสละ จงรักภักดี ฯลฯ ดูเหมือนจะสงวนไว้ใช้ยกย่อง “เครือข่ายอำมาตย์” และฝ่ายที่เห็นคล้อยตามเท่านั้น ที่คือการสร้าง “มายาคติทางจริยธรรม” ที่ทำให้สังคมเรามองนักการเมือง ฝักฝ่ายทางการเมือง และเครือข่ายอำมาตย์อย่างโรแมนติก ไม่สมจริง
ท่ามกลางภาวะเอียนจริยธรรมดังกล่าวนั้น หลายคนเสนอว่า ในทางการเมืองเราไม่ควรอ้างเรื่องจริยธรรม เพราะคำว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก ความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่มีทางเห็นตรงกันหรือหาข้อสรุปให้ตรงกันได้ เราควรอ้างอิงกฎหมายเท่านั้น เพราะเป็นกติกาที่ทุกคนเห็นสอดคล้องกันได้ ยึดถือปฏิบัติร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่เราก็เผชิญวิกฤตอีกกับปัญหาเรื่อง “สองมาตรฐาน” ในการบังคับใช้กฎหมาย การอ้างการหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่มีความหายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง การตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน (ดังล่าสุดคือกรณีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยตรงเพื่อวินิจฉัยหรือไม่) เป็นต้น
เป็นความจริงว่า เราอยู่ในรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายคือหลักสำคัญในการจัดการปัญหาขัดแย้งที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิของ กันและกัน แต่ในโลกของความเป็นจริงมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้อย่างมีสวัสดิภาพไม่ ใช่เพราะการยึดถือกฎหมายอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการยึดถือคุณค่าอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วย เช่น คุณค่าทางจริยธรรม เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น กรณีอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ถูกสื่อ ASTV ผู้จัดการแต่งภาพหน้าลิงขึ้นปกและใส่ข้อความว่า “วรเจี๊ยก” ถามว่าในทางกฎหมาย อาจารย์วรเจตน์สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ไหม ก็ฟ้องได้ แต่อาจารย์วรเจตน์ไม่ฟ้อง การไม่ฟ้องในกรณีเช่นนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นการสะท้อนความหมายของ “จริยธรรม” ที่เรียกกันว่ามี “สปิริต” ความมี “ใจเปิดกว้าง” หรือขันติธรรมทางการเมือง (tolerance)
หรือในประเทศที่ประชาธิปไตยก้าวหน้า แม้จะมีกฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐ แต่เขาก็ไม่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเรื่องปกติที่ประมุขของรัฐจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ แม้กระทั่งล้อเลียนในการ์ตูนที่เขียน “ตัวเป็นหมา หน้าเป็นคน” หรือด่าหยาบๆ คายๆ (ดังที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยกมาเป็นตัวอย่างบ่อยๆ) แต่เขาก็ถือกันว่าเป็นไปได้ที่บุคคลสาธารณะอาจจะโดนแบบนั้น ฉะนั้น หากไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายในเรื่องส่วนตัวจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติยศอย่างร้ายแรง หรือไม่ใช่เรื่องหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันจริงๆ ก็จะไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่น ดังเราแทบจะไม่ได้ข่าวว่ามีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่มีการใช้ กฎหมายหมิ่นประมุขของรัฐกับประชาชนของเขา หรือชาวต่างชาติ เหมือนที่ใช้กันอย่างเกินพอเพียงเช่นประเทศไทย
หรือหากจะยึดถือกันว่า ปัญหาขัดแย้งทุกเรื่องต้องอ้างอิง หรือยุติด้วยการใช้กฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้จริงๆ ต่อให้เป็นประเทศที่มีระบบกฎหมาย มีระบบยุติธรรมก้าวหน้ามาก ปัญหาก็ยังมีว่าสังคมที่ความขัดแย้งแทบทุกเรื่องต้องไปเคลียร์กันด้วยการ ขึ้นโรงขึ้นศาลเท่านั้น คือสังคมที่น่าอยู่จริงหรือ
สำหรับผมคิดว่า สังคมที่น่าอยู่ควรมีระบบกฎหมาย ระบบความยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณค่าอื่นๆ เช่น “คุณค่าทางจริยธรรม” มาทำหน้าที่เชื่อมประสานการอยู่รวมกันของสังคมให้สงบสุขด้วย บางเรื่องเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการใช้จริยธรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้ กฎหมาย (เช่นกรณีอาจารย์วรเจตน์เป็นต้นที่เลือกจะใช้ขันติธรรมมากว่าที่จะใช้ กฎหมาย)
พุทธศาสนาเองก็ให้ความสำคัญมากกับการใช้จริยธรรมเชื่อมประสานการอยู่ร่วม กันอย่างสันติเช่น ในยุคสังคมราชาธิปไตย พุทธศาสนาจะสอนให้ผู้ปกครองมีทศพิธราชธรรมข้อ “ขันติ” ความอดทนหนักแน่นต่อถ้อยคำว่ากล่าวเพ่งโทษต่างๆ จากราษฎร และ “อักโกธะ” ความไม่โกรธราษฎร เนื่องจากในยุคราชาธิปไตยผู้ปกครองคือกฎหมาย หากผู้ปกครองไร้ขันติธรรมและอักโกธะรัฐราชาธิปไตยก็คงจะหาความสงบสุขได้ยาก
แต่ยุคนี้เราอยู่ในรัฐประชาธิปไตยที่เป็นนิติรัฐปกครองโดยกฎหมาย จริยธรรมของผู้ปกครองอาจไม่จำเป็นเท่ากับการสร้าง “ระบบที่ดี” คือระบบสมสมดุลระหว่างการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบ แต่ความเป็นจริงคือไม่ว่าระบบที่ดีอะไรก็ย่อมต้องการ “คุณค่า” ที่พึงประสงค์บางอย่าง คุณค่านี้แหละที่เราเรียกว่า “คุณค่าทางจริยธรรม” (moral values) เช่น คุณค่าทางจริยธรรมในระบบประชาธิปไตยก็คือ การมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเราเรียกคุณค่านี้ว่า คุณค่าเชิงหลักการ หรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย
ฉะนั้น
ความมีจริยธรรมพื้นฐานของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยก็คือ ความเคารพ
ปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ถ้าจะถามหา “คนดี”
ของสังคมเช่นนี้ก็หมายถึงคนที่เคารพ ปกป้อง
และ/หรือต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพในสังคมนั่นเอง
และด้วยหลักจริยธรรมพื้นฐานนี้เองที่เราใช้เป็น “มาตรฐาน”
เพื่อตั้งคำถามถึง นักการเมืองที่ดี สื่อที่ดี นักวิชาการ ปัญญาชนที่ดี
มวลชนที่ดี ตลอดถึงตุลาการ องคมนตรี ทหาร อำมาตย์ที่ดี ฯลฯ
ความมีจริยธรรมของสมาชิกแห่งสังคมประชาธิปไตยดังกล่าว
จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องเรียกร้องเสมอไป แต่ “จริยธรรมมายาคติ” ดังที่พยายามตอกย้ำปลูกฝังกันเรื่องกตัญญูต่อแผ่นดินเป็นต้น ซึ่งมีความหมายที่คลุมเครือ ไม่ยึดโยงกับจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ซ้ำยังมีอิทธิพลทางจิตวิทยาสังคมให้ประชาชนเชื่อถือศรัทธาคนบางคน บางกลุ่ม ที่ยกย่องกันว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ไม่คดโกง แต่ไม่ตั้งคำถามว่า เขาซื่อสัตย์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เคารพอำนาจของประชาชนหรือไม่ มีจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยหรือไม่
ซ้ำร้ายจริยธรรมมายาคติเช่นนั้นยังกลายเป็นฐานให้คนบางกลุ่มอ้างความเป็น คนดีมีคุณธรรมเพื่อทำรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า สังคมนี้ยอมให้อภิสิทธิ์แก่คนดีบางคน บางกลุ่มละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยได้ทุกเมื่อ และเมื่อเกิดการกระทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยโดยศาล สื่อ นักวิชาการ มวลชนบางฝ่ายที่อ้างความเป็นคนดีมีคุณธรรมในความหมายที่ไม่ได้สนับสนุน เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จึงทำให้เราเอียนคำว่า “จริยธรรม” เต็มที
แต่จะอย่างไรก็ตาม จริยธรรมประชาธิปไตยคือเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพนั้นย่อมเป็นทั้ง “วิถี”และ “เป้าหมาย” ในตัวของมันเอง และมันคือมาตรฐานคัดสรรนักการเมืองที่ดี สื่อ นักวิชาการ ฯลฯ ที่ดี ฉะนั้น มันจึงเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตั้งคำถามกับทุกฝ่าย
และหากใช้มาตรฐานนี้กันจริงๆ
แน่นอนว่านักการเมือง นักวิชาการ มวลชน ฯลฯ
ที่อ้างอิงสถาบันกษัตริย์มาต่อสู้ทางการเมืองและทำรัฐประหาร
ย่อมเป็นผู้ไร้จริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย
ทว่าแม้แต่นักการเมืองฝ่ายที่อ้างว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย
ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเขามีจริยธรรมพื้นฐานแห่งสังคมประชาธิปไตย
หากเมื่อพวกเขาเข้ามามีอำนาจรัฐแล้วไม่ได้ต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
กฎหมาย
หรือเปลี่ยนโครงสร้างที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้
จริงฉะนั้น จริยธรรมพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยคือการเคารพ ปกป้อง และ/หรือต่อสู้เพื่อให้สังคมนี้มีระบบโครงสร้างที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพอย่างอารยประเทศ จึงถือเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ใช้ตัดสินความเป็น “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น)
ซึ่งเวลานี้สังคมเรากำลังขาดแคลน “นักการเมืองที่ดี” (เป็นต้น) ตามหลักจริยธรรมประชาธิปไตย หรือมาตรฐานสากลที่ว่ามานี้อยู่หรือไม่!