ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 7 July 2012

ทางการพม่ากวาดจับนักกิจกรรม ก่อนวันรำลึกนายพลเนวินสั่งปราบนักศึกษา

ที่มา ประชาไท

 
นับเป็นการจับกุมนักศึกษาระลอกใหญ่นับตั้งแต่พม่าดำเนินการปฏิรูป ประเทศ ขณะที่ตำรวจบอกผู้นำนักศึกษาว่า "อย่าขุดคุ้ยอดีต" ท่ามกลางกระแสปฏิรูปหลายด้านในพม่า รวมทั้งการที่รัฐบาลพม่าอนุมัติการลาออกให้รองประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยม "ทิน อ่อง มิ้นต์ อู"

อาคารสหภาพนักศึกษาพม่า ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนถูกนายพลเนวินสั่งระเบิดทิ้งในวันที่ 7 ก.ค. ปี พ.ศ. 2505 (ที่มา: อิระวดี)
สำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานเมื่อคืนวานนี้ว่า มีผู้นำนักศึกษาอย่างน้อย 20 รายถูกจับเมื่อคืนนี้ โดยเป็นการจับกุมผู้นำนักศึกษาครั้งใหญ่นับตั้งแต่รัฐบาลทหารถ่ายโอนอำนาจ โดยนักกิจกรรมกล่าวว่า การจับกุมเกิดขึ้นในคืนที่จะมีการชุมนุมเพื่อรำลึกการปราบปรามนักศึกษา
"มี 5 คนถูกจับที่ย่างกุ้ง 5 นักกิจกรรมนักศึกษาถูกจับที่ชเวโบ หกคนที่มัณฑะเลย์ และอีก 4 คนที่ล่าเสี้ยว" เต็ต ซอว์ หนึ่งในผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาเมื่อปี 2531 หรือ รุ่น'88 กล่าว
นักกิจกรรมรุ่น'88 คนอื่นๆ กล่าวว่า คนที่ถูกจับที่ย่างกุ้ง ถูกจับโดยไม่มีการตั้งข้อหาอะไร แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า "ต้องการพูดคุยกับพวกเขา"
ผู้ที่ถูกจับโดยตำรวจสันติบาลของพม่า ประกอบด้วย นักศึกษารุ่น'88 นักศึกษากลุ่มสหภาพนักศึกษารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นนักศึกษายุคการประท้วงสมัยปฏิวัติชายจีวรในปี 2550 และนักศึกษากลุ่มสหพันธ์นักศึกษาพม่าทั้งมวล (ABFSU)
ทั้งนี้พม่ามีการปฏิรูปในหลายด้าน นับตั้งแต่เต็งเส่งขึ้นมามีอำนาจเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและมีการเลือกตั้งซึ่งทำให้มี ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอยู่ในสภา ขณะที่การประท้วงแสงเทียนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อประท้วงเรื่องกระแสไฟฟ้าไม่พอใช้ในประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าทำแต่เพียงเรียกผู้นำการประท้วงไปสอบสวนแล้วปล่อยตัว โดยไม่ได้ตั้งข้อหา
ผู้นำฝ่ายค้านอย่างนางออง ซาน ซูจี กล่าวระหว่างการเยือนยุโรปเมื่อสัปดาห์ก่อนเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษ การเมืองที่เหลืออยู่ และขณะที่เกิดเหตุจับกุมนักศึกษา นางออง ซาน ซูจีอยู่ที่เนปิดอว์เพื่อร่วมประชุมรัฐสภา และมีกำหนดที่จะร่วมแถลงในรัฐสภาในวันจันทร์นี้ (9 ก.ค.)
ทั้งนี้ นักศึกษาที่ถูกจับกุมในหลายเมือง วางแผนที่จะเดินขบวนรำลึกเหตุการณ์ "7 ก.ค. 1962" ซึ่งวันที่นายพลเนวินสั่งปราบนักศึกษาพม่าจนมีผู้เสียชีวิต และต่อมาได้มีการระเบิดทำลายอาคารของนักศึกษาพม่า
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าตำรวจที่ภาคมัณฑะเลย์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (5 ก.ค.) โดยเตือนบรรดานักศึกษาว่า "อย่าขุดคุ้ยอดีต"

รองประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมได้รับอนุมัติให้ลาออกแล้ว
ด้านออง ซาน ซูจียืนยันจะใช้คำว่า "เบอร์ม่า"

ขณะเดียวกัน สาละวินโพสต์ รายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภาพม่า ได้รับรองการลาออกของนายทิน อ่อง มิ้น อู รองประธานาธิบดี โดยการลาออกจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. โดยทิ่น อ่อง มิ้น อู เป็นอดีตนายพลที่มีความสนิทสนมกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย และยังเป็นที่รู้จักในฐานะฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูป ประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ขณะที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งเตรียมที่จะปรับคณะรัฐมนตรี โดยเตรียมจะปลดและลดบทบาทรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนที่มีแนวคิด หัวอนุรักษ์นิยมขัดแย้งกับเขา เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ กกต.พม่า ตีพิพม์ประกาศในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ เตือนออง ซาน ซูจี และพรรคฝ่ายค้านให้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนมาร์" แทนคำที่นางออง ซาน ซูจีใช้ระหว่างเยือนยุโรปว่า "เบอร์ม่า" นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดเมื่อ 5 ก.ค. มติชนออนไลน์ รายงานว่า นาออง ซาน ซูจี กล่าวระหว่างแถลงข่าวที่บ้านพักในนครย่างกุ้งว่า เสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย เธอมีสิทธิจะเรียกชื่อประเทศพม่าต่อไปในแบบที่เธอต้องการจะเรียก และว่ารัฐบาลทหารพม่าในอดีตทำไม่ถูกต้อง ที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "เบอร์มา" เป็น "เมียนมาร์" โดยที่ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนก่อน

แปลและเรียบเรียงจาก
Student leaders arrested in Myanmar, Aljazeera, 6 July 2012,

Authorities Block Plans to Commemorate Key Anniversary By YAN PAI / THE IRRAWADDY July 6, 2012