Sat, 2012-07-07 23:03
เลขาธิการอาเซียน ชี้ชายแดนใต้ได้เปรียบ
คนพื้นที่พูดมลายูเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่ต้องปรับสำเนียงให้ถูกต้อง
แนะรัฐปรับมุมมองต่อคนพื้นที่ ชี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
ย้ำสถาบันการศึกษาต้องปรับตัว พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพสูง ปัจจุบันยังผลิตคน
7 อาชีพที่เปิดเสรียังไม่พอ เกรงแข่งขันคนต่างชาติไม่ได้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2555
ที่สนามกีฬากลางจังหวัดปัตตานี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน
กล่าวปาฐกถา เรื่อง “เศรษฐกิจอาเซียน เศรษฐกิจชุมชน” ในงานครบรอบ 20 ปี
สหกรณ์ออมทรัพย์อิบนูอัฟฟานว่า
จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความได้เปรียบมากกว่าส่วนอื่นของไทยในการเข้าสู่อา
เซียน
แต่สถาบันการศึกษาในพื้นที่โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยังส่งคน
เข้าเรียนใน 7 สาขาอาชีพที่จะเปิดเสรีได้ยังไม่เพียงพอ
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในอาเซียนมี 7 อาชีพที่จะเปิดเสรี
ซึ่งจะเรียนและทำงานที่ไหนก็ได้ ทั้ง 7 สาขาอาชีพดังกล่าว ได้แก่
อาชีพวิศวกร พยาบาล สถาปนิก การสำรวจ นักบัญชี ทันตแพทย์ และแพทย์
ซึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งได้เปรียบกว่าที่อื่นของประเทศหากมีคนที่
เรียนจบในสาขาอาชีพดังกล่าว
นายสุรินทร์ กล่าวว่า
ในภาคใต้มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือโรงเรียนปอเนาะกว่า 400 แห่ง
สามารถผลิตนักเรียนได้ปีละ 5,000 คน แต่ยังไม่สามารถส่งคนไปเรียนหมอ
หรือเรียนใน 7 สาขาอาชีพดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ
เพราะฉะนั้นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ต้องปรับตัวให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของ
ทุกกระแส ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครอง
ต้องเข้าใจอนาคตลูกหลานด้วยว่าจะต้องแข่งขันกับใครในเวทีอาเซียน
ถ้าทำไม่ได้ ลูกหลานจะสู้คนอื่นไม่ได้
และจะอ่อนเปลี้ยทันทีเมื่อต้องแข่งขันกับคนอื่น
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ
คนที่พูดภาษามลายู ซึ่งตนได้บอกกับรัฐบาลเสมอว่า
คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้พูดมลายูด้วย แต่เป็นมลายูท้องถิ่นปัตตานี
ซึ่งเป็นทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจที่ดีในการเตรียมเข้าสู่อาเซียน
เนื่องจากสามารถเชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศไทยได้
และสามารถทำให้ตราสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับได้ของอาเซียนได้โดยคนในพื้นที่
ซึ่งเป็นโอกาสของไทยในอาเซียน
“เมื่อวานที่กระทรวงมหาดไทย
ผมพูดกับคนในกระทรวงมหาดไทยทั้งประเทศผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนท์ว่า
ขอให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองต่อคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่
เพราะคนในพื้นที่สามารถพูดกับคนในอาเซียนได้
ถ้ารู้วิธีผันสำเนียงให้เป็นภาษามลายูกลางได้ ซึ่งโอกาสก็จะยิ่งเปิดมากขึ้น
แต่อนาคตอาเซียนจะมีแต่การแข่งขัน อาเซียนจะเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
ทุกคนต่างมุ่งไปข้างหน้า ปัญหาคือ เรามีความพร้อมที่จะไปข้างหน้าหรือไม่”
นายสุรินทร์ กล่าว