ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
VoiceTV Member
Bio
รองศาสตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตนางอองซานซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านจากพรรค National League for Democracy (NLD)ของพม่า ได้เดินทางมาเยือนไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี สาเหตุที่ไม่สามารถเดินทางออกจากพม่าได้ก่อนหน้านี้ ก็สืบเนื่องจากการถูกขังอยู่ในบ้านพักเป็นเวลานาน (14 ปีจากจำนวนทั้งสิ้น 20 ปี) และความหวาดเกรงว่า ถ้าเดินทางออกนอกประเทศแล้ว จะไม่ได้กลับเข้าประเทศอีก ทำให้นางซูจีไม่มีโอกาสได้พบหน้าสามีเป็นครั้งสุดท้าย (นาย Michael Aris)ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และไม่ได้เดินทางไปร่วมงานศพที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไปในพม่า ซูจีได้ลิ้มรสกับเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง การเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในครั้งนี้ นอกจากจะส่งสัญญาณให้ประชาคมโลกเห็นว่า ซูจียังคงได้รับความนิยมและการสนับสนุนกับชาวพม่าแล้ว ซูจียังได้กลายมาเป็นทูตสัมพันธไมตรีให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี Thein Sein ในการเรียกร้องขอความชอบธรรมให้กับรัฐบาลใหม่ชุดนี้ด้วย
การเดินทางมาเยือนไทยของซูจีครั้งนี้ได้นำมาซึ่งเรื่องที่น่าสนใจ ขบขัน และการตีแผ่ความเสแสร้งของสังคมไทยอย่างยิ่ง หากจะพูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นความสัมพันธ์ไทยกับพม่านั้น ผมเห็นว่า น่าจะอยู่ในทางบวก ทันทีที่นางซูจีเดินทางมาถึง ก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มผู้ใช้แรงงานพม่า เป็นสัญลักษณ์ชี้ว่า รัฐบาลพม่าไม่ได้ทอดทิ้งคนกลุ่มนี้ และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยในการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวพม่าที่ พำนักอยู่ในไทย ถือว่าเป็นผลในทางบวกต่อทั้งสองฝ่าย หรือ win-win outcomeทั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เพิ่งหันมาให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับพม่า โดยเฉพาะในการสานต่อนโยบายของชุดผ่านๆ มา ในด้านการเข้าไปลงทุนและเจาะตลาดในพม่า และคว้าโอกาสทางด้านธุรกิจที่มาพร้อมกับการเปิดประเทศ โครงการที่ไทยเข้าไปร่วมลงทุนที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้คือโครงการสร้างท่าเรือน้ำ ลึก ณ เมืองทวาย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในพม่าแบบฉับพลันในอนาคต ความสัมพันธ์ที่คงอยู่ระหว่างสองประเทศก็ไม่น่าจะเปลี่ยนมาก อย่าลืมว่า ไทยยังเป็นประเทศผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของพม่า ดังนั้น การพึ่งพากันทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการได้มาซึ่งผลประโยชน์ แห่งชาติทั้งของไทยและพม่า
ในด้านการเมืองในระดับภูมิภาค ทั้งไทยและพม่าต่างเป็นประเทศสมาชิกของอาเซียน การเลือกเยือนไทยเป็นประเทศแรกก็น่าจะเป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการให้ความสำคัญ ต่ออาเซียน ทั้งนี้ พม่าได้รับฉันทามติเมื่อปีที่แล้ว ในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2557 หรือพูดง่ายๆ ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอาเซียนอีก 2 ปีข้างหน้าท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพม่ายังขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ การเป็นประธานอาเซียนในปี 2557 มีความสำคัญยิ่งต่อพม่า ทั้งในแง่การเมืองในประเทศและในภูมิภาค ในแง่ในประเทศนั้น การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 (นับจากการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1990) จะมีขึ้นในปี 2558 หรือหนึ่งปีหลังจากการเป็นเจ้าภาพอาเซียน รัฐบาลพม่าต้องการใช้โอกาสการเป็นเจ้าอาเซียนในการร้องขอความชอบธรรมจากนานา ประเทศต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการแสดงความเป็นผู้นำของพม่าในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการเรียกคะแนนทางการเมืองจากชาวพม่าต่อบทบาทที่มีความสำคัญยิ่ง ของประเทศ ในแง่การเมืองในภูมิภาคนั้น พม่าจะเป็นเจ้าภาพอาเซียนเพียง 1 ปีก่อนที่จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแท้จริง หากพม่าไม่สามารถเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกรีบดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อรับการประชาคมอาเซียนที่จะมาถึง ชื่อเสียงของพม่าและอาเซียนอาจจะสูญสลายหายไปได้เช่นกัน
เอาละครับ ทีนี้มาถึงเรื่องขบขัน จะว่าว่าไร้สาระก็ไม่เชิง แต่สะท้อนความโอเว่อร์ลี่เซ้นซีทีฟ (overly sensitive) ของสังคมไทยกันบ้าน
เมื่อซูจีได้เดินทางมาถึงไทย ก็ได้มีทวีตปลอมในชื่อซูจี ที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์สภาพการเมืองไทย บังเอิญที่ว่า การเดินทางมาถึงไทยของซูจีตรงกับช่วงการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองใน รัฐสภาของเราพอดี จนนำไปสู่ความวุ่นวายต่างๆ นานาดังที่เราทราบกันอยู่ ผมเองได้ใช้โอกาสนี้ในการวิจารณ์การเมืองไทย และขอยืนยันว่า คำวิจารณ์เหล่านี้มีองค์ประกอบของความเป็นจริงอยู่มาก (element of truth) ซึ่งหลายคนในสังคมไทยยากที่จะรับได้ ข้อความทวีตปลอมของซูจีมี ดังนี้
"มาถึงกรุงเทพแล้ว ได้พบกับรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสแสร้งว่ารักประชาธิปไตย การเมืองไทยเละเทะและไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่สมัยอยุทธยา ฮาฮาฮาฮาฮา"
"ยุ่งทั้งวัน ได้รับโทรศัพท์จากสนธิ (คือใคร?) ถามว่าชั้นต้องการเข้าร่วมการประท้วงเย็นนี้ และร่วมบริจาคเงินหรือไม่ ไม่ทราบว่าชั้นทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่เมื่อไหร่"
"พระเจ้าช่วย มีคนบอกว่าได้มีการเล่นเก้าอี้ดนตรีในรัฐสภาไทย เยี่ยมมาก น่าจะมีอะไรแบบนี้ในเนปิดอว์บ้าง ที่นั่นน่าเบื่อมาก "
"ใครมีเบอร์โทรศัพท์ของรังสิมาบ้าง? อยากโทรหาและจะชวนมาร่วมพรรค NLD ด้วย เราต้องการคนแบบนี้ในการขโมยเก้าอี้มาจากพวกทหารในรัฐสภาพม่า"
"เมื่อวานนี้มีเก้าอี้ดนตรี วันนี้มีการขว้างปากระดาษ น่าสนุกมาก รัฐบาลของคุณมีสีสันเหลือเกิน พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยยุติการให้ความบันเทิงแก่ฉัน"
ทันใดนั้น สื่อมวลชนที่ไม่ศึกษาและค้นหาว่าทวีตเหล่านี้จริงหรือปลอม ก็ได้นำไปลงเป็นข่าว (สื่อไทยเคยทำการบ้านบ้างหรือ?) ข่าวเรื่องซูจีทวีตแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้บรรดาชนชั้นกลางของไทยรู้สึกไม่พอใจซูจีขึ้นมาทันทีที่เข้ามาก้าวก่าย การเมืองไทย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มคนเดียวกันนี้ต่างมีความชื่นชมซูจีเป็นล้นพ้น (นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าขบขันอีกประการหนึ่งเช่นกัน กลุ่มชนชั้นกลาง-ไฮโซเหล่านี้ มองว่าซูจีเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพและประชาธิปไตย และสนับสนุนซูจีในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่เคยส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเอง มิหนำซ้ำ ยังส่งเสริมรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ) กระแสต่อต้านซูจีเริ่มขึ้น มีการประนามว่าให้ซูจีมองการเมืองพม่าก่อนที่จะมาวิจารณ์การเมืองไทย วิจารณ์ว่าซูจีไม่เคารพประเทศที่มาเยือนและควรเดินทางกลับไปได้แล้ว หรือแม้แต่บอกว่า ไทยมีการปกครองที่มั่นคงและยึดมั่นในสถาบันกษัตริย์ ขณะที่สถาบันกษัตริย์ของพม่าล่มสลายไปนานแล้ว เป็นต้น
ในอีกมุมมองหนึ่ง กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ใช้โอกาสนี้ ในการจับซูจีปะทะกับยิ่งลักษณ์ โดยมีการเสนอข่าวในทำนองที่ว่า รัศมีของยิ่งลักษณ์ถูกกลบโดยซูจี ซึ่งนักข่าวต่างประเทศต่างสนใจที่จะเสนอข่าวเกี่ยวกับซูจี และไม่มีใครสนใจยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด มีการเปรียบเทียบถึงคุณลักษณ์ทางการเมืองของสตรี 2 คนนี้ โดยฝ่ายศัตรูรัฐบาลออกมาโจมตีว่า ยิ่งลักษณ์ไม่มีอะไรที่สามารถสู้กับซูจีได้ ทั้งในเรื่องคุณวุฒิ ความสามารถ และถึงแม้วัยวุฒิจะอ่อนกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งความสนใจที่ประชาคมโลกมีต่อยิ่งลักษณ์ เมื่อเทียบกับซูจีที่มีอายุมากกว่า (และอาจมีความงามน้อยกว่าในสายตาของผู้วิจารณ์) ทั้งหมดนี้ ชี้ถึงความด้อยในวุฒิภาวะของผู้วิจารณ์ ที่มีจุดมุ่งหม่ายของการโจมตีแต่เพียงอย่างเดียว เป็นที่แน่นอนว่า สื่อต่างชาติย่อมให้ความสนใจต่อซูจีมากกว่าใครๆ ไม่เพียงแต่ซูจีเป็นแขกของประเทศนี้ (ทำไมสื่อต้องให้ความสนใจเจ้าภาพมากกว่าแขก?) แต่เป็นเพราะว่า นี่เป็นการเดินทางออกต่างประเทศเป็นครั้งแรกของซูจีซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ประเด็นนี้ชี้ว่า อคติยังคงปกคลุมการเมืองและสังคมไทย เป็นเรื่องยากที่จะลบออกไป
ในที่สุด ความเสแสร้งต่างหากที่ทำให้หลายๆ คนเข้าใจว่า อย่าตั้งค่ากลุ่มชนชั้นกลาง-ที่มีการศึกษาไว้สูงขนาดนั้น ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้จึงยอมรับไม่ได้ต่อความจริงที่ว่า การเมืองไทยมีความปั่นป่วนตลอดเวลา ทำไมจึงยอมรับไม่ได้ว่า ระบอบรัฐสภาของไทยกำลังถูกย่ำยีโดยเสียงคนกลุ่มน้อย ทำไมยอมรับไม่ได้ว่า ความรุนแรงได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการได้มาซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ทางการเมือง คำถามเหล่านี้ สอดคล้องกับความแสแสร้งของสังคมไทยต่อกรณีที่เลดี้กาก้าทวีตเรื่องโรเล็กซ์ ปลอมในไทย ถึงจุดที่สำนักทรัพย์สินทางปัญญาต้องเขียนจดหมายประท้วงสถานเอกอัครราชทูต สหรัฐฯ ว่า สิ่งที่เลดี้กาก้าพูดนั้นไม่เป็นความจริงและกระทบต่อภาพลักษณ์ในทางลบของไทย ผมเห็นว่า สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะส่งเจ้าพนักงานไปตรวจสอบตลาดแถวสีลม-พัฒน์ พงษ์ สุขุมวิท และคลองถมบ้างครับ เผื่อจะได้เลิกพูดปดกับตัวเองและต่อสังคมเสียที
ครับ การเยือนของซูจีเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าขบขัน ช่วยกระตุ้นให้เรามองสังคมไทยแบบลึกซึ้งมากขึ้น แต่อย่าคาดหวังอะไรไปกว่านั้น
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
5 มิถุนายน 2555 เวลา 14:46 น.