ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 25 June 2012

อภิชาต สถิตนิรามัย: 80 ปี 2475 คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม

ที่มา ประชาไท

 
ชนชั้นนำไทยจะฟังและเก็บรับบทเรียนทางประวัติศาสตร์ 80 ปีนี้หรือไม่ เมื่อขณะนี้คนชั้นกลางรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว เขาเรียกร้องต้องการความเสมอภาคทางการเมืองแบบ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ในขณะที่ระบอบการเมืองไทยภายใต้การกำกับของ “มือที่มองไม่เห็น” ในปัจจุบันกลับมองคนกลุ่มนี้เป็นคนต่ำชั้นที่มีลักษณะ “โง่-จน-เจ็บ”
คำกล่าวโดยอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวทีอภิปราย "80 ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ.2475" ซึ่ง มีผู้อภิปรายประกอบด้วย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์-สุดสงวน สุธีสร-ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์-อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์-อภิชาต สถิตนิรามัย-มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ จัดโดย หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ฯ และสมาคมจดหมายเหตุสยาม
000
หากจะเข้าใจมูลเหตุของการปฏิวัติสยาม 2475 เราคงต้องเริ่มต้นที่สนธิสัญญาเบาว์ริงในรัชการที่ 4 และการรวมศูนย์อำนาจรัฐ ผ่านการปฏิรูประบบราชการในรัชกาลที่ 5 เช่นกัน หากจะเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เราอาจต้องเริ่มอย่างช้าที่สุด ตั้งแต่พลเอกเปรมลงจากอำนาจ ยี่สิบปีเศษที่ผ่านมานั้น สังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจนจำเค้าเดิมไม่ได้ ในทศวรรษแรกเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก โครงสร้างการผลิตได้ก้าวข้ามภาคเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ อย่างเต็มตัว และจบลงด้วยวิกฤต 2540 ในทศวรรษที่ 2 แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะช้าลงก็ตาม แต่ผลรวมของการขยายตัวและการเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างการผลิตใน 20 กว่าปีนี้ก็ได้ทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของมันอย่างซื่อสัตย์เฉกเช่นเดิม กล่าวคือ การก่อเกิดขึ้นของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งกลายเป็นคนส่วนข้างมากของสังคม ซึ่งมีประมาณร้อยละ 40 ของครัวเรือนทั้งประเทศ กระจายตัวอยู่ทั้งในเมืองและชนบท ในขณะที่คนยากจนลดเหลือเพียงเหลือเพียงร้อยละ 8 หรือประมาณ 5 ล้านคนในปี 2553 เท่านั้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะโดยรวมแล้วรายได้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าตัว ทำให้คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 6 บาทเศษต่อคนต่อเดือนในปี 2552
คนชั้นกลางใหม่ร้อยละ 40 นี้คือใคร ? คงถกเถียงกันได้ในเรื่องคำนิยาม แต่ผมประเมินว่าคือคนที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน อาชีพของคนเหล่านี้ในเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรคือเป็นเสมียน เป็นผู้ที่อยู่ในภาคการค้าและบริการ และคนงานในภาคการผลิต ซึ่งมีประมาณเกือบร้อยละ 35 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2552 ข้อสังเกตคือในชนกลุ่มนี้อาชีพการค้าและบริการเป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็วจากร้อยละ 10 เศษในปี 2529 เป็นร้อยละ 20 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2552 และยังมีแนวโน้มกระจายตัวออกจากเขตเมืองไปสู่เขตชนบท และกระจายตัวออกจากทม.ไปทุกภูมิภาคอีกด้วย กลุ่มนี้มีรายได้ 5,828 บาทต่อเดือน ใกล้เคียงกับรายได้ของคนงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตและรายได้เฉลี่ยของทั้ง ประเทศแต่สูงกว่าเกษตรกรทั่วไปเกือบสองเท่า ส่วนภาคเกษตรกรรมในปี 2547 มีเกษตรกรเชิงพาณิชย์จำนวน 1.36 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ19 ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมดหรือประมาณร้อยละ5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ มีรายได้ต่อเดือนถึง 9,311 บาท ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรทั่วไปร้อยละ 70 ดังนั้น เราจึงอาจจัดเกษตรกรในกลุ่มนี้ได้ว่าเป็น “ชนชั้นกลางใหม่” ในภาคเกษตรกรรม
 
แล้วอะไรคือปัญหาร่วม หรือเป็นผลประโยชน์เฉพาะของชนชั้นใหม่นี้ ? คนกลุ่มนี้คือผู้ที่วิถีชีวิตทั้งด้านการผลิตและการบริโภคผูกพันกับระบบทุน นิยมไทยอย่างแนบแน่น จำนวนมากเป็นผู้ค้าขาย ผู้ประกอบการอิสระเช่นขับรถแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง สารพัดช่างซ่อม ช่างเสริมสวย ฯลฯ หรือแม้เป็นเกษตรกรก็เป็นเกษตรกรเชิงพาณิชย์ มีเป้าหมายการผลิตเพื่อป้อนตลาด เขาไม่ใช่เกษตรกรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผู้คนเหล่านี้ต่างวาดหวังต้องการไต่เต้า-ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมภาย ใต้ระบบตลาดสมัยใหม่ ไม่แตกต่างไปจากชนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป (ชั้นกลางเก่า) สิ่งที่แตกต่างคือเขาอาจมีคุณสมบัติ (capabilities) เช่น ระดับการศึกษา ทักษะ ความสามารถ และ/หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โอกาสต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าชนชั้นกลางเก่า สิ่งเหล่านี้ทำให้ชนชั้นกลางใหม่ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่คนจน แต่ก็จนกว่ามากทั้งในด้านรายได้และทรัพย์สิน (69เท่า) เมื่อเปรียบเทียบกับชนชั้นกลางเก่า ยิ่งกว่านั้นเนื่องจากสถานะทางอาชีพของชนชั้นกลางใหม่มักอยู่นอกภาคการผลิต ที่เป็นทางการ (informal sector) จึงทำให้เขาขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ในขณะที่อาชีพของเขาผูกพันกับระบบตลาดอย่างแนบแน่นก็ทำให้เขามีรายได้ที่ไม่ แน่นอน ผันผวนไปตามวงจรธุรกิจ แต่โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ผู้คนเหล่านี้ต้องการคือ 1.หลักประกันความมั่นคงในชีวิต 2.การกระจายรายได้-โอกาส หรือการอุดหนุน-ส่งเสริมจากรัฐ เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของเขาให้ใกล้เคียงกับชนชั้นกลางเก่ามากขึ้น
 
ด้วยลักษณะของชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้เอง เมื่อรัฐบาลทักษิณ 1 ผลักดันและปฏิบัติตามสัญญาที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2544 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นโยบายประชานิยม” เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพ การพักการชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน ผลงานนี้จึงทำให้ตัวนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมและความชื่นชมสูง เพราะโครงการเหล่านี้ตอบสนองและสอดรับกับความต้องการทางเศรษฐกิจของชนชั้น กลางใหม่ เนื่องจากโครงการพวกนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชีวิตชนชั้นกลางใหม่มีความ มั่นคงสูงขึ้น เช่นโครงการหลักประกันสุขภาพ หรือไม่ก็ช่วยให้เขามีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นกองทุนหมู่บ้านทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น และ/หรือด้วยต้นทุนที่ถูกลง ในขณะที่ OTOP ก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างรายได้ เป็นต้น
 
โดยสรุปคือ มีคนชั้นกลางระดับล่างจำนวนมาก ซึ่งต่อมามีพัฒนาการทางความคิดกลายเป็น “คนเสื้อแดง” นั้น มีจุดเริ่มต้นจากความชื่นชมนายกทักษิณและรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพราะเขาได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายของรัฐบาลนี้
 
แต่การปรากฏตัวขึ้นของชนชั้นใหม่นี้ อย่างมากก็เป็นแค่เงื่อนไขทางภาวะวิสัยที่เอื้อแก่การก่อตัวของพลังทางสังคม ชนิดใหม่ หรือผู้เล่นกลุ่มใหม่ในสังคมการเมือง แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นหรือเพียงพอที่จะเปลี่ยนคนกลุ่มใหม่ให้กลาย เป็นกลุ่มพลังใหม่ทางสังคม แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้ทำให้ บางส่วนของคนกลุ่มใหม่นี้ ซึ่งก็คือคนเสื้อแดงมีจิตสำนึกทางการเมืองแบบใหม่ขึ้น นั้นคือสำนึกว่า ตนไม่ใช่ไพร่ ข้า หรือพสกนิกร ซึ่งไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง แต่กลับมีสำนึกว่า ตนเป็นพลเมือง หรือเป็นหุ้นส่วนของสังคมการเมืองนี้ ตนจึงมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองเช่นกัน
 
“คนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การร้องทุกข์ทางเศรษฐกิจ หรือร้องขอการอุปถัมภ์จากรัฐ” ดังที่ช่างเฟอร์นิเจอร์เสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า “(เมื่อก่อน) พึ่งพานโยบายรัฐน้อย หมดหน้าข้าวก็ต้องปลูกแตง ปลูกอย่างอื่นต่อ วนๆ กันไป ไม่ได้คิดถึงนโยบายของรัฐ คิดว่าต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก เมื่อก่อนยังมีที่ดินทำกินอยู่ แต่พอที่ดินไม่มี เราก็ต้องพึ่งพิงนโยบายรัฐมากขึ้น และรู้สึกว่าการเลือกตั้งสำคัญกับตัวเองมากขึ้น”
 
จึงกล่าวได้ว่าสำนึกความเป็นพลเมืองที่แพร่หลายในหมู่คนเสื้อแดงคือ ความหวงแหนสิทธิการเลือกตั้งของตน กล่าวอีกแบบคือ เขาให้นิยามขั้นต่ำของความเป็นประชาธิปไตยว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกันในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ปกครองของตน ดังที่เสื้อแดงผู้หนึ่งนิยามประชาธิปไตยว่า “ต้องมาจากประชาชนโดยตรง ตราบใดที่ต้องให้ (ผู้มีอำนาจ) คอยอนุญาต มันก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องมีสิทธิในการเลือกผู้นำของเรา ถ้าไม่ดีก็ว่ากันไป ต้องไม่ถูกรัฐประหารไล่คนของเราออก”
 
ดังนั้น การรัฐประหาร การแทรกแซงทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรือตุลาการภิวัตน์โดยผู้มีอำนาจหลังฉาก จึงเป็นการเมืองที่ขาดความชอบธรรมในสายตาของคนกลุ่มนี้ เพราะมันเท่ากับการปฏิเสธความเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองของเขา รวมทั้งเป็นการปิดพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการผลักดันและต่อรองผลประโยชน์ของเขา คำถามคือ สำนึกความเป็นพลเมืองนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
 
การลงหลักปักฐานของการเมืองแบบเลือกตั้งระดับชาติ นับแต่ พ.ศ.2521 ภายใต้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นระบอบการเลือกตั้งที่มีการกำกับจากอำนาจนอกระบบก็ตาม แต่การเลือกตั้งระดับชาติก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผู้คนเห็นว่า การเมืองปกติก็คือการเมืองที่มีการเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งในช่วงเวลาก่อนปี 2544 ผู้ออกเสียงจะไม่ได้ประโยชน์โดยตรงจากนโยบายในระดับมหภาค เนื่องจากเนื้อหาของนโยบายมหภาคถูกครอบงำจากข้าราชการระดับสูงและเทคโนแครต ทำให้ไม่มีการใช้นโยบายมหภาคที่เป็นรูปธรรมในการหาเสียงเลย อย่าว่าแต่การผลักดันและการปฏิบัติตามนโยบายหลังการเลือกตั้ง ผลประโยชน์โดยตรงที่ผู้ออกเสียงอาจได้รับจึงมีลักษณะไม่ทั่วหน้า เฉพาะที่ เฉพาะถิ่น ส่วนใหญ่ในรูปโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส.ส.ดึงงบประมาณจากส่วนกลางมาลงในเขตเลือกตั้งของตัวเอง หรือมีลักษณะเฉพาะตัว เช่นเงินสดที่ได้รับแจกในช่วงหาเสียง หรือความช่วยเหลือส่วนบุคคลที่ผู้ออกเสียงได้รับโดยตรงจาก ส.ส.และเครือข่ายหัวคะแนนของเขาในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงไม่แปลกเมื่อเกิดการรัฐประหารขัดจังหวะวงจรการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว เช่นในปี 2534 แล้ว กระแสการต่อต้านจากประชาชนในวงกว้างจึงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเขาไม่มีผลประโยชน์จากการเลือกตั้งที่จะต้องปกป้อง
 
จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีผลบังคับใช้ กล่าวได้ว่า 2 ประเด็นหลักที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งใจออกแบบไว้ค่อนข้างประสบความ สำเร็จคือ 1.การสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มเข็งเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการทำงานของรัฐไทย 2.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
 
ในเรื่องแรก รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงกฎ-กติกาทางการเมืองหลายประการเพื่อ ก) กระตุ้นการสร้างพรรคการเมืองขนาดใหญ่และการสร้างนโยบายของพรรคการเมือง โดยการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากแบบหนึ่งเขตมี ส.ส.ได้หลายคนเป็นแบบเขตเดียวคนเดียว และให้มี ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อ ข) เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคต่อรัฐมนตรีและหัว หน้ามุ้ง เช่นการกำหนดให้ผู้ที่จะสมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน ในขณะที่บังคับให้กำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 60 วันหลังประกาศยุบสภาผู้แทนฯ ฯลฯ กติกาเหล่านี้ตั้งใจออกแบบขึ้นเพื่อสร้างให้ฝ่ายบริหารมีความเข้มแข็งและมี เสถียรภาพมากขึ้น กล่าวอีกแบบคือ รัฐธรรมนูญ 2540 จงใจออกแบบมาเพื่อสร้างให้รัฐบาลมีสมรรถนะสูงขึ้นในการผลักดันนโยบายใหม่ๆ
 
พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในปี 2544 ได้ประโยชน์และทำตามแรงจูงใจที่กำหนดโดยกติกาใหม่ๆ เหล่านี้อย่างเต็มที่ ผลที่ตามมาคือ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีรัฐบาลซึ่งชนะการเลือกตั้งด้วยการ ใช้นโยบายระดับมหภาคในการหาเสียง ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำสามารถผลัดดันนโยบายเหล่านั้นจนสำเร็จภายหลังการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว
 
สรุปแล้ว ผลงานของรัฐบาลทักษิณทำให้ผู้ออกเสียงตระหนักว่า บัตรเลือกตั้งของเขานั้น “กินได้” ในรูปของนโยบายระดับมหภาค ในแง่นี้ หากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มิได้เกิดขึ้นจริงแล้ว รัฐบาลทักษิณจะสามารถสร้างผลงานได้ดังที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ
 
ในประเด็นที่สอง รัฐธรรมนูญนี้บังคับให้รัฐต้องถ่ายโอนหน้าที่และงบประมาณสู่องค์กรปกครอง ท้องถิ่น (อปท) ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ พ.ศ.2546 เป็นต้นมา อปท.ในทุกระดับ ตั้งแต่ อบต. เทศบาล และอบจ.ทุกแห่ง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนใน แต่ละท้องถิ่นเป็นครั้งแรก และคุมงบประมาณรวมกันเทียบเท่ากับร้อยละ 30 ของรายได้ของรัฐบาลกลาง ในขณะที่ อปท.มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ส่งผลโดยตรงและชัดเจนต่อชีวิตความเป็นอยู่ ประจำวันของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นับตั้งแต่การสร้างถนน แหล่งน้ำ ประปา ศูนย์เลี้ยงเด็ก ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญและมีความหมายต่อผู้ คนแต่ละท้องถิ่นอย่างมาก
 
สรุปคือ การเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีความหมายเชิงรูปธรรมต่อชีวิต ผู้ออกเสียงเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะอ้างว่า สำนึกทางการเมืองที่หวงแหนสิทธิทางการเมืองได้เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาสิบปี เศษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการเลือกตั้ง ซึ่ง “กินได้”
 
ในแง่นี้การรัฐประหาร 2549 จึงเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหญ่ การรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งก่อนหน้านี้ มันเป็นครั้งแรกที่มีการเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่ในขอบเขตทั่วประเทศต่อต้าน การรัฐประหาร ในอดีตเช่นกรณีกุมภาพันธ์ 2534 การเคลื่อนไหวต่อต้านเกิดขึ้นในวงแคบและกระจุกตัวในหมู่ชนชั้นกลางเก่าจำนวน น้อยในเขตเมืองเท่านั้น เนื่องจากการก่อตัวของชนชั้นกลางใหม่ยังไม่เกิดขึ้น และมวลชนส่วนข้างมากยังไม่มีสำนึกความเป็นพลเมือง พูดอีกแบบคือการรัฐประหาร 2549 ทำให้ชนชั้นกลางใหม่ ตระหนักรู้ว่าการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ซึ่งเขาเป็นผู้แต่งตั้งและเป็นผู้ทำประโยชน์ให้เขา เป็นการริบคืนสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ได้ผลที่สุดในการต่อรองผลประโยชน์เฉพาะทาง ชนชั้นของเขา การรัฐประหารจึงเปรียบเสมือนการจุดสายฉนวนระเบิดทางเมือง เปิดทางให้แก่การรวมตัวจัดตั้งและการเคลื่อนไหวทางเมืองของขบวนการคนเสื้อ แดงจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้มีอำนาจนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนโดยฝ่ายตุลาการ รวมทั้งเหตุการณ์ พ.ค.อำมหิต ได้กลายเป็นอาหารสมองชั้นเลิศ ซึ่งหล่อเลี้ยงให้คนเสื้อแดง “ตาสว่าง” จนกระทั่งทักษิณก็ปิดไม่ลงในขณะนี้
 
กล่าวโดยสรุป คนเสื้อแดงคือตัวแทนทางชนชั้นของกลุ่มคนประเภทใหม่ ซึ่งก่อตัวขึ้นทั้งในเมืองและชนบท ทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม ทั้งในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ คนกลุ่มนี้ได้ก้าวข้ามความยากจนกลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่างและเป็นคนส่วน ข้างมากของสังคม แม้ว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาจะยังประโยชน์ ยกระดับฐานะของเขาให้พ้นความยากจน แต่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินระหว่างชนชั้นใหม่กับกับชนชั้นกลาง เก่ายังคงทรงตัวในระดับสูงตลอดมา และเขายังขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย ในขณะที่พัฒนาการทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงหลักปักฐานของการเมืองแบบเลือกตั้งทั้งระดับชาติและ ท้องถิ่นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้สร้างและกระตุ้นสำนึกความเป็นพลเมืองแก่เขา ทำให้เขาตระหนักว่า ตนเป็นหุ้นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง ดังนั้นตนจึงมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง และเนื่องจากเขาเป็นชนส่วนข้างมากของสังคม ในขณะที่เขามีพื้นที่หรือเครื่องมืออื่นในการต่อรองทางการเมืองที่จำกัด การเลือกตั้งจึงเป็นกลายเครื่องมือที่มีประสิทธิผลที่สุดในการผลักดันให้ นโยบายของรัฐเป็นประโยชน์แก่เขา การรัฐประหาร 2549 และการแทรกแซงทางการเมืองที่ตามมาของชนชั้นนำ จึงเป็นการทำลายเครื่องมือหลักของชนชั้นนี้ ซึ่งเป็นการปฏิเสธความเป็นพลเมืองของเขาด้วย ในแง่นี้การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงจึงเป็นไปเพื่อปกป้องการเมืองแบบ เลือกตั้ง ซึ่งเป็นสถาบันที่ปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกลางใหม่ได้ดีที่สุด
 
อ.ธงชัย วินิจจะกุล เคยกล่าวเตือนชนชั้นนำไทยไว้ว่า ขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ออกจากสถานีแล้ว และจะไม่มีวันหวนกลับ พวกเขามองไม่เห็นว่า การปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจรัฐโดยการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ขึ้นในรัฐกาลที่ 5 ได้สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นกลุ่มหนึ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ให้พื้นที่ ไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยข้อหาว่า คนกลุ่มนี้เป็นเพียงสามัญชน จึงไม่มีสายเลือดที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ปกครอง ถึงจุดหนึ่ง 2475 จึงเกิดขึ้น
 
เช่นเดียวกัน เผด็จการทหารในระบอบสฤษดิ์และถนอม-ประภาสก็มองไม่เห็นว่า การเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาฉบับต่างๆ ได้ผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งระบอบเผด็จการไม่ให้พื้นที่และการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยข้อหาเช่น ว่า เป็นลูกเจ็ก-เป็นจีน ไม่มีความเป็นไทยเพียงพอ หรือกระทั่งเป็นคอมมูนนิสต์ ถึงจุดหนึ่ง 14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดขึ้น
 
ผมไม่แน่ใจว่า ชนชั้นนำไทยจะฟังและเก็บรับบทเรียนทางประวัติศาสตร์ 80 ปีนี้หรือไม่ ณ ขณะนี้คนชั้นกลางรุ่นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว เขาเรียกร้องต้องการความเสมอภาคทางการเมืองแบบ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” ในขณะที่ระบอบการเมืองไทยภายใต้การกำกับของ “มือที่มองไม่เห็น” ในปัจจุบันกลับมองคนกลุ่มนี้เป็น คนต่ำชั้นที่มีลักษณะ “โง่-จน-เจ็บ” ถูกจูงจมูกโดยนักการเมืองจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่สมควรที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกับชนชั้นสูงในการกำหนดอนาคตของ บ้านเมือง ถึงจุดหนึ่ง เหตุการณ์เมษา 52 และพฤษภาอำมหิต 53 ก็เกิดขึ้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงออกคำสั่งก้าวล่วงอำนาจรัฐสภาเมื่อต้นเดือนที่ผ่าน มา ผมเชื่อว่า ณ จุดนี้ไม่มีใครแน่ใจว่า เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นอีก และประวัติศาสตร์ในอนาคตจะตั้งชื่อเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ว่าอะไร