ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 26 May 2012

สองปี19พฤษภา53 ประชาชนต้องการอะไร?

ที่มา Thai E-News



โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ที่มา โลกวันนี้วันสุข
25 พฤษภาคม 2555


สารจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในค่ำวันที่ 19 พฤษภาคม 2555 นั้นชัดเจนคือ เป้าหมายการต่อสู้ของประชาชนได้บรรลุแล้วเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล ภารกิจของประชาชนสิ้นสุดลงแล้ว นับแต่นี้ไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการสร้างประชาธิปไตยด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แสวงหาความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยการชดเชยเยียวยาและ “การปรองดอง” ฉะนั้น ขอให้ประชาชนผู้สูญเสียยอม “เสียสละ แล้วลืมทุกอย่าง” ก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “ได้กลับบ้าน” มีโอกาสเข้ามาผลักดันการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง

นัยหนึ่ง การต่อสู้ของประชาชนถึงเวลายุติแล้ว ให้แยกย้ายกันกลับบ้านได้ เพื่อรอเลือกตั้ง สสร. จากนี้ไปเป็นเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย!

แน่นอนว่า นี่เป็นความรับรู้ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยส่วนข้างมากที่เห็นว่า ภารกิจประชาธิปไตยยังไม่บรรลุ การต่อสู้จะต้องดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อรำลึกวาระครบรองสองปีการสังหารหมู่ประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นับเป็นการรวมตัวของมวลชนคนเสี้อแดงครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ตลอดสองปีมานี้ ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยยังคงเพิ่มจำนวนและเข้มแข็งขึ้น ด้วยอุดมการณ์ที่เหนียวแน่นมั่นคง

                หลังจากฝ่าห่ากระสุน ระเบิด แก๊สน้ำตา กองเลือด และการใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อหาฉกรรจ์สารพัด ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยได้พัฒนายกระดับขึ้นจนกลายเป็นพลังการเมืองที่มี จิตสำนึกทางการเมืองและความเรียกร้องต้องการที่ชัดเจนแน่วแน่คือ ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงและบรรลุความเป็นธรรม ไม่ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานและฝ่าฟันความยากลำบากจะเพียงไหน

                ประชาธิปไตยที่แท้จริงที่พวกเขาต้องการไม่ใช่ประชาธิปไตยจอมปลอม ไม่ใช่ประชาธิปไตยอุปถัมป์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีข้อยกเว้นในวงเล็บ แต่เป็นประชาธิปไตยที่ปวงประชามหาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ที่ซึ่งมติของประชาชนคือคำตอบสุดท้ายที่ไม่ขึ้นกับอำนาจเหนือโลกใด ๆ ที่ซึ่งแต่ละคนมีศักดิ์และสิทธิ์ทางการเมือง มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน

                ประชาธิปไตยที่พวกเขาเรียกร้องต้องการนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนยุ่งยากหรืออุดมคติแต่อย่างใด มันคือประชาธิปไตยเสรีนิยมธรรมดา ๆ คือระบอบหนึ่งคนหนึ่งเสียง ที่ซึ่งแต่ละคนอาจมีฐานะสังคม ยศศักดิ์ ยากดีมีจน การศึกษามากน้อยแตกต่างกันไป แต่เมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ประชาธิปไตยหมายถึงชะตากรรมบ้านเมืองถูกกำหนดจาก “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” นี้ โดยที่อำนาจอธิปไตยทั้งสามคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมาจากคูหาเลือกตั้ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

                ประชาชนยังต้องการความเป็นธรรม ซึ่งในปริบทภาพรวมคือ ระบอบเศรษฐกิจสังคมที่ให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนแบ่งในโภคทรัพย์และความเจริญของประเทศอย่างเป็นธรรม ภายใต้กฎกติกาบนหลักการพื้นฐานที่ว่า “ทุกคนเสมอกันเบี้องหน้ากฎหมาย”

แต่ความเป็นธรรมเฉพาะหน้าที่ประชาชนกำลังเรียกร้องต้องการในขณะนี้ก็คือ การให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายในวิกฤตการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งรวมถึงให้ความเป็นธรรมแก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ถูกโค่นล้มด้วยวิธีรัฐประหาร ถูกใส่ร้ายป้ายสี และซ้ำเติมด้วยคดีการเมืองต่าง ๆ รวมตลอดถึงผู้ถูกกระทำอื่นทั้งหมด และท้ายสุดคือ ความยุติธรรมจากรณีสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งประกอบด้วยการเปิดเผยความจริงทั้งหมดถึงผู้บงการ ผู้สั่งการ ผู้ลงมือกระทำ ผู้ถูกกระทำ ทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ สูญเสียทรัพย์และอื่น ๆ แล้วดำเนินการตามฐานานุรูปด้วยกระบวนการยุติธรรมและด้วยการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ในการต่อสู้ยืดเยื้อหลายปี มวลชนผู้รักประชาธิปไตยมีการพัฒนาเป็นขั้น ๆ จากประสบการณ์จริงที่ได้เรียนรู้อย่างเจ็บปวด การเปลี่ยนผ่านสำคัญที่สุดคือ การสังหารหมู่เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งพวกเขาได้ยกระดับขึ้น จากมวลชนที่ร่ำร้อง แบมืออ้อนวอนขอประชาธิปไตย มาเป็นมวลชนรู้สำนึกที่มุ่งช่วงชิงประชาธิปไตยมาด้วยมือของตนเอง โดยไม่ชะเง้อหน้า หวังรอแต่ “ความกรุณาปราณีที่หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

ผลงานและชะตากรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมือง ออกมาต่อสู้เสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม แสวงหาความยุติธรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และก็เพื่ออนาคตของตนเองและลูกหลานที่จะได้อยู่ในสังคมนี้เยี่ยงมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรบอกว่า ความสูญเสียที่ผ่านมาเกิดจาก “ความเข้าใจผิด” ความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็น “เรื่องไร้สาระ” และ “ปัญญาอ่อน” ประเทศควรก้าวไปข้างหน้า ถึงวันนี้ ประชาชนได้พายเรือส่งตนเอง “ถึงฝั่ง” แล้ว จากนี้ ตนเองจะไปขึ้นภูเขา ประชาชนจะแบกเรือขึ้นภูเขาตามมาอีกทำไม มีนัยว่า ประชาชนควร “ทิ้งเรือ” ได้แล้ว ให้ประชาชนยอมรับ “การปรองดอง” ให้ผู้สูญเสียยอม “เสียสละและลืมทุกอย่าง” เพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะได้ “กลับบ้าน” มาบริหารประเทศภายใต้ ระบอบจารีตนิยมต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นความต้องการส่วนตัวของท่านเอง แต่ไม่ใช่ของขบวนประชาธิปไตย!

แต่สำหรับประชาชนที่ผ่านการต่อสู้ในหลายปีมานี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีต้นเหตุมาจากการปกครองของพวกเผด็จการที่เหยียบย่ำกดขี่ ไม่ยอมรับในศักดิ์ศรีอันเท่าเทียมของประชาชน ปฏิเสธที่จะให้ประชาชนปกครองตนเองตามหนทางประชาธิปไตย ปัญหาไม่ใช่ความรับรู้ที่ต่างกัน ไม่ใช่ความบกพร่องทางสมองของใครบางคน แต่เป็นความขัดแย้งขั้นรากฐานว่า ใครคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริงในสังคมไทย ระหว่างพวกเผด็จการหรือฝ่ายประชาชน!

ในการต่อสู้เพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยมี “ผู้นำ” และ “แกนนำ” จำนวนหนึ่งพ่วงมาด้วย ผู้ร่วมทางเหล่านี้ได้เสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ สุ่มเสี่ยงชีวิต สถานะ ครอบครัว อาชีพของตนอย่างน่ายกย่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็คือหนึ่งในผู้ร่วมทางที่ถูกกระทำอยุติธรรมตลอดหลายปีมานี้ ผู้ร่วมทางเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการแก่ประชาชนไว้มากมายอย่างมิอาจลืมเลือน

ส่วนคำประกาศยุติการต่อสู้ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและ “แผนการปรองดอง” ของรัฐบาลที่จะตามมานั้น จะมีผลสะเทือนทางลบต่อสถานะเกียรติภูมิของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. ในสายตาของมวลชนสักเพียงใด กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ในที่สุด ประชาชนก็จะก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปได้ และเดินหน้าต่อไปด้วยสองขาของตนเอง ด้วยผู้นำและแกนนำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในหมู่พวกเขาเอง เติบใหญ่เป็นขบวนประชาธิปไตยที่เป็นอิสระ กล้าแข็ง และทรงพลัง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้อย่างถึงราก บรรลุถึงประชาธิปไตยในที่สุด