ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday 18 February 2012

หมอตุลย์ที่ FCCT แจงทำไมห้ามแก้ ม. 112

ที่มา ประชาไท

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ชี้แจงนักข่าวต่างประเทศที่ FCCT ย้ำ รณรงค์แก้กฎหมายหมิ่น-อภิปรายออกทีวีไม่ได้ เพราะคนไทยขาดภูมิคุ้มกันจากนักการเมืองและไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง จึงทำให้ขาดความเข้าใจที่มากพอ ชี้คนไทยจำนวนมากอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง หัวคะแนน เป็นเผด็จการของนักการเมือง ซึ่งนำผลการเลือกตั้งไปอ้างเพื่อใช้อำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องในสภา

000





ส่วนหนึ่งของการอภิปรายโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันหรือกลุ่มเสื้อหลากสี ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT เมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ. โดยในคลิปเป็นไฮไลท์ช่วงท้ายของการตอบคำถามผู้สื่อข่าว

000

การอภิปรายของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ FCCT ทั้งหมด



นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันหรือกลุ่มเสื้อหลากสี อภิปรายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT เมื่อคืนวันที่ 16 ก.พ. โดยเป็นการอภิปรายในช่วงแรก



นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อภิปรายที่ FCCT ในคลิปเป็นช่วงถาม-ตอบ ช่วงแรก



นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อภิปรายที่ FCCT ในคลิปเป็นช่วงถาม-ตอบ ช่วงท้าย

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน หรือกลุ่มเสื้อหลากสี ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอภิปราย ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “The Case for 112” โดยมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจถามคำถามในประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก โดย นพ.ตุลย์ใช้เวลาอภิปรายและตอบคำถามผู้สื่อข่าวราว 2 ชั่วโมงเศษ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) FCCT ได้เชิญ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มาอภิปรายเช่นกัน

ในการอภิปราย นพ.ตุลย์ เสนอว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากเกรงว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แล้ว อาจทำให้การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์มีสูงขึ้นมากกว่าเดิม จึงมีข้อเสนอว่า ควรเปิดให้มีการจัดเวทีระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ในเชิงวิชาการและสันติ พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการสั่งฟ้อง ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ควรมีการนิยามข้อบังคับกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนมากกว่าเดิมด้วย

แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี อธิบายว่า การหมิ่นสถาบันฯ ในระยะหลังๆ ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องมาจากความไม่หวังดีของกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ นักการเมืองโดยเฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงประเทศและเข้าแทรกแซงกระบวนการต่างๆ ของไทย ทั้งตุลาการ ศาล และสถาบัน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทและขาดการศึกษาตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง

นพ. ตุลย์ กล่าวว่า กลุ่มที่รณรงค์แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น นิติราษฎร์ กลุ่ม ครก. 112 หรือ กลุ่มที่รณรงค์เพื่อความตื่นรู้ ที่มุ่งจัดเวทีให้ความรู้ความเข้าใจในจังหวัดต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วมีเบื้องหลัง และอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ และอาจส่งผลเสียตามมาต่อประเทศไทยได้ เขาจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์

ทั้งนี้ เขาระบุว่า เขาเองยินดีที่จะร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับกลุ่มที่เสนอให้แก้ไข ม. 112 เช่น นิติราษฎร์ ตราบใดที่การพูดคุยนั้นเป็นอย่างสันติและเชิงวิชาการ อย่างไรก็ตาม นพ.ตุลย์กล่าวว่า ไม่ต้องการที่จะร่วมพูดคุยในประเด็นดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นเรื่องอ่อนไหวและอาจถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีเอาไปโจมตีได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ฝ่ายเสนอให้แก้ม. 112 ชี้ ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อเป็นการรักษาสถาบันฯ นพ.ตุลย์ตอบว่า นั่นเป็นเพียงการกล่าวอ้างและ “โฆษณาชวนเชื่อ” เท่านั้น เพราะตนเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการรักษาสถาบันแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น นอกจากนี้ยังชี้ว่า กลุ่มนิติราษฎร์เป็นเพียงกลุ่มทางวิชาการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการโฆษณาชวน เชื่อ และไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบด้าน

“ปกติแล้ว ถ้าอาชญากรรมนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น การลงโทษก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเพื่อที่จะหยุดยั้งมัน หากแต่ข้อเสนอจากดุษฎีบัณฑิตทางด้านกฎหมายอย่างวรเจตน์ ที่บอกว่า ต้องลดบทลงโทษ เพื่อที่จะให้คดีหมิ่นฯ ลดน้อยลงนั่น ผมจินตนาการไม่ออกเลย ยังไงผมก็ไม่เห็นด้วย ผมเองเป็นหมอ และหากว่าผมมีไข้หรือเจ็บป่วย ผมก็ต้องใส่ยาที่แรงขึ้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดให้ยาหรือให้น้อยลง” นพ. ตุลย์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความคิดเห็นว่า หากยังมีการพยายามปิดกั้นพื้นที่ในการถกเถียงเรื่องสถาบันฯ ในสังคมไทย โดยอ้างว่ากลัวความวุ่นวาย อาจจะเป็นอันตรายมากขึ้นในระยะยาวได้ นพ.ตุลย์ชี้ว่า สังคมไทยยังไม่พร้อมในการถกเถียงทางวิชาการที่สันติ เนื่องจากคนไทยยังขาดการศึกษาอยู่มาก

นอกจากนี้ นพ.ตุลย์ยังเชื่อว่า กรณีการตัดสินจำคุกอากง 20 ปี และโจ กอร์ดอน เป็นการจัดฉากขึ้น เพื่อให้กลุ่มที่ต้องการแก้ไข ม. 112 ใช้เป็นข้ออ้าง และเป็นแผนการของทักษิณ ชินวัตร

ในช่วงท้าย นิรมล โฆษ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่า นพ.ตุลย์มักใช้คำว่า “ชาวไทย” “คนไทย” บ่อยครั้ง จึงอยากทราบว่า นพ.ตุลย์หมายถึงใครบ้าง เพราะคนอย่าง นพ.ตุลย์และคนเสื้อแดง ก็เป็นผลผลิตจากสังคมเดียวกัน

แกนนำเสื้อหลากสีจึงได้ตอบว่า เราทั้งหมดเป็นคนไทยด้วยกัน บ้างเป็นอิสระ บ้างตกอยู่ในพันธนาการของนักการเมืองที่ต้องการอำนาจ ตอนนี้นักการเมืองทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง นี่ต่างจากประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ

“สภาพจริงๆ ตอนนี้เหมือนเกษตรพันธะสัญญา หัวหน้าหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าง “หัวคะแนน” ผมไม่แน่ใจภาษาอังกฤษเรียกอะไร คือคนที่ได้รับเงินแล้วเอาไปจ่ายเพื่อให้ประชาชนที่ยากจนมาสนับสนุน ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ พวกเขาก็จะเลือกตามหัวคะแนน ดังนั้นพวกเขาไม่ใช่เสรีชน เขาเป็นคนไทย เป็นคนไทยที่ยากจน ครอบครัวของผมก็เหมือนคนเหล่านี้ ปู่ย่าตายายผมเป็นชาวนา แต่พวกเขาสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่างจากประเทศอื่น”

ผมเสียใจ ผมรู้ และผมเกลียดสถานการณ์เช่นนี้มาก ผมอยากให้ทุกคนเป็นอิสระเหมือนอย่างผม หาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นี่เป็นธรรมชาติของผมเลยนะ ถ้าพวกเขาเป็นเสรีชนและพวกเขาเสนอแบบนี้ (เสนอแก้ไข ม.112) ผมเห็นด้วยกับเขาเลย ถ้าข้อเสนอบางอย่างไม่ทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะอันตราย ผมเห็นด้วยกับพวกเขา แต่ตอนนี้เหมือนสถานการณ์ถูกชักใยโดยนักธุรกิจ นักการเมือง นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ถ้าคุณพิจารณาดีๆ นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเลย ตอนนี้เป็นเผด็จการโดยทหาร เผด็จการโดยนักการเมือง พวกเขาโหวตทุกเรื่องเพื่อเปลี่ยนทุกเรื่องในสภา และเราก็จับตาพวกเขา เฝ้าดูว่าพวกเขากำลังทำอะไรในสภา และผมกลัวว่าในอนาคตอันใกล้ประเทศจะตกอยู่ในภาวะล้มละลายเหมือนที่เกิดขึ้น กับบางประเทศ ผมไม่พูดชื่อประเทศนะ ก็ประเทศอย่างที่พวกคุณรู้

“พวกเขาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยใช้อำนาจที่ได้มาจากคนจน 15 ล้านคะแนน แล้วพวกเขาบอกว่าชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจะทำได้ทุกเรื่อง นี่คือประชาธิปไตยหรือ?” นพ.ตุลย์กล่าว