อดีตอธิการบดี มธ. ตอบจดหมายศิษย์ระบุ ในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งใน มธ. ความเห็นและจุดยืนที่แตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา และควรจะเป็นธรรมชาติ แจงการลงชื่อสนับสนุนแก้ไข ม.112 ได้ไตร่ตรองทางวิชาการแล้ว ชี้ยุโรปตะวันตกหรือญี่ปุ่นมีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคงสถาพรก็เพราะได้ปฏิรูป แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” ให้เกิดความรัก ความเชื่อ ศรัทธา มากกว่าการใช้ “พระเดช”
เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น. วันนี้ (5 ก.พ.) นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์บทความ “From a Student and a Teacher” ลงในเฟซบุค เพื่อตอบจดหมายลูกศิษย์ ซึ่งส่งจดหมายชี้แจงและขอโทษกรณีพาดพิงนายชาญวิทย์ โดยนายชาญวิทย์ ได้ตอบชี้แจงด้วยโดยมีรายละเอียดดังนี้
From a Student and a Teacher
Sunday, 5 February 2012 at 13:2
จากศิษย์ Ruj Krongbhumin สาสน์ชี้แจง ผมขอชี้แจง ดังนี้
1. ผมต้องกราบขอโทษอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และขอโทษแก่ทุกท่านที่เคารพรักอาจารย์ ที่ผมได้กล่าวพาดพิงและทำให้ท่านได้รับความเสียหาย จากการเคลื่อนไหวต่อต้านนิติราษฎร์ของผม
2. ผมน้อมรับคำติจากทุกท่านหลังจากที่ผมได้กล่าวไปในคลิปดังที่ทุกท่านได้เห็น ท่านอาจารย์ไม่ได้สั่งสอนให้ผมล้มสถาบันหรือชิงชังต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดเกิดจากการเสพสื่อที่ต่อต้าน กระบวนการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ เกิดจากความคิดของผมเองและข่าวที่เสพไป
3. ผมกราบขออภัย อาจารย์ทุกท่านโดยเฉพาะอาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และต้องขอโทษที่อ้างอิงชื่อโครงการทำให้โครงการได้รับความเสียหาย ผมยังเคารพและให้เกียรติท่าน
4. อนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ได้ให้ไว้กับทางไทยโพสต์ เนื้อหาใจความบางส่วนถูกบิดเบือนไปมาก ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในเนื้อหาเช่นนั้นทั้งหมด ทั้งนี้ผมจะขอชี้แจงต่อไทยโพสต์เพื่อขอให้มีการข่าวในสิ่งที่ผมพูดไปข้างต้น และหาแนวทางแก้ไขข่าวเพื่อรักษาชื่อเสียงของอาจารย์และโครงการฯ
5. ผมยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวในแนวทางของผม และขออภัยแก่ท่านอาจารย์และทุกท่านครับ
ขอโทษด้วยเจตนาบริสุทธิ์และหวังว่าจะได้รับคำให้อภัยจากท่าน
000
จากอาจารย์ Chanvit Ks
ไม่เป็นไรหรอก ครับ ไม่มีอะไรที่จะต้อง “เจ็บแค้น เคืองโกรธ โทษ...”
ในสังคมประชาธิปไตย (รวมทั้งในธรรมศาสตร์) ความเห็นและจุดยืน ที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องธรรมดา และควรจะเป็นธรรมชาติด้วย
หนึ่ง) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” และ “กลุ่มสันติประชาธรรม” ให้ปฏิรูป แก้ไข กม. หมิ่น มาตรา 112 นั้น เป็นข้อเสนอ ที่ผมได้ไตร่ตรองทางวิชาการ ทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ ปวศ และ นิติศาสตร์แล้ว และเห็นพ้องด้วย ควรสนับสนุน จึงได้ลงนามร่วมไปกับทั้งบรรดาอาจารย์ และบุคคลทั้งหลายจำนวนมาก
สอง) ข้อเสนอของ “คณะนิติราษฎร์” และ “กลุ่มสันติประชาธรรม” ถ้าสามารถจะดำเนินการให้ผ่านสภาฯ ได้ จะช่วยให้สังคมไทยของเรามีสันติสุข และจะทำให้สถาบันกษัตริย์ของเรา มั่นคง สถาพร ได้มาตรฐานสากล เช่น นานาอารยประเทศ อย่างสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น ไม่อ่อนแอ เกิดปัญหา และล่มสลายไปอย่างในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และ/หรือเอเชียใต้
สาม) จากการศึกษาทางวิชาการของผม พบว่าสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก และ/หรือญี่ปุ่น มีสถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง สถาพร ก็เพราะได้ปฏิรูป แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์ เป็นสถาบันที่ใช้ “พระคุณ” ให้เกิดความรัก ความเชื่อ ศรัทธา มากกว่าการใช้ “พระเดช” ที่ทำให้เกิดความกลัว ความเกลียดชัง และข่มขู่ด้วยคุกตาราง หรือแม้แต่การใช้ความรุนแรง เข้าประหัตประหารกัน ดังที่เราได้เห็นมาแล้วในโศกนาฏกรรม ที่เกิดขึ้นกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ของเรา กับ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับเหยื่อในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหยื่อในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ฯลฯ
สี่) จากการศึกษาของผม พบว่ามีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับ ม. 112 อยู่ในหนังสือเล่มใหม่ ที่ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานรวบรวมและจัดพิมพ์ ในวโรกาศ 84 พรรษา เรื่อง King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work, หนา 383 หน้า ราคา 1, 235 บาท 40 US$ มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ เช่น คริส เบเกอร์-พอพันธ์ อุยยานนท์-เดวิด สเตร็กฟุส ขอแนะนำให้อ่านเป็น “การบ้าน” เพิ่มเติม
ห้า) ในหนังสือเล่มนี้ บทที่ว่าด้วย “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย...” หน้า 303-313 The Law of Lese Majeste มีข้อความ ถอดเป็นภาษาไทย ดังนี้ “จากปี 2536 (1993) ถึงปี 2547 (2004)โดยเฉลี่ยแล้ว จำนวนคดีหมิ่นฯ ใหม่ๆ ลดลงครึ่งหนึ่ง ไม่มีคดีหมิ่นฯ เลยในปี 2545 (2002)....... อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ จำนวนคดีหมิ่นฯ ที่ผ่านเข้ามาในระบบศาลของไทยนั้น เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต ในปี 2552 (2009) มีคดีฟ้องร้องที่ส่งไปยังศาลชั้นต้น สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 165.....
หก) ข้อความดังกล่าว ขยายความต่ออีกว่า “ขณะนี้ ประเทศไทย มีกฎหมายหมิ่นฯ ที่มีโทษรุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปี เทียบได้ก็แต่ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นในยามสงคราม (โลก ครั้งที่ 2) เท่านั้น โทษขั้นต่ำสุด (ของไทย) เท่ากับโทษสูงสุดของจอร์แดน และเป็นสามเท่าของโทษในประเทศระบอบกษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ ในยุโรป....
เจ็ด) นี่ นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากล ของนานาอารยประเทศ ซึ่งก็ทำให้ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยนี้ของเรา มีคดีขึ้นโรงขึ้นศาล มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก เช่นกัน
แปด) ผมคิดว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์จากหนังสือสำคัญเล่มดังกล่าวนี้ ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เรา ในประชาคมทางวิชาการ จักต้องนำมาพิจารณาเพื่อปฏิรูป ปรับปรุง แก้ไข ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึง คดีที่ค้างคากันอยู่จำนวนมาก รวมทั้งกรณีของ “อากง” และ/หรือ “ก้านธูป” ฯลฯ
ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ได้เรียนต่อสูงๆ ขึ้นไป มีอนาคตสดใส ได้การงานอาชีพที่ดี ครับ โชคดีในการแสวงหา “แสงสว่าง ทางปัญญา” และอย่าลืมว่า “ที่นี่ (ที่ธรรมศาสตร์ หรือ มหาวิทยาลัยใดๆ สถาบันการศึกษาใดๆ ก็ตาม) มีแต่ความว่างเปล่า ถ้าเราไม่แสวงหา”
(5 กุมภาพันธ์ ก่อนวันวาเลนไทน์ 2555/2012)