หากมิใช่การเขียนอย่างแฝงนัยแห่งความหมายเอาไว้ให้ผู้อ่านได้ ขุดคิดแล้ว คงต้องกล่าวว่าบทความเรื่อง"สร้างแล้วจึงรื้อ : รามเกียรติ์ไทยในมหกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ์ ฯ" ของ อ.เจตนา นาควัชระ (กรุงเทพธุรกิจ section จุดประกาย, พฤ 2 กภพ.2555 น.08) ตีความปัจฉิมราชวินิจฉัย พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ที่ว่า "ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด ดั่งพระทัยสมโภชบูชา ใครฟังอย่าได้ใหลหลงจงปลงอนิจจังสังขาร์" ตรงตามตัวอักษรจนเกินไป
เหตุเพราะวัฒนธรรมไทย เมื่่อจะเล่านิทานให้ฟัง หรือเมื่อจะเล่นละครให้ดูแล้ว หากมีผู้วิจารณ์ว่า น้ำเน่านี่หว่ามุขหนึ่งที่จะตอบแก้ก็ต้องว่า เล่าให้ฟัง เล่นให้ดูพอเพลิน ๆ นะ เรื่องเล่าเล่น ๆ นะ ไม่มีอะไรหรอก ฟังแล้วดูแล้วก็ปลงเข้าสู่พระธรรมเสีย เหมือนอย่างเมื่อมีคนดูละครบางเรื่องแล้วรู้สึกเน่าเหลือเกิน คณะู้ผู้จัดก็นิมนต์พระมาเทศน์สอนแง่คิดทางธรรรมให้ฟังท้ายละคร ก็เป็นอันจบละครเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์
รามเกียรติ์ฉบับไทยเป็นภาพสะท้อนการดำเนินไปตามขนบความเป็นไทยฉบับหลวง และสะท้อนความคิดอ่านของผู้แต่งอย่างชัดแจ้ง นั่นคือสถานะของพระรามในรามเกียรติ์ฉบับไทยมิใช่พระเจ้า หากแต่เป็น "เจ้า" องค์หนึ่ง "พระราม" ของไทยมิใช่ "ราม" อย่างฮินดู สีดาจึงมิใช่คู่ของพระเจ้า หากแต่เธอคือนางสีดา ซึ่งเป็นของเจ้า .โครงเรื่องมิใช่การภักดีต่อสัจจะ แต่คือการภักดีต่อเจ้า
เรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้า ๆ อย่างพระรามย่อมเป็นที่เสพย์ในหมู่ประชาชน หากเป็นผู้ดีเป็นอำมาตย์ ซึ่งมีจำนวนน้อยก็ต้องเสพย์เสวยเรื่องพระราม ส่วนชาวบ้านหรือไพร่ทั่วไปก็เสพย์เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ไป กล่าวอย่างภาษาการตลาดก็ว่า ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็น fighting brand เจาะตลาดล่างของเรื่องเล่าแบบรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทย-ซึ่งเป็นสินค้าเกรด A หากแต่ชาวบ้านหรือไพร่ทั่ว ๆ ไปก็สามารถสนุกกับเรื่องพระรามได้จากตัวละครที่เป็นอุดมคติ หรือมีลักษณะเป็นที่นิยมของไพร่ ซึ่งการคล้อยตามหรือสนุกตามเรื่องเล่า ก็สามารถทำให้ผู้เสพย์คล้อยตามอุดมคติของผู้แต่งได้โดยไม่รู้ตัว หรือโดยไม่ทันสังเกตตัวเอง
ตัวละครในอุดมคติ หรือพระเอกสำหรับไพร่ หรือพระเอกสำหรับชาวบ้านชาวบ้าน มิใช่พระราม พระลักษณ์ หรือทศกัณฐ์ หากแต่คือหนุมาน ไม่หล่อ แต่เท่ มี "วิชา" และ โคตรเจ้าชู้ สำหรับไพร่ ๆ ในสังคมของลูกพี่ หรือในสังคมที่มีพี่ใหญ่ หากลูกพี่หรือพี่ใหญ่มีปัญหาอะไร ขอเพียงให้เชื่อไ้ด้สนิทใจว่า พี่ใหญ่ทำถูกต้องแล้ว เหล่าลูกน้องทั้งหลายย่อมยินดีช่วยเหลือเต็มที่ หนุมานก็เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป คือรักลูกพี่ ทำได้เพื่อพี่ใหญ่ หนุมานจึงมีคุณสมบัติสอดคล้องกับค่าความนิยมหรืออุดมคติแบบไพร่ ๆ หนุมานจึงเป็นพระเอกของไพร่ หรือชาวบ้าน ในวัฒนธรรมไทย และเรื่องรามเกียรติ์ฉบับไทยจึงเป็นที่นิยมในหมู่ไทย
การทำความเข้าใจรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทย จึงไม่ควรเพียงพิจารณาจากขนบเถรวาท หากแต่ควรพิจารณาจากสภาพไทย ๆ ที่พระเจ้ากลายสภาพเป็นเจ้า และไพร่พลอย่างหนุมานกลายเป็นพระเอกในดวงใจของผู้เสพย์ผู้ชม.สังคมไทยไม่ ได้รื้อสร้าง ไม่ได้deconstruct ไม่ได้สร้างแล้วจึงรื้อ แล้วสร้างใหม่ อย่างที่อาจารย์เจตนากล่าว เพราะเราเพียงแต่สร้างรามเกียรติ์ขึ้นมาใหม่ reconstructขึ้นมาใหม่จากรามเกียรติ์เรื่องเดิม ให้เป็นรามเกียรติฺิ์แบบไทย ๆ
จากแง่มุมการกลายเป็นไทยของรามเกียรติ์ เราจึงไม่อาจพิจารณาโดยเทียบเคียงกับศิลปะรามายณะของชาติอื่น ๆว่าเราหยุดอยู่กับที่ หรือกลายเป็นมาอยู่ท้ายแถวแล้วละหรืออย่างที่อาจารย์เจตนาตั้งคำถาม เหตุเพราะรามเกียรติ์ไทยได้บ่ายหน้าไปในทิศทางของตนเอง ธรรมะหรือสัจจะของพระเจ้า จงหลีกทางไปให้แก่สิทธิอันชอบธรรมของเจ้า รามเกียรติ์ฉบับราชการไทยเป็นบท เป็นการแสดงที่เป็นพิธีกรรมบูชาเจ้า มิใช่มุ่งสร้างความหฤหรรษ์บันเทิงเป็นหลัก เพราะเหตุดังนั้นจึงต้องการความศักดิ์สิทธิ์ถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิม เหมือนอย่างที่เมื่อจะไหว้เจ้าไหว้เทวดา เราก็มักต้องบูชาด้วยเครื่องเซ่นไหว้ตามอย่างที่ผู้รู้กำหนดมา ยิ่งถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิมยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งดีต่อเจ้าที่เซ่นไหว้ และดีต่อผู้เซ่นไหว้เอง ประเด็นสำคัญมิใช่การค้นหาสิ่งใหม่ ๆ หรือหาแรงบันดาลใจจากวิถีชาวบ้าน หากคือการทำให้ถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิม (แต่ถ้าจะทำให้อลังการบิ่งๆขึ้นก็ไม่มีปัญหา) เหตุดังนั้นจึงไม่ต้องคาดหวังถึงการประดิษฐ์ท่ารำหรือการแต่งเพลงใหม่ ๆ มาใช้ในรามเกียรติ์ฉบับราชการไทย
จากมุมมองของผู้ผลิตซ้ำรามเกียรติ์ไทย รามเกียรติ์ไทยจึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หากประสงค์จะสร้างใหม่ ก็จงไปสร้างในพื้นที่อื่น ๆ หรือในพื้้นที่ประกอบของเรื่อง เช่น ให้ความใหม่สดแก่พิเภก แก่หนุมาน หรือจะแปลงความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นบ้าน ๆ ใส่ลงในเพลงสุนทราภรณ์ ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือในละครน้ำเน่า ก็ล้วนไม่มีปัญหาแต่อย่ามายุ่งกับโครงหลักของรามเกียรติ์ การกลายเป็นไทยของรามเกียรติ์จึงเป็นข้อจำกัดในต้วเอง !
สำหรับชาวบ้าน ชาวบ้าน หรือสำหรับไพร่ ๆ เราอาจไม่ได้มีโอกาสดูการแสดงชั้นเลิศของต่างชาติแล้วย้อนกลับมาดูตัวเรา เอง หากแต่เราสามารถดูรามเกียรติ์ไทยแล้วย้อนกลับมาเข้าใจความเป็นไทยที่สร้าง ขึ้นมาจำกัดความสร้างสรรค์ของเราเอง
ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องดนตรีไทย แต่อาจารย์เจตนาอาจจะคิดซับซ้อนเกินไปเกี่ยวกับรามเกียรติ์และนาฎศิลป์ไทย จึงยังคงให้ความสำคัญกับความมหัศจรรย์/บทสนทนาของระนาดเอกระนาดทุ้ม หรือการให้โอกาสแก่การรังสรรค์เพลงใหม่ ๆ หากสิ่งสำคัญหรือเป็นพื้นฐานที่สุดของนาฎศิลป์ นาฎยสังคีต หรือนาฎดุริยางค์ไทยคือ จังหวะ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในวัฒนธรรมดนตรีไทยก็คือ ฉิ่ง ! หรือก็คือในวัฒนธรรมไทย สิ่งสำคัญย่อมมิใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆท่วงทำนองใหม่ ๆ หากแต่ที่สำคัญที่สุด คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ท่วงทำนองใหม่ ๆ เพื่ออวยประโยชน์สุขแก่นาฎยสังคม หรือสังคมโดยรวมนั้น จะต้องคำนึงถึงจังหวะที่พอเหมาะพอดีลงตัวกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ นาฎยสังคมไทยไม่มีปัญหาเรื่องแนวทางใหม่ ๆ เท่าการมีปัญหาเรื่องการตระหนักรู้จังหวะ และเราอาจกล่าวได้ว่า ผู้ใดเข้าใจจังหวะ ผู้นั้นเข้าใจสังคมไทย ผู้ใดสามารถกำหนดจังหวะ ผู้นั้นสามารถกำหนดสังคมไทย
ปัญหาคงอยู่ว่า จังหวะฉิ่งของพี่ไทย หรือก็คือจังหวะแบบไทย ๆ เป็นตัวกำหนดจนถึงกับจำกัดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับที่ความเป็นไทยในรามเกียรติ์กลายเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่ และเราจะออกจากข้อจำกัดนี้ไปได้อย่างไร ?