ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 14 February 2012

สืบคดี "ผอ.ประชาไท" อาสาสมัครดูแลเว็บบอร์ดยันมีระบบช่วยปิดความเห็นหมิ่นฯ

ที่มา ประชาไท

(14 ก.พ.55) ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1167/2553 ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ภายใต้มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ในความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กรณีที่มีผู้อ่านโพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายในเว็บบอร์ดประชาไท โดยวันนี้ มีผู้แทนจากสถานทูตประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ แคนาดา ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันสิทธิมนุษยชน สมาคมทนายความนานาชาติ (The International Bar Association's Human Rights Institute: IBAHRI) และเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) องค์กรปกป้องเสรีภาพสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Media Defence SEA) เข้าสังเกตการณ์คดีด้วย

โดยวันนี้มีพยาน 3 ปากได้แก่ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นพ.กิติภูมิ เบิกความในฐานะผู้ใช้เว็บบอร์ดประชาไท (ในขณะนั้น) ว่า หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เว็บบอร์ดประชาไทมีผู้เข้าใช้มากขึ้น ทำให้ดูแลยาก จึงเริ่มมีระบบซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้จำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ดู แลเว็บ สามารถลบความเห็นที่เห็นว่าไม่เหมาะสมได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเขาเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากเป็นผู้ที่แจ้งลบบ่อย

ด้านสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความรับรองเอกสารที่เสนอต่อศาล เป็นเอกสารการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.54 ซึ่งกล่าวถึงหลักการความรับผิดของตัวกลางในการให้บริการอินเทอร์เน็ตว่า โดยหลักแล้วตัวกลางไม่ต้องรับผิดชอบกรณีที่มีการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ คอมพิวเตอร์โดยบุคคลที่สาม เว้นแต่ตัวกลางจะรู้ถึงการกระทำผิดดังกล่าวและได้รับการแจ้งให้ดำเนินการลบ โดยในภาคพื้นยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ดำเนินการแก้ไข ภายใน 10-14 วันหลังได้รับแจ้ง ขณะที่มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่มีข้อความในลักษณะแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลเว็บดำเนินการแก้ไข และหลังออก พ.ร.บ.นี้แล้ว ก็ยังไม่เคยมีระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการรับผิดชอบของผู้ดูแลอิน เทอร์เน็ต

ส่วน จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบิกความในฐานะกรรมการและเหรัญญิกของมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ซึ่งให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลความเห็นในเว็บบอร์ด โดยเล่าถึงความพยายามในการพัฒนาระบบช่วยผู้ดูแลเว็บบอร์ด ซึ่งมีกลไกคล้ายระบบกรองอีเมลขยะ โดยจะแสดงข้อความจากการเรียนรู้จากข้อความที่ถูกพิจารณาว่าไม่เหมาะสม เพื่อทำให้ผู้ดูแลพิจารณาข้อความได้รวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวยังไม่ได้พัฒนาเนื่องจากประชาไทได้ตัดสินใจปิดระบบเว็บบอร์ดไป ก่อน ทั้งนี้ จิตร์ทัศน์ระบุว่าเคยมีการพูดคุยเรื่องการจ้างผู้ดูแลเว็บบอร์ดตลอด 24 ชั่วโมง แต่มองว่าเป็นเรื่องยากเนื่องจากปัญหาการเงินของมูลนิธิ และจำนวนกระทู้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับผู้ดูแลที่เป็นมนุษย์ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้น

ทั้งนี้ จิตร์ทัศน์ตอบคำถามอัยการเรื่องการดูแลเว็บบอร์ดว่า โดยหลักเมื่อมีข้อความไม่เหมาะสม ถ้าผู้ดูแลพบก็จะต้องลบหรือซ่อนข้อความนั้น ตอบคำถามทนายความถามติงถึงพยานเอกสารซึ่งถูกระบุว่ามาจากเว็บบอร์ดประชาไท ว่า เอกสารนั้นมีรูปแบบคล้ายคลึงกับเว็บบอร์ดประชาไท แต่ข้อความที่ปรากฏจะใช่หรือไม่ ไม่สามารถยืนยันได้ เพราะเมื่อดาวน์โหลดไฟล์มาแล้วก็สามารถแก้ข้อมูลได้

อนึ่ง คดีนี้จะมีการสืบพยานจำเลยอีก 2 ปากคือ วันฉัตร ผดุงรัตน์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ในวันที่ 15 เวลา 9.00 น. และพิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในวันที่ 16 ก.พ. เวลา 13.00 น. ตามลำดับ

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูล คอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุน หรือยินยอม ให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา 14