เสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ?” “บรรเจิด” ชี้ชาติยุโรปไม่เข้าใจประเทศไทย เพราะ 1 ครอบครัวเป็น 3 นายกรัฐมนตรี คล้าย “เกาหลีเหนือ” “สุวินัย” ชี้ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศไปสู่หายนะ เพราะกำลังจะกู้เงินต่างชาติ ส่วน “คมสัน โพธิ์คง” ชี้ระบบการเมืองไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทุนผูกขาดโดยพรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีการแก้ไข รธน. ได้ก็จะกลายเป็นเผด็จการพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ และแก้ไขไม่ได้ นอกจากรัฐประหารเพียงอย่างเดียว
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการเสวนา “วิกฤตประเทศไทย ใครคือตัวการ” โดยนักวิชาการกลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” วิทยากรประกอบไปด้วย ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อดีตผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ นายคมสัน โพธิ์คง สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยมี ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
“จรัส สุวรณมาลา” เสนอห้ามนักการเมืองคุมฝ่ายบริหาร-แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ
ศ.ดร.จรัส กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในตอนนี้อยู่ในรูปแบบการแย่งชิงและหักหลัง เป็นสภาพที่ทุกๆ คนในประเทศเอาภาษีไปรวมกันและก็อยากที่จะเอาเงินกองกลางเข้าสู่กระเป๋าตัว เอง ทั้งนี้ ยังมีทฤษฎีการหักหลัง ซึ่งก็มีจากการให้ของประชาชนที่ให้ตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศแทน แต่คนเหล่านั้นก็กลับหักหลังประชาชน หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยนักการเมืองจะสร้างภาพลวงตาขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อประชาชน แต่แท้จริงแล้วต้องการเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่า ดังนั้น ประชาชนจะต้องออกมาแฉความจริง
สังคมไทยปัจจุบันแทนที่จะคุยกันในเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราควรที่จะคุยกันในเรื่องปฏิรูปทางการเมืองมากกว่า ว่า จะมีการออกจากระบบการผูกขาดอำนาจและมีการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ปกครอง กันเองได้อย่างไร ส่วนตัวตนไม่ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เท่าที่ตนทราบผู้ที่ต้องการแก้ไขไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหา แต่ต้องการยกระดับการโกงกินให้มากขึ้น ในตอนท้าย ตนอยากจะเสนอหลักการปฏิรูปเบื้องต้น ประชาชนต้องมีอำนาจและการออกมาเปิดเผยความจริง โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ให้นักการเมืองเข้าไปควบคุมตำแหน่งของฝ่ายบริหาร หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ
บรรเจิดชี้ยุโรปไม่เข้าใจประเทศไทยหนึ่งครอบครัวมี 3 นายกรัฐมนตรี คล้ายเกาหลีเหนือ
รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า วันที่ 21 ส.ค.2544 เป็นวันที่มีการอ่านคำวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่เป็นส่วนที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญของไทยถูกหักยอด เพราะมีคนๆ หนึ่งที่ใหญ่กว่าศาล จนกระทั่งเข้าสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ซึ่งในวันนี้ระบบเดิมๆ ก็กำลังย้อนกลับมาสู่วังวนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองต้องถูกเรียกว่า บริษัททางการเมือง เนื่องจากกฎหมายของไทยระบุเอาไว้ว่า ผู้ใดที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยที่พรรคการเมืองก็เป็นสมบัติส่วนบุคคลไปคุมระบบนิติบัญญัติ และบริหาร ซึ่งเป็นการควบคุมทั้งสองอย่างอยู่ที่คนๆ เดียว และตอบสนองให้คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง โดยที่ประเทศในยุโรปไม่มีทางเข้าใจประเทศไทย เห็นได้จากคงไม่มีประเทศไหนที่ 1 ครอบครัว มี 3 นายกรัฐมนตรี โดยตนไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร แต่คงไม่แปลกหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีเหนือ แต่สำหรับประเทศไทยปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การมีเสื้อคลุมประชาธิปไตยอยู่บนบ่า แต่เนื้อในเป็นเผด็จการ
สุวินัยชี้ยิ่งลักษณ์จะนำประเทศไปสู่หายนะ เพราะกำลังจะกู้เงินต่างชาติ
ขณะที่ รศ.ดร.สุวินัย กล่าวว่า ระบบความคิดของทักษิณ หรือ ทักษิโณมิกส์ ที่ถูกถ่ายทอดมายัง รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายต่างๆ จะนำภาประเทศไปในทิศทางใด แต่ถ้าให้ตนสรุปตอนนี้ ก็คือ การนำพาประเทศไปสู่ความหายนะ ที่ทำให้สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ไม่มีเม็ดเงินสดอยู่ในกำมือที่จะนำไป บริหารประเทศเลย แต่กลับต้องพยายามกู้เงินจากต่างชาติ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.ให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อก่อให้เกิดการผู้ขาดอำนาจของประเทศ และมีการหลวงลวง ปกปิด และการทำลายความน่าเชื่อถือของการคลัง ประเทศไทยในอนาคตจะมีสภาพไม่แตกต่างจากประเทศอาร์เจนตินา หรือกรีซ ที่คนบริหารประเทศพยายามที่จะซุกหนี้ของประเทศ และการพยายามสร้างอัตราการเจริญเติบโตของประเทศที่เป็นเท็จ โดยขณะนี้ความหายนะกำลังเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศ
คมสันเชื่อหากไม่มีใครหยุดได้ จะต้องมีรัฐประหารอีกครั้ง
ส่วนนายคมสัน กล่าวว่า ธุรกิจที่สร้างเงินได้มากที่สุด ก็คือ ธุรกิจการเมือง ที่หากินกับประชาชน ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับคนสามคนในตระกูลใดๆ ก็ตาม แต่ตนคิดว่าคนทั้งสามคนต่างหาที่มีปัญหากับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย รวมไปถึงการกระทำชำเรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความแตกแยกของประชาชนในชาติ และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นก็มาจากการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอาญา มาตรา 112 การขายหุ้นของ ปตท.และการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มที่เผาบ้านเผาเมืองที่อ้างว่าเพื่อ เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งระบบผูกขาดในประเทศตอนนี้ หากไม่มีใครตั้งใจที่จะหยุดปัญหาตรงนี้ สุดท้ายก็ต้องมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นจะยังมีกองทัพหรือไม่
“ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เป็นการทำมาหากินของทุนผูกขาดระดับชาติและระดับโลกทั้งสิ้น ผมคิดว่าเราคงต้องตื่นรู้และทันว่า ระบบการเมืองไทยขณะนี้เราอยู่ภายใต้เผด็จการทุนผูกขาดโดยพรรคการเมืองอย่าง สมบูรณ์ ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ วันที่ 9 ที่มีการเสนอ สำคัญกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งรับข้อเสนอเข้าไป เมืองไทยจะเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองทุนนิยมผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ และแก้ไขใดๆ ไม่ได้เลยในอนาคต นอกจากรัฐประหารเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนั้นกองทัพจะเหลือไหมที่จะให้รัฐประหาร ผมว่าคงไม่มีแล้ว เพราะว่าภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพต้องอยู่ภายใต้พรรคการเมือง ผมไม่ได้พูดให้รัฐประหาร แต่กำลังจะบอกว่า ข้อเสนอที่วิปริตแบบนี้มันสร้างวิกฤตประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
ตอนนี้เราต้องตื่นรู้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ชูธงนำ ข้อ 1.คือต่อสู้เผด็จการพรรคการเมือง ทุนผูกขาด เราจะให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในสภาพสังคมปัจจุบัน ทุกคนติดตามประเด็นการเคลื่อนไหว ตอนนี้กลุ่มหนึ่งบอก ไม่เอาข้อเสนอบางอันเรื่องแก้ มาตรา 112 แต่อีกกลุ่มบอกว่า แก้รัฐธรรมนูญเอา แล้วเอาข้อเสนอนั้นด้วย สับขาหลอกซ้ายทีขวาที เต้นไปข้างหน้าทีถอยหลังที เราก็งงไม่รู้เต้นทางไหนไล่จับไม่ทัน แต่จุดสุดท้ายเราต้องกลับไปดูภาพรวมที่สำคัญ คือ เป็นการเคลื่อนไหวของทุนผูกขาด ที่พยายามจะมีอำนาจเพื่อผูกขาดการเมืองนำไปสู่การได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และใช้การเมืองเป็นเครื่องมืออำนาจ สุดท้ายวงจรอุบาทว์ไม่ใช่แบบเดิม วงจรอุบาทว์ปัจจุบันคือ ทุนผูกขาด ได้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และอำนาจเอื้อทุน ทุนกลับไปสู่เรื่องการผูกขาด เอาเงินกลับมาใหม่ นี่คือ วงจรอุบาทว์การเมืองไทยในปัจจุบัน”
ที่มา: เรียบเรียงจากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์