กองทัพรัฐฉาน "SSA" ระบุในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ว่า หากกองทัพพม่ายังคงกดขี่และกระทำอาชญากรรมต่อประชาชน ข้อตกลงหยุดยิงจะไร้ความหมาย ขณะที่ความคืบหน้าในการเจรจาหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายยังคงอยู่ในการลงราย ละเอียด
แฟ้มภาพทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ระหว่างพิธีวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉานปีที่ 53 ที่ดอยไตแลง เมื่อ 21 พ.ค. 2554 ล่าสุดกองทัพรัฐฉาน ซึ่งเพิ่งลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียด ขณะที่สถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่าเผยแพร่แถลงการณ์ของกองทัพรัฐ ฉานซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 7 ก.พ. 2555 เนื่องในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ระบุว่าสัญญาหยุดยิงจะไร้ความหมายหากทหารพม่ายังคงกดขี่ข่มเหงประชาชน (ที่มา: ประชาไท/แฟ้มภาพ)
สถานีโทรทัศน์เสียงแห่งประชาธิปไตยพม่า หรือ ดีวีบี รายงานว่า กองทัพรัฐฉาน (SSA) ซึ่งเพิ่งลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อเดือนก่อน แถลงเมื่อวันที่ 7 ก.พ. เนื่องในพิธีวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ซึ่งจัดที่ฐานทัพของกองทัพรัฐฉาน ที่ดอยไตแลงว่า ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและกองทัพรัฐฉานจะ "ไร้ความหมาย" หากรัฐบาลทหารพม่าไม่ยุติการกดขี่และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในภาคตะวัน ออกของประเทศ
ทั้งนี้กองทัพรัฐฉานแสดงความกังวล ในส่วนที่เป็นรายละเอียดของข้อตกลง ซึ่งรวมไปถึงการอนุญาตให้ทหารพม่าเคลื่อนพลผ่านเข้ามาในดินแดนของพวกเขา มากกว่านั้นกองทัพรัฐฉานได้เรียกร้องให้ทหารพม่ายุติการกดขี่ข่มเหงประชาชน ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทหารพม่าที่กระทำเหล่านั้นมักไม่ได้รับการลงโทษ
"ถ้ากองทัพพม่ายังคงกดขี่และกระทำอาชญากรรมต่อประชาชน อย่างเช่นบังคับเกณฑ์แรงงานพวกเขา บังคับให้พวกเขาย้ายที่อยู่ ข่มขืน หรือฆ่าโดยไม่อยู่ในกระบวนการกฎหมาย และเผาหมู่บ้าน ถ้าเป็นเช่นนี้ ข้อตกลงหยุดยิงก็จะไม่มีความหมาย" แถลงการณ์ซึ่งประกาศในวันชาติรัฐฉานปีที่ 65 ซึ่งจัดที่ดอยไตแลงระบุ
ทั้งนี้ กองทัพรัฐฉานเป็นหนึ่งในกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาล เมื่อสองเดือนก่อน อย่างไรก็ตามข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยังเป็นข้อถกเถียง โดยผู้นำ KNU นางซิปโปร่า เซ่ง กล่าวว่า ยังไม่มีข้อตกลงหยุดยิงที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการ และคณะเจรจาที่ฝ่ายกะเหรี่ยงส่งไปเมื่อ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ไม่มีอำนาจที่จะตอบตกลง
ขณะที่กองกำลังอีกกลุ่มในรัฐฉาน คือกองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) ซึ่งตั้งในปี พ.ศ. 2507 และต่อมาได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และต่อมาเกิดขัดเแย้งกับรัฐบาลหลังจากปฏิเสธข้อเสนอที่รัฐบาลพม่าต้องการให้ กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) เข้ามาเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้การกำกับของพม่านั้น ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่าน กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSA-N) ก็ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเช่นกัน โดยทั้งกองทัพรัฐฉานทั้ง 2 กลุ่ม อยู่ระหว่างการตัดสินใจในรายละเอียดกับรัฐบาล อย่างเช่น จะให้กองทัพพม่าเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุมหรือไม่
สถานีโทรทัศน์ดีวีบี รายงานความเห็นของ พ.ต.จายมิ้น โฆษกฝ่ายการเมืองของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน ซึ่งระบุว่ากองทัพรัฐฉานจะยอมรับหน้าที่ในเรื่องการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ด้าน การบริหารในดินแดนของกองทัพรัฐฉาน แม้ว่าขอบเขตเรื่องเขตปกครองตนเองจะยังไม่ถูกกำหนดแน่ชัดก็ตาม
ที่มา: เรียบเรียงบางส่วนจาก Shan army calls for end to state abuse, By AHUNT PHONE MYAT, DVB, 8 February 2012