ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 18 February 2012

อภิปราย ‘รัฐประหาร’ ใน ‘การปกครองระบอบประชาธิปไตย’ แจงลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ

ที่มา ประชาไท

รายงานโดย: ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และ ธีร์ อันมัย

‘ปูนเทพ ศิรินุพงษ์’ แจง 5 ลักษณะ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ ไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน จ้องจับผิดนักการเมือง แต่ไม่ตรวจสอบคณะรัฐประหาร ด้าน ‘น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต’ ชี้ไทยมีข้ออ้างทำรัฐประหาร ทั้งเพื่อระงับเหตุรุนแรง เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสถาบัน

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธุ์ 2555 เวลา 13.00 น.คณะศิลปะศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานอภิปรายสาธารณะ ในหัวข้อ “รัฐประหารในการปกครองระบอบประชาธิปไตย” วิทยากรประกอบด้วย นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร และน.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาลพาลภูสิงห์ จ.ศรีษะเกษ โดยมีนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 400 คน
นายเสนาะ เจริญพร อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์ ม.อุบลฯ ผู้ดำเนินการอภิปรายได้ยกข้อมูลwww.whereisThailand.info มา ประกอบการพูดคุยว่า ประเทศไทยเคยผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 17 ครั้งติดอันดับ 4 ร่วมกับประเทศกินี-บิสเชา ซีเรียและโตโก เป็นรองประเทศซูดาน (31 ครั้ง) อิรัก (24 ครั้ง) และโบลิเวีย (19 ครั้ง) ตามลำดับ โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ เรามีการทำ ‘รัฐประหาร’ ขณะที่เราเรียกตัวเองว่าปกครองด้วยระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ แต่มี ‘ไปยาลน้อย (ฯ)’ ต่อท้าย
ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน ไม่ตั้งคำถามต่อการรัฐประหาร
“การแตกทางความคิดเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตยเพราะเราไม่ สามารถที่จะทำให้คนเราคิดเหมือนกันได้ ดังนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่สังคมประชาธิปไตยจะมีความคิดเห็นที่แตก ต่าง แต่คุณค่าของประชาธิปไตยอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตก ต่างอยู่ร่วมกันได้” นายปูนเทพ ศิรินุพงษ์ ตัวแทนจากคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร แสดงทัศนะ
นายปูนเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะมีการปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตย แต่ในสังคมไทยกลับจะต้องให้ประชาธิปไตยปรับให้เข้ากับสังคมไทย
นายปูนเทพยังพูดถึงประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ไว้ 5 ประเด็นดังนี้ 1) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ให้ประชาชนชนมีอำนาจสูงสุด แต่ยังไม่พร้อมให้ประชาชนเป็นผู้ปกครองตัวเอง และถ้าหากใครเห็นต่างก็จะถูกมองว่าไม่เคารพในประชาธิปไตย 2) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ ประกาศรับรองให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด แต่ถ้าจะจัดวางองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประชาชน หรือมาจากประชนชน ก็หาว่าทุจริตบ้าง มีการซื้อเสียงบ้าง เป็นระบบที่ไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน
3) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ เป็นระบอบที่ผู้นำเหล่าทัพมีบทบาทกำหนดทิศทางประเทศ โดยไม่ต้องฟังรัฐบาลและออกมาไล่ใครที่คิดต่างให้ไปอยู่นอกประเทศหรือขู่จะทำ รัฐประหารได้ทุกเมื่อ 4) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยากกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญ หากใครจะเสนอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทหารก็จะออกมาขู่ว่าจะทำการปฏิวัติ ทำรัฐประหาร 5) ระบอบประชาธิปไตยฯ แบบไทยๆ นั้นยอมให้มีการทำรัฐประหารโดยไม่มีเงื่อนไข หรือการทำรัฐประหารไม่ได้ทำให้สังคมไทยลดค่าแต่อย่างใด
นายปูนเทพยังได้ย้ำว่า ประชาธิปไตยที่มีไปยาลน้อย (ฯ) ในสังคมไทยนั้นไม่เคยตั้งคำถามเลยว่ารัฐประหารเกิดขึ้นได้อย่างไร แถมยังยินดีบังคับใช้กฎหมายหรือประกาศคณะปฏิวัติประกาศคณะปฏิรูป ซึ่งขัดกับหลักคุณค่าประชาธิปไตย องค์กรตุลาการ คณะตุลาการยอมรับรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา คำวินิจฉัยส่วนตนบางคนถึงขนาดยอมรับว่าคณะรัฐประหารทำได้ทุกอย่าง รวมถึงนักวิชาการบางกลุ่มที่พึงพอใจกับการทำรัฐประหารเพราะมัวแต่ห่วงว่า นักการเมืองจะทุจริต คอรัปชั่น นักวิชาการเหล่านี้ก็จะคอยด่าแต่นักการเมือง แต่ไม่เคยด่าหรือตรวจสอบคณะรัฐประหารเลย
หลังเป็นประชาธิปไตย ไทยรัฐประหารทุก 3 ปี 4 เดือน ถี่กว่ามีเลือกตั้ง
น.พ.กิติภูมิกล่าวว่า เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเราก็ยอมรับการทำรัฐประหาร และการทำรัฐประหารในประเทศไทยนั้นมีสถิติน่าสนใจนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นต้นมาพบว่า มีการรัฐประหารเพื่อทำลายรัฐบาลอย่างฉับพลัน 11 – 12 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยมีรัฐประหารทุก 6 ปี 8 เดือน แต่ครั้นพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่า มีการทำรัฐประหารไม่สำเร็จอีก 12 ครั้ง นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยเรามีรัฐประหารทุก 3 ปี 4 เดือน ซึ่งถี่กว่าการเลือกตั้งที่กำหนดให้มีทุก 4 ปี
“น่าสนใจเข้าไปอีกที่พบว่า ประเทศไทยมีการทำรัฐประหารตัวเองถึง 4 ครั้ง คือ ไม่ได้ไปยึดอำนาจจากรัฐบาลอื่นแต่รัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจ คือ สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจรและสมัยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประเทศไทยมีข้ออ้างเกี่ยวกับรัฐประหารที่ไม่เหมือนประเทศอื่น ทั้งเพื่อระงับเหตุรุนแรง เพื่อประชาธิปไตย และตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาเริ่มมีข้ออ้างเพื่อสถาบัน เพราะเมื่อก่อนเมื่อก่อรัฐประหารก็จะเปิดเพลงสวนสนามของทหาร แต่ 2534 เป็นต้นมาเมื่อมีการยึดอำนาจก็จะเปิดเพลงเทิดพระเกียรติ พร้อมให้เหตุผลการทำรัฐประหารว่า เพื่อปกป้องสถาบัน” นพ.กิตติภูมิให้ข้อมูล
นพ.กิตติภูมิกล่าวด้วยว่า รัฐประหารไม่ได้เพิ่งมีในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมาเท่านั้น ในอดีตยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีการรัฐประหารแต่เรียกกันว่า ‘ปราบดาภิเษก’ เป็นการแย่งชิงอำนาจของกษัตริย์ ขุนนาง อำมาตย์ หากอ่านจากคำให้การกรุงเก่า คำให้การของขุนหลวงหาวัด พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สุริโยทัย’ ของ มจ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ก็ได้สะท้อนการแย่งชิงอำนาจในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เป็นอย่างดี
รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยาฯ ครั้งล่าสุด แต่ไม่สุดท้าย
“ที่ผ่านมา ไม่เคยมีนักรัฐศาสตร์คนไหนออกมายืนยันว่า การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย” นพ.กิติภูมิ กล่าว
นพ.กิติภูมิ กล่าวถึงรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่ดูหมิ่นคนจนและอิจฉาคนชั้นสูง คนชั้นกลางมักแสวงหาซูเปอร์ฮีโร่ มองหาคนพิเศษมีความรอบรู้เพื่อสนองตอบต่อความฝันของชนชั้นตนเอง ดังนั้นจึง ไม่แปลกที่คนชั้นกลางจะโหยหารัฐประหาร
อีกทั้ง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากวิเคราะห์โครงสร้างของกลุ่มผู้เข้าร่วมจะพบว่า มีทั้งสื่อมวลชน มีทั้งมวลชน (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) และพรรคการเมืองที่รอฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจ ซึ่งกลุ่มก้อนที่เข้าเป็นแนวร่วมก็ไม่แตกต่างจากการทำรัฐประหารโค่นล้มปรีดี พนมยงค์ หรือ 6 ตุลาคม 2519 ที่ผ่านมา
“การเมืองไทยมีค่านิยมเรื่อง ‘ความสุจริต’ แต่ความสุจริตไม่ได้หมายถึง ‘ความมีประสิทธิภาพ’ ขณะเดียวกันสังคมไทยก็มี ‘ศรัทธา’ และ ‘ศรัทธา’ ก็ไม่ได้หมายถึง ‘ความมีเหตุผล’ เป็นความลักลั่นที่อยู่ด้วยกัน” นพ.กิตติภูมิกล่าว
นอกจากนั้น นพ.กิติภูมิยังกล่าวถึงแนวคิดของนักวิชาการ อาทิ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่พยายามอธิบายว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่มีกรอบ มีเส้นที่ล่วงล้ำมิได้ อย่างเช่น ยอมให้นักการเมืองโกงได้แต่อย่าน่าเกลียด เพราะมันจะเปิดทางให้ทหารยึดอำนาจ ขณะเดียวกันทหารเองก็ต้องไม่ล้ำเส้น เพราะฆ่าประชาชนเมื่อใดประชาชนก็จะทนไม่ได้ รวมทั้งกล่าวถึงแนวคิด ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ ศ.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช อธิบายว่า เมื่อประชาชนเลือกตั้งด้วยการขายเสียงก็จะได้นักการเมืองโกงกิน เมื่อนักการเมืองโกงกินถอนทุนหรือทุจริตคอรัปชั่นก็จะนำมาสู่การรัฐประหาร และการเลือกตั้งหมุนวนไปเป็นวงจรเดิมๆ
“ดันแคน แมคคาร์โก ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชีย แห่ง University of Leeds มองประเทศไทยว่า รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาไม่ใช่รัฐตัวจริง แต่จะมีกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็น ‘รัฐตัวจริง’ ซึ่งคุมอำนาจเป็นเครือข่ายชนชั้นสูง ข้าราชกับทหารที่ต้องคอยกระชับอำนาจของกลุ่มตนอย่างต่อเนื่อง” นพ.กิติภูมิกล่าว