ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday 7 February 2012

การทูตแบบยิ่งลักษณ์: สวยแต่ไร้สาระ?

ที่มา Voice TV


ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

VoiceTV Member

Bio

นักวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์

สัปดาห์นี้ ผมของดการเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองภายใน โดยเฉพาะในประเด็นที่กำลังมีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับมาตรา 112 อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของกลุ่มนิติราษฎร์ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ผลักดันให้มีการ ปฏิรูปมาตรา 112 อย่างจริงจัง แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่ม “อตรรกชน” ได้เปิดใจกว้างและยอมรับความเห็นที่แตกต่าง น่าเสียดายที่กลุ่ม “อตรรกชน” เป็นพวกกระโหลกหนา คงจะรับต่อการเปลี่ยนแปลงลำบาก โดยเฉพาะหากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะกระทบต่อสถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจของตน

(ภาพ/ AFP)

ผมจะขอกล่าวถึงเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าไกลตัวครับ แต่จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างมาก นั่นคือ การวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของไทย โดยจะเน้นในยุคปัจจุบันภายใต้การนำของนายกยิ่งลักษณ์ และในขณะที่เขียนต้นฉบับเรื่องนี้ คุณยิ่งลักษณ์ยังอยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะเป็นภารกิจปกติที่นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องเข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้น เป็นประจำทุกปี แต่นายกยิ่งลักษณ์ก็พยายามใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมบทบาทของไทยในกรอบ พหุภาคี รวมถึงเป็นการแนะนำตัวเองกับผู้นำอื่นๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่ได้รับการเลือกตั้งตามวิถีทาง ประชาธิปไตย (ไม่ได้จัดตั้งในค่ายทหารเหมือนรัฐบาลชุดอื่นๆ)

หากมองย้อนหลังกลับไป อาจกล่าวได้ว่า ไทยไม่มีนโยบายต่างประเทศที่เด่นชัดนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบทักษิณ ทั้งนี้ หากมองเลยไปถึงยุคทักษิณจะพบว่า การต่างประเทศและการทูตของไทยในช่วงนั้นมีสีสรร (colourful) แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก (controversial)ในอดีต มีผู้นำไทยไม่มากที่สนใจเรื่องการต่างประเทศ และต้องการส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีภูมิภาคและระหว่างประเทศ ที่เด่นๆ ก็ได้แก่ นายถนัด คอมันตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งองค์การอาเซียนในปี ค.ศ.1967 นายกชาติชาย ชุณหวัณ ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบในอินโดจีนเป็นสนามการค้าในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 (เป็นความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อบทบาทของทหารในด้านการต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในหลายๆ สาเหตุที่นำไปสู่การก่อรัฐประหาร) หรือในกรณีของนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปัญยารชุน (อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน) ที่ส่งเสริมบทบาทไทยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของอาเซียน ในปี ค.ศ.1992

ยุคทักษิณเป็นยุคเริ่มแรกของสหัสวรรษใหม่ เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ จากการสิ้นสุดของสงครามเย็นไปสู่การโอบแขนรับต่อสภาพโลกาภิวัฒน์ ระเบียบโลกเปลี่ยนจากการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างประชาธิปไตยและ คอมมิวนิสต์ มาสู่การแข่งขัน (และการพึ่งพา) ทางเศรษฐกิจ แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศมหาอำนาจที่นับว่าได้รับชัยชนะจากสงครามเย็น แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การเกิดสภาพโลกขั้วเดียวภายใต้การครอบงำของสหรัฐฯ ในความเป็นจริง โลกกลับมีลักษณะความเป็นหลายขั้วมากขึ้น (multipolarity) และในภูมิภาคเอเชียนี้ ประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่ อย่างเช่น จีนและอินเดีย มีส่วนทำให้เกิดการกระจายอำนาจ (decentralisation)ของโลก ซึ่งสร้างผลกระทบต่อบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

เมื่อคุณทักษิณเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณได้ใช้โอกาสที่มากับระเบียบโลกแบบใหม่ ในการผลักดันให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในภูมิ้ภาค นโยบายที่คุณทักษิณประกาศใช้ถือว่าเป็นนโยบายที่คู่ขนานไปกับนโยบายประชา นิยมภายในประเทศ กล่าวคือ การใช้โอกาสที่มากับการต่างประเทศในการสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจ มากขึ้น (empowerment) ให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า นอกจากนี้ นโยบายต่างประเทศของคุณทักษิณยังสะท้อนความทะเยอทะยานส่วนตัวของคุณทักษิณ เองในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคที่ผู้นำที่เคยมีชื่อเสียงในอดีตได้ลา (หรือกำลังจะอำลา) เวทีการเมืองในภูมิภาค ได้แก่ นายลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีชองสิงคโปร์ ประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย และนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ในส่วนของเนื้อหาสาระของนโยบายต่างประเทศของทักษิณนั้น มุ่งเน้นความเป็นชาตินิยม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมเอกลักษณ์ของความเป็นเอเชีย (ฟังแล้วอาจจะดูขัดกันบ้าง) รวมถึงการมีลักษณะที่เน้นมิติด้านธุรกิจ (มากกว่าที่จะส่งเสริมญัตติทางการเมือง อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยหรือการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน)

(ภาพ / AFP)

ในช่วง 6 ปีที่ทักษิณอยู่ในตำแหน่ง รัฐบาลชุดนี้ได้มีการคิดค้นกรอบความร่วมมือใหม่ๆ ที่มีไทยเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือนั้นๆ ได้แก่ กรอบความร่วมมือ Asia Cooperation Dialogue (ACD) ที่รวมเอาประเทศทั้งหมดในทวีปเอเชียมาร่วมมือและหารือในประเด็นที่เห็นว่ามี ความสำคัญร่วมกัน และกรอบความร่วมมือ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) เป็นความร่วมมือของประเทศบนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำทั้งสาม (ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่าและเวียดนาม) นอกจากนี้ ทักษิณยังได้ส่งเสริมการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศ มุ่งเปิดระบบเศรษฐกิจของไทยเพื่อการเข้ามาของทุนจากต่างชาติและการส่งออกของ ไทย ขณะที่ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าของไทย ในด้านงานพหุภาคีนั้น คุณทักษิณได้ส่ง ดร.สุเกียรติ เสถียรไทย (รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) เข้าชิงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แต่ในที่สุดก็ประสบกับความล้มเหลว (สาเหตุหลักมาจากประเด็นการเมืองภายใน)

อย่างไรก็ดี แม้นโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อผลประโยชน์ของชาติโดยตรง แต่ก็ตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการนำนโยบายต่างประเทศไปใช้เพื่อ ประโยชน์ส่วนตัว เช่นในกรณีของการอนุมัติเงินกู้ระยะยาวแก่พม่าเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนา ด้านโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปของคุณทักษิณฯ กลับกลายมาเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า นอกเหนือไปจากแบ่งเส้นที่ไม่ชัดระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติและผลประโยน์ส่วน ตัวนั้น นโยบายต่างประเทศของทักษิณฯ ยังขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอยู่มากและละเลยเพิกเฉยต่อสมรรนะของไทยเอง ในฐานะที่เป็นเพียงประเทศขนาดกลางและยังขาดปัจจัยบางประการที่จะนำไปสู่การ ก้าวขึ้นเป็น “มินิมหาอำนาจ” ในภูมิภาค ในกระบวนการทั้งหมดนี้ คุณทักษิณมองข้ามอาเซียน ไม่ให้ความสำคัญอาเซียน เห็นว่าอาเซียนเป็น “เกมการเมืองแบบเก่า” ที่มีระบบราชการที่เชื่องช้า ไม่ทันใจ CEO อย่างคุณทักษิณ แต่เอาเข้าจริงๆ สาเหตุหลักน่าจะมาจาการที่คุณทักษิณต้องการเครดิตของตนเองและพยายามส่งเสริม ความคิดริเริ่มทางด้านการทูตที่มาจากคุณทักษิณเท่านั้น

เมื่อยุคทักษิณจบลง ไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองภายในที่หนักหน่วง รัฐบาลในชุดต่อๆ มาไม่มีเวลาพัฒนายุทธศาสตร์ทางด้านการต่างประเทศ มิหนำซ้ำ ยังตกอยู่ในสภาพที่ก่อให้เกิดความกังวล สงสัย ต่อหลายๆ ประเทศในภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ เกี่ยวกับความมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ เหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ได้นำไปสู่การสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีของไทย นับจากการยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมือง การขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยอาศัยอำนาจตุลาการ การก่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีกองทัพอยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงการบุกสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี ค.ศ.2009 ทำให้การประชุมต้องยุติโดยพลัน และที่สำคัญที่สุด การใช้ความรุนแรงของฝ่ายรักษาความมั่นคงในการปราบปรามผู้ชุมนุมเพื่อ ประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2010. เหตุการณ์เหล่านี้มีส่วนลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศในไทยอย่าง มาก ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงการเกิดความรุนแรงและสงครามระหว่างไทยและกัมพูชา จากกรณีความขัดแย้งเหนือพื้นที่บริ เวณรอบเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้อยู่เบื้อง หลังสำคัญในการทำให้ประเด็นนี้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่ถูกผลักดัน โดยกระแสชาตินิยม เพื่อสร้างสถานการณ์ความไม่สงบและเชื้อเชิญให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง

เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้คุณยิ่งลักษณ์จะประสบกับปัญหาในหลายๆ ด้าน อาทิ เรื่องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับวังและกองทัพ ไปจนถึงปัญหาที่เกิดจากน้ำท่วม แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็พยายามใช้โอกาสที่มีอยู่ในการค้นหาจุดยืนของไทยใน ภูมิภาคอีกครั้ง นายกยิ่งลักษณ์ได้เดินทางเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียน (เพื่อแนะนำตัวเองในฐานะผู้นำคนใหม่) แม้สาระและผลผลิตที่เกิดจากการเยือนเหล่านี้จะไม่ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายดัง กล่าวอย่างทันถ่วงที แต่ก็นับได้ว่า ได้รับการตอบสนองที่ดีจากประเทศเพื่อนบ้าน การเดินทางไปเยือนกัมพูชานำมาสู่การ “คืนดี” ระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ รวมถึงความพร้อมใจในการยินยอมให้อาเซียนได้เข้ามาเล่นบทผู้ไกล่เกลี่ยในความ ขัดแย้ง นอกจากนี้ การพบปะระหว่างนายกยิ่งลักษณ์และนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า (ในระหว่างเยือนพม่าที่ผ่านมา) ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์อีกด้านหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และสุดท้าย การเดินทางไปเยือนอินเดียล่าสุดและการได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตที่ดีชี้ ว่า ไทยยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออินเดียทั้งในแง่ของการเป็นคู่ค้าที่สำคัญ และการหวังพึ่งไทยในการเป็นสะพานเชื่อมต่ออินเดียมาสู่อาเซียน

(ภาพ /AFP)

อาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่ประเมินงานด้านการต่างประเทศของยิ่งลักษณ์ แต่จากแนวโน้มที่ปรากฏ มีความเป็นไปได้ว่า ยิ่งลักษณ์จะหันกลับมาให้ความสำคัญต่ออาเซียนอีกครั้ง (อาจเรียนรู้ความผิดพลาดจากรัฐบาลทักษิณ) ทั้งนี้ อาเซียนเคยเป็นเสาหลัก (cornerstone) ของนโยบายต่างประเทศไทยมาหลายยุคหลายสมัย และในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ อาเซียนก็จะกลายมาเป็นชุมชุนความร่วมมือในภูมิภาคทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม-วัฒนธรรม ไทยต้องเริ่มมองหาจุดยืนของเราเองในอาเซียนและคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อใช้จุด ยืนนี้นำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ รวมถึงบทบาทของความเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่สำคัญ ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องสร้างสมดุลย์ระหว่างผลประโยชน์และหลักการ นั่นหมายถึง การลดมิติด้านธุรกิจในนโยบายต่างประเทศลง เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยแสดงหลักการในฐานะที่เป็นประเทศอารยะประเทศหนึ่งในเวที ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อน บ้าน (ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเรื่องนี้ภายในประเทศด้วย) ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า งานด้านการทูต (ที่เคยถูกผูกขาดโดยเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์) จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและแปลี่ยนแปลงเพื่อใหไทยปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวด ล้อมที่เกิดขึ้นบนโลกในนี้ได้ตลอดเวลา

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ปล:ผู้เขียนเป็นอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Reinventing Thailand: Thaksin and His Foreign Policy (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2010).