ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 13 February 2012

ให้ศพละ 7.5 ล้าน รัฐเยียวยาเหยื่อไฟใต้

ที่มา ประชาไท

กรรมการเยียวยา เห็นชอบให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย คนหาย ถูกซ้อมทรมาน บึ้มหาดใหญ่ ยงยุทธยันรีบนำเข้า ครม.เร่งจ่ายให้ทันในอีก 2 เดือนพร้อมเหยื่อการเมือง

ตายให้รายละ 7.5 ล้าน
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 2/2555 เพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการเยียวยาฯ พร้อมด้วยพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานคณะกรรมการเยียวยาฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรรมการและเลขานุการ กรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน

ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มได้รับการช่วยเหลือและมี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีกรอบการให้เงินเยียวยา รายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เท่ากับกรณีผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง

ที่ประชุมได้แยกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งหมด 11 จุด รวมเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและสะบ้าย้อย กลุ่มที่ 2 เหตุการณ์ตากใบและมัสยิดไอร์ปาแย กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ที่ถูกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือการทรมาน หรือถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และกลุ่มที่ 4 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทั่วไป

นอกเหนือจากให้เงินเยียวยาแล้ว ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา และการประกอบพิธีฮัจย์ เป็นต้น

เร่งจ่ายในอีก 2 เดือน
นายยงยุทธ กล่าวในการแถลงข่าวว่า จะเร่งนำร่างยุทธศาสตร์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉบับนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ได้ในวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบภาย และคาดว่าจะสามารถดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาได้ภายใน 1 - 2 เดือน ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง

“รัฐบาลไม่ได้ละเลยหรือทอดทิ้งผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม” นายยงยุทธ กล่าว

รวมเหยื่อบึ้มหาดใหญ่
พ.ต.อ.ทวี แถลงว่า สำหรับจำนวนผู้ที่จะได้รับการเยียวยานั้น ได้มีการรวบรวมข้อมูลไว้บางส่วนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยจำนวนที่แน่นอนได้ ส่วนวิธีปฏิบัติได้มีโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยจะคณะกรรมการระดับอำเภอโดยมีนายอำเภอเป็นประธานและให้ภาคประชาชนเข้ามามี ส่วนร่วม พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมและ สภาพที่เป็นจริงทั้ง 37 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา

“ส่วนผู้ได้รับผลกระทบนอกพื้นที่ดังกล่าว เช่น ถูกลอบวางระเบิดในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในหลักเกณฑ์เดียวกันด้วย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี แถลงอีกว่า ที่ประชุมยังได้เสนอให้สร้างความเข้าใจในกระบวนการเยียวยาให้แก่ทุกภาคส่วน จัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการใช้หลักศาสนาในการเยียวยาทางด้านจิตใจโดย ส่งเสริมการไปประกอบพิธีฮัจย์หรือการไปปฏิบัติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ

พ.ต.อ.ทวี แถลงด้วยว่า ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งภายในกรอบการช่วยเหลือ เดียวกัน

4 ศพหนองจิกให้ก่อน 5 แสน
พ.ต.อ.ทวี แถลงอีกว่า ส่วนกรณีชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิต 4 รายในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็เข้าข่ายที่จะได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ นี้เช่นเดียวกัน แต่ในเบื้องต้นได้ให้เงินช่วยเหลือเยียวยารายละ 5 แสนบาท

ตั้ง 7 คณะรุกงานเยียวยา
พ.ต.อ.ทวี แถลงด้วยว่า คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ ยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารวมทั้งหมด 7 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ มีพล.ต.อ.ประชา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการการสื่อสารที่ดีทั้งในและต่างประเทศ คณะอนุกรรมการจัดระบบความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพและคุมครองผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ยังตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดรายละเอียดการเยียวยาและแนวทาง การช่วยเหลือกรณีเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 คณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดรายละเอียดการเยียวยาและแนวทางการช่วยเหลือกรณี เหตุการณ์ตากใบและไอร์ปาแย คณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดรายละเอียดการเยียวยาและแนวทางการช่วยเหลือกรณีผู้ ถูกบังคับให้สูญหายและถูกซ้อมทรมาน และคณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดรายละเอียดการเยียวยาและแนวทางการช่วยเหลือกรณี เหตุการณ์ทั่วไป

ผู้ว่าฯ สงขลาหวั่นคนไม่เข้าใจ
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต่อที่ประชุมว่า ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อีก การให้เงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่เสียชีวิตถึงรายละ 7.5 ล้านบาท มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และการตั้งมูลนิธิเพื่อจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ความรู้สึกเพื่อรำลึกถึง ผู้เสียชีวิตตามข้อเสนอของคณะทำงานกำหนดกรอบการเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกระทำ โดยเจ้าหน้าที่รัฐกรณีถูกบังคับให้สูญหายหรือการทรมานหรือถูกละเมิดสิทธิ มนุษยชน อาจจะสร้างปัญหาให้กับรัฐตามมา จึงไม่เห็นด้วยกับการตั้งมูลนิธิดังกล่าว

เหยื่อกรือเซะขอเป็นเงินก้อน
นางคอดีเยาะ หะหลี ชาวตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี บุตรของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ซึ่งร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า เดิมไม่ต้องการให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในรูปตัวเงินมากนัก ซึ่ตนเคยเสนอเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมติจะให้เงินช่วยเหลือรายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างเท่าๆ กัน และไม่เห็นด้วยถ้าจะทยอยให้เป็นงวดๆ

เปิดหลักเกณฑ์ช่วย 4 กลุ่ม
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการช่วยเหลือเยียวยาและ แนวทางการช่วยเหลือตามที่คณะทำงานกำหนดกรอบการเยียวยาทั้ง 4 กลุ่ม กำหนด เบื้องต้น มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งหมด 11 จุด รวมเหตุการณ์กรือเซะและสะบ้าย้อย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 106 คน บาดเจ็บ 6 คน และถูกจับกุม 6 คน ให้เงินเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท พิการ 1 ล้านบาทและสนับสนุนการไปประกอบพิธีฮัจย์

กลุ่มที่ 2 เหตุการณ์ตากใบและไอร์ปาแย แยกเป็นเหตุการณ์ตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 คน บาดเจ็บ 51 ราย ผู้ถูกดำเนินคดี 58 ราย ผู้ที่ถูกควบคุมตัว 1,300 ราย เสียชีวิตเยียวยารายละไม่เกิน 7.5 ล้านบาท ทุพพลภาพ 350,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 313,000 บาท บาดเจ็บ 65,000 บาท ถูกดำเนินคดีได้รับค่าชดเชยเบื้องต้น 30,000 บาท ค่าชดเชยที่ถูกคุมขังตามจำนวนวัน วันละ 400 บาท ค่าชดเชยในการไปดำเนินคดีต่อศาล10,000 บาท ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมได้รับค่าเยียวยาทางจิตใจรายละ 10,000 บาท ผู้ได้รับเงินเยียวยาต้องหักเข้ากองทุนร้อยละ 20

กลุ่มที่ 3 กรณีการสูญหายซึ่งมีจำนวน 37 ราย ค่าชดเชยรายละ 7.15 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ถูกซ้อมทรมานมี 36 ราย ส่วนกลุ่มที่ 4 เหตุการณ์ทั่วไปจะพิจารณาช่วยเหลือภายใต้วงเงินไม่เกินรายละ 7.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทั้ง 4 กลุ่มจะได้รับแล้วยังมีการช่วยเหลือในด้านอื่นเช่นที่อยู่อาศัย อาชีพ การศึกษา และการประกอบพิธีฮัจย์ เป็นต้น

สถิติเหยื่อไฟใต้ 8 ปีจ่อ5พันราย
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รวบรวมสถิติผู้ได้รับ ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2554 ชี้ให้เห็นจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในรอบเจ็ดปีกว่าหรือ 94 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนตุลาคม 2554 ที่เกิดเหตุความไม่สงบรวมทั้งสิ้นประมาณ 11,265 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกันจำนวนประมาณ 13,207 ราย แยกเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 4,943 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บรวม 8,264 ราย ซึ่งจำนวนผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว หากได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่นี้ เฉพาะผู้เสียชีวิต จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 37,000 ล้านบาท