เรื่อง แบบนี้ทำมาเหมือนๆกัน ตั้งแต่การกล่าวหา ..ท่านปรีดี กรณีลอบปลงพระชนม์ ร. 8 กรณีหมิ่นพระบรม ฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ...ของผม มาจนถึง คณะนิติราษฎร์ กำลังเป็นเหยื่อรายปัจจุบัน -อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษาเหยื่อกรณี 6 ตุลา 19
อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เคยแสดงเป็นตัวละครช่างไฟฟ้าถูกแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม เพื่อประท้วงการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ถูกสื่อหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นบิดเบือนว่า นักศึกษาเล่นละคร"หมิ่นเจ้าฟ้าชาย" จนนำไปสู่การจุดชนวนปลุกเร้าให้เจ้าหน้าที่ และมวลชนออกมาปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างทารุณโหดร้ายในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับกรณีคณะนิติราษฎร์ว่า กำลังตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกับที่เขาและนักศึกษา 6 ตุลาฯเคยเจอมา
นับจากกรณี 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา แทบจะนับครั้งได้ที่เขาจะแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมือง นี่เป็๋น 1 ในจำนวนน้่อยครั้งที่ว่านั้น โดยอภินันท์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ดังต่อไปนี้
วันนี้ ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสักครั้ง
ในฐานะ คนที่เคยโดนทำร้ายด้วยกฏหมายมาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และ พระราชวงศ์
... อย่างไม่เป็นธรรม ย้ำอีกครั้ง อย่างไม่เป็นธรรม ...
แถมท้ายว่า เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงคนทั้งประเทศ
ที่ประชาชนทั้งประเทศจำนวนไม่น้อย ก็ตั้งใจที่จะเชื่อด้วยว่า
การใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวง นั้น ... เป็นความจริง
กรณี การล่าชื่อเพื่อให้แก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ นั้น
ผมเห็นว่า กฏหมายมาตรานี้ ก็เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง
ทำไมกลุ่มคนที่จะต้องมีส่วนปฏิบัติตามกฏหมายนี้ ..จะขอให้แก้ไขบางส่วน ..ไม่ได้
สิทธินี้ ควรเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย
และจริงๆ วิธีการแก้ไขก็มีระบุไว้อยู่แล้ว
ทำไมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องกระทำการดัง ... การล่าแม่มด ...
คือการกล่าวหา ...ใส่ร้ายป้ายสี ...หลอกลวงคนทั้งประเทศ ...
ว่าคณะ นิติราษฎร์ มีแผนการณ์ มีความคิดว่าจะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
แล้วก็โยงใยไปถึง กลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ..แบบเหมารวม
ผมเห็นว่า เรื่องแนวคิดทางการเมือง ..ย่อมมีการเห็นตรงกันได้ ..
แต่ก้ไม่ได้หมายความว่า ..จะต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน ...
และผมก้ไม่เห็นว่า คณะนิติราษฎร์ จะมีแนวคิด มีแผนการณ์
จะคิดโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ตรงไหน
ฝ่ายที่ต่อต้านคณะนิติราษฎร์ กำลังกระทำการอย่างที่คุ้นเคย
คือการกล่าวร้าย ด่าทอ ใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงประชาชน
เพื่อสร้างความรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง ..จนทำให้ฝ่ายที่ได้รับข้อมูล พร้อมที่จะเชื่อ ...
เรื่องแบบนี้ทำมาเหมือนๆกัน ตั้งแต่การกล่าวหา ..ท่านปรีดี กรณีลอบปลงพระชนม์ ร. 8
กรณี หมิ่นพระบรม ฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ...ของผม
มาจนถึง คณะนิติราษฎร์ กำลังเป็นเหยื่อรายปัจจุบัน ครับ
*********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:บทสัมภาษณ์ "อภินันท์ บัวหภักดี" : ชายผู้ถูกกล่าวหาว่า "แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
คัดจาก นิตยสารสารคดี
ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539
อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับมีใบหน้าคล้ายองค์รัชทายาท จนกลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์
6 ตุลา 19
เขาเป็น 1 ใน 19 ผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
ปัจจุบันเขาเป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ นิตยสาร อสท.
“เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุในชีวิตที่เราบังเอิญเดินผ่าน ชุมนุมนาฏศิลป์และการละครในเช้าวันนั้น แต่ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมืองแน่นอน เพราะเหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง”
อภินันท์ บัวหภักดี ย้อนอดีตเหตุการณ์การแสดงละครเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ณ ลานโพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ผมเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับกีฬา แต่ผมก็มีเพื่อนที่ทำกิจกรรมอยู่ใน อมธ. และชุมนุมต่าง ๆ ทุกวันเราจะเห็นเพื่อนเขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ด ถ้าผมว่างก็ไปช่วย และตอนนั้นเราก็เหมือนเพื่อนปีหนึ่งด้วยกันที่อยากเข้ากับชุมนุมอะไรซัก ชุมนุม ก็ตัดสินใจเข้าชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร ผมชอบเล่นละครมาก แต่เล่นไม่เก่ง ทำอยู่พักหนึ่งก็รู้ว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว พอดีช่วงนั้นมีวงดนตรีต้นกล้า ผมเป่าขลุ่ยเก่งก็เลยเปลี่ยนจากเล่นละครมาเล่นดนตรี
พอพระถนอมกลับมาก็มีการคุยกันในศูนย์กลางนิสิตฯ เพื่อจะจัดกิจกรรมประท้วงการกลับมาของพระถนอม ศูนย์กลางนิสิตฯ จะส่งแนวคิดลงมายังชุมนุมต่าง ๆ ว่า ทำอย่างไรที่จะให้นักศึกษาหยุดเรียนเพื่อมาประท้วงการกลับมาของพระถนอม สำหรับชุมนุมนาฏศิลป์ฯ ก็คิดกันว่าจะจัดการแสดงขึ้นในวันที่นักศึกษาปีที่ 1 หยุดสอบ เพราะถ้าทำให้นักศึกษาปีที่ 1 หยุดสอบได้ จะทำให้นักศึกษาทั้งหมดหยุดสอบไปโดยปริยาย”
ดังนั้นชุมนุมนาฏศิลป์ฯ จึงร่วมกันคิดละครขึ้นมาชุดหนึ่ง ในตอนแรกมีพล็อตเรื่องเพียงเรื่องเดียวซึ่งไม่เกี่ยวกับการแขวนคอ
“พล็อตเก่าเป็นละครเรื่องหนึ่ง จำลองภาพเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลา ที่นักศึกษาประท้วงแล้วถูกยิงตายกันเยอะ พล็อตนั้นก็ให้นักศึกษาทำเป็นนอนตายเต็มลานโพ มีคนตายเรียงอยู่ตามขั้นบันไดทางขึ้นตึกศิลปศาสตร์ (ตึกที่นักศึกษาปีที่ 1 ใช้สอบ) มีคนแต่งตัวเป็นพระถนอมและลูกศิษย์ ทำเป็นเดินวนเวียนอยู่บริเวณที่มีคนนอนตาย แล้วพระถนอมก็พูดพล่ามอยู่ตลอดเวลาว่า อาตมาขอบิณฑบาตอีกสักสี่ห้าสิบศพนะ ส่วนภาพที่เป็นหลักคือ ภาพนักศึกษาคนหนึ่งกำลังขึ้นไปสอบ นักศึกษาจะต้องเดินข้ามคนตายไปทีละคน ๆ ระหว่างที่เดินขึ้นบันได คนที่นอนอยู่จะถามว่า “คุณจะไปไหน” นักศึกษาก็ตอบว่า “จะขึ้นไปสอบ” คนที่นอนอยู่ก็บอกว่า ถ้าจะขึ้นไปสอบก็ต้องข้ามศพคนพวกนี้ไปก่อน ในขณะเดียวกันกับพระถนอมก็บิณฑบาตขอศพไปเรื่อย ๆ แล้วก็มาถึงไคลแมกซ์ นักศึกษาคนนั้นจะค่อย ๆ เดินไป ตัวสั่นไป ฉากจบคือ นักศึกษาทิ้งหนังสือ ไม่ไปสอบแล้ว”
ส่วนพล็อตที่ 2 เป็นพล็อตที่นำมาจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 24 กันยายน เป็นพล็อตที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นชนวนของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ครั้งนี้
“พล็อตที่ 2 คิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมที่ไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของพระถนอม พอกลางคืนวันนั้นชมรมนาฏศิลป์ฯ ก็คิดพล็อตกันเลย สาเหตุที่เล่นเรื่องแขวนคอ เพราะต้องการให้เห็นภาพความโหดร้ายของพระถนอม ที่กลับมาไม่ทันไรก็มีคนถูกแขวนคอ เป็นภาพที่สะเทือนขวัญก็เลยเอามาแสดง พอคิดเสร็จก็ลองเอาเฮียวิโรจน์ (วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์) ขึ้นไปแขวนดู”
แล้วอุบัติเหตุในชีวิตของเขาก็เกิดขึ้น เมื่อเขาบังเอิญเดินผ่านชุมนุมนาฏศิลป์ฯ ในเช้าวันที่ 4 ตุลาคม
“วันนั้นผมนักเพื่อนที่ชมรมวอลเลย์จะไปดูหนังเรื่อง “ยุทธภูมิมิดเวย์” ด้วยกัน ตั้งใจว่าจะไปดูรอบเช้า นั่งรอเพื่อนอยู่นานเพื่อนก็ไม่มาสักที เราก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยเดินเล่น เห็นเขากำลังจับเฮียแขวนอยู่ใต้ต้นไม้ รู้สึกน่าสนุกดี พอปลดเฮียลงมาเฮียก็บ่นว่าเจ็บ ก็เลยต้องหาคนอีกคนเอาไว้สลับ บังเอิญผมเดินขึ้นไปตอนเขากำลังบ่นว่าเจ็บพอดี สักพักหน่อย (อนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ) ก็ออกมาบอกว่าให้ผมช่วยหน่อย เพราะคนที่ขึ้นไปแขวนจะต้องตัวเล็ก ๆ ตอนนั้นน้ำหนักผมประมาณ 50 กิโลเท่านั้น เราว่างอยู่ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ก็ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นเลย
รู้ตัวว่าเป็นนักแสดงตอนสิบเอ็ดโมง แล้วต้องแสดงก่อนนักศึกษาเข้าสอบบ่ายโมง จึงมีเวลาเตรียมตัวนิดเดียว เขาก็ให้ไปหาเสื้อมาใส่ เราก็ไปค้นจากกองเสื้อที่ใช้เล่นละคร ก็ได้เสื้อ รด. สีคล้ำ ๆ ซึ่งเข้าชุดกับกางเกงสีเขียวที่เรานุ่งอยู่ หลังจากนั้นจึงให้เพื่อนชื่อต้อที่อยู่วงดนตรีกงล้อมาแต่งหน้าให้ โดยแต่งให้เหมือนกับคนถูกซ้อม พอแต่งหน้าเสร็จก็ออกไปแสดงเลย ตอนนั้นเขาเตรียมบทอะไรเราก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพอเฮียวิโรจน์เจ็บ ก็จะเปลี่ยนให้เราขึ้นไปแขวนแทน จำได้ว่าขึ้นไปแขวนสองสามเที่ยว ละครที่เล่นไม่มีบทพูด เป็นการแสดงภาพเฉย ๆ คนที่เดินผ่านไปมาเขาจะรู้ว่าเราต้องการสื่ออะไร และมีคนคอยพูดโทรโข่งอยู่ด้านล่าง ชักชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมชุมนุม ตอนนั้นไม่มีใครพูดว่าหน้าเหมือนใครเลย”
ระหว่างเล่นละคร ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้ลงมาขอร้องให้นักศึกษาเลิกแสดงละคร เนื่องจากถึงเวลาที่นักศึกษาต้องเข้าสอบ แต่มีนักศึกษาเข้าห้องสอบน้อยมาก ในที่สุดมหาวิทยาลัยจึงประกาศงดสอบ
“ตอนแรกอาจารย์ป๋วยก็ลงมาห้าม บอกว่าให้เลิกได้แล้ว แต่ท่านก็ทำอะไรไม่ได้ ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยน่าสงสารที่สุดเพราะถูกบีบจากทั้งสองฝ่าย อาจารย์ป๋วยเปิดโอกาสให้ทำตามสิทธิตามปรัชญาของท่านว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมี เสรีภาพ ท่านก็ไม่ได้คัดค้านพวกเรา แต่ท่านต้องทำตามหน้าที่”
หลังจากเล่นละครเสร็จตอนบ่ายสามโมง อภินันท์ก็มุ่งหน้ากลับบ้านโดยไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงที่ศูนย์กลาง นิสิตฯ จัดขึ้นแต่อย่างใด กว่าเขาจะรู้ว่าตัวเองได้กลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ล่วงเข้าตอน เย็นวันเดียวกัน เมื่อได้ฟังวิทยุยานเกราะกล่าวหาว่ามีการเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
“พอฟังวิทยุยานเกราะจึงรีบกลับมาที่ธรรมศาสตร์ เจอหน่อย (อนุพงศ์) คนที่ชวนให้เล่นละคร เขาก็บอกว่าอย่าเพิ่งไปไหน เพราะจะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่าเราไม่ได้มีเจตนาเล่นละครหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ ผมขอออกมากินข้าวเย็นที่ท่าพระจันทร์ เห็นหนังสือพิมพ์วางขายอยู่ที่แผง พอเรายื่นหน้าเข้าไปดูก็ได้ยินคนพูดว่า มันทำกันอย่างนี้เชียวหรือ คนที่ดูหนังสือพิมพ์อยู่ไม่รู้ว่าผมคือคนที่อยู่ในรูป ผมคิดว่ามันไม่เหมือนเราเลย
คืนนั้นนอนอยู่ที่ตึก อมธ. นอนไม่หลับทั้งคืน เริ่มกลัวเพราะเป็นคดีอาญา คงจะถูกดำเนินคดี แต่เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำ แต่ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าอาจเป็นชนวนให้เรื่องบานปลายใหญ่โตได้ แต่ไม่คิดว่าจะมีการล้อมฆ่า พอเช้าเริ่มมีระเบิดลง ผมอดที่จะโทษตัวเองไม่ได้ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่องนี้เหมือนกัน”
หลังจากนั้น เขาและเพื่อนที่เกี่ยวข้องกับการแสดง รวมทั้งเพื่อนในศูนย์กลางนิสิตฯ ถูกตามให้ไปพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ที่บ้าน ในขณะนั้นเสียงกระสุนปืนดังถี่ขึ้น และสถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง แต่เขาคิดว่าหากได้พบนายกฯ สถานการณ์คงจะดีขึ้น
“คนที่ออกไปพบนายกฯ มีทั้งหมด 6 คน จากศูนย์กลางนิสิตฯ 3 คน คือ สุธรรม แสงประทุม สุรชาติ บำรุงสุข และประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ และกลุ่มผู้แสดงละครมี 3 คน คือ ผม วิโรจน์ และอนุพงศ์ ขณะออกจากธรรมศาสตร์มีการยิงหนักมากจนเราต้องวิ่งฝ่าห่ากระสุนและหยุดรอจน กระทั่งเสียงปืนสงบจึงวิ่งต่อ เราไม่เห็นตัวคนยิง เห็นแต่ลูกกระสุน วิ่งไปก็เห็นปูนกระจายเต็มไปหมด
เมื่อออกมาถึงประตูท่าพระจันทร์ ก็มีคนมารับขึ้นรถพาไปที่บ้านนายกฯ พอไปถึง ยังไม่ทันเข้าบ้านเขาก็ไล่กลับขึ้นรถ ตอนนั้นก็งง เพราะยังไม่ได้เจอนายกฯ เลย ไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อ คนที่พาไปเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอนนั้นเริ่มใจไม่ดีแล้ว เพราะคิดว่าพอไปถึงบ้านนายกฯ คงเจรจากันได้”
ในขณะนั้นอภินันท์และเพื่อนคาดเดาจุดหมายปลายทางของตนเองไม่ออก จนกระทั่งรถเข้าจอดที่กองปราบฯ สามยอดเขาจึงได้รู้ว่า
“ถูกตำรวจหลอกให้เข้าคุกทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อหา ตอนนั้นทุกคนก็งง ๆ เพราะพอไปถึงเขาก็ให้เข้าห้องขังเลย ตอนแรกสุธรรมถามว่าจับผมข้อหาอะไร เขาก็บอกว่าให้เข้าไปก่อนเถอะ ตอนนั้นเป็นช่วงสาย ๆ ของวันที่ 6 อยู่ในห้องขังตลอดวันไม่รู้เรื่องอะไรเลย กว่าข้อหาจะมาถึงก็ตอนกลางคืน จึงถูกนำตัวไปสอบสวน”
ระหว่างที่เดินจากห้องขังซึ่งอยู่ชั้น 3 ลงไปชั้นล่างอภินันท์เริ่มรู้สึกตัวว่าตนได้กลายเป็นที่เกลียดชังของคนที่นี่ไปเสียแล้ว
“จำได้ว่ามีคนมามุงดูเราด้วยสายตาอาฆาตมาดร้าย โกรธแค้น คนที่มามุงดูเราทั้งหมดเชื่อว่าเราดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีการชี้หน้าว่าไอ้นี่แหละ ตำรวจที่ของขึ้นหน่อยก็เข้ามาอัดเลย ผมถูกอัดคนเดียว เหมือนกับแค้นที่ผมไปทำร้ายสิ่งที่เขาเคารพบูชา เข้าใจว่ามันเป็นอารมณ์โกรธ โดนไปหลายตุ้บ ทั้งมือทั้งเท้า ตอนนั้นรู้สึกไม่เข้าใจ ไม่ได้เถียงอะไร งง ๆ ไม่รู้ว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงมีความรู้สึกรุนแรงได้ถึงขนาดนี้ พอลงมาสอบสวน เราก็ยอมรับว่าแสดงละครจริง ๆ แต่ไม่ได้ต้องการดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ค่ำวันนั้นได้รับข้อหามาหนึ่งข้อหา คือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
เขาและเพื่อนเริ่มรู้สถานการณ์ภายนอกเมื่อย่างเข้าวันถัดไป
“ตอนที่เจ้าหน้าที่บอกว่าฆ่าพวกเราตายหมดแล้ว ตอนนั้นไม่เชื่อ แต่พอวันรุ่งขึ้นแม่ของเฮียวิโรจน์มาเยี่ยม แล้วบอกว่ามีการล้อมปราบที่ธรรมศาสตร์ ตอนแรกเราก็โทษตัวเองอยู่แล้ว ถึงตอนนั้นก็ยิ่งโทษตัวเองมากขึ้นว่าเป็นเพราะเราที่ทำให้มีคนตายมากมาย ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออก ผมกับเฮียวิโรจน์เลยผลัดกันนั่งร้องไห้ตลอดคืน”
หลังจากถูกคุมขังอยู่ที่กองปราบได้ 7 วัน เขาและเพื่อนทั้ง 6 คนก็ถูกย้ายเข้าเรือนจำบางขวางทันที พร้อมด้วยข้อหาเพิ่มอีก 10 ข้อหา นับตั้งแต่ก่อการจลาจล มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน มีอาวุธปืนและวัตถุระเบิดอยู่ในครอบครอง ข้อหาที่เบาหน่อยก็คือ บุกรุกในเวลากลางคืน ฯลฯ
“ข้อหามันเยอะ แต่มันไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้ทำอย่างนั้น จึงเชื่อว่าคงรอดออกมาได้ เพราะถ้าผิดตามข้อหาที่ถูกกล่าวหาจริง ถูกประหารชีวิตสักสิบครั้งก็คงยังใช้โทษไม่หมด เราเชื่อว่าเรายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าจะโดนจริง ๆ คงแค่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น”
ระยะแรกที่อยู่ในคุก เขารู้สึกว่าโลกใบนี้ช่างเลวร้ายกับเขาเหลือเกิน และเขาก็โทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“ชีวิตในคุกแม้จะไม่เลวร้ายนัก แต่ก็เป็นการจำกัดอิสระให้อยู่ในที่แคบ ๆ ไร้อิสรภาพ ความรู้สึกตอนเข้าไปใหม่ ๆ รู้สึกว่าทุกอย่างรอบกายมันเลวร้าย ตอนนั้นมันคับแค้นใจ รู้สึกว่าโลกมันเลว มากล่าวหาว่าเราทำในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เมื่อมองหาทางออกแล้วหมดหวังเลย เพราะเขากล่าวหาว่าเราทำร้ายผู้ปกครองประเทศ เรารู้แล้วว่าเราเป็นหมากตัวหนึ่งที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไป รู้สึกว่าโลกคือความเลว…หมดหวัง”
แต่เมื่ออยู่ ๆ ไปเขาก็เริ่มรู้สึกมีความหวังมากขึ้น เมื่อมีคนมาเยี่ยมและส่งข่าวคราวความเคลื่อนไหวของการดำเนินคดีว่ามีแนวโน้ม ไปในทางที่ดีขึ้น หลังจากติดคุกอยู่ 2 ปี ข้อเท็จจริงก็เริ่มคลี่คลายขึ้นเมื่อเพื่อนคนหนึ่งชื่อ บุญชาติ เสถียรธรรมณี เป็นคนเดียวในผู้ต้องหา 19 คนที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ความแตกต่างนี้เป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การปลดปล่อยเพื่อนทั้งหมดให้เป็นอิสระ
“เนื่องจากคดีที่มีข้อกล่าวหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์พ่วงอยู่ด้วยจะ ต้องขึ้นศาลทหาร คดีนี้เป็นคดีครอบจักรวาลที่ต้องการกักขังคนไว้นาน ๆ และการขึ้นศาลทหารก็อยู่นอกเหนือการรับรู้ของประชาชน อาจทำให้การพิจารณาคดีขาดความชอบธรรม ดังนั้นเมื่อบุญชาติได้ขึ้นศาลพลเรือนในข้อหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงมีโอกาสได้รับการพิจารณาที่ยุติธรรม และที่สำคัญ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีกุญแจ เนื่องจากหากไม่เกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การจลาจลก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลุด คดีอื่น ๆ ก็จะกลายเป็นความไม่ชอบธรรมและจะทำให้ทุกคนหลุดพ้นจากข้อหาทั้งหมด
การพิจารณาคดีดำเนินการสอบสวนมาตลอด 2 ปี ยิ่งมีการไต่สวน ความจริงก็เริ่มเปิดเผย เนื่องจากคำให้การของพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนัก ทุกอย่างจึงกลายเป็นความไม่ชอบธรรม ส่งผลให้มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก่อนที่การพิจารณาจะสิ้นสุด ความหมายของการนิรโทษกรรม คือ การยกโทษความผิดให้แก่ทุกคนที่กระทำผิดในวันที่ 6 ตุลา ผู้ต้องหาทั้ง 19 คนจึงได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสรภาพ”
แม้เขาจะรู้สึกยินดีกับอิสรภาพที่ได้ แต่เขากลับไม่รู้สึกยินดีกับการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเท่าใดนัก
“เนื่องจากความหมายของการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม คือ การบอกว่าเราเป็นคนผิดที่ได้รับการให้อภัย เป็นการช่วยคนที่ทำผิด จริง ๆ แล้วคนที่บริสุทธิ์ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม และคนที่ทำผิดยังไม่ได้รับโทษ ทั้ง ๆ ที่ความผิดของเขาเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก”
เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร อภินันท์กล่าวว่า
“เหตุการณ์นี้เป็นจุดหักเหในชีวิตผม ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมากเท่าไร แต่หลังจากเหตุการณ์แล้ว ผมเริ่มมองการเมืองอย่างคนที่เข้าใจมากขึ้นและสนใจมากขึ้น ในใจเรายังต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม มันซึมเข้าไปในสายเลือด และมีส่วนผลักดันต่อชีวิตผมทุกวันนี้มาก เพราะทำให้มีคนรู้จักผมมากขึ้น ได้ทำงานที่อยากทำ แม้จะสูญเสียอิสรภาพไป 2 ปี แต่หลังจากนั้นกลับเป็นช่วงชีวิตที่ผมมีความสุขมาก”
อภินันท์ได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ สื่อมวลชน ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา สื่อมวลชนทำงานสัมฤทธิผลมากเกินไป เมื่อสถานการณ์ถูกปลุกเร้าโดยสื่อต่าง ๆ การแสดงละครของเขาจึงได้กลายเป็นชนวนสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้
20 ปีผ่านไป ชายหนุ่มที่ชื่อ อภินันท์ บัวหภักดี ก็ยังคงมีประโยคหนึ่งติดค้างในใจของเขาอยู่เสมอ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเช้าวันที่ 6 ตุลา 19 ประโยคนั้นคือ
“ถ้าไม่มีเรา เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น”
-เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดูที่ http://www.2519.net/
-วีระ ธีระภัทร:ก่อนที่คุณคิดจะ ไม่เห็นด้วย ทำร้าย ตัดคอ นิติราษฎร์ เรื่องแ้ก้ ม. 112 คุณได้อ่านและศึกษาถึงสิ่งที่พวกเขานำเสนอแล้วหรือยัง?
เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในรายการ "คุยได้คุยดี Talk News & Music" ทางคลื่น 96.5 MHz อสมท. ดำเนินรายการโดยนายวีระ ธีระภัทรานนท์ ช่วงหนึ่งได้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นในเชิงตำหนิและระบุว่าต้องการ จะทำร้ายกลุ่มนิติราษฎร์
ทำให้นายวีระรีบตัดบท และถามผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาว่ารู้จักกลุ่มนิติราษฎร์หรือไม่ว่าสมาชิกประกอบ ด้วยใคร และถามด้วยว่ารู้ข้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ และยังแนะนำให้กลับไปค้นคว้าข้อมูลจะได้มีพื้นฐานในการแสดงความรู้สึก ก่อนวางสาย โดยท้ายรายการนายวีระระบุด้วยว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวเคยมีการแก้ไขมาแล้วในปี 2519