ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 3 February 2012

เกมการเมือง : คดีการเมือง ; จากคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี สู่ คดีดา ตอร์ปิโด (ตอนที่ 3, 4, 5)

ที่มา Thai E-News


3 กุมภาพันธ์ 2555

โดย ประเวศ ประภานุกูล
ที่มา เฟสบุค ประเวศ ประภานุกูล


ตอนที่ 3

ความรับผิดทางอาญา นอกจากจะต้องได้ความว่ามีการกระทำความผิดแล้ว จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำ กระทำโดยมีเจตนาให้เกิดผลตามนั้นๆด้วย แต่โดยที่เจตนาอยู่ในใจ จึงมีหลักว่า "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" โดยดูจากการกระทำนั้นๆเองบ่งชี้ถึงเจตนาของผู้กระทำแต่ในบางครั้ง บางกรณี การดูแค่เจตนาจากการกระทำอาจไม่เพียงพอ ต้องดูไปถึง เจตนาพิเศษ เรียกว่า มูลเหตุจูงใจ ซึ่งอาจกล่าวได้อีกอย่าง คือ สาเหตุหรือเหตุผลที่กระทำ กระทำแล้วผู้กระทำได้ประโยชน์อะไร แล้วกับการ เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจให้ ผู้ว(เซ็นเซอร์) สั่งเผาศาลากลาง กล่าวสำหรับช่วงเวลานั้น ณ เวลาเกิดเหตุ คงยากที่จะมองออก แต่ ณ เวลานี้ ในเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างคลี่คลายแล้ว การมองหา มูลเหตุจูงใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ก่อนอื่นต้องขอท้าวความสิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว คือ ผู้ว(เซ็นเซอร์) เป็นคนจากส่วนกลาง เขาจึงรับผิดชอบต่อส่วนกลาง และรับฟังคำสั่งจากส่วนกลาง

แล้วการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ว(เซ็นเซอร์)จะได้ประโยชน์อะไร แน่นอนว่า โดยหน้าฉากแล้ว ผู้ว(เซ็นเซอร์) ไม่ได้รับประโยชน์อะไรกับการกระทำนี้เลย แต่จากเหตุการณ์ต่อมา ได้มีการกล่าวหากันมาตลอดจนทุกวันนี้ว่า คนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง และการเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นส่วนหนึ่งในการกล่าวหานี้ จากการที่ ผู้ว(เซ็นเซอร์) เป็นคนจากส่วนกลาง และในเวลานั้นกลุ่มคนที่คุมอำนาจรัฐในส่วนกลาง คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และ ศอฉ. การเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า จากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และ ศอฉ.

ส่วน ผู้ว(เซ็นเซอร์) ก็คงได้รับผลงาน เข้าตา

ในการทำคดีอาญาของทนายจำเลย กับคดีอาญาทั่วไป การต่อสู้คดีของทนายจำเลย มักจะเป็นการสู้ว่า ไม่ได้ทำ ไม่มีเจตนา หรือมีข้อกฎหมายทำให้ไม่ต้องรับผิด หรือไม่ต้องรับโทษ หรือแม้แต่การอ้างเหตุขอความเมตตาจากศาล..ประกอบคำรับสารภาพ

การต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทำ หรือไม่มีเจตนา เป็นการต่อสู้คดีในเชิง ตั้งรับ แต่กับคดีการเมือง อย่างคดี เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี การสู้คดีแบบ ตั้งรับ คงไม่เพียงพอ หากแต่ต้องสู้คดีด้วยการ รุกกลับ นั่นคือ ต้องพิสูจน์ว่า แท้จริงแล้ว ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ถูกเผาจนราบด้วยคำสั่งของ ผู้ว(เซ็นเซอร์) การจุดไฟบนพื้นชั้นล่างของอาคาร ไม่สามารถเผาตัวอาคารได้ ซึ่งแม้ว่าหากสามารถพิสูจน์เช่นนี้ได้ คนที่จุดไฟอาจยังมีความผิด แต่ย่อมส่งผลทางการเมือง

การที่ผมขอให้คนช่วยหาคลิปให้ ก็เพื่อใช้เห็นหลักฐานในการต่อสู้คดีแบบ รุกกลับ ดังกล่าว แน่นอนว่า..การต่อสู้คดีเช่นนี้ จะต้องฝากความหวังไว้กับการ ถามค้านพยานโจทก์ ให้ได้ความตามนั้นด้วย ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่ แต่อย่างน้อยคงต้องถามทนายความท้องถิ่นที่รับผิดชอบคดีนี้ว่า พวกคุณได้ทำหน้าที่เต็มที่แล้วหรือยัง

ในส่วนนักการเมือง ผู้สมัคร สส.อุบล ของพรรคเพื่อไทย นี่คือการรักษา ฐานเสียง จึงต้องนำคดีทั้งหมดให้ทนายท้องถิ่นทำคดี เพื่อให้ได้ผลงานว่า พวกเขาให้การช่วยเหลือดูแลคดีของ คนเสื้อแดงอุบล ด้วยการให้ทนายของพวกเขาทำคดีให้ กับคดีนี้ ดูเหมือนชื่อเสียงจากการทำคดีดา ตอร์ปิโด จะไม่ช่วยสร้างเครดิตให้ผม

ในส่วนทนายท้องถิ่น ทำไมต้องทำคดีทั้งหมด ทุกคดี ให้กับจำเลยทุกคน ได้ยินมาว่า ทนายท้องถิ่นได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทย และได้รับเงินค่าทนายความในอัตรา 15,000/จำเลย 1 คน และดังกล่าวแล้วว่าช่วงนั้น ไม่มีเพียง 2 คดี คือ คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบล กับคดีเผายางรถยนต์หน้า NBT เท่านั้น แต่ยังมีคดีอื่นๆอีกด้วย รวมทุกคดีแล้ว มีคนถูกฟ้องคดีอาญาทั้งสิ้น 49 คน และใช้หรือให้ทนายท้องถิ่นทำคดีให้ 47 คน รวมแล้วพวกเขาจะได้เงินจากการทำคดีกลุ่มนี้ 705,000 บาท และยังได้เงินโบนัสอีก 200,000 บาท(แต่ส่วนนี้แบ่งให้จำเลยคนหนึ่ง 100,000 บาท)


ตอนที่ 4

ที่จริงควรจบคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และเข้าสู่คดีดา ตอร์ปิโดได้แล้ว แต่จากตอนที่แล้ว มีคนเข้ามาคอมเม้นท์บันทึกของผมว่า "การใช้เสื้อแดงเป็นเหยื่อของผู้สมัครสสบางคนที่อุบล สะท้อนถึงความไร้เมตตาครับ เพียงแค่ต้องการได้แสดงว่าช่วยเสื้อแดงเป็นการเอาหน้าแล้วเอาคะแนนเสียงกับ คนเสื้อแดงผมถือว่าถ่อยที่สุดครับ คดีเผาศาลากลางนันไม่ได้พิสูจน์ถึงฝีมือของทนายท้องถิ่นเลยคนที่ถูกยกฟ้อง ทั้งหมดคือปิดบังหน้าไม่ทราบว่าใครแต่สี่คนที่โดนตัดสิน33ปี4เดือนไม่ใช่คน ที่ทำแต่เป็นไทยมุงที่เข้าไปดูเหตุการณ์แต่เปิดหน้า ประเด็นมันเหมือนกับคุณประเวศได้โพสต์ไว้ทำไมไม่จี้ประเด็นเพลิงไหม้ที่เกิด ขึ้นก่อน ทำไมไม่จี้ไปหาผู้ว่า"

ผมไม่ทราบรายละเอียดของคดีนี้ เลยไม่อยากวิจารณ์ทนายที่ทำคดี แต่จากคอมเม้นท์ดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ เรื่องของคนที่เล่าเหตุการณ์ในวันนั้นให้ผมฟัง เขาเป็นหนึ่งในคนที่เปิดหน้า ถูกบันทึกภาพไว้จึงถูกตำรวจจับ และเมื่อจับมาแล้ว ตำรวจได้นำภาพถ่ายของคนอื่นๆมาให้เขาดู พร้อมกับคำถามว่า "รู้จักมั้ย" เอาภาพถ่ายมาให้ดูไล่ไปที่ละภาพ ทีละคน แล้วก็ไปตามจับคนที่เขาบอกว่า รู้จัก

เขาถูกมองว่า เป็นคนชี้เป้าให้ตำรวจจับคนอื่นๆ ซึ่งทำให้เขามาระบายด้วยการเล่าเรื่องให้ผมฟัง

ถ้าหาก 4 คนที่โดนพิพากษา 33 ปี 4 เดือน คือ คนที่เพียงแค่ เห็นหน้า ผมคงได้แต่..อึ้ง

สำหรับตอนนี้อาจสั้นมาก แต่คิดว่าต้องเก็บตกส่วนที่ยังขาดตกไปของคดี เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกันนี้ก็อยากให้การเริ่มต้นคดีดา ตอร์ปิโด พร้อมกับการเริ่มตอนใหม่



ตอนที่ 5

เกี่ยวกับการรับทำคดีดา ผมเคยตอบนักข่าวประชาไทว่า เพราะค่าทนายความล้วนๆ เขาก็หัวเราะกัน

สิ่งที่ปรากฏต่อคนทั่วไปในเวลานั้น..จากบทสัมภาษณ์ของประชาไท มักเป็นเรื่องไม่มีทนายคนไหนรับทำคดีนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันถูกแจ้งต่อผมในตอนนั้น..ตอนที่มีคนติดต่อให้ผมทำคดีนี้ เช่นกัน อีกอย่างที่เขาบอกคือ ดาก็รู้อยู่แล้วว่า คดีนี้..แพ้แน่ๆ นั่นทำให้ผมตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีความกดดัน..ความกดดันจากความคาดหวังของลูกความเราเอง และข้อเสนอสุดท้ายในการพิจารณาของผม คือ ค่าทนายความ เงิน 100,000 บาท สำหรับคดีระดับนี้ไม่ถือว่ามาก แถมยังทยอยจ่าย โดยจะจ่ายให้ก่อน 30,000 บาท..สำหรับคนที่กำลังเงินช็อต 30,000 ก็ช่วยอะไรได้มาก

หลังจากตกลงรับงาน พอเข้าไปคุยกับดาในเรือนจำถึงได้รู้ว่า ยังมีอีก 2 คดี เป็นคดีหมิ่นประมาท สนธิ ลิ้มทองกุล กับพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร

ในวันนัดศาลครั้งแรกของคดีนี้ ก็เหมือนคดีอาญาอื่นๆ แต่กับอีก 2 คดี ได้มีทนายความคนหนึ่งมาศาลพร้อมใบแต่งทนายที่เตรียมไว้แล้ว เขาบอกผมว่า เขามาจากสำนักงานของ วิชิต ปลั่งศรีสกุล ผมถามใครบางคน ก็ได้คำตอบว่า คุณวิชิต เป็นทนายความของ ทักษิณ แต่เมื่อเห็นผมแต่งทนายเข้าไปในคดีก่อนแล้ว เขาก็กลับไป

การที่ไม่มีทนายความคนอื่นไปศาลในคดีหมิ่นเบื้องสูง ช่วยยืนยันว่า ไม่มีทนายคนอื่นรับทำคดีนี้ และการที่คุณวิชิต ส่งทนายความไปในคดีหมิ่นประมาท..ธรรมดา ก็บ่งบอกว่า คุณวิชิต ปลั่งศรีสกุล เป็นคนหนึ่งที่บอกปัดไม่รับทำคดีนี้

ในด้านการวางแผนสู้คดี ดาอยากให้พิสูจน์ความจริงในสิ่งที่ดาปราศรัย แต่ในช่วงเวลานั้น ผมยังไม่รู้ความจริงในสิ่งที่ดาพูด ไม่รู้จะไปหาข้อมูล..พยานหลักฐาน..จากไหน ยังไม่ได้เล่นอินเตอร์เนทด้วยซ้ำ ถ้าจะพูดว่า ผมยังไม่ตาสว่าง ก็คงไม่ผิด ในช่วงเตรียมตัวก่อนขึ้นศาล จึงแทบไม่มีพยานหลักฐานอะไรเพิ่มเติมมาเลย สิ่งที่พอหาได้มาบ้าง ก็เป็นหนังสือเล่มโตๆ และได้มาก่อนวันนัดไม่นาน จึงไม่ได้ประโยชน์อะไร

แต่จากการนัดตรวจพยานหลักฐานของศาลอาญา ผมได้ถ่ายสำเนาพยานเอกสารต่างๆของโจทก์ พร้อมทั้งไร้ท์แผ่นซีดี..คำปราศรัยของดา มาด้วย แต่พอส่งเข้าไปในคุกให้ดา ทางเรือนจำกลับไม่ยอมให้ดาเปิดซีดีฟัง จุดนี้จึงจุดประกายการต่อสู้คดีของผมไปอีกทาง

ตั้งแต่ตอนรับทำคดีนี้ ผมก็รู้อยู่แล้วว่า การต่อสู้คดีนี้ที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ในศาล หากแต่อยู่ที่..การเคลื่อนไหวนอกศาล การสร้างกระแสต่อ ความอยุติธรรมของ 112 ซึ่งนำไปสู่การยื่นหนังสือในเวลาต่อมา

คดีนี้เป็นคดีแรกที่ผมต้องสืบพยาน...ถามค้านพยานโจทก์ 3 วันติดต่อกัน และก็เป็นคดีแรกที่ต้องกลับมาเขียนคำร้องโต้แย้งศาลทุกวันตอนเย็นหลังกลับ จากศาล

สิ่งที่พบเห็นจากคนทั่วไป มักเป็นคำถามว่า ดาทำผิดจริงใช่มั้ย ดูเหมือนทัศนะของคนทั่วไปต่อคดีนี้ คือ สิ่งที่ดาพูด...เป็นความผิดหรือไม่ สิ่งที่ดาพูด...เป็นความจริงหรือไม่ โดยมองข้ามคำถามว่า ดาพูดตามที่ถูกฟ้องหรือเปล่า

การพูดถึงการทำคดีดา พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในศาล ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่ตั้งชื่อเรื่อง แต่ไหนๆจะเขียนเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ก็ขอพูดให้หมดทุกสิ่งที่อยากพูด โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นภายในห้องพิจารณาคดีที่ปิดลับ

สงสัยคงต้องร่ายยาวอีกหลายตอน . .

------------------------
อ่านบทความก่อนหน้านี้
เกมการเมือง : คดีการเมือง ; จากคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบล สู่ คดีดา ตอร์ปิโด