ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 14 February 2012

พนง.สอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด แจง อนุกสม. กรณีไอแพดร้องทุกข์กล่าวโทษนักปรัชญาชายขอบด้วยม. 112

ที่มา ประชาไท

สารวัตรเจ้าของคดีฟ้องนักปรัชญาชายขอบ รับสถิติรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยมาตรา 112 สูงกว่าพื้นที่อื่น ระบุ ตำรวจต้องทำตามหน้าที่ หากไม่รับคำร้องทุกข์ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชี้ผู้ถูกร้องโดยไม่มีมูลและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการสืบสวนต่อแล้ว สามารถฟ้องกลับได้ฐานแจ้งความเท็จ

วันนี้ (13 ก.พ.55) อนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญ พ.ต.ท.สุคิด เพ็ชรโยธา พนักงานสอบสวน สบ.3 เจ้าของคดี ที่นายวิพุธ สุขประเสริฐ หรือนามปากกา "I Pad" ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายสุรพศ ทวีศักดิ์ หรือนามปากกา นักปรัชญาชายขอบ

โดย พ.ต.ท.สุคิดให้ข้อมูลพื้นฐานว่าเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2553 นายวิพุธ สุขประเสริฐซึ่งมีภูมิลำเนาเขตอำเภอเมืองร้อยเอ็ด มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ว่ามีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยมาร้องทุกข์กล่าวโทษเว็บไซต์ประชาไท จากบทความเรื่อง 'จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่าง ไร?' ซึ่งเขียนโดยนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยร้องทุกข์กล่าวโทษในส่วนของผู้ที่โพสต์เข้ามาแสดงความคิดเห็น ได้แก่ ผู้ใช้นามแฝงว่า นักปรัชญาชายขอบ ผู้เขียนบทความคือนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และผู้แสดงความเห็นท้ายบทความอีก 3 ราย รวมทั้งสิ้น 5 ราย

ต่อมา สภ.เมืองร้อยเอ็ดก็ตั้งคณะสอบสวน มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง เลขไอพีแอดเดรส มาตรวจสอบที่กองบังคับการสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กระทรวงไอซีที จนกระทั่งทราบว่ามีใครบ้าง จากนั้นมีการประชุมโดยที่ต้องขอความเห็นชอบออกหมายจับจากผู้บัญชาการ ตำรวจภูธรภาค ที่ประชุมมีมติว่าให้ดำเนินคดีกับสุรพศ ทวีศักดิ์ ซึ่งใช้นามแฝงว่านักปรัชญาชายขอบ และอีกรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเอ่ยนาม เพราะอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

จากนั้นมีการเสนอมติในการแจ้งข้อกล่าวหาไปยังตร.ภูธรภาค 4 และเข้าที่ประชุมของคณะพนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ให้สอบพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ปลัดจังหวัดฝ่ายท้องถิ่น นายกเทศมนตรี และนายก อบจ. รวมถึงนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ประกอบ จากการสอบสวนพยานหลักฐานต่างๆ ตร.ภูธรภาค 4 ก็มีมติเห็นชอบให้มีการอนุมัติ คือให้ออกหมายเรียกก่อน ถ้าออกหมายเรียกแล้วไม่มา ก็ให้ออกหมายจับ ซึ่งนายสุรพศก็ขอเลื่อนรายงานตัวมาเป็นวันที่ 17 ก.พ.

จากการร้องทุกข์กล่าวโทษคราวเดียวกัน ไอแพดร้องมา 5 คน แต่จากการสอบสวน เข้าข่ายว่าอาจเป็นความผิด 2 คน โดยอีกรายหนึ่งก็ถูกหมายเรียกเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ กระบวนการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดีที่มีการร้องทุกข์กล่าว โทษด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ความเห็นของพนักงานสอบสวนยังไม่ถึงที่สุด พนักงานสอบสวนต้องส่งไปให้ ตร.ภูธรภาค และ ตร.ส่วนกลางพิจารณาตามลำดับ แม้ สภ.เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก็ต้องส่งให้พิจารณาเช่นกัน

พ.ต.ท.สุคิดให้ความเห็นกรณีที่มีการฟ้องร้องที่ สภ.เมืองร้อยเอ็ดเป็นจำนวนมากว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษทุกคดี หากไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจึงเป็นผู้ใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในชั้นสืบสวนสอบสวน หากเห็นว่ากรณีใดไม่เข้าลักษณะความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 เลย และได้รับความเห็นจาก ตร.ภาคและตร.ส่วนกลางแล้ว ก็จะไม่ดำเนินการต่อ จากการณีของนายวิพุธที่ร้องบุคคลจำนวน 5 รายในการร้องทุกข์คราวเดียวกับสุรพศ แต่ตำรวจสอบแล้วมีมูลเพียง 2 ราย

พ.ต.ท.สุคิดระบุว่า การร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหน้าที่รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษทุกกรณี แต่หากกรณีใดไม่เป็นข้อเท็จจริง และเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการสืบสวนและสั่งฟ้องแล้ว ผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดยไม่มีมูลก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษกลับได้ในฐานะ แจ้งความเท็จ

ทั้งนี้ อนุกรรมการฯ ได้สอบถามกรณีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษที่สภ.เมืองร้อยเอ็ดจำนวนมากกว่า ปกติ พ.ต.ท.สุคิดรับว่าจากปี 2553 เป็นต้นมา มีการร้องทุกข์มากจริงและมีสถิติสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 4 ด้วยกัน