ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday 7 February 2012

ทัศนะในวัยหนุ่มของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าด้วยม. 112

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุ: เว็บไซต์คณะนิติราษฎร์เผยแพร่บทความจากผู้อ่าน เรื่อง ทัศนะในวัยหนุ่มของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าด้วยม. 112 ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

โดยส่วนตัวนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร แต่ก็มีความเคารพนับถือท่านเสมอมา ถึงจะมีความเห็นต่างกับท่านในหลายเรื่องก็ตาม เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของท่านที่ตีพิมพ์เมื่อประมาณ ๒๘ ปีก่อน เกี่ยวกับการดำเนินคดีท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ตามมาตรา ๑๑๒ แล้ว ก็ยิ่งรู้สึกเลื่อมใสการแสดงความเห็นในวัยหนุ่มของท่านเป็นอย่างมาก

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวน่าจะถือว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่าและเยาวชนคนรุ่นใหม่ควรจะได้อ่านอย่างมีโยนิโสมนสิการ แม้ข้อเท็จจริงบางส่วนอาจจะล่วงสมัยไปบ้าง แต่ก็มีหลักการสำคัญอยู่หลายประการที่มีความร่วมสมัยและเป็นสากล จึงเห็นสมควรนำเนื้อหาสำคัญบางตอนจากบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ในวัยหนุ่มมากล่าวเป็นลำดับไป โดยจะดึงใจความสำคัญของท่อนนั้นๆ ขึ้นมาเป็นหัวข้อเพื่อความสะดวกในการอ่าน อย่างไรก็ตามผู้อ่านพึงระมัดระวังว่าข้อความที่ยกมานี้แม้จะยกมาค่อนข้างยาว แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เท่านั้น การทำความเข้าใจให้ถูกต้องครบถ้วนตามบริบท จำต้องพิจารณาจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม ซึ่งสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “ลอกคราบ ส.ศิวรักษ์” โดยกองบรรณาธิการมติมหาราษฎร์, บริษัทสำนักพิมพ์สัญลักษณ์จำกัด (กันยายน, ๒๕๒๗) หน้า ๗๑ – ๙๕.

+ + + +

ควรจะมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา

“ถ้าอาจารย์สุลักษณ์ได้พูดอย่างนั้น ผมเห็นด้วยในประเด็นนี้ว่าควรจะมองพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นคนธรรมดา และคนที่จะสนับสนุนความคิดนี้เป็นคนแรกก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นเพียงแต่คนบางคนจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องการจะเทิดทูลสถาบันขึ้นไปให้เหนือฟ้า ผมคิดว่าถ้าได้คุยกับสมเด็จพระเทพฯ หรือพระราชวงศ์ผู้ใหญ่อื่นๆ จะเห็นว่าท่านก็เหมือนคนธรรมดา คนข้างนอกเท่านั้นที่ทำให้ท่านเหมือนลอยล้ำฟ้าไป ผมคิดว่าความดีความประเสริฐของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ก็สืบ เนื่องมาจากท่านทำพระองค์เป็นคนธรรมดา และนี่เป็นสิ่งที่ประทับใจราษฎรอย่างมาก และผมคิดว่าการที่ท่านทำพระองค์เองเป็นมนุษย์ธรรมดานั้นได้ประสบความสำเร็จ อย่างมาก”

“ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ควรจะกระทำก็คือเพิ่มความ เป็นมนุษย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระราชวงศ์ต่างๆ ผมคิดว่าควรจะทำอย่างนี้ สถาบันไม่ว่าสถาบันใด ถ้าห่างเหินกับความเป็นจริงมากเกินไป ถ้ามีช่องว่างระหว่างหลักการหรือสมมุติฐานของสถาบันกับความเป็นจริงทางสังคม ผมคิดว่าสถาบันนั้นๆ จะอยู่ไม่ได้”

สิ่งที่ต้องทำสำหรับคนที่ต้องการสร้างแต้มทางการเมือง

“ผมคิดว่าสำหรับคนที่จะต้องการสร้างแต้มทางการเมืองนั้น สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ พยายามเทิดทูนสถาบันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำโน่นทำนี่เพื่อสถาบันเพื่อแสดงความจงรักภักดี ผมคิดว่าเขาอาจจะนับถือจริงก็ได้ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการใช้สถาบันเพื่อประโยชน์ของตน ถ้าใช้สถาบันไปในทางที่สร้างสรรค์ให้เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมด้วยนี่ผมคิด ว่าไม่เป็นไร แต่ผมคิดว่ามันมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป”


การติเพื่อก่อนั้นควรจะกระทำ

“ในส่วนตัวของผม ๆ [sic] คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับมนุษย์ ความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์ และผมคิดว่า ไม่ว่าสำหรับสถาบันใดๆ ก็ตาม การติเพื่อก่อหรือวิจารณ์เพื่อก่อนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีและควรจะกระทำ”

ความเข้มแข็งของสถาบันอยู่กับความสามารถที่จะเผชิญหน้ากับข้อครหาข้อวิจารณ์

“ผมคิดว่าความเข้มแข็งของสถาบันอันใดอันหนึ่งนี่ขึ้นอยู่กับความสามารถ ที่จะเผชิญหน้ากับข้อครหาข้อวิจารณ์ และถ้าข้อวิจารณ์นั้นเป็นความจริงทั้งหมด เพียงบางส่วน สถาบันนั้นควรจะสามารถปรับตัวให้ดีขึ้นได้”

มันเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลัง ๒๔๗๕ ที่อ้างว่าติสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้

“สถาบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์หรืออะไรอื่นๆ ถ้าเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ เป็นสิ่งที่ไม่เติบโตไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ขยายตัวก็จะเป็นสิ่งที่ตายไปแล้ว ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่ามันเป็นข้ออ้างของคนรุ่นหลัง ๒๔๗๕ ที่อ้างว่าติสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ไม่จริงที่ว่าข้อติทุกประการเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการตีความในช่วงหลัง โดยกลุ่มผู้มีอำนาจโดยเฉพาะช่วงหลังจอมพลสฤษดิ์มาแล้ว เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่จะกำจัดทำลายพวกกลุ่มต่อต้านกลุ่มอำนาจเหล่านี้”

ในสมัยสุโขทัย การร้องทุกข์ของราษฎรเป็นการติการปกครองโดยสถาบัน

“ถ้ามองกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัยราษฎรมีสิทธิถวายฎีกาต่อพ่อขุนฯ เขามีสิทธิร้องทุกข์ว่าอะไรเป็นธรรมอะไรไม่เป็นธรรมซึ่งส่วนหนึ่งก็หมายถึง ว่าเป็นการติการปกครองโดยสถาบันนี้ แล้วก็ไม่ต้องไปไกลดูแค่รัชกาลที่ ๕ ก็ได้ สมัยนั้นปัญญาชนยังมีจำกัด ฉะนั้นข้อวิจารณ์จึงมีจำกัด แต่ก็ยังมีอยู่”

เป็นหน้าที่ลูกที่จะวิจารณ์พ่อ

“อย่างพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ ๕ ทรงเขียนถึงปู่ผม สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปเมื่อทศวรรษ ๑๘๙๐ เขียนไว้ในทำนองว่า “พ่อนี้เป็นคนล้าสมัย พ่อนี้อาจจะทำอะไรให้เป็นที่ขวางหูขวางตาคนเขา เป็นหน้าที่ของลูกที่จะวิจารณ์พ่อ ว่าพ่อทำอะไรผิด” เพราะฉะนั้นคอนเซฟที่ว่า เป็นเจ้าเหนือมนุษย์เหนือชีวิตเหมือนกับเทวดา มันไม่ใช่เป็นคอนเซฟเก่า”

ผู้ที่รักสถาบันควรจะเข้าใจประวัติศาสตร์ว่าความสำคัญของสถาบันไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีอำนาจ

“ในหลักการนั้น การติเพื่อก่อไม่ผิดแม้ว่าในประวัติศาสตร์หรือในปัจจุบัน และผมคิดว่าผู้ที่สนับสนุนสถาบันในประเทศซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่รักสถาบันที่เทิดทูนสถาบัน ไม่ควรจะมีความอ่อนไหวมากนักเกี่ยวกับข้อติวิจารณ์ที่มาจากคนส่วนน้อย คนเหล่านี้ควรจะเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีบทบาทมีสถานะที่ลึกซึ้งมากในประวัติศาสตร์ไทย ในโลกทัศน์ของคนไทย ในวัฒนธรรมการเมืองของคนไทย ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจเลย ถึงแม้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้หมดไปแล้ว เมื่อ ๒๔๗๕ ในยุคที่เรียกประชาธิปไตยนี้ ความสำคัญของสถาบันนี้ก็ยังคงมีอยู่ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ”


ข้อวิจารณ์ไม่กี่ข้อไม่สามารถจะบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันได้

“พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงมีบารมีมาตลอด ไม่น่าคิดว่าคำพูดไม่กี่คำ ข้อวิจารณ์ไม่กี่ข้อจะสามารถบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นความคิดที่แย่มาก ที่จริงแล้วคนที่ควรถูกจับในข้อหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือคนที่มี ความคิดเช่นนั้น เพราะเขาทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดูเหมือนเป็นสถาบันที่อ่อนแอ ผมคิดว่าเขาเข้าใจสถาบันนี้แตะต้องไม่ได้”


สถาบันคือเกียรติภูมิของประเทศ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ทำผิด

“อังกฤษมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ เหนือการเมืองจริงๆ มีหน้าที่เพียงทางพิธีการ นอกจากจะมีวิกฤตการณ์อันใดเกิดขึ้น ในกรณีนั้นจะเป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมแห่งสุดท้าย นี้เป็นหน้าที่ อันนี้ก็เป็นหน้าที่ที่ดีมาก”

“อย่างถ้าดูในอเมริกาสมัยวอเตอร์เกต ปัญหาหลักคือว่าผู้นำรัฐบาลกับผู้นำประเทศเป็นคนๆ เดียวกัน ผู้นำรัฐบาลทำเสียเพราะฉะนั้นเกียรติภูมิของผู้นำประเทศก็เลยเสียไปด้วย คำว่าอำนาจของประธานาธิบดี มันลดไป ทำให้เกียรติภูมิของประธานาธิบดีสมัยต่อมาลดไปจะเกิดความยุ่งเหยิงอย่างมาก ที่ได้ทราบดีอยู่แล้ว แต่อย่างอังกฤษนี้รัฐบาลเป็นอะไรก็ช่าง รัฐบาลจะออกไป เกียรติภูมิของประเทศก็ยังมีอยู่ ใช่ไหมฮะ คือผู้นำประเทศก็ยังอยู่ เพราะไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้ทำผิด เป็นสถาบันที่เหนือการเมืองจริงๆ”

“ผมว่านี่เป็นคอนเซฟที่เราพยายามนำมาประยุกต์ใช้ในเมืองไทย แต่ว่าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ เพราะว่าคนหลายกลุ่มพยายามใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นประโยชน์เพื่อผล ประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ส่วนรวมในการตีความของตน”

“ที่อังกฤษนี้ การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นไปในทางวิชาการเป็นอย่างมาก และก็กษัตริย์ไหนที่ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี กษัตริย์ไหนดีก็บอกว่าดี คือเป็นไปในทางวัตถุวิสัยมาก ควีนอลิซาเบธทำอะไรไม่ชอบไม่ควร ปริ๊นซชาร์ล ปริ๊นซแอนดรูร์หรือปริ๊นแซสแอนด์ซึ่งทำอะไรไม่ดี คนเขาก็ติ จุดนี้ก็มีผลเหมือนกันทำให้ เจ้านายระวังพระองค์มากขึ้น ที่จะทำอะไร เมื่อเป็นคนในสายตาสาธารณชนก็ต้องระวังตนเข้าไว้”

ไม่ควรมีข้อวิจารณ์ส่วนพระองค์เลย

“ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดนะฮะ ไม่ควรจะมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เลย เรื่องส่วนตัวผมหมายถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติ หรือความมั่งคงของชาติ ข้อวิจารณ์นั้นผมคิดว่าควรจะมีบ้าง แต่หนึ่งต้องเป็นข้อวิจารณ์ที่ต้องมากจากการวิเคราะห์ในทางวัตถุวิสัย และในทางวิชาการเป็นศาสตร์มากที่สุดด้วย และก็สองควรเป็นการติเพื่อก่อ คิดว่าสิ่งเหล่านี้นี่ในที่สุดจะทำให้สถาบันมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นในอนาคต”

ไม่มีสถาบันไหนอยู่ได้โดยไม่มีการปรับตัว

“ไม่มีสถาบันไหน อยู่ได้โดยไม่มีการปรับตัวหรือยอมรับข้อมูลจากภายนอก มีศัพท์รัฐศาสตร์อันหนึ่งเขาเรียกอาโทรฟี่ (ATROPHY) คือบางสิ่งบางอย่างถ้าไม่ได้รับปัจจัยจากภายนอก มักจะเหี่ยวเฉา ผมยังไม่คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ถึงขั้นนั้น แต่ผมคิดว่าสถาบันทั่วๆ ไปแล้วถ้าไม่ได้รับอินพุท (INPUT) จากข้างนอกอย่างเพียงพอไม่ได้หายใจ ไม่ได้กินน้ำสูดอากาศไม่ได้รับอาหารจะต้องเหี่ยวเฉาตายไป”

นิยามการติเพื่อก่อเป็นเรื่องของผู้ร่างกฎหมายซึ่งก็คือประชาชน

“ในแง่หลักการ การติเพื่อก่อควรจะมีขึ้นได้ ส่วนจะนิยามความหมายว่าอะไรคือการติเพื่อก่อ อะไรไม่ใช่นี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องผู้ที่ทำกฎหมาย ผู้ที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งก็หมายถึงประชาชน ถ้าเรายังยึดระบอบประชาธิปไตยอยู่”


โทษควรลงสถานเบา นอกจากพิสูจน์ว่าเป็นกบฏ

“เมื่อจับเขา [ส.ศิวรักษ์] แล้วนี้ ผมคิดว่าให้ถูกต้องที่สุดให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป เพราะลงถ้าจับเขาแล้วไม่ดำเนินการตามกฎหมายมันก็ผิดทุกทางเพราะว่า หมายความว่าเขาไม่ผิดปล่อยตัวเขาเดี๋ยวนี้แสดงว่าเขาไม่ผิดจริงใช่ไหม และถ้าเขาไม่ผิดจริงแล้วทำไมไปจับเขา เมื่อตัดสินใจจับไปแล้วนี้มันปวดหัว มันยากจริงๆ”

“แต่ผมคิดว่า โทษนั้นควรจะอยู่ในสถานเบา นอกจากจะพิสูจน์ได้ว่าเจตนารมณ์เขาไม่ดี มีเจตนารมณ์ที่จะโค่นสถานบันสำคัญๆ ของชาติ คือพูดง่ายๆ ว่าเป็นกบฏ ผมคิดว่าควรให้โทษสถานเบาถ้าเขาผิดจริง หลังจากลงโทษแล้ว ก็อาจมีการนิรโทษกรรมได้”

ยิ่งจับเขายิ่งทำให้เขาเป็นวีรบุรุษ ผลก็ตรงกันข้ามกับที่คนเทิดทูนสถาบันต้องการ

“มีคนเล่าสู่กันฟัง ผมไม่ทราบเป็นจริงแค่ไหน เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้วนี้ก็เคยมีตำรวจจะไปจับอาจารย์สุลักษณ์ แล้วผู้ห้ามปรามเอาไว้ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่าจับเขาไปทำไม ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะ ในที่สุดคนก็ไม่ฟังเขาไปเอง อะไรทำนองนี้นะฮะ ยิ่งจับเขายิ่งทำให้เขาเป็นวีรบุรุษไป ผมคิดว่าถ้าพระองค์ท่านทรงตรัสคำพูดดังกล่าวนะฮะ ผมคิดว่าเราควรจะยึดมั่นในคำตรัสของท่าน การจับนี้ยิ่งทำให้อาจารย์สุลักษณ์เป็นวีรบุรุษและทำให้มีคนอยากอ่านลอกคราบ สังคมไทยมากขึ้น และถ้าคนที่ถูกจับเพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วออกมาเป็นวีรบุรุษ ผลก็ตรงข้ามกับที่คนเทิดทูนสถาบันต้องการ”

+ + + +

จะว่าไปแล้ว ข้อความข้างต้นทั้งหมดนี้ หากไม่บอกว่าเป็นเรื่องเมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อน และหากลบชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับท่านอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ออก เชื่อได้ว่าท่านผู้อ่านคงจะนึกว่าเป็นบทสัมภาษณ์ไม่เกิน ๓ วันที่ผ่านมา และก็อาจจะนึกไปด้วยว่าน่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งในคณะ นิติราษฎร์เป็นแน่ เพราะเนื้อหาที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจารณ์มิได้บั่นทอนความมั่นคง แต่จะทำให้สถาบันมั่นคงยิ่งขึ้น, สถาบันคือเกียรติภูมิของประเทศ, ประวัติศาสตร์การใช้การตีความเพื่อประโยชน์ทางการเมือง, การวิจารณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้, การห้ามวิจารณ์เรื่องส่วนพระองค์, ความสำคัญของสถาบันมิได้อยู่ที่การมีอำนาจ เป็นต้น ล้วนแต่สอดคล้องกับหรือเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เกือบจะทั้ง หมด ในแง่นี้ บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าฐานความคิดของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ได้ดำรงอยู่ในแวดวงปัญญาชนมาข้านานแล้ว มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด ดูเหมือนว่าคุณูปการสำคัญของคณะนิติราษฎร์คือการทำให้กระแสความคิดเชิง นามธรรมที่มีอยู่แล้วนั้นกลายเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นมา

และสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งคือ ทุกครั้งที่มีใครออกมาอธิบายเรื่องทำนองนี้ ก็เป็นที่คาดหมายได้ทันทีว่าจะมีกระบวนการปลุกปั่นอย่างไร้ยางอายและไร้ เหตุผลว่าผู้ที่อธิบายนั้นกระทำการล้มเจ้าบ้าง เนรคุณบ้าง คิดโค่นสถาบันบ้าง สุดแท้แต่อกุศลจิตที่ท่านนั้นๆ จะมีอยู่ในการสรรหาถ้อยคำมาลดความมีเหตุผลของมนุษย์ ซึ่งในเรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้จะอยู่ในราชนิกุลก็คงจะประสบปัญหาเช่นกัน จึงได้กล่าวปิดท้ายการสัมภาษณ์ว่าตนมิได้คิดโค่นสถาบันแต่อย่างใด ด้วยข้อความที่ยึดยาวอย่างไม่ควรจะเป็น ดังนี้

“ที่ผมให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก็ไม่ใช่อะไร ผมคิดว่าการที่ผมเกิดมาในสายเลือดเจ้า ควรเป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่วแน่ว่า ผมนั้นจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าผมคิดโค่นหรือบั่นทอนสถาบันนี้ ก็หมายความว่าในที่สุดแล้วผมพยายามลบล้างตัวเอง ลบล้างรากเหง้าของตระกูลผม ลบล้างวัฒนธรรมแนวความคิดของผมทุกประการ รวมทั้งลบล้างวิญญาณของผมเอง ฉะนั้น ผมคิดว่าอันนี้คงไม่เกิดขึ้นได้”

“อีกประการหนึ่ง บรรพบุรุษผมได้เข้ารับใช้ราชการด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดีมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปู่ผมนับได้ว่าเป็นพระบิดาองค์หนึ่งของกองทัพไทยมาตลอด อันนี้ควรจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีเช่นกันว่าเจตนารมย์ [sic] ของผมไม่ใช่เป็นเจตนารมย์ [sic] ที่ไม่ดี ตรงกันข้าม ผมให้สัมภาษณ์ด้วยความหวังดีและความห่วงใยเป็นการติเพื่อก่อ ไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นแต่อย่างใด”.