จาก กรณีพิพาทคดี 112 ที่กำลังดังอื้ออึงคะนึงเมือง ( แต่เงียบกริบในสื่อกระแสหลัก ) ในตอนนี้ ทำให้ผมได้มองเห็นว่า ประเทศไทยยังมีเงาดำทะมึน แห่งความคิดความเชื่อที่ล้าหลังของคนไทยทั้งสังคม..หากอยากให้ประเทศไทย เจริญก้าวหน้าไปในอนาคต เราไม่เพียงแค่ต้องการปฏิรูป เพราะมันคงเป็นการรักษาที่ไม่เพียงพอกับอาการป่วยไข้ของประเทศ แต่เราต้องการถึงขั้นการปฏิวัติ
โดย คุณกูเป็นไพร่ แต่ไม่ใช่ทาส !
จากกรณีพิพาทคดี 112 ที่กำลังดังอื้ออึงคะนึงเมือง ( แต่เงียบกริบในสื่อกระแสหลัก ) ในตอนนี้ ทำให้ผมได้มองเห็นว่า ประเทศไทยยังมีเงาดำทะมึน แห่งความคิดความเชื่อที่ล้าหลังของคนไทยทั้งสังคม ที่เป็นกำแพงกั้นทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาไปเป็นประเทศที่มีอารยะ เหมือนกับนานาอารยะประเทศอื่น ๆ ได้
หากอยากให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปในอนาคต เราไม่เพียงแค่ต้องการปฏิรูป เพราะมันคงเป็นการรักษาที่ไม่เพียงพอกับอาการป่วยไข้ของประเทศ แต่เราต้องการถึงขั้นการปฏิวัติความคิด ความเชื่อ ต่าง ๆ ทั้งหลายที่มีมาแต่นมนานลงไปอย่างสิ้นเชิง ประเทศที่เป็นมะเร็งใกล้ตาย สั่งแค่ยาพาราสองเม็ดให้กินคงไม่ได้ แต่มันต้องผ่าตัดใหญ่ อาจถึงขั้นต้องตัดอวัยวะทิ้งเพื่อรักษาชีวิตกันเลยทีเดียว
ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า และครอบคลุมทุกคำตอบของการก้าวออกจากปัญหาของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และองค์กรทางการเมืองแล้ว แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ ถ้าเกิดไปเจอโรคที่มีอาการหนักหนาสาหัส ที่ไม่เคยแตะต้องและรักษาให้หายได้ของประเทศไทย อย่างกรณี 112 มิพักต้องพูดไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็คงเปรียบเสมือนเพียงการผ่าตัดเล็ก รักษาได้แต่ไม่หายขาด
ต่อไปนี้คือข้อเสนอการผ่าตัดใหญ่ ที่จะทำให้ประเทศไทยหายขาดจากโรคร้ายด้อยพัฒนาได้แน่ ในมุมมองของผู้เขียน ซึ่งเป็นแค่ประชานคนธรรมดา ไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือนักกฏหมายมาจากไหน แต่เป็นคนไทยที่มองเห็นปัญหาและทางแก้ไขของประเทศ อาจจะฟังดูเพ้อฝัน ล้ำ หรือเหนือจินตนาการเกินไป แต่เชื่อเถอะไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ถ้ามนุษย์อยากจะทำ มนุษย์ที่จินตนาการถึงการบินได้เมื่อสองพันปีที่แล้ว ก็คงจะถูกกล่าวหาว่าเพ้อฝันแบบนี้แหละ ไม่ลองแล้วจะไปรู้ได้ยังไงว่าทำได้หรือไม่ได้ จริงหรือเปล่า
1.การปฏิวัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในการเข้าชื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายของประชาชน
จากกรณี 112 เราจะเห็นได้ว่า ข้อความที่เขียนไว้อย่างเลิศหรูในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายใด ๆ ของประชาชน ที่พวกเขาเห็นว่ามีผลต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา แต่สิ่งที่เราได้เห็นจากกรณี 112 ก็คือ ถึงแม้จะเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศขนาดไหน ถึงแม้ประชาชนจะลงชื่อกันเป็นสิบ ๆ ล้านชื่อ แต่ความฝันที่จะแก้ไขกฏหมายที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นการกดขี่ กลับถูกทำลายเสียตั้งแต่ก่อนที่กฏหมายจะเข้าสู่สภาเสียอีก
เมื่อนักการเมืองที่พวกเขาเลือกตั้งเข้าไปกับมือ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเขา ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลต่างก็พากันออกมาป่าวประกาศอย่างถ้วนหน้าและพร้อม เพรียงกันว่า ไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะยกมือโหวจให้กฏหมายข้อนี้ผ่านแม้แต่คนเดียว เพราะมันหมายถึงความเป็นความตาย ของการอยู่รอดในเส้นทางการเมืองของพณ.ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายกันเลยที เดียว ฟังแล้วชื่นใจกันไหมประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจและของประเทศอย่างแท้จริง ( ? ) ทั้งหลาย
เรียกว่าความฝันของประชาชนแท้งตั้งแต่ยังไม่ท้องเสียอีก จะทำยังไง ในเมื่อนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่มีความกล้าหาญที่จะยกมือเพื่อผ่านกฏหมายบางฉบับ เพราะถูกความเชื่อที่ล้าหลังเก่า ๆ ครอบงำ ว่ากฏหมายบางข้อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าที่จะไปแตะต้อง แก้ไข ยกเลิก หรือแม้แต่จะบังอาจกล่าวถึง ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะเป็นความต้องการของประชาชนค่อนประเทศ ( และทั้ง ๆ ที่กฏหมายข้อนั้นก็ถูกเขียนขึ้นมาด้วยน้ำมือมนุษย์ เช่น นักกฏหมายที่ยอมเป็นลูกไล่ของคณะรัฐประหารบางคนหรือบางคณะเท่านั้น )
ประเทศดูเหมือนจะพบกับทางตัน หากนักการเมืองไม่ยอมมีความกล้า พอที่จะผ่าทางตันของปัญหานั้นออกไปเพื่อประชาชน อย่างที่ปากของพวกเขาชอบกล่าวอ้าง และการแก้ไขกฏหมายต่าง ๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีนักการเมืองคนไหนยอมเสียสละเพื่อประชาชน เพราะสุดท้ายการแก้ไขกฏหมายทุกข้อก็ต้องมาวัดกัน ที่เสียงสนับสนุนของส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร และนี่คือข้อเสนอในการหาทางออกจากปัญหานั้น
เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเสนอหรือแก้ไขกฏหมายบางข้อ ที่พวกเขารู้สึกว่ามันมีผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา แต่สภาไม่ยอมให้ความร่วมมือ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรกำหนดให้ภาคประชาชนมีอำนาจเสนอแก้ไขกฏหมายสำคัญ ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านสภา
อาจจะตั้งเงื่อนไขในการแก้กฏหมายให้สูงไว้ เพื่อให้แน่ใจว่านั่นเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้ จริง โดยอาจจะให้มีการเข้าชื่อกันของประชาชน 5 ล้านคนจาก 65 ล้านคน และให้ลงประชามติในข้อกฏหมายนั้น และจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 70 % ของผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด กฏหมายฉบับนั้นจึงจะถือว่าผ่าน และให้ประกาศใช้ในทันที เมื่อส.ส.และสภาที่พวกเขาเลือกเข้าไป ไม่เป็นที่พึ่งที่หวังได้ สุดท้ายประชาชนก็ยังมีตนเป็นที่พึ่งของตนเอง นี่คือการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง
2.การปฏิวัติสื่อ
ไม่ว่าจะในอดีต ในปัจจุบัน ( หรือแม้แต่ในอนาคต ) นอกจาก 4 องค์กรหลัก ที่มีอิทธิพลต่อความเป็นตายของประเทศอย่างสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และองค์กรทางการเมืองแล้ว อีกหนึ่งองค์กรที่ถูกมองข้าม รวมถึงการเป็นองค์กรที่ดูเหมือนจะเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้เสียยิ่งกว่า 4 องค์กรที่ว่ามาข้างต้นเสียอีก และองค์กรสื่อที่ว่านี่แหละ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของปีศาจที่แท้จริง ที่สามารถจะสร้างความปั่นป่วน พินาศฉิบหาย ให้กับประเทศ จนถึงการปลุกปั่นให้เกิดการเกลียดชัง และเกิดการเข่นฆ่าล่าล้างกันของคนในชาติ ดังเช่นกรณี 6 ตุลา 19 พฤษภาทมิฬ ปี 35 เมษาเลือด 52 และพฤษภาวิปโยค 53 เมื่อสื่อเลือกข้าง แทนที่จะเลือกอยู่เคียงข้างประชาชน ด้วยการเสนอข่าวตามความเป็นจริง แต่กลับเลือกอยุ่ข้างเผด็จการ และนำเสนอข่าวและข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือเลือกที่จะไม่เสนอความเป็นจริงในบางแง่มุม จนเกิดความเข้าใจผิดและเกิดความวุ่นวายไปทั้งประเทศ
กรณี 112 ในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด ในการทำหน้าที่ของสื่อและผลพวงที่เลวร้ายของมัน สื่อยอมที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ยอมเสนอข่าวตามความเป็นจริงอย่างที่ควรจะเป็น ในฐานะสื่อที่มีความรับผิดชอบในจรรยาบรรณ หรือไม่ก็เสนอข่าวเพียงในแง่มุมที่ตัวเองอยากนำเสนอ ไม่ยอมเสนอข่าวในทุกแง่มุมอย่างรอบด้าน ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวของ 112 ในสื่อกระแสหลัก ก็เฉพาะในเรื่องของคนที่เนรคุณชาติ พวกที่คิดจะล้มเจ้าอย่างคณะนิติราษฎร์ ใส่ร้ายป้ายสีสร้างภาพให้พวกเขาเป็นปีศาจร้าย จนประชาชนถึงกับโทรไปออกรายการวิทยุ ว่าอยากจะตัดคอคณะนิติราษฎร์ที่คิดร้ายต่อชาติต่อสถาบัน ด้วยการคิดแก้ไขมาตรา 112 แต่พอผู้ดำเนินรายการถามกลับว่า ผู้โทรรู้จักมาตรา 112 และรายละเอียดการเสนอแก้ไขของคณะนิติราษฎร์หรือไม่ ผู้โทรเข้ามาร่วมรายการท่านั้นตอบว่า " ไม่รู้เรื่องอะไรเลย " ตลกร้ายไหมครับประเทศไทย อ่านสื่อฟังสื่อจนอยากจะตัดคอใครสักคนทิ้ง โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะตัดคอเขาเรื่องอะไร ชื่นในกันไหมกับการทำหน้าที่ของสื่อประเทศนี้
และกลายเป็นว่าสื่อของประเทศกลับเป็นองค์กรที่อยู่เหนือกฏหมาย เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง ที่ไม่มีใครสามารถจะแตะต้องอะไรได้ อยากจะเสนอหรือไม่เสนอข่าวไหนก็ได้ อยากจะพาดหัวข้อข่าวจิกหัวผู้เป็นต้นข่าวยังไงก็ได้ จะเรียกไอ้ตู่ ไอ้เต้น ไอ้แม้ว หรือไอ้นพเหล่ก็ได้ สภาการหนังสือพิมพ์หรือสมาคมสื่อทั้งหลาย ก้มีหน้าที่เพียงแค่การสอดส่องดูแล และพร้อมจะร้องแรกแหกกระเชอฟ้องสังคม ถ้าหากว่ามีใครจะคิดมาคุกคมสื่อ แต่พอเวลาสื่อไปคุกคามประชาชนสมาคมพวกนี้กลับทำตาปริบ ๆ
วิธีแก้ไขก็คือ ต้องมีการจัดตั้งองค์กรสื่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน องค์กรนี้จะมีสื่อเป็นของตัวเองทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ โดยจะต้องนำเสนอทุกข่าวที่เป็นความสนใจของประชาชน โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ใด ๆ ตามกรอบของกฏหมายที่เอื้ออำนวย เรียกว่านี่จะเป็นสื่อที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือที่สุดของประเทศ ที่ประชาชนสามารถจะติดตามรับข่าวสารที่หาไม่ได้จากสื่อกระแสหลักทั่วไป หากองค์กรนี้คิดจะเซ็นเซอร์ตัวเองตามสื่ออื่น ๆ ด้วยจะเป็นเพราะโดนคุกคาม แทรกแซงอะไรก็แล้วแต่ ประชาชนสามารถรวมตัวกดดันให้องค์กรนี้เสนอข่าว และความจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ้าผู้บริหารองค์กรนอกลู่นอกทาง ประชาชนสามารถตรวจสอบ ถอดถอนและลงโทษได้
นี่คือมุมมองในการหาทางออกให้แก่ประเทศ จากประชาชนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ซึ่งอาจจะดูเพ้อฝัน ล้ำจินตนาการเกินไปบ้าง แต่นี่คือการทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับตัวเอง สังคม และประเทศชาติ อย่างที่คนไทยคนหนึ่งพึงจะทำ และมีสิทธิ์ที่จะทำ ก็แค่อยากจะทำให้คำว่า " อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย " ในรัฐธรรมนูญไทย ได้มีผลในทางปฏิบัติขึ้นมาอย่างแท้จริงก็เท่านั้น
ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณา