มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
เฟาซี นาอิม บี.หะยี เนาะห์ (Fauzi Naim B.HJ Noh) ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย (JBC Malaysia)
ในแวดวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ภายใต้สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย หรือ IMT–GT (Indonesia–Malaysia–Thailand Growth Triangle) เป็นที่รับรู้กันว่า ภาคเอกชนมาเลเซียมีความกระตือรือร้นมากที่สุดตลอดระยะเวลา 18 ปี ของการก่อเกิด IMT – GT ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
เฟาซี นาอิม บี.หะยี เนาะห์ (Fauzi Naim B.HJ Noh) ประธานสภาธุรกิจมาเลเซีย (JBC Malaysia) ในฐานะหัวหน้าคณะภาคเอกชนของมาเลเซียในการประชุม IMT–GT ให้สัมภาษณ์ หลังเสร็จสิ้นการประชุม IMT–GT ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 5–7 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมเจดับเบิ้ลยู แมริออท เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย
0 0 0
ทำไม่ฝ่ายมาเลเซียจึงมีความกระตือรือร้นมากใน IMT–GT
มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก ต้องพึ่งพาวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมจากประเทศไทยและอินโดนีเซีย เช่น ปลา สำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเล ไก่ แป้งมันสำปะหลัง และอาหารอีกหลายชนิดจากไทย เช่น ข้าวสาร เรานำเข้าวัวจากไทย 250,000 ตัวต่อปี
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพึ่งทุกอย่างจากไทย ต้องทรัพยากรจากไทยมาสนับสนุนอุตสาหกรรมและอาหารของมาเลเซีย
ปัจจุบันมาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมยาง ก็ต้องพึ่งพาวัตถุดิบยางพาราจากไทย เราต้องพึ่งพาผลไม้จากไทย และเราต้องพึ่งแรงงานก่อสร้างจากไทย ต้องพึ่งพาแรงงานประมงจากไทย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่พอ
เพราะฉะนั้น หลักการของ IMT–GT ย่อมไม่ใช่หลักการที่จะปล่อยให้ใครอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นหลักการที่เราจะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่หลักการของแข่งขันกัน เราเชื่อเรื่องนี้ว่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย คิดเหมือนกัน
มาเลเซียต้องพึ่งพาไทยและอินโดนีเซียในทุกด้าน เพราะเราเป็นประเทศเล็ก ทรัพยากรของเรามีไม่พอกินไม่พอใช้ซักอย่าง
บางเรื่องไทยก็ต้องพึ่งมาเลเซียเหมือนกันนะ
ประเทศไทยมีทางเลือกมากกว่า มีทางเลือกที่จะนำเข้าทรัพยากรจากประเทศต่างๆ มาใช้ได้มากกว่า ขณะที่ไทยต้องการน้ำมันจากมาเลเซีย ประเทศไทยก็หาซื้อน้ำมันจากที่อื่นได้ ก๊าซธรรมชาติประเทศไทยก็หาซื้อจากประเทศอื่นได้
ขณะที่สิ่งของที่มาเลเซียต้องพึ่งจากไทย มาเลเซียไม่สามารถหาจากที่อื่นได้ เช่น ปลา พืชผัก ข้าวสาร ไก่ เป็นต้น
มองพัฒนาการของ IMT–GT ที่มีมา 10 กว่าปีแล้ว มาถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ให้ประโยชน์กับมาเลเซียเยอะ สิ่งที่มาเลเซียได้รับโดยตรงก็คือ ด้านอาหารและการเกษตรตามที่กล่าวมาแล้ว ในด้านการท่องเที่ยว คนที่มาเที่ยวที่ภูเก็ต ก็จะเดินทางมาเที่ยวต่อที่มาเลเซีย
ในสาขาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ผลิตในประเทศไทย เช่น สับปะรด มาเลเซียนำเข้าจากไทยแล้วส่งออกต่อไปยังตะวันออกกลาง เราเป็นพ่อค้าคนกลาง เรานำเข้ามาแล้วใช้ตราฮาลาลของมาเลเซียส่งออกต่อ
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย สินค้า 15 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 1 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีมาจากประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นยางพารา
ความร่วมมือในสาขาผลิตภัณฑ์ฮาลาลระหว่างไทยกับมาเลเซียในกรอบ IMT–GT ลงตัวหรือยัง
ความร่วมมือในด้านฮาลาล สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสาขานี้คือ การรับรองและมาตรฐานฮาลาล 2 อย่างนี้ เราทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกับสำนัก งานพัฒนาอิสลามของมาเลเซีย หรือ JAKIM ไทยกับมาเลเซียทำงานร่วมกันในเรื่องการรับรองและมาตรฐานฮาลาล
ในด้านอุตสาหกรรมภายใต้ฮาลาล มีการริเริ่มทำงานร่วมกัน ทั้งด้านการรับรองและด้านมาตรฐาน การตรวจสอบโรงงานระหว่างการผลิตและหลังการผลิต การตราผลิตภัณฑ์ ทั้ง 3 อย่างนี้ เราทำงานร่วมกัน
ปัญหาคือเรื่องการตราผลิตภัณฑ์ บริษัทที่ได้รับตราฮาลาลบางส่วน เราเข้าไปตรวจสอบปีละครั้ง เวลาที่เราไม่ได้เข้าไปตรวจ เขาก็มักจะทำงานไม่ตรงไปตรงมา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งมักเป็นปัญหาของฝ่ายไทย
ดังนั้น ในการตรวจรับรอง เราจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งมากกว่านี้ เวลาที่เราเข้าไปตรวจในโรงงาน ทุกอย่างถูกต้องตลอด แต่พอเวลาเราไม่เข้าไปตรวจโรงงานก็หย่อนยาน เราตรวจตั้งแต่โรงงาน กระบวนการผลิต วัตถุดิบและคนงาน
ปัจจุบันนี้ เรามีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันในเรื่องฮาลาล ไม่ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ทั้งหมดทำวิจัยฮาลาลได้ดีมาก รวมทั้งเรื่องการศึกษาและการฝึกอบรม
นอกจากความร่วมมือที่ได้กล่าวถึงแล้ว ผลดีที่มาเลเซียและไทยได้รับร่วมกันคือ เราได้ทำงานร่วมกันในการเพาะพันธุ์ยางพารา โดยเพาะต้นกล้ายางไปแล้ว 56 ล้านต้น เพื่อนำไปปลูกในภาคอีสานของไทย ปลูกไปแล้ว 7–8 หมื่นไร่
อีกอย่างที่เป็นผลดีคือ จะมีโครงการตั้งฟาร์มไก่ที่ปัตตานี ผลิตไก่ให้ได้ 50 ล้านตัว เป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนไทยกับมาเลเซีย ผลดีที่ไทยได้รับแน่ๆ คือ ร้านต้มยำของคนไทยในมาเลเซีย ที่มีถึง 2 พันแห่ง
การมาถึงของ AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) กระทบกับบทบาทของ IMT – GT อย่างไรบ้าง
แน่นอนมีผล เพราะ IMT–GT เป็นพื้นที่นำร่องของ AEC เป็นตัวสร้างสรรค์ให้ AEC ถ้า IMT–GT ประสบความสำเร็จ AEC ก็จะประสบความสำเร็จด้วย
ในอาเซียนมีถึง 10 ประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาก็มีปัญหา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าก็มีปัญหา แต่ไทยกับมาเลย์ไม่มี
ถ้าพื้นที่ IMT–GT มีความเข้มแข็ง ก็จะสามารถกำหนด AEC ได้ แต่มองดูแล้ว AEC จะมาครอบพื้นที่ IMT–GT มากกว่า
ไม่ใช่ เพราะ AEC เป็นหลักการใหญ่ แต่ของจริงคือ IMT–GT เพราะ IMT–GT คือ ธุรกิจการค้าข้ามแดน คือครอบครัวเดียวกัน คือประวัติศาสตร์เดียวกัน จะเปรียบเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์กับพม่า ก็ไม่ได้เพราะทั้งสองประเทศนั้นอยู่ไกลกันมาก เพราะฉะนั้น IMT–GT มีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชายแดนติดกัน
ดังนั้น IMT–GT ประชาชนในอนุภูมิภาคนี้ไปมาหาสู่กัน วันเสาร์ อาทิตย์ เป็นวันหยุดคนมาเลย์ไปเที่ยวเมืองไทยกันเยอะ อย่างผมเดินทางไปปีนังลำบากรถติด ไม่รู้จะไปไหน ผมก็พาครอบครัวไปเที่ยวหาดใหญ่ หรือไม่ก็กระบี่
สัปดาห์หนึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเลย์ไปหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 3 หมื่นคน ตอนนี้โรงแรมในหาดใหญ่เต็มหมด หาดใหญ่กลายเป็นที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว เป็นแหล่งช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยว เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอาหาร
ในฐานะที่สภาธุรกิจมาเลเซียเข้มแข็งที่สุดใน IMT–GT มองสภาธุรกิจของฝ่ายไทยและอินโดนีเซียอย่างไร
สภาธุรกิจมาเลเซียคือเบอร์หนึ่ง เหตุผลก็ตามที่ผมได้บอกไปแล้ว เพราะเราต้องขวนขวาย เราต้องค้นหาเพื่อความอยู่รอด ส่วนไทยเป็นประเทศใหญ่ มีธุรกิจใหญ่ๆ อย่างคุณสุทิน (นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมไม้ยางพาราไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัท เขามหาชัยพาราวู้ด จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช) ทำธุรกิจไม้ยางพารากับมาเลเซียแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 90 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ประเทศจีน
ส่วนคุณโอฬาร (นายโอฬาร อุยะกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด จังหวัดสตูล) ทำธุรกิจกับมาเลเซียแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 95 เปอร์เซ็นต์ทำธุรกิจกับญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป
ไทยเป็นประเทศใหญ่ มาเลเซียต้องพึ่งไทย ดังนั้น เราจึงต้องการ IMT–GT
IMT – GT เป็นเหมือนทางเดิน เหมือนสะพานของมาเลเซีย เพราะฉะนั้นมาเลเซียจึงต้องผลักดันให้เข้มแข็ง
ขณะที่ประเทศไทยสบายๆ ไทยไม่ต้องกระตือรือร้นก็ได้ เพราะธุรกิจของไทยใน IMT–GT มีปริมาณแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือไปที่จีน ไปที่อื่นๆ ในสายตานักธุรกิจไทย IMT–GT จึงไม่สำคัญ
ประเทศไทยเชื่อมกับโลก มาเลเซียเชื่อมแค่ระดับภูมิภาค สินค้าไทยส่งไปทั่วโลก ทั้งอาหารทะเล ไม้ยางพารา ข้าวสาร ทุกอย่างเลย
มีอะไรบ้างที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซีย น้ำมันดีเซล น้ำมันพืช ขนม เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
แล้วมองสภาธุรกิจอินโดนีเซียอย่างไร
อินโดนีเซียมีเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งมาก ทรัพยากรเยอะ ตลาดใหญ่ ประชากรมาก พวกเขาไม่ต้องพึ่งการส่งออก ยกเว้นน้ำมันกับทอง ทำให้เขาขาดความกระตือรือร้น
ในด้านผลิตภัณฑ์ฮาลาล อินโดนีเซียผลิตขึ้นมาบริโภคภายในประเทศก็เพียงพอ ไม่ต้องส่งออกก็อยู่ได้ เพราะจำนวนผู้บริโภคภายในประเทศมีมากมายเกินพอ เพราะฉะนั้นตรงไหนมีความร่วมมือ มาเลเซียก็จะไปตรงนั้น ด้วยเหตุนี้ มาเลเซียจึงต้องการ IMT–GT
มองอย่างนี้ IMT – GT น่าจะให้ประโยชน์กับมาเลเซียมากที่สุด
ถ้าเราดูในด้าน SMEs (วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม) สำหรับพวกที่เพิ่งทดลองเรียนรู้ในการทำธุรกิจ IMT–GT จำเป็น เพราะไม่ใช่ว่าเขาจะทำธุรกิจไปสู่ระดับโลกได้ทันที พวกเขาต้องเริ่มในภูมิภาคก่อน
สิ่งที่สำคัญสำหรับไทยมากกว่ามาเลเซียคือ การศึกษาภาษาอังกฤษ นักศึกษาหลายคนก่อนที่จะเดินทางไปเรียนที่ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย พวกเขาก็มาเรียนภาษาอังกฤษที่ปีนัง ของประเทศมาเลเซียก่อน 1–2 ปี
แน่นอนมาเลเซียให้ความสำคัญกับไทย เพราะไทยมีทรัพยากรหลากหลายและมีสินค้าที่ดี ขณะที่มาเลเซียมีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับหลายประเทศ เช่น ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับมาเลเซียดีมาก และประเทศในเครือจักรภพ ที่มาเลเซียเป็นสมาชิก
บริษัทของมาเลเซียและของไทย จึงควรร่วมมือกัน
ขณะนี้ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นอย่างไรบ้าง
ดี ไม่มีปัญหาอะไร รวมทั้งในเรื่องการศึกษา การนำเข้าและส่งออกในกลุ่มประเทศเครือจักรภพ ที่ตอนนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น มากกว่าทางตะวันออกกลาง
ประเทศในเครือจักรภพ หรือประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ มีหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ส่วนประเทศในตะวันออกกลางก็คือประเทศสมาชิก OIC หรือกลุ่มประเทศสมาชิกที่ประชุมอิสลาม ซึ่งต่อไปจะมีความสำคัญต่อประเทศไทย
เพราะฉะนั้น IMT–GT จึงมีความสำคัญกับมุสลิมในภาคใต้ของไทยด้วย เพราะพวกเขาเข้ามาทำธุรกิจในมาเลเซีย จนทำให้คนมาเลเซียต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไปปลูกยางพารากับปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย อย่างร้านต้มยำในก็เป็นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาเข้ามาทำธุรกิจนี้หลายปีแล้ว
ในประเทศไทยไม่มีร้านต้มยำกุ้งโดยเฉพาะ มีแต่ร้านอาหารทั่วไป ที่มีต้มยำกุ้งเป็นหนึ่งในรายการอาหาร ตอนนี้ต้มยำกุ้งจึงเป็นตราสินค้า (แบรนด์) ของมาเลเซียไปแล้ว เพราะในไทยมีแต่ภัตตาคารอาหารไทย ไม่มีภัตตาคารต้มยำกุ้ง
มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ต้องเข้ามาเรียนรู้เรื่องกองทุนฮัจย์ของมาเลเซีย (Tabong Haj) คนมาเลเซียจะฝากเงินเข้ากองทุนนี้ เพื่อเตรียมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นกองทุนที่ใหญ่มาก จนสามารถทำธุรกิจได้
มุสลิมไทยควรต้องมาเรียนรู้ว่ากองทุนนี้ทำอะไรบ้าง กองทุนนี้มีโรงแรมของตัวเอง ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน นี่เป็นโอกาสที่คนมุสลิมจากประเทศไทยเข้ามาศึกษาได้ รวมทั้งโอกาสทางอาชีพการงาน เพราะฉะนั้นคนมุสลิมในไทยต้องไขว่าคว้าหาโอกาส คนมุสลิมในไทยต้องเปิดสมอง
มุสลิมใต้ต้องออกเดินทางไปข้างนอก ไม่ใช่อยู่แต่นราธิวาส ปัตตานี ยะลา อยู่เหมือนกบในกะลา ไม่ใช่แต่ละวันอยู่กับการเล่นนก มุสลิมต้องเปิดสมอง ต้องมองออกไปทั่วโลก ต้องเดินทางไปกรุงเทพมหานคร ต้องเดินทางไปที่อื่นๆ
ไม่ต้องไปถึงกรุงเทพมหานคร แค่ข้ามแดนมาดูฝั่งมาเลเซียก็พอ
ถ้ามาที่มาเลเซียก็ไม่มีอะไรแตกต่าง พวกเขาต้องไปกรุงเทพฯ เพื่อให้รู้ว่าคนมุสลิมในชายแดนใต้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ต้องไปดูมุสลิมปาทานที่กรุงเทพฯ พวกนี้กษัตริย์ไทยไปเอามาจากอินเดีย เอามาเป็นทหารรับจ้าง
พวกเขาต้องไปดูมุสลิมในมลฑลยูนนานของจีน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พวกเขาต้องเปิด ถ้ามุสลิมไม่ออมออกมาข้างนอก มัวแต่อยู่ในนราธิวาสก็ไม่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ อยู่แต่ในโลกแคบๆ
ผมบอกกับมุสลิมในภาคใต้ของไทยว่า คุณต้องไปทำสวนยางพาราทั่วประเทศไทย ผมเคยไปที่จังหวัดชัยภูมิ ตราด พิษณุโลก ถ้าพวกคุณไปด้วยคุณก็ได้เปิดสมอง รัฐบาลไทยดีมาก เปิดโอกาสให้กับทุกคน
มาประชุมคราวนี้ ผมพาเพื่อนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บางคนมาร่วมประชุมด้วย เพื่อเปิดมุมมองพวกเขา พวกเขาต้องเปิดสมองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะปัญหาอยู่ที่หัว ถ้าเปิดหัวได้ทุกอย่างก็จะเปิดตาม
นี่คือความสำคัญอันดับหนึ่งของ IMT–GT ความสำคัญอันดับที่สองคือ เปิดโอกาสทางการค้าผ่านแดน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเปิดความคิดให้คนมุสลิม นี่คือความสำคัญของ IMT–GT ที่มีต่อประเทศไทย
มาเลเซียยังต้องทำงานอีกมาก ทั้งใน IMT–GT ความร่วมมือ 5-5-5 หรือลีมอดาซาร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับ 5 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ใน 5 สาขา
5 แรก คือ 5 จังหวัดของไทย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ส่วน 5 ที่ 5 คือ 5 รัฐของมาเลเซียคือ เคดะห์ เปอร์ลิส ปีนัง เปรัก และกลันตัน และ 5 สุดท้าย คือ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และโลจิสติกส์
ลีมอดาซาร์ เริ่มขึ้นในสมัยที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้นสภาธุรกิจของไทยต้องมีความเข้มแข็งเพื่อให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น
เราไม่เชื่อว่ามาเลเซียด้อยกว่าไทยในหลายเรื่องอย่างที่คุณบอก
มาเลเซียเป็นประเทศเล็ก เศรษฐกิจของมาเลเซียขึ้นอยู่กับสินค้าที่ใช้ทักษะสูง แต่ปริมาณการค้าก็ยังสู้ไทยไม่ได้ ไทยมีบริษัท ซีพี ซึ่งยิ่งใหญ่มาก มีบริษัท ป.ต.ท. เป็นบริษัทปิโตรเลียมระดับโลก ทิ้งห่างเปโตรนาสของมาเลเซียหลายขุม