ชื่อเดิม: เรื่องที่คนในอยากเล่า... คนนอกอยากรู้ของคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
แม้เรือนจำในประเทศไทยจะพัฒนามาตรฐานและตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก แล้วก็ตาม แต่ภายใต้งบประมาณอันจำกัด ระบบปิด การรองรับผู้ต้องขังล้นเกิน ฯลฯ จึงยังมีเรื่องราวอีกมากที่คนนอกยังไม่รู้และเป็นความยากลำบากที่คนในต้อง เผชิญเพียงลำพัง
‘ประชาไท’ เปิดจดหมายจาก ‘เล่าซัน’ นักโทษคดีการเมืองผู้มีประสบการณ์ตรงในเรือนจำแห่งหนึ่งของประเทศไทย เราบอกเล่าอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ได้มากนัก นอกจากความพยายามอย่างน่านับถือในการรวบรวมและส่งต่อข้อมูล ด้วยความหวังของทั้งเขาและเราว่า การรับรู้ของสังคมจะทำให้เกิดการปรับปรุง “ระบบ” ยุติธรรมไทย โดยเฉพาะพื้นที่คุมขังประชาชนชายขอบที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคม
หมายเหตุ: จดหมายนี้ส่งมาก่อนที่จะมีการย้ายผู้ต้องขังเสื้อแดง (ยกเว้นคดี 112) ไปเรือนจำชั่วคราวหลักสี่
0000000
มีคนถามกันมาเยอะ เกี่ยวกับเรื่องความเป็นอยู่ของคนเสื้อแดงที่อยู่ในคุกว่าในแต่ละวันใช้ ชีวิตกันอย่างไร ทำอะไรบ้างตั้งแต่ตื่นนอน มีความยากลำบากมากน้อยแค่ไหน จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง จากประสบการณ์ของคนเสื้อแดงที่เคยอยู่ในคุกมาก่อนคนหนึ่ง
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า ผู้ที่เคยติดตามข่าวสารของแกนนำในเรื่องราวที่พวกเขาเคยผ่านคุกมาก่อนที่เคย มีการเผยแพร่กันไปบ้างแล้วในช่วงที่แกนนำ ปนช.ถูกจองจำอยู่ จนกระทั่งปล่อยประกันออกไป มีความคล้ายกันบางอย่าง แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก อันมาจากการได้รับการปฏิบัติดูแลที่ต่างกัน ที่แกนนำ นปช.จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า ได้รับเกียรติมากกว่า ส่วนผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงรายอื่นๆ ได้รับการดูแลปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หลายรายถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจจากเจ้าหน้าที่ที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ถูกทำร้ายจากผู้ต้องขังด้วยกัน ทั้งจากการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ และทั้งแบบลับหลังที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้
ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราไม่แตกต่างจากนักโทษคนอื่นๆ สิ่งที่ทำในแต่ละวัน เช่น การทำงาน, การกินอาหาร, การหลับนอน ก็เหมือนนักโทษทั่วไปทุกอย่าง ซึ่งพอจะแยกเป็นเรื่องๆ ได้ เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนตะวันตกดิน
วันปกติที่ไม่ใช่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ
พวกเราจะตื่นกันประมาณ 6 โมงเช้า ก่อนออกจากห้องนอน จะมีการตรวจนับจำนวนคนก่อน เมื่อครบแล้ว ผู้คุมก็จะเปิดประตูให้ออกไปทำภารกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ เรามีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการทำภารกิจให้เสร็จเพื่อให้ทันอาหารหลวงมื้อเช้า ซึ่งส่วนใหญ่อาหารเช้าจะเป็นแกงจืดกับข้าวสวย เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว เสียงออดก็ดังเพื่อเรียกรวมแถวตามห้อง เวลาประมาณ 7.30 น. เพื่อเตรียมตัวเคารพธงชาติและสวดมนต์
ภายหลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติแล้ว ทุกคนจะแยกย้ายกันไปตามกองงานต่างๆ ที่ทุกคนจะได้รับมอบหมาย ตอนเข้ามาอยู่ในแต่ละแดน มีกองงานอยู่หลายกองงานไม่ซ้ำกัน ทุกคนจะถูกบังคับให้ทำ เช่น กองงานปั่นถ้วย เย็บรองเท้า ปลั๊กไฟ ฯลฯ ด้วยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า ต้องให้ผู้ต้องขังทำเพื่อจะได้ไม่ต้องคิดมาก (แต่ความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ขอเล่าในลำดับต่อไป)
ในระหว่างวัน ผู้ต้องขังที่มียอดงานจะต้องทำให้เสร็จและในวันธรรมดาอย่างนี้ ผู้ต้องขังทุกคนมีสิ่งที่เฝ้ารอที่จะได้รับ นั่นคือ “การได้รับใบเยี่ยมญาติ” ที่จะมีการประกาศชื่อผู้ที่มีญาติมาเยี่ยมอยู่ตลอดช่วงเวลาทำงาน การได้เยี่ยมญาติคือโอกาสของพวกเราในการได้ออกไปจากกำแพงสี่เหลี่ยมที่แสนจะ อึดอัด ไปชมโลกภายนอกบ้าง และนี่คือสิ่งที่มีความสุขที่สุดของผู้ต้องขังทุกคน
เวลาประมาณ 11.00 น. จะมีพักเบรกกินข้าวต้มหรือขนม มื้อนี้ฟรีเช่นกัน ช่วงบ่ายพวกเราก็ยังทำงานไปเรื่อยๆ ใครทำเสร็จก็สามารถพักผ่านได้ตามอัธยาศัยได้ ไม่เสร็จก็ทำกันต่อไปจนกระทั่งหมดเวลาเยี่ยมญาติ เวลา 15.00 น.โดยประมาณ ก็จะถึงเวลาอาบน้ำกันก่อนขึ้นนอนและจะมีอาหารเย็นให้กินอีกครั้งก็ประมาณ เวลา 15.00 น. มื้อนี้เป็นมื้อหนัก คนจะกินกันเยอะเพราะต้องอยู่บนห้องนอนประมาณ 14 ชั่วโมง เมื่อกินข้าวเสร็จก็ได้เวลาขึ้นเรือนนอน 15.30 น. เราจะอยู่ในเรือนนอนกันแล้วใครจะดูหนัง อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็ทำกันไป ทีวีจะปิดตอนประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ถือเป็นอันจบสิ้นทุกอย่างในวันนั้น
วันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ
ทุกอย่างตามตารางเวลาจะดำเนินไปตามปกติ ตื่น 6 โมงเช้า อาบน้ำ กินข้าวเช้า กลางวัน เย็น เหมือนวันปกติทุกอย่าง ที่แตกต่างก็คือ “ไม่มีเยี่ยมญาติ และไม่ต้องทำงาน” เท่านั้น พวกเราไม่มีใครชอบวันหยุด โดยเฉพาะนักโทษ/ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพราะไม่ได้พบทนาย ประกันตัววันหยุดไม่ได้ แต่ที่ทุกคนไม่ชอบวันหยุดเลยคือ “ไม่มีการเยี่ยมญาติ”
ถัดจากนี้ไปผมจะขอชี้แจงรายละเอียดเป็นข้อๆ ในส่วนต่างๆ ที่น่าสนใจ (แต่จะมีใครอยากรู้หรือเปล่า ไม่รู้) ดังนี้
1.
การอาบน้ำ/แปรงฟัน และภารกิจส่วนตัว
ที่นี่เราอาบน้ำกันกลางแจ้งครับ จะมีบ่อน้ำกว้างประมาณ 1x4 เมตรอยู่หลายบ่อ บางแดนจะมีระบบสปริงเกอร์คือปล่อยน้ำออกจากท่อที่วางไว้สูงประมาณ 2 เมตร ในบริเวณบ่อน้ำทุกคนสามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการจำกัดการใช้ ส่วนใหญ่การอาบน้ำมักจะทำควบคู่กันไปกับการซักผ้า โดยเฉพาะตอนเช้า อาบน้ำเสร็จ ซักผ้าต่อแล้วก็ตากเลยเพื่ออาศัยแดดตอนเช้าทำให้เสื้อผ้าแห้ง สำหรับใครที่มีฐานะไม่ดีสักหน่อยอาจซักด้วยตัวเอง ซักเอง ตากเอง เก็บผ้าเอง แต่ถ้าพอมีทุนอยู่บ้าง (เรียกกันว่า “ญาติถึง”) ก็อาจใช้บริการซักผ้าจากผู้ต้องขังด้วยกันที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือนละ 100-500 บาท (จ่ายเป็นบุหรี่ก็ 2-10 ซอง) ยิ่งแพงยิ่งสะอาดมีออฟชั่นเยอะ เช่น แยกน้ำซัก ใช้แฟบมียี่ห้อ ตบท้ายด้วยปรับผ้านุ่ม ฯลฯ
ส่วนตัวแล้วคิดว่าการจ้างเป็นวิธีที่ดีที่สุด ดีกว่าซักเอง เพราะโอกาสที่ผ้าจะหายน้อยมาก (แต่ไม่ใช่ไม่มี) ผู้รับจ้างซักผ้าส่วนใหญ่จะพอมีบารมี มักไม่มีใครกล้าขโมยเพราะอยู่มานาน การถูกขโมยเสื้อผ้าถือเป็นเรื่องใหญ่มากในคุก เพราะเราไม่สามารถมีชุดเสื้อผ้าได้มาก เนื่องมาจากล็อกเกอร์ที่ใช้ใส่ของมีขนาดเล็ก ประมาณ 30x50x50 cm ที่เราจะต้องใส่ของใช้ส่วนตัวเราทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า ขัน กล่องสบู่ แปรงสีฟัน รวมถึงของฝากที่คนข้างนอกซื้อเข้ามา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ล็อกเกอร์ของเราแต่ละคนในวันที่ญาติมาเยี่ยมและซื้อของ มาให้จะถูกยัดเข้าไปจนแน่น แทบไม่มีพื้นที่หายใจเลยก็มี
การอาบน้ำของที่นี่ เราอาบรวมกัน ไม่มีการแยกระหว่างคนปกติกับคนป่วย ซึ่งทุกแดนเราอาศัยรวมอยู่กับผู้ต้องขังที่ป่วยสารพัดโรค เช่น โรควัณโรค ที่เราเรียกกันติดปากว่า โรคทีบี (TB) โรคเอดส์ โรคผิวหนังต่างๆ ที่ฮิตที่สุดคือโรคหิด หรือที่ภาษาคุกเรียกว่า “ตะมอย” โรคเหล่านี้สามารถแพร่กันได้ผ่านทางน้ำที่ใช้ เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะเสี่ยงติดโรคเหล่านี้ได้ทุกคนและทุกเวลา และสามารถติดได้ง่ายมากๆ ด้วย สิ่งที่เราจะทำได้นั่นคือ การป้องกันตัวเอง เช่น ใช้สบู่ฆ่าเชื้อโรคแทนสบู่ธรรมดา และยาสระผมที่มีตัวยาป้องกันเชื้อราแทนยาสระผมธรรมดา และพยายามอยู่ให้ห่างผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ที่เดินกันปะปนกับคนทั่วไป โดยไม่มีการแยก นับเป็นความตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเผชิญกัน
ในช่วงที่แกนนำยุค นปก. ถูกจับเข้าไปในคุกใหม่ๆ ในช่วงปีไหนผมไม่ทราบได้ จำได้ว่าแกนนำคนหนึ่งกล่าวติดตลกว่า ประสบการณ์ที่เขาประทับใจที่สุดก็คือ “การถ่ายทุกข์ในคุก” เพราะส้วมที่นี่เป็นแบบเปิด เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงและขอยืนยันเลยว่านี่คือสิ่งที่น่าหนักใจที่สุด สำหรับผู้ต้องขังหน้าใหม่ทุกคน หลายคนในช่วงสัปดาห์แรกๆ แทบไม่ได้ถ่ายเลยก็มี
ลักษณะส้วมในนี้เคยมีคนบอกว่าเหมือนส้วมในประเทศจีน ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเหมือนหรือเปล่าเพราะไม่เคยไป แต่พอจะบรรยายให้เห็นลักษณะได้ก็คือ จะเป็นส้วมแบบที่ไม่มีประตู แต่ทำกำแพงล้อมซ้ายขวาและด้านหลังสูงประมาณ 80 cm ด้านบนโล่งไม่มีหลังคา ด้านหน้าเป็นทางเข้า เป็นกำแพงสูงประมาณ 40 cm สำหรับเดินข้ามเข้าไปนั่ง เป็นส้วมแบบนั่งยอง วางต่อๆ กันไป โดยใช้กำแพงร่วมกัน (ดังรูป)
เวลาใช้ก็เข้าไปนั่งทำธุระท่ามกลางคนที่เดินไปเดินมา สำหรับคนที่ไม่เคยเข้าคุกมาก่อนอาจจะอาย (แน่นอนล่ะ ต้องอาย) แต่นานๆ ไปก็จะชิน และถือเป็นเรื่องปกติ ทำยังไงได้ในเมื่อมันไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า อ้อ .. สำหรับส้วมที่ว่านี้ ในนี้มีอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกแทนคือคำว่า “บ๊อก” เข้าใจว่ามาจากคำว่า “บ็อกซ์” (BOX) ที่แปลว่า “กล่องสี่เหลี่ยม” เวลาจะไปเข้าส้วม เขาจะพูดว่า “ไปเข้าบ็อก” แทน และส้วมที่เราใช้ในห้องนอนก็จะแบบเดียวกัน คือเป็น “บ็อก” เหมือนกัน บางห้อง บางแดน จะมี 1-2 บ็อก แต่ส่วนใหญ่จะมีเพียง 1 บ๊อกเท่านั้น
ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ได้กล่าวถึงข้างต้น นั่นคือ ความสกปรกหรือความเสี่ยงที่จะติดโรคผิวหนังจากการอาบน้ำ บ่อยครั้งที่เราตักน้ำขึ้นอาบ เราจะพบว่าเกิดอาการคันขึ้นมาในทันที และถ้าคันแล้วไม่ฟอกสบู่ด้วยสบู่ยาหรือล้างอีกทีให้สะอาด หลังอาบน้ำเสร็จจะเกิดตุ่มขึ้นมาทันที เป็นเรื่องที่แย่มากๆ เลยจริงๆ
2.
การกินอาหาร
อยู่ในคุกไม่มีทางอดตาย ถ้าไม่เลือกที่จะกิน ทีนี้มีอาหารให้กินวันละ 3 มื้อ คือ ข้าวเช้า ประมาณ 7.00 – 7.30 น. มื้อเที่ยงเป็นข้าวต้ม ขนมหวาน เวลา 11.00 – 11.30 น. มื้อเย็นก็ประมาณ 15.00 น. เป็นแบบนี้ทุกวัน อาหารก็ถือว่าใช้ได้ ไม่ถึงกับว่าดีหรืออร่อย แต่สำหรับผู้ต้องขังที่ไม่เคยติดคุกมาก่อน รับรองกินไม่ลงแน่ๆ ที่นี่จะมีข้าวสวยให้กิน ใครที่ไม่ชอบแกงหลวงสามารถซื้อกับข้าวจากร้านค้าสงเคราะห์ที่อยู่ภายในเรือน จำต่างหากได้ โดยมื้อกลางวันจะเปิดให้กินเวลา 13.00 น. มื้อนี้เป็นมื้อสำหรับผู้ที่พอมีเงินซื้อ ซึ่งจะต้องใช้ถ้วยชามของตัวเอง มื้อเช้าส่วนใหญ่จะเป็นแกงจืด ต้มจับฉ่าย ประเภทอาหารที่ไม่เผ็ด มื้อกลางวันหลักๆ จะเป็นข้าวต้มกับกับข้าวเช่น ยำผักกาดดอง กระเทียมดอง หัวไชโป๊วผัดไข่ ปลาเค็ม (ปลาอะไรก็ไม่รู้ถ้าเห็นข้างนอกคงไม่กล้ากิน แต่มาอยู่ในนี้แล้วอร่อยแฮ *0*) บางมื้อ บางวัน จะมีพ่วงขนมหวาน เช่น ต้มถั่วแดง ต้มสาคู พอกินได้ แต่เหม็นสาบมากๆ มื้อเย็นส่วนใหญ่จะเป็นแกงเผ็ดที่เน้นหนักไปทางมะเขือเปราะ มะละกอ แตงร้าน ต้มหัวปลา (หางปลาไม่ค่อยมี) หมูไม่เป็นหมู ไก่ไม่เป็นไก่ เพราะจะสับให้มองไม่ออกว่าเป็นส่วนไหน รวมๆ แล้วก็ถือว่าพอกินได้ประทังชีวิตได้
3.
มีที่ให้ซื้อของเองมั้ยภายในเรือนจำ
ส่วนใหญ่ญาติผู้ต้องขังจะสงสัยว่า ผู้ต้องขังจะสามารถซื้อของใช้ ขนม นมต่างๆ ได้ภายในเรือนจำหรือเปล่า คำตอบคือ มีครับ เขาเรียกว่า “ร้านค้าสงเคราะห์” มีอยู่ในทุกแดน คล้ายๆ กับร้านเซเว่นอีเลฟเว่นข้างนอก แต่สินค้าน้อยกว่า เดินหยิบซื้อเองไม่ได้ จะซื้อทีต้องเขียนใส่กระดาษแล้วไปต่อคิวซื้อเอา ซึ่งจะชุลมุนมากๆ ก่อนจะเล่าเรื่องวุ่นๆ ในการซื้อของที่ร้านค้าสงเคราะห์ คงต้องชี้แจงเรื่องการซื้อสินค้าภายในเรือนจำก่อน สำหรับนักโทษทุกคนแล้ว จะมีกฎระเบียบเหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะเส้นใหญ่แค่ไหน รวยมากเท่าไหร่ ที่นี่จะอนุญาตให้เราใช้ได้เต็มที่ วันละ 200 บาท เกินแม้แต่บาทเดียวก็ไม่ได้ ระบบจะไม่อนุมัติ การจ่ายเงินจะทำผ่านบัตรประจำตัวที่เรียกว่า “บัตรสมาร์ทการ์ด” ลักษณะบัตรก็เหมือนบัตรเอทีเอ็มที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ด้านหน้าบัตรจะมีรูปเราที่ถ่ายตอนเข้ามาในคุกใหม่ๆ มีหมายเลขนักโทษ รายละเอียดต่างๆ แล้วก็ชื่อคดี ด้านหลังจะเป็นแถบแม่เหล็ก แบบเดียวกับบัตรเอทีเอ็มเปี๊ยบ
การซื้อของที่ร้านสงเคราะห์จะแบ่งเป็นการซื้อของแห้ง เช่น สบู่ ยาสีฟัน กาแฟ น้ำอัดลม เป็นสินค้าสำเร็จรูป การซื้อของแห้งทำได้โดยการเขียนใส่กระดาษ โดยระบุรายการของที่ต้องการเสร็จแล้วเอากระดาษใบนี้ไปต่อคิวซื้อ วันธรรมดาร้านค้าจะเปิดให้ซื้อของแห้งตอน 11.00 – 13.00 น. วันหยุดจะเปิดขายเร็วหน่อย อยู่ที่ความพร้อมของสินค้าที่เบิกเข้ามาในร้าน
อันต่อมา คือการเบิกอาหารสำหรับคนที่พอมีเงินอยู่บ้าง ไม่อยากกินข้าวหลวงก็สามารถเลือกซื้ออาหารจากร้านค้าสงเคราะห์ได้ ความจริงแล้วมีอาหารที่เราสามารถเลือกซื้อได้ถึง 4 ทางด้วยกัน และมีความแตกต่างกัน ได้แก่
ทางที่ 1.การสั่งซื้ออาหารหน้าร้านค้า อาหารที่ขายผ่านหน้าร้านคืออาหารที่ไม่ต้องจดเพื่อสั่งซื้อทางร้านค้า จะเอามากองให้เลือกซื้อกันสดๆ เลย สนใจอันไหนก็หยิบแล้วรูดปื้ดได้เลย จุดเด่นของอาหารหน้าร้านคือ ไม่แพง ถุงละ 20 บาท แต่ถุงเล็กชะมัด มีแกงต่างๆ ขนมหวาน ขนมปัง ตามแต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลร้านค้าจะวัดดวงเอามาขาย ผมคิดว่าอันนี้เป็นผลประโยชน์พิเศษของผู้คุมร้านค้านะ เพราะสินค้าจะแพงเป็นพิเศษ อย่างโยเกิร์ตที่เราซื้อที่เซเว่นข้างนอก 12 บาท หน้าร้านจะขาย 20 บาท ยาคูลท์ผมไม่รู้ว่าเวลานี้ข้างนอกขายเท่าไหร่ แต่ในนี้ขาย 10 บาท ใครอยากกินก็ต้องทนซื้อเอา เรียกร้องไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้บังคับให้ซื้อของหน้าร้านนี้ ผมอยากให้มีการตรวจสอบมากที่สุด เขาขายเกินราคามากๆ โดยสรุปจุดเด่นของการซื้อของหน้าร้านคือ สะดวก รวดเร็ว มีอาหารของกินแปลก แต่ข้อเสียคือแพง
อ้อ.. สินค้าหน้าร้านนี้หมดแล้วหมดเลยนะครับ เขาเอาเข้ามาจำกัดใครที่คิดจะซื้อกับข้าวแต่ไม่ได้สั่งล่วงหน้า ถ้าพลาดสินค้าหน้าร้านแล้วละก็ ไม่มีอะไรกินเลยล่ะ
ทางที่ 2. การสั่งซื้อสินค้า (อาหาร) ล่วงหน้าจากร้านค้าสงเคราะห์หรือที่เราเรียกกันว่า “การสั่งออเดอร์” อาหารจากร้านสงเคราะห์มีมากมายหลายอย่าง เกือบทั้งหมดจะราคา 25 บาท ได้ของเยอะกินได้จุใจ แต่ต้องสั่งล่วงหน้าคือสั่งวันนี้ได้วันรุ่งขึ้น วิธีการคือ ถ้าเราจะกินอะไรพรุ่งนี้ วันนี้เราจะต้องจดรายการอาหารที่เราต้องการใส่เศษกระดาษ แล้วเอาไปใส่ในกล่องรับใบออเดอร์ วันรุ่งขึ้นก็รอจ่ายเงินแล้วรอรับของ ซึ่งการซื้อของ รับของออเดอร์นี้วุ่นวายมากๆ ใครไปรับของช้า ก็จะถูกคนอื่นที่มาก่อนเอาไป โดยรวมแล้วอาหารออเดอร์นี้ใช้ได้เลย แต่น่าเบื่อตรงกระบวนการซื้อและรับของเท่านั้นเอง
ทางที่ 3. ทางนี้คือทางที่เรียกว่าไฮโซสุดๆ ถือว่ามีระดับมากๆ นั่นคือ สั่งซื้อสินค้าจาก “สโมสร” ที่นี่จะสั่งเช้าได้เย็นไม่ต้องคอยข้ามวัน จะสั่งซื้อของจากสโมสรได้ ต้องมีเงินฝากไว้กับสโมสร โดยญาติต้องไปติดต่อเพื่อเปิดบัญชีกับทางสโมสรในชื่อของผู้ต้องขัง เมื่อมีการสั่งซื้อก็จะตัดบัญชีเงินที่ฝากไว้กับทางสโมสรออกไป การใช้เงินที่สโมสรนั้นไม่จำกัดวงเงินนะครับ จะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ ตราบใดที่ยังมีเงินฝากกับทางสโมสรอยู่ อยากกินพิซซ่าฮัท เอ็มเค เอสแอนด์พี เคเอฟซี สั่งได้หมด แต่ขอบอกก่อนนะครับว่าที่นี่ชาร์จโหดมากๆ เช่น สั่งเคเอฟซี 100 บาท ค่าส่ง 30 บาท สโมสรโทรสั่งให้ พอของมาส่ง สโมสรจะคิดค่าบริการ 30% จากค่าสินค้าเบ็ดเสร็จ ซื้อของ 100 จ่าย 160 บาท ถ้าสั่ง 500 ค่าส่ง 30 สโมสรบวก 150 รวมค่าของ 680 บาท ถือเป็นกำไรอย่างงามของสโมสร แต่เป็นเวรกรรมของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อสินค้า อาหารจากสโมสรจะนิยมเฉพาะในหมู่ผู้ต้องขังที่มีอันจะกินเท่านั้น กับชาวต่างชาติที่มีเงินเยอะๆ ตอนแกนนำ นปช.ถูกจับเข้ามาก็ใช้บริการของทางสโมสรนี่แหละ อาหารของทางสโมสรจะเนื้อเป็นเนื้อ หมูเป็นหมู ค่อนข้างมีคุณภาพดี แต่แพงชะมัด ถุงนิดเดียวราคา 50 บาทขึ้นทั้งนั้น โดยรวมแล้วอาหารที่สั่งทางสโมสรจะแพงมากๆ มีเงินเสียอย่างสโมสรจัดให้ได้หมด เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ต้องขังระดับ 5 ดาวเท่านั้น
ทางที่ 4 ทางสุดท้ายที่เรียกได้ว่าโลคลาสสุดๆ คือการซื้ออาหารจากพ่อค้า (นักโทษด้วยกันเองที่สั่งสินค้ามาขายเองจากร้านค้าสงเคราะห์) ความจริงแล้วทางเรือนจำไม่สนับสนุนให้มีพ่อค้า บางแดนถ้าจับได้ถือว่ามีความผิดทางวินัยเลย พ่อค้าที่ว่าจะสั่งซื้ออาหารที่คิดว่าขายดีๆ มาไว้ จากนั้นนำมาวางเร่ขายโดยแลกกับนมหรือบุหรี่ ซึ่งจะบวกกำไรพอสมควร ในความคิดผม ผมคิดว่าทางเลือกนี้เหมาะมากกับผูต้องขังที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีที่ไม่ สามารถสั่งซื้อสินค้าด้วยวิธีธรรมดาได้ แต่อาจมีบุหรี่ นมที่ได้จากการรับจ้าง บริการต่างๆ ก็สามารถนำของเหล่านั้นมาแลกเป็นอาหารกับพ่อค้าได้
ขอชี้แจงเรื่องสิ่งของที่ใช้เป็นตัวกลางแทนเงินในคุกสักหน่อย ที่เห็นชัดเจนและได้รับความนิยมเห็นจะมี 2 อย่าง นั่นคือ นมกับบุหรี่ นม 1 กล่องแทนเงิน 10 บาท บุหรี่ 1ซอง (กรองทิพย์,สายฝน,LM,มาร์โบโล) ไม่ว่าข้างนอกจะมีราคาเท่าไหร่ แต่ในนี้แทนเงิน 50 บาท ซึ่งเราสามารถใช้บุหรี่แทนเงินได้เลย เช่น ค่าซักผ้าเดือนละ 300 บาท ก็เอาบุหรี่จ่าย 6 ซอง เป็นที่รู้กัน สำหรับอาหารที่พ่อค้านำมาขายมักจะจัดเป็นชุด เช่น อาหาร 1 อย่าง (25บาท) กับขนม 1 อย่าง(10บาท) รวม 35 บาท พ่อค้าจะขาย 1 ซอง(50บาท) หรือขนม 2 อย่าง(20บาท) พ่อค้าจะขาย 3 กล่อง(นม) นมในที่นี่คือนมอะไรก็ได้ ที่นิยมก็นมแลคตาซอย, ไวตามิลค์ ที่เวลาเยี่ยม พวกท่านซื้อให้แพ็คละ 6 กล่องนั่นแหละครับ
ถึงตอนนี้ท่านคงจะพอรู้แล้วนะครับว่า อาหารในนี้ซื้อหากันอย่างไร สำหรับเพื่อนๆ นปช.ที่ถูกจับเข้ามาที่กำลังถูกจองจำอยู่ที่มีทุนน้อยหน่อยก็สามารถเลือก บริโภคอาหารจากร้านค้าสงเคราะห์ได้ แต่จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่ามีเพื่อนๆ นปช.เกินกว่าครึ่งหรืออาจจะ60-80% ที่แทบไม่มีโอกาสได้กินอาหารดีๆ เลย จึงไม่แปลกใจที่ผมเคยบอกกับผู้ที่มาเยี่ยมว่า มาม่าเป็นอาหารที่วิเศษสุดๆ รวมถึงปลากระป๋องด้วย ทั้งๆ ที่เป็นอาหารที่เวลาเราอยู่ข้างนอกคุก เราแทบไม่มองมันเลยด้วยซ้ำ และจากโครงการเลี้ยงอาหารกลางวันผู้ต้องขังที่ทางกลุ่มราษฎรประสงค์ร่วมกับ พี่น้องเสื้อแดงหลายๆ กลุ่มที่เห็นใจและห่วงใยผู้ต้องขังที่ทางกลุ่มฯ ซื้อให้นั้นคืออาหารในระดับสโมสร และเชื่อได้เลยว่าพวกเราในนี้มีโอกาสได้กินอาหารอย่างนี้น้อยมาก อย่าสงสัยว่าผมจะเขียนบรรยายโอเว่อร์เกินไปนะครับ นี่คือความจริงเลยล่ะ
4.
เรื่องการทำงานในเรือนจำ
เรื่องนี้ก็มีคนถามกันมาเยอะ เพราะเป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงเป็นอันมาก จากการเข้าเยี่ยม นปช.ที่เรือนจำ และจากการสอบถามแต่ละคนพบว่าเรื่องงานนี่แหละเป็นปัญหาและทำให้เพื่อนๆ ผู้ต้องขัง นปช.ทุกข์ใจ ลำบากใจมากที่สุด สำหรับผู้ต้องขังทุกคนแล้ว เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในนี้ทุกคนจะต้องถูกจำแนกไปตามกองงานต่างๆ กองงานก็จะแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 อย่าง คือ กองงานที่มียอดงาน และไม่มียอดงาน ที่มียอดงานได้แก่ กองงานปั่นถ้วยกระดาษ กองงานเย็บรองเท้า เป็นต้น กองงานถ้วยกระดาษ ถือเป็นกองงานที่ใช้ในการลงโทษก็ได้ เช่น กรณีถ้ามีนักโทษคนไหนทำผิดวินัยก็จะถูกย้ายไปลงกองงานปั่นถ้วย นักโทษที่เด็ดขาดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างก็จะต้องทำงานเหมือนกัน พวกที่ยังหนุ่มยังแน่นอยู่มักจะถูกจับให้ทำหน้าที่ปั่น ที่มีอายุหน่อยหรือพิการหรือป่วยเป็นโรคก็จะถูกจับทำด้านถอดเสียบ
อย่าเพิ่งงงนะครับ ถ้วยกระดาษที่ว่าก็คือถ้วยกระดาษรูปกรวย ที่เราเห็นเราใช้กันตามสถานที่ราชการ โรงพยาบาล ธนาคาร ห้างสรรพสินค้านั่นแหละครับ วันๆ พวกเรา นปช.และผู้ต้องขังคนอื่นๆ จะต้องทำ (เรียกว่า “ปั่นถ้วย”) ให้ได้อย่างน้อยวันละ 4-5 กิโลกรัม ถ้านับเป็นใบแล้วก็ประมาณ 2,000-2,500 ใบ (1 กิโลกรัม ประมาณ 500 ใบ) ทำไม่เสร็จโดนเฆี่ยนครับ หรือทำไม่ทันก็ต้องจ้างเค้า หรือตัดยอดงานกับนายที่เป็นหัวหน้ากองงานอยู่ โดยจ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1,000 บาทโดยประมาณ หรือคิดเป็นบุหรี่ก็เดือนละ 2 แถว (20ซอง) จ่ายแล้วก็เดินเซิ้งได้เลยครับ ไม่มีจี้ ไม่มีเรียก หรือวุ่นวายใดๆ เพื่อนๆ เราบางคนที่พอจะมีทุนทรัพย์อยู่บ้างก็จะจ่ายครับ โธ่ ใครจะไปทนไหว นั่งหลังขดหลังแข็งแต่เช้าทุกวัน ยังไงก็ไม่ไหว หลายครั้งที่ได้ไปเยี่ยมเพื่อนๆ มีหลายคนบอกว่าต้องรีบกลับไปปั่นงานต่อ คำว่าปั่นงานก็นี่แหละครับ ออกมานานกลับไปไม่ทัน บางทีเพื่อนๆ มาเยี่ยมกันด้วยน้ำใจลืมซื้อของฝาก พอเรากลับแดนก็ต้องหานมไปจ้างงานออก ลำบากแท้จริงๆ
นอกจากนี้ยังมีกองงานเย็บรองเท้าที่ต้องรับยอดเต็มวันละ 13-15 คู่ครับ คู่นะครับไม่ใช่ข้าง เวลามาเยี่ยม นปช.ลองให้พวกเขาชูมือให้ดูครับ ถ้ามือเลอะกาวก็มาจากปั่นถ้วย ถ้านิ้วชี้นิ้วกลางเป็นแผลก็มาจากรองเท้าชัวร์ (เย็บรองเท้านิ้วต้องเสียดสีกับด้ายเย็บรองเท้า ในขณะที่ดึงด้ายเข้าออก ดังนั้นนิ้วจึงเป็นแผล)
แล้วสำหรับกองงานที่ไม่มียอดงาน ก็อย่างเช่น กองงานปลั๊กไฟ (จัดเรียงกล่องปลั๊กไฟใส่กล่อง) กองงานโรงเลี้ยง กองงานพัฒนาแดน เหล่านี้ใช้แรงงานอย่างเดียวกครับ แต่ก็งานหนักไม่ใช่เล่น ทั้งนี้ทั้งนั้น จากที่เล่ามาทั้งหมด ตามระเบียบของทางเรือจำ การทำงานของผู้ต้องขังจะไม่มีการบังคับนะครับ ทำด้วยความสมัครใจ ยิ่งโดยเฉพาะผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี ยังไม่ตัดสินที่ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามกฎหมายน่าจะไม่ต้องทำงาน เลยด้วยซ้ำ จุดประสงค์ของการทำงานที่แท้จริงคือ การให้ผู้ต้องขังมีอะไรทำบ้าง จะได้ไม่ต้องคิดมากเรื่องคดีความ แต่ในความเป็นจริงแล้วที่เป็นอยู่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย การทำงานกลับทำให้ผู้ต้องขังมีความเครียดเพิ่มเข้าไปอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้ต้องขังที่ทุกข์ทรมานอยู่แล้วในทุกข์มากขึ้น นี่คือปัญหาที่น่าจะได้รับการแก้ไขโดยด่วนที่สุด ขออีกนิดสำหรับเรื่องผลตอบแทนในการทำงาน จะบอกว่าที่นี่เขามีปันผลให้คนงานด้วยนะครับ เห็นตัวเลขแล้วอย่าตกใจ กองงานเย็บรองเท้าเย็บวันละ 15 คู่ 1 เดือน 4 สัปดาห์ ก็ 300 คู่ (600 ข้าง) ถ้าทำได้เอาไปเลยเดือนละ 95 บาท กองงานปั่นถ้วยปั่นวันละ 5 กิโ (2,500 ใบ) 1 เดือน 4 สัปดาห์ 100 กิโล (250,000 ใบ) ถ้าทำได้เอาไปเลย 90-120 บาท ลองไปเฉลี่ยดูนะครับว่าค่าแรงต่อชิ้นต่อโลเท่าไหร่ และงานที่ทำจำนวนมหาศาลต่อวัน ผลประโยชน์ตกไปอยู่กระเป๋าใคร ขอฝากเอาไว้เป็นข้อมูลให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ด้วยครับ *หมายเหตุ เงินที่ผู้ต้องขังได้รับจากการทำงานในแต่ละเดือน ที่นี่เขาไม่เรียกค่าแรง/ค่าจ้าง แต่เรียก “เงินปันผล”
ติดตามต่อในตอนหน้า