ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เปิดผลวิจัย มัสยิด “แดง” ทอนความรู้สึกรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชี้เหตุรุนแรงที่กรือเซะ-อัลฟุรกอน ขยายความขัดแย้ง เตือนรัฐบาลป้องกันจริงจัง
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
เมื่อเวลา 8.30 วันที่ 27 มกราคม 2555 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์ และมูลนิธิเอเชีย จัดเสวนาหัวข้อสภาวะความเป็นสมัยใหม่ อันแตกกระจาย การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ปาตานี Fragmented Modernites : The Quest of a Social and Cultural History of Patani
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำและนำเสนอบทความหัวข้อ มัสยิด “แดง”: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมมนุษย์ว่า สังคมมลายูมุสลิมยึดมั่นว่า มัสยิดคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด คือ การวิสามัญฆาตกรรมขบวนการต่อต้านรัฐในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และการลอบสังหารผู้กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมิถุนายน 2552 เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐ เนื่องจากมองเห็นว่า ศาสนสถานของพวกเขาไม่ได้รับการเคารพจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ส่งผลให้การต่อต้านรัฐขยายวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้ฝ่ายขบวนการที่อาจดูเหมือนแพ้ในการรบ แต่กลับชนะในแง่ของการสามารถทำให้ชาวมลายูรู้สึกว่า พวกเขาตายอย่างไม่เป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้มีข้ออ้างในการต่อต้านรัฐของฝ่ายขบวนการจนถึงปัจจุบัน
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่เจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวงการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ยังเกิดในหลายพื้นที่ในโลก เช่น ช่วงปี ค.ศ. 2002 ที่มีกระแสการก่อการร้ายทั่วโลก ตำรวจเยอรมันได้เข้าตรวจค้นมัสยิดกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งซ่องสุ่มของผู้ก่อเหตุไม่สงบในประเทศ แต่ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ามองผิดพลาดไป ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมุสลิมเกิดขึ้นทั่วโลก
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อสัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นพื้นที่สังหารหรือถูกทำร้ายโจมตีจากเจ้า หน้าที่รัฐ จนทำให้เกิดความขุ่นเคืองต่อผู้ศรัทธาต่อสถานที่นั้น ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ซึ่งจะส่งผลให้ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานขึ้น
“ผมคิดว่าความรุนแรงต่อศาสนสถานและศาสนบุคคลเป็นความรุนแรงที่กำลังแพร่ ขยายไปอย่างกว้าง และยิ่งทำให้ความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ยืดเยื้อเข้มข้นมากขึ้นและอันตราย ยิ่งขึ้น ผมจึงเสนอให้รัฐบาลตระหนักและแสดงถึงความจริงจังในการป้องกันไม่ให้เกิด เหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก”ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว
ในวันเดียวกัน ยังมีผู้นำเสนอบทความทางวิชาการอีก 9 ชิ้น ได้แก่ นายพุทธพล มงคลวรวรรณ เรื่องปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษย วิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899–1900 (A Modern Gaze, the Imperial Science: the Cambridge Anthropological Survey of Patani, 1899-1900)
นายนิยม กาเซ็ง เรื่องเส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ ปาตานี (A Route to Modernity: A Social History of Modern Roads to Patani) นายมูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง เรื่องการตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรู อิสมาแอล สะปันยัง (2498 - ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่ (Interpreting Modernity: Tuan Guru Ismael Sapanyang, a Traditional Ulama in a Modern Patani Society)
นางสาวทวีลักษณ์ พลราชม และนายวารชา การวินพฤฒ เรื่อง ณ ระหว่างพื้นที่: ประสบการณ์ || อัตลักษณ์ || มุสลิมมะฮฺปัตตานีบนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่ (In-Between Space: Experiences || Identities || the Pattani Women on a Modern Route of Education)
นางสาวอสมา มังกรชัย เรื่อง ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง (The Melayu Police: A Colonial Hybridity of Modernity, a Wounded History, and the Violence) นายบัณฑิต ไกรวิจิตร เรื่อง พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี: วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความ เป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย
นายสะรอนี ดือเระ เรื่อง เสียงเพรียกใหม่: นิตยสารอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลางทศวรรษ 2510 (A New Voice: the Azan Magazine and New Intellectuals in Patani, 1970s) นางสาวปิยะนันท์ นิภานันท์ เรื่อง ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของโรงภาพยนตร์ในสังคม ปาตานี (Illuminating Modernities: a Cultural History of Cinema in the Patani Society)
นายบัญชา ราชมณี เรื่อง โมเดิร์นดิเกมิวสิค: อุตสาหกรรมดนตรีและพัฒนาการของสื่อบันเทิงในปาตานี (Modern Dikir Music: Music Industry and Development of Entertaining Media in Patani)
ส่วนในวันที่ 28 มกราคม 2555 จะมีการนำเสนอบทความทางวิชาการอีก 6 ชิ้น