ก่อนปีใหม่คุณหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โทรมาคุยกับผม เกี่ยวกับการเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของนิติราษฎร์ แต่คุยกันทางโทรศัพท์ก็ไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนกันเป็นสาระสักเท่าไหร่ จนผมมาได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณหมอตุลย์กับผู้สื่อข่าวฝรั่งเศส ที่เกษียร เตชะพีระ แปลลงในมติชน ก็รู้สึกอยากแลกเปลี่ยน แต่การโทรศัพท์ไปคุยกันไม่สามารถลำดับความคิดเห็นได้ชัดเจนเหมือนเขียน หนังสือ จึงขอเขียนเป็นจดหมายเหมือนที่คุณหมอตุลย์กับผมเคยแลกเปลี่ยนความเห็นกันใน คอลัมน์ว่ายทวนน้ำในไทยโพสต์ แต่ตอนนี้ผมเป็นฝ่ายเขียนเอง
ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมอ่านบทสัมภาษณ์แล้ว รู้สึกชื่นชมคุณหมอ ที่กล้าแสดงความเห็นว่า ควรปฏิรูป ม.112 ในประเด็นอัตราโทษและใครก็สามารถกล่าวโทษได้ (แม้คุณหมอจะอ้างว่าไม่ต้องการให้เคลื่อนไหวช่วงนี้เพราะกลัวจะพาลถูกยกเลิก ไป)
คุณหมอยังกล้าพูดในอีกหลายๆ ตอนเช่น
“เอาล่ะสถาบันกษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์อาจไม่ถูกต้องไปทั้งหมด อาจมีบางอย่าง... ไม่ถูกต้อง 100% ดังนั้น ถ้าคุณเลือกหยิบบางอย่างที่ผิดมาลบล้างด้านดีของสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ และผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ยังสำคัญอยู่สำหรับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย”
“ถ้าคนไทยเข้มแข็งพอเหมือนคนฝรั่งเศสหรือคนอังกฤษละก็ โอเค เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ในลักษณะที่แตกต่างจาก เดี๋ยวนี้ แบบเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างเฉียบพลัน”
ผมคิดว่านี่เป็นด้านที่ต้องชื่นชม และเป็นเหตุผลที่ผมให้ความนับถือคุณหมอตุลย์ คือคุณหมอกล้าแสดงความเห็นของตัวเอง แสดงทัศนะที่มองสองด้าน มองข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่แกนนำฮาร์ดคอร์แบบคัดค้านต่อต้านอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ยกแต่ด้านลบมาอ้าง ทำให้มันเป็นสีขาวดำ เพื่อปลุกอารมณ์มวลชน
ฉะนั้นผมหวังว่าคุณหมอจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ให้มวลชนที่ไปร่วมชุมนุม หรือร่วมลงชื่อคัดค้านการแก้ไข ม.112 กับคุณหมอได้อ่านโดยทั่วกัน มีความเข้าใจตรงกัน ว่าที่คุณหมอเป็นผู้นำต่อต้านการแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ต่อต้านแบบหัวชนฝา คุณหมอก็เห็นว่า 112 มีข้อบกพร่อง (และที่สำคัญ คุณหมอก็เห็นความจำเป็นว่าอนาคต เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากเดี๋ยว นี้) แม้เราจะยังมีความเห็นต่างกัน แต่ถ้าทำความเข้าใจได้เช่นนี้ อารมณ์เกลียดชังหรือความเป็นปรปักษ์ระหว่างมวลชนก็จะลดลง นำไปสู่ลู่ทางที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น
เพราะถ้าคุณหมอยอมรับโดยเปิดเผยว่า 112 ควรปฏิรูป เพียงเห็นต่างบางประเด็นและเห็นต่างในเชิง timing คุณหมอและมวลชนของคุณหมอก็ควรจะยอมรับว่าคนที่ต้องการแก้ไข 112 ก็ไม่ใช่พวกที่ต้องการ “ล้มเจ้า” ไปเสียหมด แต่เราอาจมองการ “รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้” ในลักษณะที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่นผมอาจมองว่าใกล้ถึงเวลาแล้วที่เราควรรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ในลักษณะเดียวกับอังกฤษ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้สถาบันยิ่งเผชิญแรงต้านมากขึ้น แต่คุณหมอมองว่าในสภาพที่ประชาชนถูกนักการเมืองหลอกใช้ ยังจำเป็นต้องรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในลักษณะปัจจุบัน
โครงสร้างทางกฎหมาย
ประเด็นถัดมาผมอยากฝากคุณหมอคือ ผมหวังว่าคุณหมอจะทำความเข้าใจกับมวลชน ว่านิติราษฎร์ได้เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร แล้วคุณหมอจะแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร ก็เป็นสิทธิของคุณหมอและมวลชน
สาระสำคัญในการแก้ไขของนิติราษฎร์ ที่จริงก็ตรงกับความเห็นคุณหมอทั้ง 2 ประเด็นคือ ลดอัตราโทษ และป้องกันไม่ให้ใครก็เดินไปแจ้งความกล่าวโทษได้ แต่แน่นอน เรามีส่วนที่ต่าง อย่างเช่น คุณหมอเห็นว่าบางกรณีที่เป็นการกล่าวเท็จให้ร้าย โทษควรจะสูงกว่าสิบปีด้วยซ้ำ
ทัศนะแตกต่างข้อสำคัญคือ ทัศนะต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งนิติราษฎร์เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงของชาติ เพราะถ้าเรายังอยู่ในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ แน่นอน การหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ แต่นี่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 79 ปีแล้ว การหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอีกต่อไป เพียงแต่รัฐต้องให้ความคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง เราจึงมีความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับที่มีความผิดฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี ก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดี ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ ก็ล้วนมีความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่มีโทษเบา และบางประเทศเช่นอังกฤษก็มีแต่ไม่ใช้เลย เพราะเขาปรับทัศนะไปอีกขั้นหนึ่งว่า ราชวงศ์เป็นบุคคลสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย
ฉะนั้น ในด้านหนึ่งเรายืนยันได้ว่า นิติราษฎร์ไม่ได้มุ่งหวังเสนอแก้ไข 112 เพื่อนำไปสู่การยกเลิก เพราะนิติราษฎร์ยึดหลักกฎหมาย ตราบใดที่ยังมีความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เราจะยกเลิกความผิดฐานหมิ่นพระมหากษ้ตริย์ไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ซึ่งมีโทษสูงกว่าดูหมิ่นคนธรรมดา เราจะให้ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์มีโทษเท่ากับหมิ่นคนธรรมดาไม่ได้ มันขัดแย้งกับระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่
ในอีกด้านหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เสนอแก้ไข 112 โดยมีการแยกแยะความผิด แยกแยะตำแหน่ง และลดอัตราโทษลงให้สมควรแก่เหตุ เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามีโทษสูงสุดเพียงจำคุก 1 ปี ความผิดฐานดูหมิ่น ขู่เข็ญ ตามมาตรา 392,393 เป็นความผิดลหุโทษ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน แต่ 112 เอาความผิดทั้ง 3 มาตรามารวมกัน กำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี สูงกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 15 เท่า สูงกว่าดูหมิ่นบุคคลธรรมดา 180 เท่า
เมื่อใช้หลักความสมควรแก่เหตุประกอบกับอุดมการณ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” นิติราษฎร์จึงเสนอให้กำหนดโทษหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งสูงกว่าคนธรรมดา 2 เท่า และถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
แน่นอนว่านี่คงไม่ตรงใจคุณหมอ ที่ให้ลงโทษรุนแรงแก่ผู้กล่าวความเท็จ แต่ผมมองต่างมุมว่า การลงโทษรุนแรงกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 15 เท่า ไม่ได้เป็นสิ่งเสริมพระเกียรติ แต่กลับทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทางสากล ดังที่ปรากฏแล้ว และในความเป็นจริง ผู้ที่ต้องคำพิพากษาก็มักได้รับพระราชทานอภัยโทษ
ประเด็นอัตราโทษยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ ซึ่งพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ. 118” ที่ตราขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.5 ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 จึงบัญญัติโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี อัตราโทษนี้ใช้มาถึง 70 ปี จนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 ก็ไม่เปลี่ยนแปลง มาเปลี่ยนแปลงเอาเมื่อปี 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เพิ่มโทษเป็น 3-15 ปี
ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยกับคุณหมอที่บอกว่า สาเหตุมาจากคอมมิวนิสต์พยายามล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จนทำให้เกิดเผด็จการ เพราะเผด็จการครั้งนั้นเกิดขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการตกแต่งภาพละครแขวนคอ อ้างสถาบันปลุกปั่นให้เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่โหด เหี้ยมอำมหิตที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ภาพ “เก้าอี้” ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ภาพช็อกโลกจนบัดนี้
อัตราโทษที่กำหนดไว้ใน ม.112 ปัจจุบันจึงเป็นมรดกของเหตุการณ์อัปยศ เป็นมรดกของการแปลงสถาบันเป็นอาวุธ ปลุกให้คนบ้าคลั่งจนลืมความมนุษย์ เป็นตราบาปของเมืองไทยเมืองพุทธ ที่ลบล้างไม่ออกจนปัจจุบัน
นอกเสียจากอัตราโทษที่คงไม่ถูกใจคุณหมอ นิติราษฎร์ได้แก้ไข 112 ตามหลักกฎหมายทุกประการ
ประการแรกคือ ถอดมาตรา 112 ออกจากความผิดต่อความมั่นคง ไปบัญญัติเป็นลักษณะความผิดต่อพระเกียรติ เพราะการที่ ม.112 เป็นความผิดต่อความมั่นคง ทำให้ประชาชนคนใดก็แจ้งความกล่าวโทษได้ และเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ ที่จะดำเนินคดี เรื่องที่คุณหมอเสนอให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง แม้รัฐบาลอาจใช้อำนาจบริหารสั่งการให้ตั้งขึ้น ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย หากมีผู้ไปกล่าวโทษแล้วตำรวจ อัยการ ยืนยันจะดำเนินคดี เขาก็มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น และอ้างได้ว่าหากไม่ทำคือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
นิติราษฎร์จึงเสนอให้แยก ม.112 ออกมาเขียนใหม่ เป็นความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พร้อมกับเสนอให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ
ประเด็นนี้บางคนคัดค้านว่าเป็นการดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ความจริงไม่ใช่นะครับ คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด สำนักราชเลขาธิการไม่ได้เป็นหน่วยงานส่วนพระองค์ ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม 2545 สำนักราชเลขาธิการมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักพระราชวัง (แต่ที่ คอป.เสนอให้สำนักพระราชวังกล่าวโทษเนี่ย มั่วนะครับ เพราะ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ระบุว่า “สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ สำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์” สรุปคือสำนักพระราชวังส่วนใหญ่จะดูแลเรื่องอาคารสถานที่)
ประการที่สอง นิติราษฎร์ได้แยกฐานความผิดตามมาตรา 112 เป็น 4 ฐาน 4 มาตรา ตามลักษณะของความผิดและตามตำแหน่งของผู้ถูกหมิ่นพระเกียรติ
ความผิดต่อบุคคลธรรมดา แยกเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามมาตรา 392 ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา มาตรา 393 กับใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ตามมาตรา 326
การที่กฎหมายอาญาแยกเช่นนี้เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นหนักเบาต่างกัน (เช่น มีคนไปตะโกนด่าคุณหมอด้วยถ้อยคำหยาบคาย กับมีคนกล่าวหาเป็นตุเป็นตะว่าคุณหมอฉ้อโกงเงินของโรงพยาบาล อย่างหลังร้ายแรงกว่า) แต่ 112 รวมมิตรเป็น “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย” โดยไม่แยกแยะ แม้แต่คำพิพากษาของศาลก็ไม่แยกแยะ ว่านี่เป็นดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท
นิติราษฎร์จึงแยกเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท กับความผิดฐานดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย อย่างแรกถ้ากระทำต่อพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 2 ปี อย่างหลัง 1 ปี ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพิ่มโทษจำคุก 3 ปี
นิติราษฎร์ยังแยกความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ ออกจากความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งนิติราษฎร์ไม่ได้แยกเองหรอกครับ แต่อิงมาตรา 107-110 ที่แยกความผิดฐานปลงพระชนม์ และประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ ปลงพระชนม์ และประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จฯ ออกเป็น 4 มาตรา โดยมีโทษหนักเบาต่างกัน นิติราษฎร์จึงเห็นว่าความผิดฐานหมิ่น ก็ต้องแยกเช่นกัน
การแยกความผิดเป็น 4 ฐานมีเหตุผลนะครับ และผมคิดว่าใครก็โต้แย้งในเชิงเหตุผลลำบาก
ประการที่สาม นิติราษฎร์ ได้เพิ่มมาตรายกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ เช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 326 ซึ่งมีมาตรา 329 ยกเว้นความผิด และมาตรา 330 ยกเว้นโทษ โดย 2 มาตรานี้ระบุว่า
“ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด”
“ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความ จริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”
เสรีภาพความเห็นเพื่อใคร
คุณหมอจะเห็นได้ว่า การแก้ไข 112 ไม่ได้ปล่อยให้ใช้ถ้อยคำจ้วงจาบหยาบช้าต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ปล่อยให้ติฉินนินทาเรื่องส่วนพระองค์ แต่มุ่งยกเว้นการแสดงความคิดเห็นเพื่อ “รักษาระบอบ” เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ปลายปีที่ผ่านมา คดีอากงได้จุดกระแสรณรงค์เรื่อง 112 ขึ้นสูงและร้อนแรง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราเห็นว่า การส่ง SMS ใช้ถ้อยคำจ้วงจาบไม่เป็นความผิด ปัญหาในคดีนี้คือสาธารณชนไม่สิ้นสงสัยว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริงหรือ ซึ่งมันสะท้อนอุดมการณ์ของการบังคับใช้ 112
ประเด็นสำคัญของการแก้ไขมาตรา 112 อยู่ที่การเปิดให้มีเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นได้หลากหลาย เพราะการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่ผ่านมาถูกผูกขาดไว้ให้ต้องยกย่องสดุดีในแบบพิมพ์เดียว ใน pattern เดียว
นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบด้วยซ้ำนะครับ เอาแค่การยกย่องสดุดี ผมก็มองว่ามี pattern เดียว ใครจะสดุดีแบบคิดนอกกรอบ ก็กลัวถูกพวกหัวเก่าหาว่าไม่เหมาะสม ยกตัวอย่าง เพลงสรรเสริญสมัยก่อนก็ซ้ำกันอยู่นั่นแหละ กว่าจะกล้าเปลี่ยนมาเป็นของพี่เบิร์ด ถึงค่อย Pop ขึ้นหน่อย
บางคนอ้างว่าถ้าไม่อยากด่าเจ้าทำไมต้องแก้ไข แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมาคือ แม้แต่การท้วงติง การแสดงความเห็นด้วยความปรารถนาดี พูดเพื่อให้สถาบันเป็นที่รักเคารพของประชาชนตลอดไป ก็ยังไม่สามารถทำได้ เราไม่สามารถพูดได้ว่า ปรากฏการณ์บางอย่างอาจส่งผลให้ผู้คนที่แตกแยกกันอยู่หวาดระแวงว่าสถาบันจะ ไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะขืนพูดไป ศาลก็อาจบอกว่าสถาบันอยู่เหนือการเมือง คุณพูดอย่างนั้นไม่ได้ คุกไปซะ 5 ปี
คุณหมอยกพระราชดำรัสในหลวงมากล่าวว่า พระองค์อาจทรงทำผิดพลาดและอาจถูกวิจารณ์ได้ แต่ในความเห็นคุณหมอ คำวิจารณ์จะต้องมีเหตุผล ไม่ใช่กล่าวเท็จหรือพยายามปลุกกระแสเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน หากคำวิจารณ์มีเหตุผล คุณหมอก็เห็นด้วย หากต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะไม่ถูกลงโทษหรอก สามารถชี้แจงผู้พิพากษาได้
เรียนคุณหมอ ผมก็อยากวิจารณ์อย่างมีเหตุผล แต่ผมไม่กล้า เชื่อว่าอีกหลายคนก็ไม่กล้า ในเมื่อยังมีโทษจำคุก 3-15 ปี ในเมื่อใครก็แจ้งความกล่าวโทษได้ ในเมื่อถูกกล่าวหาแล้วส่วนใหญ่จะไม่ได้ประกัน ในเมื่อการใช้และการตีความ 112 ของศาลยังอยู่ใต้อุดมการณ์ “เทวราชา” ที่ถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แตะต้องไม่ได้แม้แต่น้อย
คูณหมออาจจะบอกว่าทองแท้ไม่กลัวไฟ ถ้าเจตนาดีจริงต้องไม่กลัวถูกแจ้งจับ แต่การพิสูจน์อย่างนั้นต้องสู้คดี 3 ศาลอยู่ในคุก 5-6 ปี ใครจะอยากลองครับ
โธ่ ต่อให้แก้ 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์ทันที ผมก็ยังไม่กล้าวิจารณ์หรอก ให้ลดโทษเหลือคุก 1-2 ปี ผมก็ไม่เสี่ยง เพราะปัญหาเชิงอุดมการณ์ในการใช้และตีความยังมีอยู่ แต่ถ้าเราแก้ไขได้ กำหนดให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดได้ ยกเว้นโทษได้ มันก็จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การค่อยๆ เปลี่ยนแปลง (แต่ให้คนอื่นลองก่อนนะ ผมมิกล้า แหะแหะ)
ที่ผ่านมาสถาบันจึงดำรงอยู่อย่างไม่กล้ามีใครแสดงความคิดเห็น ที่ต่างจากความเห็นกระแสหลัก ที่เป็น “สูตรสำเร็จ” ว่าด้วยการสดุดีลูกเดียว คนกล้าวิจารณ์มีนับหัวได้ ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะมี ส.ศิวรักษ์ เหลืออยู่หัวเดียว (ที่เหลือหดหัวไปอยู่ในวิกิลีกส์)
ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมของโลก เข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ของหม้อต้มไอน้ำ ก็น่าจะมองเห็นได้ว่า ที่คดี 112 มีจำนวนมากมายใน 5 ปีของวิกฤติการเมือง เป็นเพราะกรอบอุดมการณ์ที่ห้ามแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่เอง
ปัญหามันเริ่มต้นจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างอิงสถาบัน แล้วก็กล่าวหาด่ากราดฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดี พอฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ แน่นอนมันก็มีบางคนตอบโต้ด้วยอารมณ์ ข้อกล่าวหาก็เพิ่มเป็น “ล้มเจ้า” คราวนี้สถาบันก็ตกเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง ด้วยความที่สังคมไทยห้ามแสดงความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายที่ต้องการท้วงติงด้วยความปรารถนาดี ต้องการพูดอย่างมีเหตุผล ก็ไม่สามารถแสดงออกได้ ฝ่ายที่แสดงออกได้อย่างเปิดเผยเมามัน คือฝ่ายที่อ้างสถาบันไปทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขณะที่อีกฝ่ายก็ซัลโวเต็มที่ทางใต้ดิน จริงบ้าง เท็จบ้าง มีเหตุผลบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่มีใครกลั่นกรองได้
สถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการบอกว่า ช่วยกันเทิดทูนสถาบันกลับไปอยู่เหนือความขัดแย้ง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เราต้องแก้เงื่อนปมอีกหลายประการ ขั้วอำนาจต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้ง ต่างก็ยังอ้างสถาบันอยู่ เห็นได้ชัดที่สุดคือ กองทัพ เราจำเป็นต้องพูดกันให้ชัดเจนถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องเปิดกว้างเพื่อพูดถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง เชิงระบอบ นี่ต่างหากคือสาเหตุที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เสรีภาพเพื่อจะใช้วาจาจ้วงจาบหยาบช้า
พระบารมีส่วนพระองค์
คุณหมอกล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าคนไทยเข้มแข็งพอเหมือนคนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ในลักษณะที่แตกต่างจาก เดี๋ยวนี้ แต่ขอให้เปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างฉับพลัน
ถ้อยคำนี้ผมขอสรุปว่า คุณหมอยอมรับว่าสักวันหนึ่งเราอาจเปลี่ยนไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ แบบอังกฤษ เพียงแต่จังหวะเวลายังไม่เหมาะสม (คนไทยยังโง่อยู่)
ที่จริงมันก็มีคำถามเหมือนกันว่า เอ๊ะ แล้วระบอบที่เราดำรงอยู่ ในสายตาคุณหมอ เป็นระบอบอะไร ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญจริง หรือ
แต่ช่างเถอะ ขอข้ามไป ฝากไว้เป็นการบ้าน ประเด็นสำคัญกว่าคือ ถ้าคุณหมอเห็นอย่างนี้แล้ว สมมติผมบอกว่า ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นแบบอังกฤษ ผมก็ไม่ผิดใช่ไหมครับ ผมไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า” และผมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นเต็มที่ใช่ไหมครับ
ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะพวกรอแยลลิสต์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่า ข้อเรียกร้องให้เป็น “แบบอังกฤษ” แตกต่างจาก “ล้มเจ้า” ใครเรียกร้องอย่างนี้เผลอๆ จะโดนข้อหา “ปฏิญญาฟินแลนด์” ต้องการทำให้สถาบันเป็นเพียงสัญลักษณ์
แต่ถ้าคุณหมอแยกแยะทำความเข้าใจ คุณหมอจะพบว่าคนที่ต้องการให้เป็นแบบอังกฤษมีมากกว่า เพราะยังไงเราก็เป็นคนไทยที่เกิดและเติบโตมาอย่างคุ้นเคยกับสถาบันพระมหา กษัตริย์ ขณะเดียวกัน พวกที่ “นิยมสาธารณรัฐ” ในเชิงอุดมการณ์เขาอาจต้องการอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเราไปสู่ “แบบอังกฤษ” ได้ ผมก็เชื่อว่าพวกเขายอมรับได้ ไม่มีปัญหา และไม่สามารถมีอิทธิพลมากมายอะไร
ดูอย่างอังกฤษสิครับ อังกฤษเปิดให้พวก Republic เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ก็ไม่เห็นทำอะไรได้ นั่นคือการตีความ “ประชาธิปไตย” แบบอังกฤษ คือคนส่วนใหญ่ยังรักยังนิยมราชวงศ์ แต่ใครไม่รักไม่ชอบไม่มีความผิด แถมมีสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอรูปแบบการปกครองอีกแบบ
สำหรับประเทศเรา ขอแค่ยอมรับว่าคนที่เรียกร้องให้เป็นแบบอังกฤษ ไม่ได้ผิดอะไร เป็นพวกสมองปลายเปิด ไม่ควรไล่ไปอยู่ต่างประเทศ (เอ๊ะ ยังไงแน่) แค่นั้นผมก็ว่าดีแล้ว แล้วเราก็มาถกเถียงกันสิว่า ตรงไหนคือ timing ที่ควรจะเป็น และจะเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างไร
คุณหมออ้างว่าอุปสรรคสำคัญคือทักษิณ ผู้ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ก็เพื่อสนับสนุนทักษิณ คุณหมอพูดทำนองว่าทักษิณต้องการเป็นหมายเลขหนึ่งในเมืองไทย ทักษิณและเสื้อแดงคิดเรื่องประชาธิปไตยบริสุทธิ์หรือเบ็ดเสร็จโดยปราศจาก สถาบันกษัตริย์มากขึ้นทุกที (ที่จริงประชาธิปไตยบริสุทธิ์กับเบ็ดเสร็จนี่คนละอย่างกัน แต่เอาเหอะ)
ผมว่าคุณหมอมองทักษิณผิดไป ทักษิณไม่ได้มีอุดมการณ์ขนาดนั้น และไม่ได้โง่ขนาดนั้น ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่เคยมีใครโง่ขนาดทำลายสถาบันเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ แต่ผู้เดียว ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปี 2490 มาถึงขณะนี้มีแต่การห้อยโหนอ้างอิงสถาบันเพื่อให้ตนเองมีอำนาจและผลประโยชน์
ที่จริงคุณหมอก็น่าจะเข้าใจสถานการณ์เหมือนผม หรือเหมือนคนที่สนใจการเมืองทั่วไป ว่าจริงๆ แล้วก่อนรัฐประหาร 49 ทักษิณไม่ได้ต้องการล้มสถาบันหรอก จริงๆ ทักษิณก็อยากโหนสถาบัน เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจยาวๆ เพียงแต่โหนไม่สำเร็จ ถูกฝ่ายตรงข้ามถีบออกมาก่อน ถ้าทักษิณโหนสำเร็จ สนธิ ลิ้ม แกนนำพันธมิตรทั้งหลาย ป่านนี้อาจจะกลายเป็นฝ่ายเข้าคุกระนาวเพราะ 112 ก็เป็นได้
คำถามคือทักษิณเลิกความพยายามไปแล้วหรือไม่ ผมฝากให้คุณหมอไปคิดวิเคราะห์เอง ให้ทุกคนไปคิดวิเคราะห์เองว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร
แต่ที่แน่ๆ คือการเคลื่อนไหวแก้ 112 ของนิติราษฎร์ครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทักษิณ เพราะเอาไว้คุณหมอดูรายชื่อผู้ที่ร่วมเสนอแก้ไขก็คงเห็นได้ว่ามีคนจำนวนไม่ น้อยที่ต่อต้านทักษิณ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่เสื้อแดง หรือถ้าคุณหมอจะมองว่าตกเป็นเครื่องมือทักษิณ อ.ไชยันต์ ไชยพร ที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เมษา มาแล้วก็ยังเห็นว่าควรยกเลิก 112
ผมเห็นด้วยกับคุณหมอที่บอกว่า “ทางแก้ปัญหานี้คือต้องเปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นแบบนั้นเลย อย่างในการสัมมนาครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีกลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การพูดคุยกันอย่างสันติ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย”
ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า ตอนที่นิติราษฎร์เสนอประเด็น 112 ครั้งแรกนั้น คุณหมอกล้าหาญมากที่ไปร่วม แต่ก็มีอุปสรรคเพราะมวลชนที่เข้าร่วมเต็มไปด้วยอารมณ์ จนไม่มีโอกาสให้คุณหมอได้ตั้งคำถามให้นิติราษฎร์ชี้แจงด้วยเหตุผล
ผมจึงหวังว่าหลังการเสนอแก้ไข 112 ของนิติราษฎร์ จะมีการจัดเวทีวิชาการ พูดคุยเสวนาระหว่างฝ่ายต่างๆ ถึงทัศนะที่เหมือนหรือต่างต่อ 112 ต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเคยเขียนไปแล้วว่าอยากให้มี forum ที่เชิญทุกฝ่ายตั้งแต่นิติราษฎร์ สยามสามัคคี อดีตนายกฯอานันท์ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ หรือ คอป. มาพูดคุยกัน โดยไม่มีมวลชนข้างหนึ่งข้างใดเข้ามาทำให้เสียบรรยากาศ
ประเด็นที่ผมอยากฝากมากที่สุด คือคำกล่าวของคุณหมอที่ผมยกมาข้างต้น ซึ่งกล่าวทำนองว่าประชาชนยังไม่เข้มแข็ง ยังถูกนักการเมืองหลอกใช้ เราจึงจำเป็นต้องรักษาสถาบันไว้ในรูปแบบที่เป็นอยู่
อันที่จริงเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาเชิงทฤษฎี เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงพ้นไปจากการเมือง
แต่ช่างเหอะ ผมไม่จ้องจับผิดถึงขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ผมอยากเตือนมากกว่าว่า สิ่งที่เราพูดถึงกัน ที่คนชั้นกลางคนกรุงหวังพึ่งพิง ไม่ใช่ตัวสถาบันที่เป็นโครงสร้างนะครับ คำว่า “เรารักในหลวง” สะท้อนชัดเจนว่าเป็นพระบารมีส่วนพระองค์
ฉะนั้น ผมจึงอยากแลกเปลี่ยนกับคุณหมอมาก อยากหาเวลาคุยกันที่ไม่ใช่ทางมือถือ ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขอแสดงความนับถือ
ใบตองแห้ง
12/01/2012