ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 29 January 2012

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: พัดลมนิติราษฎร์

ที่มา ประชาไท

สถานการณ์วันนี้ ดูเหมือนถ้าใครไม่รุมกระทืบนิติราษฎร์ ก็จะกลายเป็นตกกระแส ไม่ทันแฟชั่น เอาเป็นว่าแม้แต่ออเหลิม ยังอัดนิติราษฎร์ว่าคิดสุดโต่ง ทำบ้านเมืองวุ่นวาย กินยาผิดซอง คิดว่าตัวเองหล่อ ฯลฯ ขณะที่ยิ่งลักษณ์ก็บอกปัดว่าอย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับเรื่องแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ

แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับ พูดกันเข้าไปเหอะ จะได้ชัดเจนว่าทุกฝ่ายไม่สนับสนุนนิติราษฎร์ เหลือแต่มวลชนจริงๆ ที่สนับสนุนนิติราษฎร์ ฉะนั้นคนที่จะร่วมลงชื่อแก้ ม.112 ก็จะเป็นมวลชนที่เข้าใจและเชื่อถือ อ.วรเจตน์มากกว่านักการเมืองอย่างออเหลิม ใจผมอยากให้ทักษิณโฟนอินมาขอร้องคนเสื้อแดงไม่ให้ลงชื่อกับนิติราษฎร์ด้วย ซ้ำ จะได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามวลชนพร้อมจะ “ก้าวข้าม” ทักษิณหรือไม่

รีบๆ ทำนะครับ เพราะถึงอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามเขาก็จะกล่าวหาว่าทักษิณและ นปช.แอบสนับสนุน ล่ารายชื่อให้นิติราษฎร์อยู่ดี
ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่นักการเมืองอย่างออเหลิม เสธหนั่น ออกมาด่าทอนิติราษฎร์ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย “เกี้ยเซี้ย” กันชั่วคราว แบบกึ่งจับมือ กึ่งแย่งยื้ออำนาจ มหาภัยน้ำท่วมใหญ่ทำให้ทั้งทุนเก่าทุนใหม่ กลัวต่างชาติถอนการลงทุน จึงต้องพักรบมาร่วมมือกัน แบบมือหนึ่งประสานกัน อีกมือหนึ่งไขว้มีดไว้ข้างหลัง
วิสัยนักการเมืองเมื่อเล็งเห็นว่าจะได้อยู่ในอำนาจยาว ได้เสวยผลประโยชน์อำนาจวาสนา ก็อยากจะให้สภาพแบบนี้ดำรงอยู่นานๆ ไม่อยากเห็น “บ้านเมืองวุ่นวาย” พรรคเพื่อไทยอาจต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจมากขึ้น แต่วิธีแสวงหาอำนาจของนักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งกติกาแต่อย่างเดียว พวกเขายังแสวงอำนาจได้ด้วยพวกพ้อง ผลประโยชน์ อิทธิพล ที่จะเอาไว้ใช้ต่อรองกับขั้วตรงข้าม
ฉะนั้น เมื่อนิติราษฎร์เป็นหัวหอกของพลังที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ไปกระทบสถานภาพของนักการเมืองที่กำลังจะ “เข้าที่เข้าทาง”
เรื่องโจ๊กปนสังเวชคือ พรรคประชาธิปัตย์ดันออกมาค้านโมเดลคณะจัดทำรัฐธรรมนูญ 25 คนของนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้จัดโควตาจากสภาผู้แทนราษฎร 20 คน จาก สว.เลือกตั้ง 3 คน และจาก สว.สรรหา 2 คน
สกลธี ภัททิยะกุล ลูกชาย คมช.อ้างว่าเป็นการล็อกสเปกให้พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมาก ขณะที่จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อ้างว่าต้องการให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อล้างผิดให้ทักษิณ
ผมไม่แปลกใจที่พรรคเพื่อไทยค้าน เพราะโมเดลนี้แปลว่ารัฐบาล 300 เสียงจะมีตัวแทนในคณะร่างรัฐธรรมนูญแค่ 12 คน ต้องไปลุ้นใน สว.เลือกตั้งว่าจะได้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามากี่คน แต่ถ้าเลือกตั้ง สสร.77 จังหวัด ตามโมเดลของออเหลิม รัฐบาลกวาดมาแหงๆ เกินครึ่ง พอมาเลือก สสร.วิชาชีพอีก 22 คน รัฐบาลก็ล็อกสเปกได้เกือบหมด
คอลัมนิสต์หัวสีบางรายด่านิติราษฎร์ว่า จะให้ตัวแทนนักการเมืองเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง โห ทำข่าวมาจนหัวหงอกหัวดำกันแล้ว ทำไมยังไร้เดียงสา คิดว่าเลือก สสร.แล้วจะได้ตัวแทนประชาชนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่หรือ (หรือแกล้งไร้เดียงสา) สื่อพวกนี้สมองคิดเป็นแต่ว่า ไม่ควรให้นักการเมืองร่างรัฐธรรมนูญ ต้องให้รัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญ
ถ้ามองตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงสังเวชพรรคแมลงสาบว่า นิติราษฎร์โมเดลอุตส่าห์วางหลักประกันไม่ให้เสียงข้างมากฮุบหมด ก็ยังโดน ปชป.ด่า นิติราษฎร์โมเดลรับประกันว่า ปชป.มี ส.ส.159 คน จะมีตัวแทนอย่างน้อย 6 คน ฝ่ายค้าน 200 คน จะมี 8 คน แถมยังมีตัวแทนอำมาตย์จาก สว.สรรหาอีก 2 คน ที่เหลือไปวัดใจกันใน สว.เลือกตั้ง ขนาดนี้ก็ยังโดน ปชป.ด่า
แมลงสาบแพ้เลือกตั้ง แมลงสาบก็ต้องมีเสียงน้อยกว่าอยู่แล้ว มาโวยวายได้ไงว่าให้เพื่อไทยได้เสียงข้างมาก หรือต้องออกแบบให้แมลงสาบมีตัวแทนมากกว่า ถึงจะพอใจ
โมเดลนี้ผมรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีใครยอมรับหรอกครับ แม้แต่มวลชนเสื้อแดง แต่คอยดูเถอะ หลังเสียเงินเลือกตั้ง 2 พันล้าน เสียเวลาเพิ่ม 3-4 เดือน เราก็จะได้ สสร.ออกมาในสัดส่วนคล้ายๆ กัน เผลอๆ รัฐบาลจะฮุบได้มากกว่าด้วยซ้ำ
จรรยานักวิชาการ
ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ อ.วรเจตน์ ถูกพาดพิงว่า “เนรคุณทุนอานันท์” เพราะก่อนหน้านี้ วรเจตน์เคยกล่าวว่านักกฎหมายมหาชนถ้ายอมรับรัฐประหารก็เท่ากับศีลขาด ต้องอาบัติปาราชิก
ใครเนรคุณ ใครปาราชิก วรเจตน์กับบวรศักดิ์รู้แก่ใจดี
บวรศักดิ์รับใช้รัฐบาลทักษิณมาก่อน บวรศักดิ์-วิษณุ เป็นคู่หูเนติบริกรที่ร่างและตีความกฎหมายสนองอำนาจ “ทุนผูกขาด” (อย่างที่พวกสยามประชาภิวัฒน์เขาเรียก) ยกตัวอย่างเช่น บวรศักดิ์เป็นเลขาธิการ ครม.เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ให้องค์ประชุมคณะรัฐมนตรีมีเพียง 1 ใน 3 และให้นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 1 คนขึ้นไปออกมติ ครม.ได้ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นฉุกเฉิน
ครั้งนั้น ผมสัมภาษณ์วรเจตน์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2548 วิพากษ์ “พรฎ.กึ่งประธานาธิบดี” ว่าเป็นการตีความแบบศรีธนญชัยที่ว่าไม่เคยมีกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุม ครม.ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอยู่ในสามัญสำนึกของผู้คน องค์ประชุมระดับบริษัท ระดับหมู่บ้าน ไปถึงระดับชาติ อย่างน้อยต้องเกินกึ่งหนึ่ง
วรเจตน์ยังกล่าวคำคมไว้หลายตอน ที่ย้อนอ่านแล้วผมอึ้ง เช่น
"แน่นอนว่าวันนี้เราไปได้ แต่วันหนึ่งระบบอย่างนี้มันอาจจะไปไม่ได้เสมอ เป็นจุดซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะหันมาเห็นด้วยกับฝ่ายข้างน้อยวันนี้ แล้วเมื่อวันนั้นอำนาจอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในวันนั้นเป็นข้างน้อยไปแล้วล่ะ น่าวิตก วันนี้มันยังไม่เป็นอะไร มันก็อยู่กันไป อย่างผมเป็นฝ่ายข้างน้อยอยู่เนืองๆ ผมก็รับสภาพไป อย่างเรื่องนี้อีกไม่กี่วันมันก็สลายไปกับสายลม ไม่มีใครพูดถึง แต่หลักกฎหมายได้ถูกกัดเซาะ ผมถึงบอกว่ามันมีบาดแผลเพิ่มขึ้นอีกบาดแผลหนึ่ง ทิ้งริ้วรอยความบอบช้ำให้กับกฎหมายไทย จนถึงวันหนึ่ง เมื่อสภาพเสียงมันเปลี่ยนและอำนาจอยู่ในมือฝ่ายข้างน้อย มันมีแรงกดดันแบบนั้นแล้วยังไม่ทำอะไรอีก มันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกระบบกฎหมายเข้ามา ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้นในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบโดยสันติ"
"ตอนกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ มีคดีท่านนายกฯ ทักษิณ ผมพูดในรายการยูบีซี ผมบอกว่าคดีซุกหุ้นมันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศลงไปในวันนี้หรอก เรื่องในทางกฎหมายที่หลักมันผิดมันเพี้ยนไป มันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศไปหรอก แต่มันจะค่อยๆ กัดเซาะกัดกร่อนไป รากฐานการปกครองโดยเอากฎหมายเป็นกติกาของสังคม มันจะไม่หยั่งลึกลงไป มันจะอ่อนแอ ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือมันจะไม่แข็งแรง มันมีโรคมันถูกชอนไชตลอด มันอาจจะไม่ตายแต่ไม่โตไม่งอกงาม ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แทนที่ไม่โตไม่งอกงาม มันจะตายด้วย ผมบอกว่าไม่ต้องตกใจหรอกที่ผมออกมาพูดอย่างนี้ บ้านเมืองไม่พังไปในวันสองวัน แต่ผมเตือนเอาไว้ว่ามันทำให้การปกครองโดยนิติรัฐของเราหยั่งลึกลงไปไม่ได้”
ก่อนรัฐประหาร ไม่ทราบว่ามีการส่ง sign อะไร วิษณุ-บวรศักดิ์ ลาออก โดดหนี “เรือโจร” ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานาน แล้วหลังการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บวรศักดิ์ร่างมากับมือ บวรศักดิ์ก็ไปเป็น สนช.พร้อมกับสะด๊วบตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร ลาออกไปเป็นประธาน สสร. ต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง สนช.ก็ผ่านร่างสภาพัฒนาการเมือง ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยมีเงินอุดหนุน
ตอนนั้นเครือข่าย NGO พวกคุณรสนา คุณสารี อ๋องสมหวัง คุณสมชาย หอมละออ รวมทั้งหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยมีหลายสาเหตุ แต่ประเด็นหนึ่งคือมีผลประโยชน์ทับซ้อน
“การแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ในการทำหน้าที่ไม่มีความ เหมาะสม ขาดความชอบธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ เป็นประธาน สนช. ด้วย ในขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาพัฒนาการเมืองของ สนช. มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคนแรก และเลขาธิการคนปัจจุบันของสถาบันพระปกเกล้า และยังมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในขณะเดียวกันเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ของสถาบันพระปกเกล้าอยู่ด้วย รวมทั้งกรรมาธิการส่วนใหญ่ชุดนี้เคยได้รับการอบรมและมีความใกล้ชิดกับสถาบัน พระปกเกล้ามาก่อนด้วย ดังนั้น การที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และบรรดาผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นกรรมาธิการ วิสามัญฯ ทำการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระปกเกล้าทั้งที่ ภารกิจของสถาบันไม่เกี่ยวข้องกับสภาพัฒนาการเมืองและแก้ไขให้ตนมีอำนาจมาก ขึ้นทั้งการเข้าไปบริหารจัดการในสภาพัฒนาการเมืองและกองทุนพัฒนาการเมืองภาค พลเมืองจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่หรือผลประโยชน์ของประชาชน อันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างชัดแจ้ง”
แต่กฎหมายฉบับทับซ้อนนี้ก็ผ่านออกมาบังคับใช้เรียบร้อย
ตลอดเวลา 7 ปีที่บวรศักดิ์สวิงกิ้งไปมาบนตำแหน่งต่างๆ วรเจตน์ก็ยังเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับแต่เงินเดือนกับเบี้ยประชุมไม่กี่บาทในฐานะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผย ข้อมูลข่าวสาร และกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
แต่เมื่อเป็นข่าวปรากฏในสื่อโสมม วรเจตน์กลับถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ ครั้งหนึ่งพวกพันธมิตรยังเอาไปลือกันว่าทักษิณจะยกลูกสาวให้
ถามว่าทำไมพวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่สนับสนุนรัฐประหาร จึงจงเกลียดจงชังวรเจตน์และนิติราษฎร์ ก็เพราะวรเจตน์และนิติราษฎร์คือก้างขวางคอชิ้นโตในการจัดการกับทักษิณด้วย รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ขัดกับหลักนิติรัฐ
วรเจตน์และนักคิดนักเขียน นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ล้วนเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” มาก่อนทั้งสิ้น คำว่า “ระบอบทักษิณ” อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติ ให้พันธมิตรเอาไปใช้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ แถมยังย้อนกลับมาด่าเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ เมื่อให้ความเห็นไม่ถูกใจ
ทางแยกระหว่างเรากับพันธมิตรมาถึงเมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทาน ม.7 จากนั้นก็คือการรัฐประหาร รัฐประหาร 49 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมีการออกแบบให้ใช้ตุลาการภิวัตน์จัดการกับทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่าง แยบยล วางยาต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และกลไกตุลาการฝ่ายต่างๆ
นักนิติศาสตร์จึงมีบทบาทสูงทั้งสองข้าง โดยเสียงข้างน้อยอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร มีวรเจตน์เป็นหัวหอก ยืนซดกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ด้วยหลักการ ตั้งแต่ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหาร วิพากษ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง เป็นหลักสำคัญในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาจนวิพากษ์คำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์
ความมีหลักการและเหตุผลของวรเจตน์ทำให้การโต้แย้งของเขาทรงพลัง ลองคิดดูว่าถ้า ดร.เหลิมออกมาโต้แย้งแทนทักษิณในคดีที่ดินรัชดา จะมีใครซักกี่คนเชื่อ ใครเชื่อพ่อไอ้ปื๊ดก็กินยาผิดซอง
วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมว่าคดีที่ดินรัชดาไม่ผิด ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับ 30 พ.ค.2547 “ขาประจำหัวหน้าเผ่า” วิพากษ์ทักษิณคู่กับสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีในขณะนั้น หลังจากคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5 คนได้แก่ สุรพล, วรเจตน์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, บรรเจิด สิงคะเนติ, สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการระดมทุนซื้อหุ้นลิเวอร์พูล
“ผมเองเห็นว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายอาญา การตีความต้องจำกัดเพราะถ้ากว้างเกินไปก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตัวกฎหมาย จึงเรียนว่าที่มีอำนาจกำกับดูแล ถ้าเป็นนายกฯ คงไม่หมายถึงว่าคนที่เป็นภรรยาทำสัญญาอะไรกับรัฐไม่ได้เลย มันต้องมีระดับความเข้มข้นในการกำกับดูแลตามสมควร อันที่สองที่จะต้องพิจารณาก็คือลักษณะของสัญญา ตรงนี้ยาก มันมีข้อจำกัดว่าจะขีดเส้นตรงไหน ส่วนตัวผมเห็นว่าสัญญาที่จะเข้ามาตรา 100 ต้องเป็นสัญญาที่หน่วยงานสามารถใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาได้ เช่น เวลามีการประมูลงาน มีคนยื่นข้อเสนอเข้ามา คนยื่นข้อเสนอไม่ได้เป็นคู่สัญญาทันที แต่จะต้องผ่านการตัดสินใจของหน่วยงาน หัวหน้าหน่วยงานมีดุลพินิจที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100 นี่คือการขจัดประโยชน์ที่ทับซ้อนกันหรือป้องกันไม่ให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าเป็นการขายทอดตลาดทั่วไปแล้วหน่วยงานไม่มีดุลพินิจอะไร ใครที่เสนอราคาสูงสุดก็จะได้ที่ดินนั้นไป ผมมองว่าไม่น่าจะเข้า เพราะหัวหน้าหน่วยงานไม่มีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำสัญญา"
ฉะนั้น ถ้าถามว่าวรเจตน์กลับไปกลับมาหรือไม่ ก็มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าวรเจตน์ยืนหยัดในหลักการ ไม่ว่าตอนที่เขาวิพากษ์ทักษิณหรือวิพากษ์รัฐประหาร
วรเจตน์จึงทำให้พวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่เกลียดชังทักษิณโกรธแค้นจนคลั่ง เพราะความมีหลักการเหตุผลของเขาทำให้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ล้มเหลว คนพวกนี้กรีดร้องใส่วรเจตน์ นักคิด นักวิชาการประชาธิปไตย ที่คัดค้าน ม.7 และรัฐประหารว่า “พวกเมริงไม่รู้หรือว่าทักษิณมันเลว มันจะทำให้ประเทศชาติพินาศ ต้องใช้ทุกวิถีทางจัดการมัน”
จากข้อกล่าวหาว่าไร้เดียงสา เมื่อไม่สามารถตอบโต้ด้วยเหตุผล คนเหล่านี้-ที่อ้างศีลธรรมจรรยา อ้างว่ารักชาติรักประชาชน ก็ใช้วิธีการให้ร้ายป้ายสี ดิสเครดิต ตั้งแต่รับเงินไปจนล้มเจ้า
คมสัน โพธิ์คง กล่าวหาว่านิติราษฎร์และ ครก.112 เอาเงินมาจากไหน ให้แสดงบัญชีค่าใช้จ่าย โห ค่าเช่าหอประชุม 2 ครั้งราว 3 หมื่นบาท กับค่าพิมพ์แบบเข้าชื่อเสนอกฎหมายเนี่ยนะ ขายเสื้อ ครก.แป๊บเดียวก็ได้แล้ว
เงินจิ๊บจ๊อยแค่นี้ ไม่เท่ากับที่คมสันเข้าไปเป็น สสร.เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งแสนกว่าบาท ศาสตรา โตอ่อน เข้าไปเป็นที่ปรึกษา TOT เงินเดือนแสนห้า นี่ผมจำได้แล้วไปค้นข่าวย้อนหลัง สมัยผู้จัดการ ASTV ไม่พอใจบอร์ด TOT ยุคสพรั่ง (ไม่ทราบว่าเขาเหยียบตาปลาอะไรกัน) แล้วสหภาพไปฟ้อง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ (ผู้จัดการยังด่ากราด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไว้เหมือนกัน ลอง search อาจารย์กูดูได้)
ไม่ว่ารัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลพลังประชาชน รัฐบาลเพื่อไทย วรเจตน์ นิติราษฎร์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ที่ลงชื่อแก้ไข 112 ไม่มีใครเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือกระทั่งรับงานวิจัย
พวกพันธมิตรเว็บเสรีไทยไปค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า อ.ชาญวิทย์ อ.พวงทอง อ.พนัส ทัศนียานนท์ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.อัครพงษ์ ค้ำคูณ ร่วมกับนักวิชาการอีกหลายคน รับงานวิจัยและจัดทำสื่อ กล่อมคนไทยให้เห็นใจเพื่อนบ้าน ในนามมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ จากกระทรวงการต่างประเทศ มูลค่า 7.1 ล้านบาท
แต่กลายเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ พันธมิตรเลยกรี๊ดหาว่ามาร์คจับมือกับนักวิชาการแดงขายชาติ
นักวิชาการเหลืองที่ไปรับงานวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีใครบ้าง ผมว่าน่าสนใจนะครับ แต่ผมเจาะข่าวไม่เก่ง คงต้องฝากประสงค์ดอทคอมไปค้นหา ได้ยินมาว่าบางรายรับงานวิจัยมูลค่าหลายล้าน จากหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ เป็นค่าตอบแทนที่สนับสนุนรัฐประหาร
ที่แน่ๆ จรัส สุวรรณมาลา เคยถูกอาจารย์ใจแฉว่า รับงาน “วิจัยประชาธิปไตย” จากรัฐบาล คมช.มูลค่า 42.6 ล้าน ในฐานะคณบดี แล้วนำทีมอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ไปโรดโชว์รัฐประหารในต่างประเทศ บรรยายให้ฝรั่งฟังว่าทำไมนักรัฐศาสตร์ไทยจึงพลิกตำราประชาธิปไตยสากล มาสนับสนุนรัฐประหาร (งามหน้าแท้)
อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ก็คือ “หน้าหอ” ของ อ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ผู้พยายามเน้นตอนผมไปสัมภาษณ์ ว่าทักษิณก่อตั้งพรรคเพื่อไทยตรงกับวันที่ 14 กรกฎา วันปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมา อ.ธีรภัทร์ก็เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทีมงานเช่น ประสาร มฤคพิทักษ์ (ที่ต่อมาเป็น สว.สรรหา) จากนั้น อ.วรรณธรรมก็มาเป็นรองเลขานายกฯ (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ในรัฐบาล ปชป.
ส่วน อ.สุรพล นิติไกรพจน์ ล่าสุดก็เป็นบอร์ด ปตท.รายงานประจำปีบอกว่าได้โบนัสเบี้ยประชุม 2.7 ล้าน (แต่ยังติดดินนะ วันก่อนเจอท่านที่ร้านก๋วยเตี๋ยวท่าพระจันทร์ เลยได้กินเกาเหลาฟรี 1 ชาม)
นี่คือสิ่งที่เห็นกันโต้งๆ โอเค พวกท่านอาจจะอ้างว่ารับตำแหน่งเพื่อชาติ แต่ลองวรเจตน์ นิติราษฎร์ ได้ตำแหน่งอะไรซักนิดสิครับ พวกเมริงมีหวังด่าทอดิสเครดิตกันครึกโครม แต่พอหาจุดโจมตีไม่ได้ ก็พูดหน้าตาเฉยว่า รับเงิน
ในทางตรงกันข้าม ผมว่าเราเห็นกันชัดเจนแล้วว่า แม้แต่รัฐบาลเพื่อไทย ก็คงไม่กล้าดึงวรเจตน์หรือนิติราษฎร์เข้าไปเป็น สสร.เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือเป็นบอร์ดต่างๆ ไม่ใช่เพราะกลัวข้อหา “ล้มเจ้า” แต่เพราะนักการเมืองไม่ต้องการนักนิติศาสตร์ที่ยึดมั่นในหลักการ พวกเขาต้องการเนติบริกรที่ตีความรับใช้มากกว่า
วิษณุก็กลับไปช่วยงานแล้วนี่ครับ
สมัคร-อุทาร-อุทิศ
ดาวสยาม-ยานเกราะ
หลังพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะถล่มทลาย ฝ่ายต่อต้านทักษิณอยู่ในภาวะคลั่ง หางด้วน ไม่มีทางระบายออก ไม่สามารถทำอะไรยิ่งลักษณ์และรัฐบาลได้ ซ้ำยังมีสัญญาณของการ “เกี้ยเซี้ย” กันระดับหนึ่งระหว่างทักษิณกับอำมาตย์
การเสนอแก้ไข ม.112 จึงกลายเป็นที่ระบายของพวกเขา โหมความโกรธแค้นชิงชังมาใส่นิติราษฎร์ มีการให้ร้ายป้ายสีก่นด่าประณาม อย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น “เศษสวะ” “เนรคุณ” “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” (ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮากลิ้งในตึกเนชั่น นี่ถ้ากนกถูกถอดรายการ องค์กรสื่อคงออกมาโวยวายว่า คุกคามเสรีภาพสื่อ... เสรีภาพที่จะด่าคนอื่นว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน)
หรือกระทั่งเอาไปตัดต่อภาพเป็น “วรเจี๊ยก” ผมไม่ทราบว่าเรามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไว้ทำตะหวักตะบวยอะไร (สื่อรวันดาสภาฯไม่สนใจ เพราะไม่ได้รับเงินใครมา เหมือนที่จ้องจับผิดมติชน)
ไม่น่าเชื่อว่านี่คือการยุยงส่งเสริมของสื่อและนักวิชาการที่เคยอ้าง ว่าต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อพิทักษ์ความเป็นไทย ความมีศีลธรรมจรรยา บ้างก็เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ไทยโพสต์ ผู้จัดการ ล้วนเป็นสื่อที่เคยเป็นปากเสียงให้สมัชชาคนจนและคนด้อยโอกาส)
แต่วันนี้พวกเขายุยงส่งเสริมจนเกิดการขู่ฆ่า เผาหุ่น แขวนคอหุ่นวรเจตน์ และแพร่ภาพปิยบุตร ส่อความหมายว่าเจอที่ไหนให้ทำร้าย
นี่ไม่ต่างกันเลยกับ 6 ตุลา ที่สมัคร สุนทรเวช, อุทาร สนิทวงศ์, อุทิศ นาคสวัสดิ์ ดาวสยาม และวิทยุยานเกราะ กระพือความเกลียดชังใส่ขบวนการนักศึกษา
ถามว่าสื่อ นักวิชาการ แกนนำสลิ่มและพันธมิตร รู้หรือไม่ว่านิติราษฎร์บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้รับเงินใครมา รู้สิครับ พวกเขายังรู้ด้วยว่าพวกที่ร่วมกันก่อรัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐประหาร บางคนทำมาหากิน หาผลประโยชน์ ฉวยโอกาส แต่พวกเขาเพิกเฉยต่อคนกันเอง กลับมาให้ร้ายป้ายสีคนบริสุทธิ์
พวกที่อ้างว่ามีคุณธรรมจริยธรรมเหล่านี้คงไชโยโห่ร้อง ถ้าปิยบุตรถูกอุ้ม หรือวรเจตน์ถูกม็อบลากไปแขวนคอสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด
นี่คือพวกที่ทำอะไรทักษิณไม่ได้ ทำอะไรยิ่งลักษณ์ไม่ได้ แล้วมาระบายใส่นิติราษฎร์ หนำซ้ำยังเยาะเย้ยสะใจที่ออเหลิม “ตัดหาง” นิติราษฎร์ ถ้าทำลายนิติราษฎร์ได้ เผลอๆ พวกนี้คงมีความสุข ยิ่งกว่าโค่นทักษิณ
เพราะนิติราษฎร์และนักวิชาการประชาธิปไตย ไปทำให้พวกเขาเสียหน้า เสียเครดิต สถาบันนักวิชาการที่เคยได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม กลายเป็นสถาบันต่ำทรามเพราะความไม่มีหลัก สถาบันสื่อที่เคยชี้นำสังคมได้ นักการเมืองผู้มีอำนาจจากไหนต้องซูฮก กลายเป็นกระดาษเปื้อนหมึกระบายอารมณ์
พวกเขาทำตัวเอง แต่โทษคนอื่น
ธีรยุทธพูดเรื่องมาตรา 7 อ้างว่าเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ ไม่ใช่หลักกฎหมาย “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราแข็งเกินไป เพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง” ขอเรียนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องหลักกฎหมายตายตัว แต่เป็นหลักการที่มีเหตุผล เมื่อเกิคความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คุณจะไปดึงในหลวงลงมาตัดสิน ดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง กับความขัดแย้ง มันก็ส่งผลกระทบต่อสถาบัน แม้ในหลวงทรงพระปรีชา ท่านไม่เอาด้วย ก็ยังมีความพยายามดึงลงมาจนเกิดปัญหาจนปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ต้องปรับ ต้องแก้ แต่พวกเขาก็ขัดขวางไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยน
6 ปีแล้วยังไม่ตระหนักอีกหรือ
"ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือความรักและความชังของบุคคล ผมคิดว่านี่คือความพยายามของคณะผู้ก่อการ 2475 ให้พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยประสงค์ไม่ให้พระมหากษัตริย์ลงมาวินิจฉัยปัญหาทางการเมือง เพราะชี้ไปทางไหนมันมีคนได้และมีคนเสีย มีคนชอบและมีคนชัง เราไม่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีแต่คนรักคนเทิดทูน และเมื่อมีวิกฤติของประเทศอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ประเทศเรายังมีสถาบันอีกสถาบันหนึ่ง ซึ่งประเทศอื่นไม่มี มาคอยปัดเป่าและคลี่คลายวิกฤตการณ์แบบนี้ แต่ในช่วงที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้ามันยังไม่ไปถึงแล้วเราดึงพระองค์ลงมาชี้ ในที่สุดแทนที่จะเป็นเทิดทูนสถาบัน ผมว่าระยะยาวไม่เป็นผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์"
นี่จากคำให้สัมภาษณ์ของวรเจตน์ “นักเรียนทุนอานันท์” ในไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2549