ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ถือเป็นปีมะโรงตามนัขษัตร ได้รับการกล่าวถึงในลักษณะต่างๆ บ้างก็ว่าจะเป็นปีมังกรทอง ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว บ้างก็ว่าเป็นปีมังกรน้ำ เพราะจะเกิดน้ำท่วมมากกว่าปีก่อน นอกจากนั้นยังมีประเภทคำทำนายว่า จะเกิดภัยพิบัติ หรือเป็นปีโลกแตก แต่ที่กล่าวมาส่วนมาก ล้วนแต่เป็นคำทำนายอันเหลวไหล นึกเดาเอาเอง โดยไม่มีรากฐานจากข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะคาดการณ์สถานการณ์ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในบทความนี้ จะขอลองคาดการณ์จากข้อมูลที่เป็นจริงและขอนำเสนอว่า ปีนี้จะเป็นแห่งการรุกของฝ่ายประชาธิปไตย
การคาดการณ์นี้ มาจากข้อสรุปอย่างกว้างว่า ความหมายของ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ คือ ปีแห่งการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดง ปี พ.ศ.๒๕๕๔ คือ ปีแห่งการฟื้นตัวของขบวนการประชาธิปไตย โดยเฉพาะชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนกรกฎาคม ถือว่ามีความหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
ทั้งนี้คงต้องขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ที่มีการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา คือ สถานการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างพลังฝ่ายอำมาตยาธิปไตย และพลังฝ่ายประชาธิปไตยของประชาชน ในระยะแรก ฝ่ายอำมาตย์มีความได้เปรียบ เพราะเป็นฝ่ายควบคุบกำลังทหาร ควบคุมกลไกรัฐ กลไกศาล และครอบงำความคิดด้วยสื่อมวลชนกระแสหลัก ฝ่ายอำมาตย์ได้ตั้งรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ มาควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่แรก โดยไม่คำนึงถืงเจตนารมย์ของประชาชนส่วนข้างมาก และวาดภาพผีทักษิณขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายตน ต่อมา เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็ได้แสดงเจตนารมย์ชัดเจน โดยการเลือกพรรคพลังประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาบริหารประเทศ ฝ่ายอำมาตย์ไม่พอใจ จึงโอบอุ้มเอาพรรคประชาธิปัตย์ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ประชาชนจำนวนมากจึงได้รวมตัวกันเป็นขบวนการคนเสื้อแดง ภายใต้การนำของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ( นปช.) และต่อสู้คัดค้านตลอดมา ฝ่ายอำมาตย์ตอบโต้โดยการใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้าง และจับกุมคุมขังทั้งด้วยข้อหาก่อการร้าย ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ และ ข้อหาอืนๆ รวมทั้งใช้สื่อกระแสหลักโจมตีทำลายภาพลักษณ์ของคนเสื้อแดง ให้เป็นพวกเผาบ้านเมือง แต่ก็ไม่ประสบผล เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประชาชนก็เลือกพรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น ฝ่ายอำมาตย์ต้องถอยทางยุทธศาสตร์อีกครั้ง โดยยอมให้พรรคพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
แต่กระนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่ ฝ่ายอำมาตย์ก็ยังคงมีมหิธานุภาพ โดยเฉพาะยังคงควบคุมกองทัพแห่งชาติ โดยอาศัย พรบ.กลาโหม ที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนนท์ เป็นเกราะป้องกัน ไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปจัดดำเนินการ นอกจากนี้ก็ยังควบคุมอำนาจตุลาการ และรองรับความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เปิดทางให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย และ ยังใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑๒ ข่มขู่คุกคามประชาชนไม่ให้มีความเห็นต่างจากพวกอำมาตย์ และฝ่ายอำมาตย์ยังคงควบคุมกำหนดกรอบสำหรับสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่มอมเมาประชาชนและปกป้องพวกอำมาตย์ ดังนั้น ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเพียงจังหวะก้าวแรก จะต้องมีการรุกทำให้ในขั้นตอนต่อไป จึงจะทำให้สังคมไทยบรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงได้
ในยุทธศาสตร์ระยะยาวของการต่อสู้ เป็นที่แน่นอนว่า พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยเหตุผลประการแรกคือ ประชาธิปไตยเป็นกระแสการเมืองของโลกนานาชาติ ประเทศสำคัญในโลกต่างก็สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่มีประเทศใดเลยที่อำมาตยาธิปไตยได้รับชัยชนะ ประการที่สอง ประชาชนไทยมีความตื่นตัวมากขึ้น ปรากฏการณ์ตาสว่างขยายตัว ผู้คนเห็นธาตุแท้อันหลอกลวงของฝ่ายอำมาตย์มากขึ้น ประการที่สาม ระบอบศักดินานั้น เป็นยาหมดอายุ ย่อมพ่ายแพ้ต่อกาลเวลา
คำถามสำคัญในขณะนี้ คือ พลังฝ่ายประชาธิปไตยจะทำการรุกอย่างไร จึงจะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่เป็นคุณแก่ขบวนการประชาชน
ในขณะนี้ เราก็จะเห็นได้แล้วว่า ใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้จะมีประเด็นหลักที่นำไปสู่การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองอย่างแหลมคม อย่างน้อย ๒ เรื่อง คือ เรื่องแรก กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งได้เขี่ยลูกแล้ว โดยพรรคเพื่อไทย แนวทางการแก้ไขที่เป็นไปได้ในขณะนี้ คือ การตั้งสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมารับหน้าที่ เป้าหมายเฉพาะหน้า คือ ต้องผลักดันการตั้ง สสร.ที่เป็นประชาธิปไตย เช่น ให้ประชาชนเป็นผู้เสือกสมาชิก สสร.ทางตรง และถ้าหากว่า จะต้องมีนักกฏหมายหรือนักวิชาการเข้าร่วม ก็จะต้องไม่เป็นเนติบริกรที่เคยรับใช้รัฐประหาร เช่น การกำหนดคุณสมบัติว่า ผู้ที่เคยเข้าร่วมในรัฐบาล สภานิติบัญญัติ และ สภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ไม่มีสิทธิเข้าเป็นสมาชิก เป็นต้น นอกจากนี้ คงต้องถกเถียงในเชิงข้อเสนอ เช่น เรื่องการยกเลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง การนำอำนาจตุลาการกลับคอกศาล การเพิ่มอำนาจรัฐสภา และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิกองคมนตรี เป็นต้น
แต่ประเด็นที่แหลมคมยิ่งกว่านั้น คือ กระแสการรณรงค์เรื่องการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพราะในหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นแล้วว่า ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการใส่ร้าย ป้ายสี จับกุมคุมขังประชาชน และทำลายปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย และการดำเนินคดีเหล่านี้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกระบวนการศาล การคัดค้านการใช้มาตรา ๑๑๒ จึงกลายเป็นกระแสใหญ่ และใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ จะเป็นกระแสใหญ่มากขึ้น ชวนผู้คน รวมทั้งปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาถกเถียง อันจะเป็นการขยายความรู้เชิงวิพากษ์แก่สังคมมากยิ่งขึ้น
ในการณรงค์ประเด็นเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า บทบาทการเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของ นปช.จะลดลง ตราบเท่าที่ นปช.ไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขมาตรา ๑๑๒ พลังของฝ่ายปัญญาชนที่ก้าวหน้า ที่มีกลุ่มนิติราษฎร์เป็นแกนกลาง จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เพราะข้อเสนอของฝ่ายนิติราษฎร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร และปฏิรูปมาตรา ๑๑๒ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจนและเป็นธรรม กลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงหลายกลุ่มจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเช่นนี้
สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย การสนับสนุนและความนิยมอาจจะตกต่ำลงในกลุ่มคนเสื้อแดง ตราบเท่าที่ยังคงล่าช้าในการเยียวยาผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในกรณีเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ และยังวางเฉยในการช่วยเหลือพี่น้องคนเสื้อแดง ที่ยังถูกดำเนินคดีและจำคุก เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินโครงการตามที่สัญญาไว้กับประชาชน ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และควรที่จะออกกฏหมายนิรโทษกรรม นำพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลจากกรณีการเมืองออกมาจากคุก โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ให้เข้าใจว่าคนเหล่านี้เสียสละและต่อสู้อย่างกล้าหาญ เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปัตย์ จึงสมควรที่จะได้รับการช่วยเหลือ
และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลเพื่อไทยอย่าไปตามรอยความผิดพลาดของรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่นการปราบปราบเข่นฆ่าประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และไล่จับกุมประชาชนที่เห็นต่างตามอินเตอร์เนต ซึ่งเป็นวิธีการอันไม่ศิวิไลซ์ และเป็นการทำลายฐานของฝ่ายตนเองอย่างโง่เขลา ประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปในทางประชาธิปไตย ก็ต่อเมื่อไม่มีนักโทษการเมือง และไม่มีนักโทษทางความคิด
ในลักษณะเช่นนี้ ปี พ.ศ.๒๕๕๕ ประชาชนก็จะมีความสุขโดยทั่วกัน