"ธุรกิจประเภทใหม่ รายได้ดี...ธุรกิจการเรียกร้องประชาธิปไตย"
"ใครไม่ตายหรือบาดเจ็บ ยังเหลือวิธีสุดท้ายคือ แกล้งบ้า ให้ญาติไปขอรับเงินได้นะคะ"
"ถ้ารู้สึกผิดที่เหยียบศพเขาขึ้นมา ก็ใช้เงินตัวเองจ่ายสิคะ"
"เคยได้ยินแต่ปล้นแล้วเผา แต่เผาแล้วปล้นต่อ เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ"
ภาพและคำพูดข้างต้นใน facebook ของวรกร จาติกวณิช ได้รับการกดไลค์นับพันครั้ง เป็นปฏิกิริยาฉับพลันต่อมติ ครม.ที่อนุมัติการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ วันที่ 19 กันยายน 2549-พฤษภาคม 2553 เป็นสิ่งที่ชี้ว่า ผู้คนจำนวนมากในสังคมนี้ ยังมองความตายของคนเสื้อแดงอย่างหยามเหยียด เป็นเสมือนยาพิษที่สาดซัดไปยังบาดแผลสด ๆ ของครอบครัวของผู้เสียชีวิต 92 คน และบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนมากจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
และวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ม.ค.) ตัวแทนพรรค ปชป.ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอน มติ ครม. เรื่องการเยียวยา และสั่งให้รัฐบาลมีมติกำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาความเสียหายให้ผู้ที่ได้รับผล กระทบในเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งต่างๆ อย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกัน
ช่างเป็นตลกที่ขำไม่ออก เพราะมติ ครม.ดังกล่าว เป็นข้อแนะนำของ คอป.ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์นั่นเอง คอป.ระบุชัดว่า การชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ ที่จริง ปชป. น่าจะยื่นต่อศาลปกครอง ให้สั่งยุบ คอป. ไปเสียด้วยเลย
คนตายคนเจ็บถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แต่จนบัดนี้ เราก็ยังไม่เคยเห็นหลักฐานว่า คนที่ตายมีอาวุธร้ายแรงอยู่ข้างกาย ถ้ามีหลักฐานรูปถ่ายใดๆ รัฐบาล ปชป.ในขณะนั้น คงเอามาป่าวประกาศเป็นล้าน ๆ ครั้งแล้ว ในทางตรงกันข้าม คลิปวีดีโอและรูปถ่ายจำนวนมาก ชี้ว่าพวกเขาถูกยิงตายเหมือนหมาข้างถนน โดยไม่มีอาวุธอยู่ข้างกาย
หลายคนตายเพราะถูกลูกหลง เพราะทหารกราดกระสุนใส่ประชาชน หลายคนตายขณะกำลังเดินข้ามถนน การตายในลักษณะนี้เป็นผลจากการใช้กำลังอย่างเกินขอบเขตของฝ่ายรัฐนั่นเอง
ถ้าใครแน่ใจว่าคนตาย คนเจ็บคนไหนเป็นผู้ก่อการร้าย ก็ชี้ตัวออกมาเลย อย่ามาปูพรมข้อหามั่วๆ กับคนที่เขาเจ็บปวดมามากแล้ว
พวกคุณก็มีลูกไม่ใช่หรือ เงิน 7.5 ล้านแลกกับชีวิตลูกของคุณจะเอาไหม หรือคุณคิดว่าความเป็นคนชั้นสูงของคุณทำให้คุณรักลูกมากกว่าเงิน แต่คนจนเห็นแก่เงินมากกว่าลูก จึงปล่อยลูกไปตาย
กล้าไปถามพ่อแม่น้องเฌอ แม่น้องเกด และอีกหลายๆ พ่อแม่ไหมว่า ระหว่างเงิน 7.5 ล้านกับลูกของเขา อะไรสำคัญกว่ากัน
เคยใช้จินตนาการบ้างไหมว่า สำหรับพวกเขาวันพ่อวันแม่จะมีความหมายอะไร เมื่อไม่มีลูกให้ชื่นชมความเป็นพ่อเป็นแม่ของพวกเขาอีกต่อไป
กล้าไปถามเมียและลูก 2 คนในวัยเรียนของครอบครัวอัศวศิริมั่นคงไหมว่า ชีวิตพวกเขาลำบากแค่ไหน เมื่อหัวหน้าครอบครัวต้องกลายมาเป็นคนพิการ ระหว่างเงิน 7.5 ล้านกับพ่อที่ไม่พิการ พวกเขาอยากได้อะไร
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
เคยคิดจะเปิดสมอง เปิดใจ รับฟังความทุกข์ของพวกเขาบ้างไหม
บอกว่าเป็นเงินภาษีของประชาชน..ก็ในเมื่อชนชั้นกลางในเมืองทั้งหลาย ช่วยกันเชียร์ให้รัฐบาล ปชป.ใช้กำลังปราบปรามเสื้อแดงอย่างเด็ดขาด นี่ก็คือความรับผิดชอบทางสังคมที่พวกคุณต้องจ่ายเพื่อแลกกับความสุขความสบาย ใจที่ได้รับยังไงล่ะ แล้วขอโทษที ไม่ได้มีแต่พวกคุณที่จ่ายภาษี คนเสื้อแดงเขาก็จ่ายภาษีเช่นกัน
เวลารัฐบาลเอาเงินเป็นแสนล้านไปสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่เห็นมีคนจนออกมาค้านเลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรเพื่อคนจนหรือคนเสื้อแดง พวกนี้ต้องอ้างเรื่องภาษีของกูทุกที
เงิน 7.5 ล้านนี่มันเกินค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขากระนั้นหรือ? ถ้าฉันมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงิน ฉันจะจ่ายให้พวกเขามากกว่านี้แน่นอน
เงินชดเชย 4.5 ล้านบาท คำนวนจากการใช้รายได้ประชาชาติ GDP) ของปี 2553 หรือ 150,177 บาท/ปี คูณ 30 ปี แต่อันที่จริง รัฐบาลควรคำนวณจากรายได้ที่พวกเขาเคยได้รับจริงก่อนที่จะเสียชิวิตหรือ ทุพพลภาพ คูณจำนวนปีจนถึงอายุ 65 ปี จึงจะนับว่าเป็นความเหมาะสมขั้นต่ำ เพราะ เมื่อใช้ GDP ปี 2553 เป็นฐานในการคำนวณ เท่ากับว่าแต่ละคนมีรายได้แค่เดือนละ 12,514 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำที่เขาพึงได้หากยังมีชีวิตอยู่เสียอีก หลายคนมีรายได้มากกว่านี้แน่นอน
หรือแม้แต่เยาวชนที่เสียชีวิต ก็ต้องคิดด้วยว่า หากเขามีชีวิตอยู่ เขาจะทำรายได้อย่างน้อยเท่าไร พ่อแม่เขาจะพึ่งพาเขาในยามแก่เฒ่าได้ต่อไป นี่เป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้
ส่วนเงินค่าเยียวยาทางจิตใจอีก 3 ล้านบาท สำหรับความสูญเสียตลอดชีวิต มากเกินไปอย่างนั้นหรือ กรุณาถามตัวเองว่า มันมีค่าสูงกว่าคนที่คุณรักจริงๆ หรือ?
ขอเตือนความจำอีกครั้งว่า คนเสื้อแดงมาเรียกร้องการยุบสภา มาขอแสดงสิทธิทางการเมืองให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้งว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องการให้ใครเป็นรัฐบาล มายืนยันว่าเขาไม่ต้องการรัฐบาลที่เกิดจากค่ายทหาร พวกเขาไม่ได้มาเพื่อใช้ชีวิตแลกเงิน 7.5 ล้าน โปรดเลิกใช้เหตุผลวิปลาสกันเสียที
ปชป.บอกว่าต้องรวมคนที่ตายในตากใบ-กรือเซะ ใน 3 จว.ภาคใต้ ใน 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 แล้วทำไมตอนตัวเองเป็นรัฐบาลไม่คิดจะทำอะไรให้กับพวกเขาบ้าง จะได้เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไป ทำไมตอนนั้นไม่เคยคิดทำอะไรที่สร้างสรรค์บ้าง แต่พอคนอื่นทำ กลับหาว่ามุ่งหาคะแนนเสียงกับคนเสื้อแดง อ้าว! ก็นี่เป็นธรรมชาติของพรรคการเมืองไม่ใช่หรือ แล้วที่ปชป.ทำมาตลอด และทำอยู่นี่ ไม่ได้สนใจฐานเสียงชนชั้นกลางของพรรคเลยอย่างนั้นหรือ?
ในทางกลับกัน การชดเชยเยียวยาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง นับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา หากทำได้จริง ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไป และจะช่วยให้การเรียกร้องให้มีการเยียวยาแก่คนกลุ่มอื่นๆ กระทำได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขอแต่เพียงว่า เมื่อถึงคราวที่คนในจังหวัดภาคใต้ได้รับการเยียวยาบ้าง คนกลุ่มเดียวกันนี้จะไม่ออกมาตะโกนว่า “กูจ่ายภาษีเพื่อพัฒนาชาติ ไม่ใช่เพื่อสนับสนุน 'โจรใต้' แยกดินแดน”
ทั้งนี้ทั้งนั้น โปรดเข้าใจด้วยว่า การเยียวยาด้วยตัวเงิน เป็นแค่การผ่อนความทุกข์ของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบให้เบาบางลงเท่านั้น การเยียวยาไม่ได้เป็นทั้งหมดของความยุติธรรม สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือ การนำผู้ที่เกี่ยวข้องกับความตาย-บาดเจ็บเมื่อ เม.ย.-พ.ค.53 มาลงโทษ ประชาธิปัตย์ยินดีคืนความยุติธรรมให้เขาหรือไม่?