ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 6 January 2012

ชำแหละจุดอ่อน-แข็ง 6 รูปแบบปกครองชายแดนใต้

ที่มา ประชาไท

เวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ถกประเด็นกระจายอำนาจ วิเคราะห์ 6 รูปแบบการปกครองชายแดนใต้ ไล่ตั้งแต่ ศอ.บต., ทบวงชายแดนใต้, นครปัตตานี, 3 นครยะลา ปัตตานี นราธิวาส, ปัตตานีมหานคร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 มกราคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อที่ประชุมสมัชชาเฉพาะประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พิจารณาลักษณะเด่นของรูปแบบการบริ หาร ข้อสนับสนุน และข้อวิจารณ์ของแต่ละทางเลือก

ในการนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้ประมวลข้อเสนอรูปแบบการกระจายอำนาจ สรุปได้ว่ามีทั้งสิ้น 6 ทางเลือก แยกเป็น ทางเลือกที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในปัจจุบัน มีพื้นที่ดูแลครอบคลุม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ดูแลรายจังหวัด ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ สำหรับการทำงานในพื้นที่ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับจังหวัด เมือง และตำบลตามลำดับ

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นของ ศอ.บต.ว่า เป็นการบริหารและการปกครองรูปแบบพิเศษที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ให้การยอมรับ โครงสร้างการบริหาร เลขาธิการมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิม

“จุดเด่นอยู่ตรงที่มีความเป็นเอกภาพในการบริหารราชการ และเป็นนิติบุคคล เลขาธิการมีอำนาจสั่งย้ายข้าราชการฝ่ายพลเรือน ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่ได้ทันที โครงสร้างบริหารราชการและอำนาจหน้าที่ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ส่วนข้อวิจารณ์นั้น นักวิชาการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ผู้นี้ระบุว่า พื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมจังหวัดที่ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงคือ จังหวัดสตูลและพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสงขลาด้วย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด ขาดความเป็นอิสระ คนในพื้นที่ไม่ได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัด ชายแดนภาคใต้

สำหรับทางเลือกที่ 2 คือ ทบวงการบริหารพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถานะเทียบเท่ากระทรวงจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง ทำหน้าที่เป็นรองปลัดทบวง และมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นว่า อยู่ที่เป็นการบริหารปกครองรูปแบบพิเศษ ที่มีสถานะเทียบเท่ากระทรวง เป็นรูปแบบที่มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ยึดหลักการถ่ายโอนอำนาจ ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บริหารสูงสุด ปลัดทบวงเป็นข้าราชการประจำ โดยให้รองปลัดทบวงที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส กำกับดูแลการบริหารงานในแต่ละจังหวัด มีสมัชชาประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตัวแทนภายในกลุ่มอาชีพ มีอำนาจให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและงบประมาณของทบวงฯ นอกจากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่เหมือนเดิมแล้ว ยังมีสภาท้องถิ่นที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งในแต่ละเขตท้องถิ่น และผู้นำศาสนาที่สรรหามาจากท้องถิ่นอีกด้วย

“นับเป็นข้อเสนอรูปแบบการปกครอง ที่มีการถ่วงดุลกลุ่มพลังทุกฝ่าย มีลักษณะประนีประนอมระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น และระหว่างคนทุกกลุ่มในท้องถิ่น โดยมีฝ่ายการเมืองเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

สำหรับจุดอ่อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองรูปแบบทบวงว่า เป็นรูปแบบที่ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ประชาชน เนื่องจากยังยึดติดอยู่กับระบบบริหารราชการ ไม่มีหลักประกันว่ารัฐมนตรีว่าการทบวง จะสะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ได้จริง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด และขาดความเป็นอิสระ

สำหรับทางเลือกที่ 3 ‘สามนคร 1’ ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของ ประชาชนเป็นรายจังหวัด ยังคงเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแค่ 2 ระดับคือ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

ลักษณะเด่นของ ‘สามนคร 1’ อยู่ตรงที่ประชาชนในพื้นที่ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง เป็นรายจังหวัด ยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ยังคงมีเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และยุบเลิกราชการส่วนภูมิภาค ในส่วนของโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สมาชิกสภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต (อำเภอ) มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่

ส่วนข้อที่ได้รับการสนับสนุนคือ ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา ลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลยังคงอยู่ พร้อมกับยกฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง และมีอำนาจมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีโอกาส ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่นมากขึ้น

โดยข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า อยู่ตรงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจจริง มีงบประมาณจำกัด ขาดความเป็นอิสระ การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลเกิดการทุจริตสูงขึ้น และประชาชนยังไม่พร้อมที่จะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับทางเลือกที่ 4 ‘สามนคร 2’ เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของ ประชาชนเป็นรายจังหวัด ปรับจังหวัดให้เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกรุงเทพมหานคร

“ลักษณะเด่นของรูปแบบนี้คือ ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรงเป็นรายจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลโครงสร้างการบริหาร มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภาจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากเขต หรืออำเภอต่างๆ มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ อภิปรายว่า ประเด็นที่รูปแบบนี้ได้รับการสนับสนุนคือ ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกเข้ามา ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเต็มในการบริหารและจัดการทั้งจังหวัด อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่น มากขึ้นตามไปด้วย

ข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ รูปแบบนี้จะเกิดแรงต่อต้านจากนักการเมืองท้องถิ่น ที่เคยมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิม การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แนวโน้มการทุจริตจะมากตามไปด้วย และความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

สำหรับทางเลือกที่ 5 ‘มหานคร 1’ เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ รวมพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกัน เป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดย่อย

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงลักษณะเด่นว่า อยู่ที่ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยังคงไว้ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้ง สภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต และมีคณะกรรมการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น

“จุดเด่นอยู่ตรงที่ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูง และมีพันธะรับผิดชอบโดยตรงต่อคนที่เลือกมา และลดแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ยังคงอยู่ อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่น มากขึ้นตามไปด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ

ส่วนข้อที่ถูกวิจารณ์ ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่า อยู่ตรงที่อำนาจของผู้ว่าราชการมหานคร อาจจะทับซ้อนกับขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และยังมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ จังหวัดด้วย

ทางเลือกที่ 6 ‘มหานคร 2’ เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาด ใหญ่ รวมจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลาเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งหน่วยการปกครอง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และยกเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

โดยมีลักษณะเด่นตรงที่ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้ง รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยยกเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเดิม ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โครงสร้างการบริหาร ผู้ว่าราชการมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สภามหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามเขตเลือกตั้ง และสภาเขตมาจากการเลือกตั้งโดยตรงภายในเขต สภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ และมีคณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม ซึ่งมาจากผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่

“จุดเด่น ประชาชนสามารถเลือกผู้นำที่ตนเองต้องการได้ ในขณะที่ผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งก็มีความเป็นตัวแทนสูงและมีพันธะรับผิด ชอบโดยตรงต่อผู้คนที่เลือกมา การรวมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกันสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทาง ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ อัตรากำลังข้าราชการในท้องถิ่นจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในท้องถิ่น มากขึ้นตามไปด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ส่วนข้ออ่อนที่ถูกวิจารณ์ คือมีแรงต้านจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในปัจจุบัน เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล จะถูกยกเลิก การเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการนครปัตตานี ทำให้กลุ่มอิทธิพลเข้ามามีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการทุจริตมากตามไปด้วย และมีข้อวิจารณ์ถึงความไม่พร้อมของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ จังหวัด