ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 7 January 2012

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 7: คุยกับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” ว่าด้วยเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและการเซ็นเซอร์

ที่มา ประชาไท

ตรวจสอบสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 กับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” (C.J. Hinke) ผู้ก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย (Freedom against Censorship Thailand – FACT) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันผู้ถูกจับมาแล้วกว่า 30 ครั้งจากการรณรงค์ต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐช่วงทศวรรษ 1960 และภายหลังผันตัวมาเป็นนักวิชาการและนักรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเสรีภาพ ในประเทศไทย โดยก่อตั้งกลุ่มรณรงค์ต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า “FACT” ในปี 2549

ทั้งนี้ ข้อมูลที่รวบรวมโดย “FACT” และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 รัฐบาลไทยได้บล็อกเว็บไซต์ไปแล้วทั้งหมด 777,286 เว็บเพจ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2554) โดยกระทรวงไอซีทีใช้งบประมาณในการดำเนินการเฉลี่ยวันละ 1.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นคิดเป็นราว 950 ล้านบาทในระยะเวลาสองปี อาจกล่าวได้ว่า แต่ละเว็บเพจมีราคา 1,210 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มาจากที่อื่นใดนอกจากภาษีประชาชน...

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 7: คุยกับ “ซี.เจ. ฮิงกิ” ว่าด้วยเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและการเซ็นเซอร์
ภาพโดย ขวัญระวี วังอุดม

คิดว่าแนวโน้มเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับรอบปีที่ผ่านมา คิดว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: เมื่อเราก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ในประเทศไทย ในประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2549 การเซ็นเซอร์ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยกำลังพูดถึงนัก ไม่มีใครถกเถียงในเรื่องนี้เลยแม้แต่ในมหาวิทยาลัย มันค่อนข้างเป็นประเด็นที่ปิดทีเดียวในขณะนั้น ผู้คนยังไม่เห็นว่าการเซ็นเซอร์จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไร แต่ทันใดที่เราเริ่มเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา มันก็เสมือนว่าเรื่องนี้ถูกอัดอั้นอยู่ในจิตใจประชาชนมานาน เมื่อประตูเขื่อนได้เปิดออกและผู้คนเริ่มพูดคุยเรื่องการเซ็นเซอร์มากขึ้น มันก็กลายเป็นประเด็นร้อนเนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้ สั่งปิดกั้นอินเทอร์เน็ต เพราะอินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งอันตรายต่ออำนาจของพวกเขา

อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการพูดคุยระหว่างมุมมองต่างๆ ของสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลกลัวเรื่องนี้มาก พวกเขากลัวว่าเมื่อเขาอนุญาตให้เราพูดคุยกัน มันจะทำลายฐานอำนาจของรัฐบาลทหาร

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลทหารก็บล็อกเว็บไซต์ยูทิวบ์อย่างสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดเดือน และนั่นก็ทำให้ประชาชนไทยตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องการเซ็นเซอร์ ต่อมา หนังสือทางวิชาการว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ของพอล แฮนด์ลีย์ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” (The King Never Smiles) ก็ถูกสั่งแบน ที่มันน่าสนใจเพราะว่าหนังสือดังกล่าวนี้สามารถหาได้ทางออนไลน์อยู่แล้ว และรัฐบาลไทยก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อบล็อกหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม ฉบับแปลภาษาไทยก็ได้กระจายไปทั่วอินเทอร์เน็ต และมันก็ไม่เคยถูกสั่งแบนเลยด้วย ถึงแม้ว่าโจ กอร์ดอน ชาวไทย-อเมริกันจะถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากทำลิงค์ไปยังฉบับแปลภาษาไทยก็ตาม

จริงๆ แล้ว กรณีของโจ กอร์ดอนนั้นน่าสนใจมากเพราะนี่เป็นคดีแรกที่ศาลเอาผิดกับตัวกลางในเรื่อง พื้นฐานที่สุดเช่นการไฮเปอร์ลิงค์ ในตอนแรก เขาถูกตั้งข้อหาด้วยการกระทำสองอย่าง คือการทำลิงค์ไปยังบทความสามตอนและบทนำของหนังสือ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” จากบล็อกของเขา และการถูกกล่าวหาว่าเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์นปช. ยูเอสเอ ทีนี้ คุณอาจจะจำได้ว่าไม่กี่เดือนก่อนที่โจ กอร์ดอนจะถูกจับ ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ก็ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ นปช. ยูเอสเอ ฉะนั้น ใครเป็นเว็บมาสเตอร์ตัวจริงกันแน่? จะเป็นไปได้อย่างไรก็ที่คนสองคนถูกตั้งข้อหาเดียวกันในเวลาเดียวกัน มันเป็นเรื่องน่าขันที่สุด

เมื่อโจ กอร์ดอนถูกดำเนินคดี เขากลับไม่ได้ถูกตั้งข้อหาว่าทำลิงค์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาหมิ่นฯ แต่เขาถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนแปล “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” ฉะนั้นนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจสำหรับผม สมมุติก็ได้ว่า การทำลิงค์ไปยังเนื้อหาหมิ่นฯ เท่ากับการผลิตซ้ำเนื้อหาหมิ่นฯ และมีความผิด ถึงแม้ว่าคนทำจะไม่ได้ผลิตเนื้อหาเองก็ตาม แต่ในการที่จะตัดสินว่ามันผิดจริงหรือไม่ คุณจำเป็นต้องอ่านเนื้อหานั้นก่อนเพื่อที่จะดูว่ามีเนื้อหาหมิ่นจริงหรือ เปล่า อยู่ดีๆ คุณจะมาพูดไม่ได้ว่า หนังสือ”เดอะคิง เนเวอร์ สไมลส์” เป็นหนังสือที่ไม่ดี ดังนั้นการทำลิงค์ไปยังหนังสือดังกล่าวเป็นอาชญากรรม มันไม่เป็นเหตุเป็นผลเลยแม้แต่น้อย ท้ายที่สุดแล้วเราจึงเห็นว่า รัฐบาลพยายามจะไขว้เขวให้เราเชื่อในเรื่องผิดๆ โดยที่ไม่ได้มองข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง

หลักนิติรัฐควรเป็นเครื่องจักรที่มีความแม่นยำมาก กฎหมายจำเป็นต้องเที่ยงตรง มิฉะนั้นคุณอาจจะเอาคนบริสุทธิ์เข้าคุกหรือแม้แต่ประหารชีวิต ฉะนั้นกฎหมายจำเป็นต้องเที่ยงตรงอย่างที่สุด และจนกว่าเราจะสามารถไปให้ถึงประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่มีหลักนิติรัฐเป็น สิ่งสูงสุด และรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลและโปร่งใสต่อประชาชน เราก็คงยังไม่มีประชาธิปไตย หากให้ผมมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ก็พบว่า ในการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะเข้าสู่ระบอบเผด็จการนั้น มันจะถลำลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นในสมัยเขมรแดง ก็เป็นไปภายในสองถึงสามเดือน ระบบเผด็จการในพม่า ก็ราวๆ หกอาทิตย์ หรือการล่มสลายของราชวงศ์ในลาว ก็เพียงสามเดือนเท่านั้น

ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้ มีความคล้ายคลึงกับการเข้าสู่ระบบเผด็จการของประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็น อย่างมาก ซึ่งในขณะนี้เรากำลังเห็นพม่าที่เริ่มจะเปิดประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีนักโทษการเมืองหลายหมื่นคน และเมื่อเรากลับมามองประเทศไทย เราก็กำลังซ้ำรอยความผิดพลาดแบบเดียวกัน ทั้งอำนาจของกองทัพที่เพิ่มสูงขึ้น ความใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและกองทัพโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเมื่อรัฐบาลตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดังนั้น เรากำลังเห็นการพึ่งพาระหว่างรัฐบาลและกองทัพ และยิ่งกองทัพมีอำนาจเพิ่มขึ้นเท่าไร คุณก็ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกรวบอำนาจโดยกองทัพ และเสี่ยงต่อการเป็นรัฐทหารมากขึ้นเท่านั้น แต่ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังแทบไม่รู้ตัวในเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ

แสดงว่าสำหรับประเทศไทย ระบอบเผด็จการมีความแนบเนียนกว่าที่อื่น?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ใช่ จะว่าอย่างนั้นก็ได้ คือรัฐบาลค่อนข้างระมัดระวังที่จะไม่ทำอะไรให้กระทบกระเทือนต่อกองทัพ และผมคิดว่าการที่กองทัพมีอำนาจและใช้ในทางที่ผิดนี้ ก็เป็นรากฐานของอำนาจของชนชั้นนำด้วย ฉะนั้น ในความเป็นจริง สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะที่เริ่มมาจากหนังสือ “เดอะ คิง เนเวอร์ สไมลส์” ก็มาจากสาเหตุที่ว่าสถาบันฯ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพนั่นเอง ความคิดเห็นของผมก็คือว่า ถ้าหากสถาบันฯ ไม่ได้สนิทสนมกับกองทัพขนาดนี้ สถาบันฯ ก็คงจะไม่มีอำนาจสูงเท่าในปัจจุบันและอาจจะไม่สามารถอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ ได้ ฉะนั้นในแง่หนึ่งมันก็เป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันนั่นเอง

แต่สิ่งที่ทุกรัฐบาลพยายามทำเพื่อปกครองประชาชน ก็คือสร้างความกลัวให้ปกคลุมสังคม ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อเรื่องการก่อการร้าย สงครามยาเสพติด หรืออะไรก็ตามแต่ พวกเขาพยายามจะทำให้เราเกิดความกลัวเพื่อที่จะควบคุมสาธารณชนได้โดยง่าย ผมคิดว่ามันเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวขึ้นมา แต่ไม่ใช่ในแบบที่รัฐบาลกล่าวหา คือ รัฐบาลมักพูดถึงทฤษฎีสมคบคิดที่จะโค่นล้มสถาบันฯ ซึ่งผมคิดว่าไม่จริงเลยแม้แต่น้อย ผมพูดได้เลยว่าคนจำนวนมากที่ผมรู้จัก ที่เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้สนใจจะโค่นล้มสถาบัน กษัตริย์ ความจริงแล้วพวกเราหลายคนกลับเห็นว่าสถาบันฯ กลับเป็นสิ่งที่สร้างเสถียรภาพในสังคมไทย เราไม่เห็นว่ามันจะมีปัญหาอย่างไร เพราะทุกสังคมย่อมควรมีสัญลักษณ์ หรือประมุข ซึ่งประเทศที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์ก็ทำหน้าที่เช่นนั้น ฉะนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร

ในความเป็นจริง มันไม่มีขบวนการเพื่อที่จะโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ มันไม่มีกระแสที่แรงกล้าเพื่อมุ่งเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ที่จริงแล้ว มันจะมีความแตกต่างแค่ไหนกันเชียวหากเรามีประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามันจะไม่มีความแตกต่างใดๆ ทั้งสิ้นต่อการดำเนินไปของสังคมไทยว่าเราจะมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่มี อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ค่อนข้างมีพลังและอำนาจ ฉะนั้น ผมจึงคิดว่ามันสำคัญมากที่เราได้ทำให้เรื่องการเซ็นเซอร์เป็นประเด็นร้อน และ FACT ก็เป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่นำเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาพูดคุย ในฐานะประเด็นหนึ่งของการเซ็นเซอร์

ตั้งแต่ การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา แน่นอนว่าอำนาจของทหารก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างชัดเจน แต่หลังจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมปี 2554 และพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาล คุณคิดว่าเราจะสามารถหลุดพ้นออกจากอำนาจเก่าๆ ได้หรือไม่

ซี.เจ. ฮิงกิ: ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับนักอนาธิปัตย์ชาวอเมริกัน เอมมา โกลด์แมน ที่พูดว่า “หากการลงคะแนนโหวตสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง มันคงจะผิดกฎหมายไปแล้ว” ตัวผมเองนั้นไม่มีศรัทธาใดๆ ต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการเลือกตั้งจะเท่ากับประชาธิปไตย แต่การสามารถมีส่วนร่วมของประชาชนต่างหากที่หมายถึงประชาธิปไตย และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลถึงเกรงกลัวอินเทอร์เน็ต เพราะมันเป็นรูปแบบของประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้บทสนทนาระหว่างเราสามารถเกิดขึ้นได้

ฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้มีคุณูปการต่อสังคมไทย คือการแยกและโดดเดี่ยวตนเองจากฐานเสียง นั่นคือมวลชนเสื้อแดง เวลาผมพูดว่าผมไม่สนใจในการเมืองแบบเลือกตั้ง ผมก็ไม่มีความสนใจในขบวนการเคลื่อนไหวแบบมวลชนเช่นเดียวกัน ผมคิดว่าทั้งขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดง มันอาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกดีได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่มันไม่อาจจะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ คือบทสนทนาและการถกเถียง ฉะนั้นเราจึงควรมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

แล้วคุณมองว่าแนวโน้มของเสรีภาพอินเทอร์เน็ตในปี 2555 จะเป็นอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: จริงๆ แล้วผมคิดว่ามันจะแย่ลงเรื่อยๆ นะ มันน่าสนใจเพราะว่า ทั้งในรัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลเพื่อไทย เรามีรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นนักเลง (Gangster) พวกเขาเป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพลและกว้างขวาง และถ้าคุณสังเกตดู ก็จะเห็นว่าหน้าที่ของพวกเขาก็คือการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เราสามารถพูดคุยกันได้ และตอนนี้รองนายกฯ เฉลิม อยู่บำรุง ก็พูดเรื่องการใช้งบประมาณ 400 ล้านบาทไปกับเทคโนโลยีล่าสุดเพื่อเอาไว้บล็อกเว็บไซต์ต่างประเทศ

สิ่งที FACT ทำในทันที คือการเขียนจดหมายไปหารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน และประธานของสหภาพยุโรป เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลต่างประเทศหยุดขายเทคโนโลยีดังกล่าวแก่รัฐบาลไทย เพราะหากพวกเขาเชิดชูเสรีภาพอินเทอร์เน็ต แล้วเขาจะอนุญาตให้ประเทศตะวันตกขายเทคโนโลยีเหล่านี้แก่ไทยเพื่อจำกัดเสรี ภาพอินเทอร์เน็ตของเราได้อย่างไร

โดยรวมแล้วผมคิดว่าสถานการณ์จะยิ่งแย่มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเห็นสิ่งที่เป็นลาดเลาในบ้านเราที่คล้ายกับสังคมภายใต้การควบคุมอย่าง เคร่งครัดในพม่า อาจจะไม่เท่ากับสมัยเขมรแดง แต่ก็คล้ายกับพม่าหลายอย่าง รวมถึงอำนาจของเผด็จการทหารที่มีมากขึ้น

คุณบอกว่าคุณไม่เชื่อในขบวนการเคลื่อนไหวแบบมวลชน แต่เชื่อในบทสนทนาและเสรีภาพในการพูด ทำไม? ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมจะยกตัวอย่างให้ฟัง ในช่วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่ออำนาจของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินหมดลงในวันที่ 23 ธันวาคม 2552 มันควรจะยกเลิกการเซ็นเซอร์ทุกอย่างตามกันไปด้วย มันไม่ควรจะมีอะไรถูกเซ็นเซอร์อีกต่อไปแล้วในอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยังไม่มีเว็บไซต์ใดซักแห่งเดียวที่ถูกยกเลิกการปิดกั้น ฉะนั้น เราจะเห็นว่ามันมาพร้อมกับวาระที่ซ่อนเร้น

ผมคิดว่า พื้นฐานของความคิดที่ก้าวหน้าในสังคมใดๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันไม่มีการเซ็นเซอร์ หากคุณสามารถพูดอะไรก็ได้ ทุกคำพูดสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี มันก็เท่ากับสนับสนุนประชาชนให้ดูถูกหรือเหยียดหยามคนอื่น แต่ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ต้องไปมองหรือไปฟังมัน นั่นต่างหากคือการเซ็นเซอร์ที่แท้จริง ถ้าอะไรทำให้คุณโกรธหรือไม่ชอบใจ ถ้าการ์ตูนเกี่ยวกับกษัตริย์ของคุณทำให้คุณไม่ชอบใจ คุณก็แค่ไม่ต้องไปมองมัน แค่นั้นเอง ทำไมคุณจะต้องดิ้นรนในสิ่งที่จะไม่ได้อะไรขึ้นมาด้วย มันไม่มีเหตุผลเลยแม้แต่น้อย

ฉะนั้น ผมอยากจะเห็นเราเริ่มใหม่กันตั้งแต่ศูนย์ และดูว่าสังคมเราจำเป็นจะต้องมีการเซ็นเซอร์ขนาดไหนเพื่อที่จะให้มันทำงาน ได้ เราอาจจะตัดสินใจว่าเราไม่ต้องการมีการเซ็นเซอร์ใดๆ เลยก็ได้

ดูตัวอย่างสหรัฐอเมริกาซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เชิดชูสิทธิและ เสรีภาพในการพูดสิ แน่นอนว่าสหรัฐมีการเซ็นเซอร์ มีการเซ็นเซอร์กระแสหลักในสหรัฐตั้งมากมาย และก็มีการเซ็นเซอร์ในอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับหนังโป๊เด็กหรือเรื่องของ ลิขสิทธิ์ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่จริงแล้ว ผมไม่คิดว่ามีสังคมไหนที่ไม่มีการเซ็นเซอร์อยู่เลย แต่ผมคิดว่าสังคมไทยมันมากเกินไปหน่อย ในที่สุดแล้ว รัฐบาลกำลังบอกพวกเราอยู่ว่าเราโง่เกินกว่าที่จะคิดอะไรได้ด้วยตัวเอง ว่าเราต้องมีพี่เลี้ยงเด็กในรูปแบบของรัฐบาล เสมือนว่ารัฐบาลต้องการจะเล่นบทตำรวจที่คอยควบคุมศีลธรรมอันดี หากแต่พวกเขาไม่สมควรจะเป็นตำรวจศีลธรรม พวกเขาไม่ได้มีจิตใจที่สูงส่งไปกว่าพวกเราเท่าไหร่หรอก

แล้วทาง FACT มีข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมเคยพูดแล้วว่า ในประเด็นนี้ พวกเรามีความอ่อนไหวกันเกินไป สิ่งที่คนมักยกขึ้นมาพูดในการถกเถียงเรื่องนี้ คือการบอกว่า “พระมหากษัตริย์คือพ่อของเรา และพระราชินีคือแม่ของเรา” เยี่ยม! โอเค คราวนี้คุณลองมานึกแบบเดียวกันกับพ่อแม่ของคุณเองบ้าง คิดถึงพ่อและแม่ของคุณ ว่าหากมีใครมาดูหมิ่นพ่อและแม่ของคุณเองในหนังสือพิมพ์หรือในอินเทอร์เน็ต คุณจะเอาปืนและมายิงพวกเขาหรือจับพวกเขาเข้าคุกหรือเปล่าล่ะ มันคงจะบ้าที่สุดเลย

ฉะนั้น ข้อแนะนำของผมต่อหลายๆ คนก็คือว่า “อย่าหน้าบางมากเกินไป” อย่าอ่อนไหวเกินไปนักเลย ผมหมายถึงว่า มันก็เป็นแค่คำพูดเท่านั้นเอง เมื่อคุณเห็นวีดีโอในยูทิวบ์ที่ทำล้อเลียนราชวงศ์ มันก็เป็นเค่เรื่องไร้สาระ ทำไมเราต้องคิดว่ามันสำคัญอะไรด้วย พวกเรากำลังให้ค่ามันมากเกินไปหรือเปล่า และผมคิดว่าการที่รัฐบาลปฏิบัติต่อเรื่องนี้มากเกินกว่าเหตุ พวกเขาก็กำลังทำลายสถาบันกษัตริย์ด้วย

ผมได้ยินทฤษฎีสมคบคิดในระยะนี้มาว่า รัฐบาลมีวาระมุมกลับที่พยายามจะทำลายสถาบันกษัตริย์ด้วยการทำให้เราพูดถึง เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ มากขึ้น เมื่อคุณมาลองคิดดู มีผู้พิพากษาที่ได้รับการศึกษาสูงๆ ตัดสินจำคุกชายคนหนึ่ง 20 ปี แน่นอนว่าเขาต้องคิดได้ว่ามันต้องมีผลกระทบส่งกลับมาแน่ๆ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะไม่ได้คิดในแง่นี้ และพิจารณาเรื่องบทลงโทษอย่างเดียว ฉะนั้น ผมฟันธงเลยว่าผู้พิพากษาผู้นั้นต้องมีความผิดด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นเดียวกัน

มันยังทำให้ผมคิดด้วยว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาลที่ถูกนับว่าเป็นการหมิ่นศาลนั้น เป็นเรื่องที่ผิดปรกติอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้พิพากษาก็เป็นคนเหมือนๆ กับเรา ไม่ใช่เทวดาที่ไหน และในความจริงแล้ว มันเป็นบทบาทที่สำคัญของเสรีภาพในการพูดของเราในการกำหนดกลไกทางนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร เพื่อที่นักการเมืองจำเป็นต้องปฏิบัติตามในนามของประชาชน และผู้พิพากษาจำต้องปฏิบัติตามประโยชน์ของสาธารณะ

ทาง FACT เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จริงๆ ในกรณีของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันเป็นอะไรที่แตกต่างกันนิดหน่อยเพราะก่อนหน้าที่จะมี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มันจะต้องมีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากคุณจะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ก็ต่อเมื่อมันมีอาชญากรรมให้ได้ จัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์เรียกว่าเป็น “อาชญากรรม” นั้น สามารถใช้กฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้วจัดการได้ทั้งหมด และทีจริง การเซ็นเซอร์ก็ไม่ใช่วิธีการที่จะแก้ไขปัญหานั้นด้วย

เช่นในกรณีของหนังโป๊ ปัญหาคือไม่ใช่ตัวของหนังโป๊เอง แต่ปัญหาคือการเอาเปรียบผู้หญิง และมันก็มีกฎหมายที่เพียงพอแล้วในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ฉะนั้น คุณไม่ควรจะมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คุณไม่ควรจะมาพูดว่า “ปัญหานี้เป็นผลมาจากการเอาเปรียบสตรี ดังนั้นมันจึงต้องถูกเซ็นเซอร์” สิ่งที่ควรจะทำ คือการแก้ปัญหาที่การเอารัดเอาเปรียบเสตรี การพนันออนไลน์ หรืออะไรก็ตามแต่ คุณไม่ควรจะมาเริ่มแก้ที่อินเทอร์เน็ต คุณควรจะเริ่มที่ต้นตอของปัญหาในสังคมต่างหาก

คุณจะกล่าวอะไรกับคนที่บอกว่า การเสนอให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เท่ากับการล้มสถาบันกษัตริย์?

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก คือผมคิดว่า การที่ผู้นำคนใดๆ จะอยู่รอด มันขึ้นอยู่กับสามารถของเขาเอง ผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองราชย์มากว่า 60 ปี และท่านก็ทรงทำหน้าที่ได้อย่างดีมาก โดยส่วนตัว ผมไม่มีปัญหาอะไรต่อสถาบันกษัตริย์ แต่การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มงวดมากในตอนนี้ เป็นเพราะพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป และเป็นเพราะการสืบสันตติวงศ์ ฉะนั้น รัฐบาลก็พยายามจะแสดงว่าพวกเขาจงรักภักดีต่อราชวงศ์มาก ด้วยการจับกุมประชาชนและเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต

ในแง่หนึ่ง การถกเถียงเรื่องการเซ็นเซอร์ถูกลดทอนให้เหลือแต่เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของยอดน้ำแข็งเท่านั้น ผมคิดว่าการที่คนไทยยอมรับว่าการเซ็นเซอร์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการปกครองโดย รัฐเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

FACT จำแนกการเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ได้เกือบ 60 ชนิด ตั้งแต่การเซ็นเซอร์ในเกม การแต่งกาย ไปจนถึงการเซ็นเซอร์ทางศาสนา วัฒนธรม และสังคม เราเองถูกเซ็นเซอร์อยู่เสมอในทุกระดับ และเราแทบไม่รู้ตัวหรือสังเกตเลยด้วยซ้ำ

ในรอบปีที่ผ่านมา หากคุณต้องให้รางวัลบุคคลแห่งปีในวงการที่ต่อสู้เรื่องเสรีภาพหนึ่งคน คุณจะยกรางวัลนี้ให้แก่ใคร

ซี.เจ. ฮิงกิ: ผมคงจะยกรางวัลนี้ให้กับ ส.ศิวรักษ์ ผมเองใกล้ชิดกับเขาพอสมควร และผมคิดว่าเขาได้ทำอะไรมากมายเพื่อต่อสู้กับผู้มีอำนาจในสังคม คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเป็น หรือสิ่งที่เขาพูดทั้งหมด และที่จริงมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เลยแม้แต่น้อย ถึงแม้ว่าเขาจะเคยถูกตั้งข้อหาด้วยกฎหมายนี้มาแล้วหลายครั้ง และถึงแม้หนังสือของเขาจะถูกแบนด้วยกฎหมายหมิ่นฯ มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่มันเกี่ยวกับไอเดียว่าด้วยเรื่อง “พุทธศาสนาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” (Socially engaged Buddhism) ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมที่มาจากการตระหนักรู้จากมโนสำนึกของตนเอง และผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการไม่เกรงกลัวในการทำตามจิตสำนึกที่ถูกต้อง และสามารถกระทำโดยปราศจากความกลัว

นอกจากนี้ ผมยังคิดว่าในปีที่ผ่านมา การขึ้นมาของแกนนำสันติวิธีในกลุ่มเสื้อแดง นับเป็นเหตุการณ์ที่ความสำคัญตั้งแต่การปราบปรามประชาชนที่ราชประสงค์ เช่น การขึ้นมามีบทบาทของสมบัติ บุญงามอนงค์ของกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผมคิดว่าเขามีความคล้ายกับ ส.ศิวรักษ์โดยบังเอิญ สำหรับผมแล้ว เมื่อคุณเปรียบเทียบสมบัติกับอริสมันต์ (พงษ์เรืองรอง) คุณจะเห็นว่ามันมีความแตกต่าง โดยเขาเป็นคนที่ยินดีที่จะฟังเสียงของประชาชน รับฟังความต้องการของมวลชน และเคารพสาธารณะ จริงๆ ผมหวังว่าสมบัติจะไม่ลงเลือกตั้งเป็นนักการเมืองนะ เพราะว่ามันจะทำลายสิ่งที่เขาสร้างมา ในความเป็นจริง ผมคิดว่า เขาเป็นผู้นำคนหนึ่งที่มีพลังมากทีเดียว และเป็นบุคคลหนึ่งที่ผมให้การเคารพนับถือ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าจับตา คือการที่สุภิญญา กลางณรงค์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยทั่วไปแล้ว เมื่อมีใครคนหนึ่งได้รับเลือกเข้าสู่ตำแหน่งเช่นนั้น เขาอาจจะเลือกที่จะสมยอม เหลิงอำนาจ หรือทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจจากภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก และผมก็หวังว่าเธอจะทำเช่นนั้น ผมรู้ว่าสุภิญญาได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและ เสรีภาพพอสมควร แต่ผมเองสนับสนุนเธอเต็มที่ในหน้าที่การทำงาน เมื่อมีใครสักคนที่ตระหนักถึงคุณค่าในเสรีภาพการแสดงออก และอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และสามารถทำให้คนอื่นๆ ในกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว มันก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะผมเชื่อว่าพวกเขาไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ