ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 6 January 2012

เมืองไทย 2555 อะไรรอเราอยู่ ตอน 6: ไทยในเวทีระหว่างประเทศกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

ที่มา ประชาไท

จับตานโยบายระหว่างประเทศรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2555 บทบาทมหาอำนาจ จีน-สหรัฐในภูมิภาค และโอกาสของรัฐบาลในการเยือน “อินเดีย” ปลาย ม.ค. นี้พร้อมแนะ “ยิ่งลักษณ์” หากจะเดินการทูตแบบยุค “ทักษิณ” ต้องเน้นกรอบอาเซียนด้วยเพราะเป็นหัวใจนโยบายต่างประเทศของไทยมานับตั้งแต่ ยุคก่อตั้ง

สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ย้อน มองนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลที่เปลี่ยนผ่านจาก “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ถึงยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และทิศทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอุษาคเน ย์ในปี 2555 ชาติมหาอำนาจที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาค จนถึงความพร้อมของไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (แฟ้มภาพ)

000

ประชาไท: ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปีนี้ อาจารย์มองว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ และมองกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยเตรียมเยือนอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจประเทศหนึ่งอย่างไร

ปวิน: ก่อนอื่นต้องดูนโยบายต่างประเทศของไทยก่อน ซึ่งผมกล่าวในหลายโอกาสมาแล้วว่าจริงๆ แล้วไทยแทบไม่มีนโยบายต่างประเทศเลย ตั้งแต่สิ้นยุคทักษิณในปี ค.ศ. 2006 หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาภายในของไทย เกิดปัญหามากมายตลอดเวลา จนกระทั่งเราไม่มีเวลาที่จะให้ความสนใจกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านการ ต่างประเทศ

พอถึงยุคของอภิสิทธิ์ซึ่งอยู่นานนิดหนึ่ง แทนที่จะให้ความสนใจกับประเด็นด้านการต่างประเทศ กลับใช้ประเด็นด้านการต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายใน ก็ไม่ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาก็เป็น กรณีที่เด่นขึ้นมา ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์ขึ้นมาตามวิถีแบบประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่ได้รับความชอบธรรม ผมคิดว่าคุณยิ่งลักษณ์น่าจะหันมาให้ความสนใจกับนโยบายด้านการต่างประเทศมาก ขึ้น มากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา ผมเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์อาจจะทำอะไรได้หลายๆ อย่าง แต่ก็อีกล่ะ คุณยิ่งลักษณ์เพิ่งขึ้นมาอยู่ในอำนาจได้เป็นเดือนที่ 5 ก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม และปัญหาวุ่นวายเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่มีเวลาให้การดูแลด้านการต่างประเทศอย่างจริงจัง

แต่ว่าในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งจะเห็นว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นด้านการ ต่างประเทศดีพอควร ผมคิดว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้ารัฐบาลให้ความใส่ใจขึ้นมา เราก็อาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบายที่เรามีกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีความเป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งสาเหตุที่มีความเป็นมิตรมากขึ้น มาจากสองเหตุผลสำคัญ

เหตุผลแรกผมคิดว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่างไปจากรัฐบาลชุดที่แล้ว คงเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่พยายามเอาตัวเองออกจากรัฐบาลชุดที่แล้ว นี่เป็นธรรมชาติของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นของไทยที่มันขัดแย้งด้านการเมือง และการที่รัฐบาลชุดที่แล้วมีความขัดแย้งเยอะกับเพื่อนบ้าน รัฐบาลชุดนี้คงต้องทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เผอิญว่าสิ่งที่ทำตรงกันข้ามมันกลายเป็นผลดีก็คือ ความพยายามผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นแนวโน้มที่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะดำเนินนโยบายแบบสร้างมิตรภาพ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือตามกรอบความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ ฟังดูแล้วก็เป็นเบสิก แต่ผมคิดว่าอันนี้ก็คงจะเป็นแนวโน้มซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงจะทำต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งคือ คุณยิ่งลักษณ์อาจจะกลับไปใช้นโยบายต่างประเทศแบบยุคคุณทักษิณซึ่งอยู่ในอำนาจมา 6 ปี ซึ่งผมเขียนหนังสือเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศคุณทักษิณไว้ โดยมี Character หลักอยู่บางประการ ยกตัวอย่างเช่น เน้นด้านธุรกิจเป็นหลัก ไม่เน้นด้านการเมือง ไม่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ พยายามไม่เข้าไปก้าวก่ายในกิจการต่างประเทศของประเทศอื่น เน้นความเป็นไทย เน้นความเป็นอัตลักษณ์ของไทย ส่งเสริมความเป็นชาตินิยม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ อาจจะให้อำนาจกับเอกอัครราชทูตของไทยมากขึ้น เหมือนกับในยุคของคุณทักษิณที่มี CEO Ambassador

เนื้อหลักคงเป็นเรื่องนโยบายที่เน้นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าทุกครั้งที่คุณยิ่งลักษณ์ไปเยือนต่างประเทศโดยเฉพาะใน ช่วงที่ผ่านมาเยือนประเทศอาเซียน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาเป็นเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก มีอันเดียวที่ผมเห็นว่าแตกต่างไปนิดหนึ่งคือกรณีของพม่า ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์เพิ่งไปเยือนกลับมา และมีโอกาสหารือพบปะกับนางออง ซาน ซูจี และคุณยิ่งลักษณ์พูดถึงความพร้อมของไทยในการส่งเสริมการปรองดองแห่งชาติของ พม่า รวมถึงการส่งเสริมประชาธิปไตยของพม่า แต่ผมว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์พูดไป ไทยจะนำไปปฏิบัติจริงจัง ผมคิดว่าทุกๆ ประเทศที่ต้องไปพม่าก็ต้องพูดแบบเดียวกัน

โดยสรุปแล้ว จากคำถามที่ถามมา ผมคิดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นเทรนด์ที่มีการผูกมิตรมากขึ้น มีการกระชับความสัมพันธ์ ความร่วมมือมากขึ้น และเน้นธุรกิจเป็นหลัก

000

ในการติดต่อสัมพันธ์ของ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในกรณีพม่า เราจะเห็นว่าก่อนหน้าการเยือนของยิ่งลักษณ์ ทักษิณจะเข้าไปเยือนพม่าก่อนและพบกับตานฉ่วย อาจารย์คิดว่าเทรนด์แบบที่ ก่อนที่รัฐบาลจะเดินทางไปเยือนประเทศไหนๆ ก็ตาม จะมีการไปเยือนล่วงหน้าโดยทักษิณ จะเป็นโมเดลแบบนี้ในทุกกรณีหรือเปล่า

มันก็เป็นไปได้ ผมให้ความสนใจกับเรื่องนี้เหมือนกัน กับเรื่องที่คุณทักษิณได้เดินทางไปล่วงหน้าในหลายๆ ทริป ก่อนทริปที่คุณยิ่งลักษณ์จะไป ผมคิดว่ามันมีนัยยะทางด้านการเมืองหลายๆ อย่าง มากกว่านัยยะในด้านการต่างประเทศ

ถ้าเป็นนัยยะทางการเมือง ผมคิดว่าคุณทักษิณก็เหมือนเดิม เราก็รู้อยู่ว่าทักษิณเนี่ย ปากพูดว่าไม่สนใจการเมือง แต่ความเป็นจริงแล้วก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตลอด เรารู้อยู่ว่าคุณยิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิดให้คุณทักษิณ มันก็เป็นจริง ในที่สุดแล้วคนที่บริหารรัฐบาลชุดนี้ก็ยังเป็นคุณทักษิณ ยังไม่พอ คนที่บริหารการต่างประเทศยังเป็นคุณทักษิณอีก นี่ก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับกัน

ผมคิดว่ามันมีนัยยะทางการเมืองที่เราต้องพิจารณากันคือ ทักษิณต้องการบอกให้รู้ว่า ทักษิณเป็นคนตัดสินใจ เป็นคนกำหนดนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือ มันเป็นผลประโยชน์ของตัวคุณทักษิณเอง อย่าลืมว่าทักษิณเพิ่งได้พาสปอร์ตคืน การไปเยือนต่างประเทศโดยใช้พาสปอร์ตไทยหรือก่อนหน้านี้ที่ไม่มีพาสปอร์ตไทย ก็ตาม ทักษิณต้องการจะชี้ให้ประชาคมโลกเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้วทักษิณคือผู้นำของไทยที่มีความชอบธรรม แต่ต้องถูกกระทำต่างๆ นานา โดยเฉพาะถูกรัฐประหาร คือทักษิณต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมคืนในเวทีระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้นก็มีวาระซ่อนเร้นของตัวคุณทักษิณเอง

คราวนี้ที่ย้อนกลับมาถึงเรื่องว่ามันจะมีผลกับนโยบายการต่างประเทศหรือ ไม่ ผมคิดว่าก็คงจะต้องมี หนึ่ง ก็อย่างที่บอกว่า ทักษิณเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศเอง เผลอๆ ทักษิณเป็นคนกำหนดด้วยซ้ำว่า คุณยิ่งลักษณ์ควรไปเยือนประเทศไหนก่อน เป็นคนลำดับความสำคัญหรือ Priority ให้รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์

สอง อาจจะเน้นว่า อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า มันอาจเป็นการกลับคืนมาของการทูตแบบทักษิณที่เอาเศรษฐกิจนำเป็นหลัก และการเมืองเป็นเรื่องรองถัดลงไป จะเห็นว่าผลการเยือนต่างประเทศทุกครั้ง ผลเป็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ในเรื่องของพม่าเองเราต้องทำความเข้าใจว่า คุณทักษิณมีผลประโยชน์ในพม่าเยอะมาก และกรณีที่คุณทักษิณไปลงทุนส่วนตัวโดยผ่านชินคอร์ปในอดีต ซึ่งมันกลายเป็นปัญหาวุ่นวายเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่ายังมีความเกี่ยวข้องเรื่องผลประโยชน์และธุรกิจคุณ ทักษิณด้วย

และการที่คุณยิ่งลักษณ์พบกับออง ซาน ซูจี ก็น่าจะเป็นความคิดของคุณทักษิณ แต่อย่างที่ผมบอก มันไม่ได้หมายความว่า Suddenly (จู่ๆ) คุณทักษิณเกิดรักประชาธิปไตย หรือรัฐบาลชุดนี้อยากส่งเสริมประชาธิปไตย ผมคิดว่าการจัดให้พบกับออง ซาน ซูจี ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคุณยิ่งลักษณ์ในแง่ที่ว่าคุณยิ่งลักษณ์ เข้าใจการเมืองภายในพม่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่า สนใจความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้าน ต้องการส่งเสริมประชาธิปไตย และในที่สุดแล้วก็นำไปสู่ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากพม่า อีกเรื่องคือเรื่องท่าเรือน้ำลึกในทวาย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของไทยโดยตรง ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว มันก็กลับมาสู่การทูตแบบทักษิณเหมือนเดิม

000

ต่อบทบาทของมหาอำนาจอย่าง จีนหรือสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค ปีนี้มีสิ่งที่จะต้องจับตาหรือไม่ และบทบาททางการทหารของจีนในภูมิภาค นอกจากเรื่องพิพาทในทะเลจีนใต้ เรื่องหมู่เกาะสแปรตลีย์แล้ว กรณีทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนกับพม่าพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารมาในระดับหนึ่งและล่าสุดเรื่องฐาน ทัพเรือของจีนในมหาสมุทรอินเดียจะมีผลต่อภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค และมีผลกับไทยอย่างไรบ้าง

ขอย้อนกลับไปที่คำถามแรกก่อนที่จะกลับมาคำถามใหม่ เรื่องเกี่ยวกับที่คุณยิ่งลักษณ์จะไปเยือนอินเดีย ผมคิดว่าไทยกับอินเดียเป็นประเทศที่สำคัญมาก เป็นประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่พร้อมๆ ไปกับจีน มีคนพูดถึง The Rise of China เรา ก็ควรต้องพูดถึง The Rise of India เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เสียสติสิ้นดี ถ้าเราไม่ให้ความสนใจกับประเทศอินเดีย

ที่ผ่านมาในยุคคุณทักษิณ ได้ให้ความสำคัญพอสมควร คุณทักษิณไปเยือนอินเดีย 2-3 ครั้ง อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ลงนามร่วม กับอินเดียในความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีนัยยะสำคัญ ที่เราไม่ควรมองข้าม แต่ในยุคคุณทักษิณเมื่อไปเยือนแล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออินเดียเท่าไหร่ กรณีที่คุณยิ่งลักษณ์ไปน่าจะไปต่อความสัมพันธ์ที่ดี ที่เรามีกับอินเดีย ความสัมพันธ์โดยพื้นฐานยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าเป็นหลัก เรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตการค้าเสรี มีเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงด้านการบินระหว่างสองประเทศที่ผมคิดว่ายังพัฒนากัน ไปได้ เรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระหว่างกันเมืองหลักๆ ของไทยกับของอินเดียโดยภาคการบิน

ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี คืออินเดียเองตั้งแต่ปี 1992 ก็ ใช้นโยบาย Look East คืออินเดียแต่เดิมมัวแต่วุ่นวายกับนโยบาย Look West หรือไม่ก็วุ่นวายอยู่ในอนุทวีปของตัวเอง โดยไม่มองความสำคัญ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 1992 ก็เป็นปีหลักที่อินเดียหันมามองความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าไทยในจุดนี้น่าจะพัฒนาบทบาทของตัวเองในการเป็นสะพาน เชื่อมอินเดียกับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพราะฉะนั้นเรื่องไม่ได้จำกัดแค่ผลประโยชน์แบบทวิภาคี แต่มีบทบาทอื่นที่คุณยิ่งลักษณ์สามารถเล่นได้ ในแง่บทบาทของเราในภูมิภาค ผมคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ และการเข้าไปพูดในรัฐสภาของอินเดียก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะว่าผู้นำหลักๆ ของโลก รวมถึงประธานาธิบดีโอบาม่าที่ไปเยือนอินเดียเมื่อคราวที่แล้วก็ไปพูดที่ รัฐสภาอินเดียเหมือนกัน ผมหวังว่าคุณยิ่งลักษณ์คงจะไปพูด และคงไม่ตะกุกตะกักเหมือนที่พูดครั้งที่ผ่านๆ มา และคงต้องดูกันต่อไปว่าประเด็นที่คุณยิ่งลักษณ์จะไปพูดเป็นอย่างไร

คืออินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยก็จริง ส่งเสริมประชาธิปไตยมาตลอด แต่หลังๆ อินเดียก็เปลี่ยนไปเยอะพอสมควรหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่อินเดียหันมาสนใจด้านเศรษฐกิจ ก็น่าจะสอดคล้องกับนโยบายของคุณยิ่งลักษณ์

ย้อนกลับมาคำถามเรื่องมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ ผมคิดว่าก็คงเป็นตัวแปรสำคัญในปีที่จะถึงนี้ การแข่งขันในภูมิภาคบอกได้เลยว่าเป็นการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสองมหาอำนาจ คือจีนกับสหรัฐเป็นหลัก และการแข่งขันนี้มีส่วนในการกำหนดระเบียบของภูมิภาค หรือ Regional Order

อาเซียนเหมือนกับเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง เป็นเหมือนตัวแปรหนึ่ง ผมคิดว่าเป็นอาวุธด้วยซ้ำที่แต่ละฝ่ายต้องการดึงอาเซียนมาเป็นพวกของตัวเอง แต่ความเป็นจริงแล้ว ความเป็นไปของภูมิภาคนี้ยังต้องถูกกำหนดด้วยสองมหาอำนาจหลัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือสหรัฐอเมริกา เมื่อสองเดือนที่ผ่านมาได้เข้าการประชุม EAS (East Asia Summit) เป็นครั้งแรกที่เข้าร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ ในฐานะสมาชิก EAS หนึ่ง ผมคิดว่าจีนลึกๆ ก็รู้สึกหวั่นใจในเรื่องเกี่ยวกับการที่สหรัฐเข้ามามีบทบาทโดยตรงผ่าน EAS กลายเป็นตัวคานตัวหนึ่งของจีน ก็คงจะมีอะไรน่าติดตามชม น่าติดตามดูภายในปีนี้

การดึงเอาคนของอาเซียนไปเป็นข้างตัวเอง ผมคิดว่ามันจะสร้างพลวัตพิเศษขึ้นมา ประเทศที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นพวกสหรัฐก็อย่างเช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ก็เห็นได้ชัดว่าเขาต้องการให้สหรัฐเข้ามามีบทบาท และส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เพียงปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องการใช้สหรัฐลดทอนอิทธิพลของจีนที่มีในภูมิภาค พบคิดว่าอย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ยังมองจีนว่าเป็นภัยตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภัยทางด้านการเมือง ภัยทางด้านการทหาร ภัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายๆ คนมองข้ามไป ภัยทางเศรษฐกิจก็ในแง่ที่ว่าจีนเข้ามามีบทบาทครอบงำเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้พอ สมควร อีกกลุ่มประเทศหนึ่งซึ่งเข้าข้างจีนอย่างเห็นชัดๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอินโดจีน พม่า กัมพูชา ลาว กลุ่มประเทศนี้ตกอยู่ใน Satellite ของจีน ไทยเอง ผมคิดว่าก็เหยียบเรือสองแคมมาตลอด คือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ขณะเดียวกันเป็นพันธมิตรทางด้านการทหารกับสหรัฐก็คงต้องดูต่อไป

กับคำถามสุดท้าย ที่ถามว่าจีนกับอินเดียคิดว่าอันนี้ก็เป็นพลวัตสำคัญอันหนึ่ง เราไปโฟกัสมากแต่เรื่องทะเลจีนใต้ ซึ่งผมคิดว่าก็ยังเป็นประเด็นสำคัญ และประเด็นทะเลจีนใต้ก็ยังเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ อเมริกาด้วย และผมก็ยังเชื่อว่ามันจะเป็นประเด็น เป็นวาระหลักใน อาเซียน ในการประชุม อาเซียน ทุกๆ ครั้งนับจากนี้ต่อไป เพราะผมคิดว่าปัญหาคงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน มันมีความซับซ้อนมาก มันมีความขัดแย้งกันระหว่างการใช้วิธีแก้ไขปัญหาแบบทวิภาคีหรือจะเอา ผ่านกรอบ อาเซียน ซึ่งผมคิดว่าต้องดีเบทกันอีกนานพอสมควร

ทั้งนี้ทั้งนั้นเลยทำให้คนมองข้ามอีกพลวัตหนึ่งที่เกิดขึ้นในอ่าวเบงกอล ในมหาสมุทรอินเดีย มันเป็นการต่อรองทางด้านอำนาจระหว่างจีนกับอินเดีย และผมคิดว่าพม่าก็กลายเป็น Battlefield (สมรภูมิ) ระหว่างจีนกับอินเดีย คือตัวพม่าเองเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับทั้งจีนและอินเดีย รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ มีการพึ่งพากันสูง อินเดียเองก็หวังที่จะขอความช่วยเหลือจากพม่าในการไม่ให้ความช่วยเหลือกลุ่ม กบฏที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพรมแดนที่ติดกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านขายน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ หรือเรื่องเกี่ยวกับวัตถุดิบอย่างเดียว มันก็เป็นประเด็นทางด้านการเมืองด้วย จีนเองก็มีประเด็นการเมืองมากเหมือนกัน ในเรื่องกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ถ้าเราจำได้เคยมีกรณีชนกลุ่มน้อยโกก้างที่ข้ามไปและก่อให้เกิดปัญหามากมาย

ซึ่งผมคิดว่าการมองพม่าก็ต้องมองให้ชัดๆ ด้วยว่าพม่าอาจจะไม่ได้ถูก Manipulated อย่างเดียว แต่พม่าเองก็ Manipulate สถานการณ์ด้วย พม่าเองก็ใช้จีนในการคานผลประโยชน์อินเดีย ขณะเดียวกันใช้อินเดียคานผลประโยชน์กับจีน ถ้าหากถูกกดดันจากทั้งสองประเทศก็มาหาความช่วยเหลือจากไทย และตอนนี้ก็กำลังจะหาความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าพม่าเองจริงๆ ก็น่าสนใจ และไม่ได้ตกอยู่ในสถานะลำบากอย่างที่เราคิดในแง่ของด้านการทูต ผมคิดว่าพม่าไม่ได้เป็น “Passive Player” พม่าเองก็พยายามที่จะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Diversify foreign policy options” คือพยายามหาทางเลือกอื่นๆ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศเพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของ ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ

000

ในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกรณีของไทย มองว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด

ผมคิดว่าเราไม่แน่ใจว่ามีความพร้อมที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอา เซียนหรือเปล่า มันก็มีปัญหาอยู่หลายๆ ปัญหา เริ่มจากในภูมิภาคนี้ก่อนก็คือว่า ผมเองไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศไทยแล้ว เราพร้อมจริงๆ แล้วหรือที่จะกลายไปเป็นชุมชนของอาเซียนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม และเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปี เท่านั้น มันยังมีช่องว่างที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ที่เห็นได้ชัดคือช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศ กำลังพัฒนาในอาเซียน รวมถึงช่องว่างในด้านการเมือง ประเทศบางประเทศยังไม่ให้ความสำคัญต่อกลไกที่มีอยู่ในอาเซียน ไทย-กัมพูชา ยกตัวอย่างนะครับในกรณีของเขาพระวิหาร ก็รู้ว่าไทยไม่ได้ให้ความศรัทธาต่ออาเซียนเลยเมื่อเกิดปัญหาขึ้น

ผมเลยไม่แน่ใจว่าคนไทยเข้าใจอาเซียนหรือเปล่า คนไทยทั่วๆ ไปเข้าใจความสำคัญของเรื่องนี้ไหม รัฐบาลทำพอหรือเปล่าในแง่ของการสร้างความเข้าใจว่าอะไรคือผลประโยชน์ของเรา ในการเข้าร่วมอาเซียน

มองในแง่ของรัฐบาล ผมก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลพร้อมหรือไม่ เราสามารถ fulfill Commitments (การบรรลุข้อตกลงร่วมกัน) ได้หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางด้านเศรษฐกิจ เราเปิดเสรีพอไหม เรา Need Requirement อะไรหรือเปล่า ผมคิดว่าในเรื่องเศรษฐกิจ แม้มันจะยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะผมคิดว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจมันเป็นพื้นที่ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Less Controversial” (ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งได้น้อย) ถ้าเทียบกับความร่วมมือหรือการสร้างชุมชนในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านการเมือง ผมคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องยาก ปัญหาเขาพระวิหารที่มีอยู่ยังไม่จบสิ้น และเราเองก็ไปสัญญากับกัมพูชาแล้วว่าจะขอความช่วยเหลือจากอาเซียนแก้ไขปัญหา ก็ต้องดูต่อไปว่า เราพูดจริงหรือไม่ แล้วถ้าเกิดเราทำได้ก็อาจจะทำให้อาเซียนมีความหวังขึ้นมาในแง่การสร้างชุมชน ด้านการเมืองในปี 2015 ผมคิดว่าในที่สุดเราประกาศไปแล้ว เราก็คงจะต้องก้าวไปสู่จุดนั้น

ถ้าถามผมจริงๆ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปี 2015 ผมคิดว่าอะไรที่ทำได้ อาเซียนก็ต้องทำไปก่อน อะไรที่ทำไม่ได้ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันต่อไป ค่อยๆ ขยับเขยื้อนไป แต่ผมอยากให้ทุกคนมองอาเซียนในแง่ดีนิดหนึ่ง คือมันก็เป็นเรื่องง่ายถ้าเราจะวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนว่าได้แต่พูด ไม่ค่อยทำ สมาชิกก็ไม่ค่อยมีใครให้ความศรัทธาต่อกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ... ผมคิดว่าอยากให้มองในแง่ดีเพราะว่าอาเซียนก็พัฒนามาเร็วพอสมควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นี่คือปีที่45 ของอาเซียนซึ่งก่อตั้งในปี 1967 มาถึงจุดนี้อาเซียนกฎบัตรอาเซียน และมีคณะกรรมาธิการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แม้ว่าจะยังไม่มีบทบาทมากนัก แต่ก็มีคณะกรรมการขึ้นมา เพราะฉะนั้นทุกอย่างยังมีความหวังในอาเซียน แม้ว่าในปี 2015 เราจะยังไม่สามารถทำให้เป็นชุมชนแบบสมบูรณ์แบบ แต่ผมคิดว่ามันก็คงจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าพอลงมาถึงระดับ National Level แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องทำมากกว่านี้ โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์เรื่องความเข้าใจต่ออาเซียน เน้นย้ำว่าผลประโยชน์ที่เราจะได้จากอาเซียนคืออะไร เพราะถ้าเรารู้ว่าผลประโยชน์ของเราอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าเราควรจะเดินไปตามแนวทางนั้น แต่จะเป็นเรื่องยาก ถ้าเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผลประโยชน์ของเราในอาเซียนคืออะไร

เรื่องสุดท้ายที่ผมจะฝากไว้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ ถ้าเกิดคุณยิ่ง ลักษณ์จะเอานโยบายคุณทักษิณกลับมาใช้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องปรับอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับอาเซียน เพราะว่าทักษิณไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอาเซียนเลย ในความเป็นจริงแล้วทักษิณมองข้ามอาเซียนด้วยซ้ำ เพราะทักษิณไม่มีความเชื่อมั่นในอาเซียน ทักษิณต้องการสร้างกรอบความร่วมมือขึ้นมาใหม่ และเป็นคนที่ทะเยอทะยานสูง ทั้งๆ ที่อาเซียนเป็นหัวใจของนโยบายการต่างประเทศของไทยตั้งแต่ที่อาเซียนได้รับ การก่อตั้งขึ้นมา เพราะฉะนั้นจุดนี้เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราหนีอาเซียนไม่พ้น ประเทศเราตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณยิ่งลักษณ์ต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน และควรต้องรีบทำ ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะแย่งบทบาทนี้ไป โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่เช่นเวียดนาม