ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 13 January 2012

ดุลยภาค ปรีชารัชช: ทิศทางพม่า 2555: (1) ประชาธิปไตยสไตล์พม่า

ที่มา ประชาไท



สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอเป็นตอนแรก โดยเป็นการวิเคราะห์ทิศทางการปฏิรูปในพม่า ขั้วอำนาจหรือ “มุ้ง” ทางการเมืองในพม่า และแนวโน้มการแก้ไขปัญหาระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่มา: ประชาไท)

เมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทสัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เขียน "Naypyidaw: New Capital of Burma" ซึ่งพิมพ์ในปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงทิศทางของพม่าในปี 2555 โดยเฉพาะทิศทางการปฏิรูปพม่า และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างๆ ในประเทศ โดยประชาไทแบ่งการนำเสนอเป็น 2 ตอน วันนี้นำเสนอเป็นตอนแรก

ดุลยภาค มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าว่า "การที่พม่าจัด ให้มีการเลือกตั้ง เป็นเพราะพม่าปิดประเทศมานาน แต่ด้วยการถาโถมของโลกาภิวัตน์กับทุนนิยม ทำให้พม่าคิดว่า เมื่อโลกเปลี่ยนพม่าก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลพม่าจัดให้มีนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลหรือกองทัพต้องสามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นระบอบการปกครองพม่าในปัจจุบัน ทุกคนต้องอย่าลืมว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย" หรือ "ประชาธิปไตยสไตล์พม่า" นั่นหมายความว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่โลกตะวันตกคาดคิดนั้น อาจจะผิดหวังในกรณีของพม่า เพราะต้องไม่ลืมว่าตอนนี้แสงไฟหรือสปอร์ตไลท์ได้ฉากแสงพุ่งเป้าไปที่พม่า แล้วบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับ Democratization (กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย) อย่างเต็มที่ แต่จริงๆ แล้วต้องอย่าลืมว่า กองทัพยังมีบทบาทในการนำทางการเมือง การดูประชาธิปไตยในพม่าต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน”

ต้องไม่ลืมว่า ทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง รองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู เหล่านี้คือนายพลทั้งนั้นเลย เพียงแต่ถอดเครื่องแบบมาได้ปีกว่าๆ คือแปลงร่างเป็นพลเรือน ยังไม่นับร้อยละ 25 โดยตรงที่เป็นทหารโดยตรงเข้าไปนั่งในสภา ส่วนอีกเกือบร้อยละ 75 ก็เป็นพรรค USDP (พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา) ซึ่งเป็นแนวร่วมของรัฐบาลพม่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นองค์ประกอบในรัฐสภาหรือรัฐบาลพม่า แท้จริงแล้วคือทหารในคราบพลเรือน และพลเรือนที่ฝักใฝ่ทหาร รวมถึงทหารเพรียวๆ ผสมปนเปกันไป เพราะฉะนั้น ระดับดีกรีการเป็นประชาธิปไตยยังมองยากอยู่ คิดว่าสักร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่รัฐบาลพม่าเริ่มเปิดวิถีทางการเมืองให้มีอิสระมากขึ้นเท่านั้น เอง แต่จริงๆ แล้วเรื่องนักโทษทางการเมืองนั้น คนที่สำคัญ ที่เคยเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลพม่า ถ้ารีบปล่อยตัวมาจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสถียรภาพในการปกครอง เขาก็ยังถูกกักอยู่ เพราะฉะนั้นระดับการเป็นประชาธิปไตย พม่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้มั่นคง ให้เป็นวิถีที่กองทัพสามารถควบคุมได้อยู่ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงฉับพลันแล้วสังคมการเมืองพม่ารู้สึกว่าระส่ำระสาย”

ดุลยภาคยังเสนอด้วยว่าต้องจับตาบทบาทของกองทัพพม่าซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจสูงมาก “เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยพม่า ต้องจับตาดูกองทัพ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุไว้เลยว่าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติมีภาวะสุ่มเสี่ยงวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพราะฉะนั้น ผบ.สส. จริงๆ อาจจะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีพม่าด้วยซ้ำ แต่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะแสงไฟหรือสื่อต่างๆ พุ่งเป้าไปที่เต็งเส่ง เท่านั้นเอง คำถามที่ตามมาคือ เต็งเส่ง มีอำนาจแท้จริงหรือไม่ในระบบการเมืองพม่า"

นอกจากนี้ดุลยภาค ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอำนาจของชนชั้นนำพม่าภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปี 53 ซึ่งเกิด "มุ้งทางการเมือง" ที่ทับซ้อนกันมากขึ้น แตกต่างจากโครงสร้างชนชั้นนำแบบยอดพีรามิดที่แต่เดิมมีเพียงนายทหารระดับสูง เป็นชนชั้นนำเท่านั้น ทั้งนี้ขั้วอำนาจต่างๆ ในปัจจุบันนั้น แต่ละกลุ่มต่างมีฝ่ายสนับสนุนของตนเอง โดยมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบเสรีนิยม กลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่บทบาทของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งแม้จะมีการคุยกับออง ซาน ซูจี และพบกับทูตต่างประเทศ และทำประเทศให้เสรีมากขึ้นในอนาคต แต่บทบาทของรองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู ก็คัดค้านบทบาทของเต็งเส่งในหลายโอกาส นอกจากนี้ต้องจับตาดูด้วยว่า ผบ.สส. อย่าง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และผู้มีอำนาจนอกวงรัฐบาลพม่าอย่าง พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ซึ่งเพิ่งลงไปเมื่อปีกว่าๆ จะรับได้กับบทบาทของเต็งเส่ง หรือไม่

ต่อคำถามเรื่องบทบาทของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย หลังการเกษียณนั้น ดุลยภาคอธิบายว่า บทบาททางการเมืองของทหารพม่า ก็เหมือนกับหลายประเทศในอุษาคเนย์ทั่วไป พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ครองอำนาจมานาน มีอายุมากเกือบ 80 ปี มีอิทธิพล เป็น Moderator (ผู้ไกล่เกลี่ย) ไม่ให้ผู้นำพม่าอีกรุ่นหนึ่งตีกันมากนัก ตานฉ่วยเป็นคนคุมให้ผู้นำพม่าเล่นไปตามรางที่ตานฉ่วยวางไว้ แต่ปัญหาของตานฉ่วยคือจะคุมได้อีกนานเท่าไหร่ ปล่อยไว้นานๆ ปัญหาการไม่เชื่อฟัง พล.อ.อาวุโส ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และปัญหาสุขภาพของ พล.อ.ตานฉ่วย ซึ่งมีอายุมากแล้ว

โดยบทบาทของ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย และรอง พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ยังคงมีบทบาทในช่วงเร็วๆ นี้ แต่ถ้ามองในอนาคตต่อไปก็พูดยาก เพราะระดับการปกครองในพม่าถ้าจะพิจารณาให้แม่นต้องดูที่ทหารว่ามีกี่รุ่น แล้ว ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 โดยรุ่นแรกคือ นายพลเนวิน ที่มาพร้อมกับนายพลออง ซาน ในช่วงเรียกร้องเอกราชพม่า รุ่นที่สองคือ ตานฉ่วย และหม่องเอ ซึ่งทำสงครามสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูงมาก และรุ่นที่ 3 คือ เต็งเส่ง หรือ ทิน อ่อง มิ้น อู ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่

ส่วนแนวโน้มเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่ม ชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ นั้น ดุลยภาคกล่าวว่า พม่าเป็นรัฐพหุชนชาติ หนึ่งรัฐมีหลายชาติ เมื่อผ่าโครงสร้างออกมาก็มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง กะเหรี่ยง คะยาห์ มอญ พม่า ไทใหญ่ ฯลฯ จะเห็นว่ามีโครงสร้างทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายสลับซับซ้อน ที่ผ่านมาพม่าใช้กลไกของกองทัพและความเด็ดขาดทางทหารเข้าไปสัประยุทธ์กอง กำลังต่างๆ ตามแนวชายแดน ขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ใช้การซุ่มโจมตี สงครามจรยุทธ์สู้รบ ทหารพม่าก็เสียกำลังพลไปเยอะ

เพราะฉะนั้นการสู้รบมีมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 สิ่งสำคัญที่ต้องมองให้ออกคือ ทั้งตัวรัฐบาลพม่าเองและกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมีโลกทัศน์เกี่ยวกับโมเดลทางการปกครอง หรือสถาปัตยกรรมแห่งรัฐพม่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรัฐบาลพม่ามุ่งความสนใจไปที่รัฐเดี่ยว ต้องเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ อย่างเก่งก็ให้มีเขตปกครองพิเศษที่รัฐบาลพม่าจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มขอเป็นสหพันธรัฐ ในหนึ่งรัฐ ก็ต้องมี 8 รัฐ มีรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 และรัฐพม่า แต่รัฐพม่าไม่ตอบรับ เพราะมองว่าไปทำให้เขาไปมีสถานะเท่าเทียมกับรัฐเล็กๆ ก็อาจจะรับไม่ได้”

เพราะฉะนั้นความขัดแย้งระหว่างระหว่างแนวคิด เอกรัฐนิยม กับ สหพันธรัฐนิยม ก็จะตีกันเป็นวิกฤตการณ์ด้านการปกครองในพม่า ยังไม่นับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ไม่ต้องการทั้งเอกรัฐ และสหพันธ์รัฐ แต่เป้าหมายที่สู้รบมาตลอดชีวิตคือสถาปนารัฐเอกราชสมัยใหม่ กรณีแบบสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย เป็นโมเดลที่นักความมั่นคงพม่าหวาดเกรงเป็นพิเศษ จึงต้องทำทุกวิถีทางให้กลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาร่วมธงเดียวกัน โดยเทคนิควิธีใหม่ที่นำมาใช้คือการหยิบยื่นให้มีเขตปกครองพิเศษให้ชนชาติ บางกลุ่มเช่น ว้า ปะโอ ปะหล่อง แทนวิธีการเดิมที่ใช้กองทัพเข้ามากดดันปราบปราม”

"ในปี 2555 จะเห็นการเคลื่อนไหวหลายประการ การสู้รบอาจจะเกิดขึ้นประปราย อาจจะมีลดทอนในหลายพื้นที่ แต่จะมีดำรงอยู่หลายพื้นที่ จะเห็นการเคลื่อนไหวของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นทั้ง KNPP (พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี) KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) SSA-S (กองทัพรัฐฉาน) ในการเดินสายเพื่อการปรองดองทางการเมือง เห็นผู้นำเหล่านี้พูดคุยกับผู้นำระดับสูงของพม่ามากขึ้น แม้กระทั่งการพูดคุยกับออง ซาน ซูจี แม้กระทั่งกับผู้นำมหาอำนาจประเทศต่างๆ ก็จะหันมาพูดคุยกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี หรือการประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี จะมีเวทีการต่อสู้ ควบคู่กับความร่วมมือในบางจุดที่ล้ำลึกเป็นพิเศษ และอาจมีมหาอำนาจทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” โดยดุลยภาคมองว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงปรับบรรยากาศพูดคุยระหว่างกองทัพพม่า และชนกลุ่มน้อย พร้อมๆ กับการสะสมอำนาจเพิ่มอำนาจต่อรอง และเจรจาให้ได้ผลประโยชน์แต่ละฝ่าย ซึ่งคงยังไม่จบอย่างง่ายดาย

[สำหรับตอนต่อไปจะเป็นการ วิเคราะห์สถานการณ์ที่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายความเข้มแข็งทางการทหาร การขยายอำนาจของจีนในพื้นที่อ่าวเบงกอล-มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงโครงการพัฒนาของพม่า โดยเฉพาะกรณีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย และบทบาทของมหาอำนาจตะวันตกในพม่า]