คณะนิติราษฎร์ นำเสนอ กรอบเนื้อหาเบื้องต้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีหลักการในข้อ 4 ระบุว่า
กำหนดให้ประมุขของรัฐต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง
หลักการและเหตุผลของคณะนิติราษฎร์ตามที่ได้แถลงคือ เป็นเงื่อนไขการเข้าสู่ตำแหน่ง *เพื่อก่อตั้งหน้าที่ในฐานะประมุขของรัฐ ที่สถาปนาขึ้นโดยอำนาจแห่งรัฐธรรมนูญ ต้องเคารพและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ตามแนวทางนานาอารยประเทศที่เป็นราชอาณาจักร (มีประมุขของรัฐ เป็น กษัตริย์ หรือ สืบตำแหน่งโดยวิธีสืบสายโลหิต)
*ข้อสังเกต : เป็นกรณีแตกต่างเล็กน้อยกับการสาบานตนที่เป็นข้อถกเถียงในคราวร่างรัฐ ธรรมนูญ ฉบับที่ 2 (10 ธันวาคม 2475) เพราะในคราวนั้นเป็นการถกเถียงว่าจะกำหนดให้กษัตริย์สาบานตน "ก่อนเข้ารับหน้าที่" หรือไม่ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเงื่อนไข "การใช้อำนาจในตำแหน่ง"
ด้วยเหตุที่ เคยมีข้อถกเถียงในคราวอภิปรายในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก็สมควร พิจารณาข้อถกเถียงในสมัยนั้น ดังนี้
รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36/2475 วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2475 (ตอนบ่าย) ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เริ่มเปิดประชุมเวลา 14.10 นาฬิกา [1]
นายหงวน ทองประเสริฐ : "ในหมวดสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ อยากทราบความประสงค์ของท่านประธานอนุกรรมการว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณไหม
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "ผู้ที่เป็นสมาชิกสภานี้ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่ ต้องปฏิญาณและตามประเพณีราชาภิเศกก็มีการปฏิญาณอยู่แล้ว
นายหงวน ทองประเสริฐ : "ควรบัญญัติไว้"
พระยาราชวังสัน : "ในประเทศเด็นมารคถึงเป็นรัชชทายาทก็ต้องปฏิญาณเหมือนกัน เพราะในโอกาสบางคราวต้องทำการเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดิน แต่ความคิดของเรานี้ก็เพื่อวางระเบียบว่า สิ่งใดที่เป็นแบบธรรมเนียมอยู่แล้ว เราไม่อยากพูดมากนัก ตามความคิดเดิมในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประสงค์ไม่ให้ยาวเกินไป สิ่งใดที่มีและพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมือนกัน ฉะนั้นจึ่งไม่บัญญัติไว้ เพราะความคิดเช่นนั้นเราวางไว้เห็นว่าไม่เป็นอะไร ทั้งเห็นความสะดวกกว่าการบัญญัติเช่นนี้จะดีกว่า"
นายหงวน ทองประเสริฐ : "ความจริงเห็นด้วย แต่ธรรมเนียมนั้นไม่ใช่บทบังคับ อีกประการหนึ่งสิ่งนี้เป็นคราวแรกไม่เคยใช้มา"
พระยามนธาตุราช : "ประเทศอื่น ๆ ที่จะผัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน เขามีในรัฐธรรมนูญ"
พระยาราชวังสัน : "ในธรรมนูญบางฉะบับได้บัญญัติคำไว้ว่าจะปฏิญาณอย่างนั้น ของเราทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงปฏิญาณต่อหน้าเทวดาทั้งหลายและพระพุทธรูป เป็นต้น เราอยากจะเงียบเสีย"
นายหงวน ทองประเสริฐ : "ขอเรียนถามว่าควรจะแก้ไขอย่างไรหรือไม่"
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "ไม่เห็นจำเป็นเพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง มีอยู่แล้วจะไปล้างเสียทำไม ถ้าแม้ว่าความข้อนี้ตัดความหรือเพิ่มสิทธิก็ควรอยู่ การที่บัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อเขียนไว้ให้หรู ๆ ถึงไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว"
นายหงวน ทองประเสริฐ : "เพื่อความเข้าใจของราษฎรทั้งหลาย ให้ลงมติว่าสมควรหรือไม่"
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : "ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบ เท่าที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ร้องให้เติมร่างว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรปฏิญาณนั้น การที่ไม่เขียนไว้ก็ดี ให้ถือว่าเวลาขึ้นเสวยราชย์ต้องทรงกระทำตามพระราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่เป็นการยกเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ไว้ในรายงาน"
นายจรูญ สืบแสง : "เป็นที่เข้าใจแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิญาณตามนี้ แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง เท่าที่ได้จดบันทึกรายงานยังน้อยไป ถ้าอย่างไรให้มีไว้ในธรรมนูญจะดียิ่ง"
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม : "สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบในการอัญเชิญพระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์หรือใน การสมมตรัชชทายาท ถ้าองค์ใดไม่ปฏิญาณเราคงไม่ลงมติให้"
นายจรูญ สืบแสง : "องค์ต่อ ๆ ไปอาจไม่ปฏิญาณ"
พระยาราชวังสัน : "ตามหลักในที่ประชุมต่าง ๆ ถ้ามีคำจดในรายงานแล้ว เขาถือเป็นหลักการเมือนกัน"
ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ : "แถลวให้สมาชิกลงมติมาตรา 9 ว่า การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมนเทียรบาล หรือให้เติมคำว่า "จะต้องปฏิญาณ""
ประธานสภาฯ : "บัดนี้มีความเห็น 2 ทาง คือทางหนึ่งเห็นว่า ควรคงตามร่างเดิม อีกทางหนึ่งเห็นว่า ควรเติมความให้ชัดยิ่งขึ้น"
ที่ประชุมลงมติตามร่างเดิม 48 คะแนน ที่เห็นว่าให้เติมความให้ชัดขึ้นมี 7 คะแนน เป็นอันตกลงว่าไม่ต้องเติมความอีก"
อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่าน จะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้น ในโครงสร้างความคิดอาจจะยังไม่เป็นระบบอย่างในวิชาการกฎหมายมหาชนยุคสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สภาผู้แทนราษฎร กลายสภาพในทางนิตินัยเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะนั้น) ไม่เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของแบบพิธีในต่างประเทศที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็น ประมุข และทำลายกฎเกณฑ์ทางอำนาจของผู้ทรงอำนาจในระบอบเก่า
เงื่อนไขเรื่องความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรกรณีกษัตริย์ไม่ปฏิญาณ ก็ได้ถูกทำลายสิ้นตั้งแต่คณะรัฐประหารโดย รสช. รัฐธรรมนูญ ปี 34 กำหนดในมาตรา 21 กำหนดให้กรณีกษัตริย์ สวรรคต และกษัตริย์ตั้งรัชทายาทไว้ ให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ รัฐสภา "รับทราบ" ซึ่งดั้งเดิม นับแต่ 2475 เป็นต้นมา สภาผู้แทนราษฎร (กรณีรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.2475) หรือรัฐสภา (นับแต่ รัฐธรรมนูญ 2489) ต้องได้รับความ "เห็นชอบ/ยินยอม" จากรัฐสภา นั่นหมายความว่า ดั้งเดิม รัฐสภา มีอำนาจลงมติไม่เห็นชอบด้วยองค์รัชทายาท แล้วคัดเลือกขึ้นได้เอง เป็นว่า การตั้งรัชทายาทและการเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของรัฐ เป็นไปโดยอำนาจตามอัธยาศัยของกษัตริย์พระองค์ก่อน หรือกรณีอื่น เป็นอันตัดขาดความสัมพันธ์จากผู้แทนปวงชน ซึ่งอำนาจให้ความเห็นชอบนี้ เป็นเหตุผลสำคัญในการอภิปราย 2475 ของฝ่ายสนับสนุนไม่ต้องบัญญัติ "การปฏิญาณหรือสาบานตน" ในคราวนั้น กล่าวคือ ยกข้อนี้ขึ้นอ้าง ว่า ถึงอย่างไรเสีย สภาฯ ก็ต้อง "ให้ความเห็นชอบ" อยู่ดี ดังนั้น หากพระองค์ไม่ปฏิญาณ ก็ต้อง "ไม่เห็นชอบการเข้าสู่ตำแหน่งกษัตริย์" จึงเป็นเงื่อนไขที่ตกไป
นอกจากนี้ วิวัฒนาการของกฎหมายพัฒนาไปข้างหน้า ในเชิงบังคับองค์กรของรัฐทุกสถาบันองค์กร ต้องผูกพันกับ ความสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และมีความชอบด้วยธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งในทางเนื้อหา และในทางแบบพิธี ป้องกันการใช้อำนาจโดยทางตรง โดยทางอ้อม ในวิถีทางล้มล้างรัฐธรรมนูญ ดั่งปรากฎในยุคสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ถูกบรรจุเพิ่มขึ้นมาในรัฐธรรมนูญที่ สถาปนาขึ้นใหม่ของบรรดารัฐต่างๆ ร่วมสมัยหลังสงคราม เป็นวิวัฒนาการหนึ่งของหลักนิติรัฐที่ถูกทำให้ปรากฎในทางรูปธรรม.
__________________________
เชิงอรรถ
[1] นรนิติ เศรษฐบุตร (รวบรวม). เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (โดยสภาผู้แทนราษฎร). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542. หน้า 48 - 50.