วงอภิปรายทางเลือกปกครองชายแดนใต้ พงศ์โพยม วาศภูติ เตือนอย่ามัวหลงโมเดล แต่ให้เพิ่มอำนาจประชาชน ฝาก13ข้อกระจายอำนาจชายแดนใต้ โจทย์สำคัญดับไฟใต้ได้หรือไม่
เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 5 มกราคม 2555 มีการอภิปรายเรื่อง “ทางเลือกการกระจายอำนาจในรูปแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ : มุมมองที่หลากหลาย ในงานสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 1 “ชายแดนใต้ไม่ทอดทิ้งกัน” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตคณะกรรมการปฏิรูป นายสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม ผศ.ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ นายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม คณะกรรมการประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองนายกนายกสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ร่วมอภิปราย
นายพงศ์โพยม อภิปรายว่า อย่าหลงกับรูปแบบการปกครองมากนัก แต่ต้องพยายามเอาอำนาจของรัฐมาให้กับภาคประชาชนในรูปขององค์กรปกครองท้อง ถิ่น แต่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่บวกกับภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน โดยต้องสร้างกลไกลภาคประชาชนมาถ่วงดุลกลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้น มา
“แนวทางการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เลือกได้ 2 แบบ คือ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการขออำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น หรือแบบก้าวกระโดดอย่างที่พวกเรากำลังจะทำกันอยู่นี้ ผมชอบคำว่าจังหวัดจัดการตนเองเพราะดูดีและรัฐคงจะปฏิเสธยาก จะใช้คำว่า super ท้องถิ่น หรือท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็แล้วแต่ แต่พยายามหลีกเลี่ยงคำว่าเขตปกครองตนเอง เพราะล่อแหลมหรือมีความหวาดระแวงของฝ่ายอื่นอยู่”นายพงศ์โพยม กล่าว
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า สิ่งที่ตนอยากเตือนในเรื่องการกำหนดรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 13 ข้อ ข้อแรก รูปแบบขององค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ ต้องชัดเจน เช่นจะทำเหมือนเชียงใหม่มหานครแล้วจะดูแลไหวหรือไม่
ข้อ 2การกำกับดูแลของส่วนกลางจะมีแน่นอน แต่จะยอมมากน้อยแค่ไหน ข้อ 3 การตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต้องมี ข้อ 4 หน่วยงานส่วนกลางในพื้นที่ยังต้องมีอยู่ เพราะยังมีงานส่วนหนึ่งที่รัฐบาลยังสงวนไว้
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อ 5 เป็นข้อที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องภาษี รายได้และรายจ่าย จะตกลงกันอย่างไรกับรัฐบาลกลาง ถ้าตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่ให้แน่เก็บภาษีเองแน่
ข้อ 6 เรื่องงานบริหารบุคคล ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นขนาดเล็ก 80% ของหน่วยงานที่มีอยู่ตอนนี้จะต้องมาอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่นี้ เพราะฉะนั้นงานบริหารงานบุคคลจะยุ่งยากมาก
“ข้อ 7 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้วจะเอาอย่างไร ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือยกระดับอบจ.ให้เป็น super อบจ. หรือจะเป็นเหมือนกรุงเทพมหานคร ผมก็ไม่สามารถวิจารณ์ได้” นายพงศ์โพยม กล่าว
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อ 8 การปกครองท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะคงไว้หรือยกเลิก ข้อ 9 กลไกการมีส่วนร่วม การตรวจสอบถ่วงดุลโดยภาคประชาชน จะยอมให้มีหรือไม่
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อ 10 กรณีที่มีข้อขัดแย้งกับราชการ จะหาทางออกอย่างไร คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีศาลปกครองท้องถิ่น ในกรณีมีความขัดแย้งกันทางนโยบาย การแก้ปัญหาจะจบตรงไหน คณะกรรมการปฏิรูปเสนอให้มีคณะอนุญาโตตุลาการ ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ก็ไปที่ศาลปกครองท้องถิ่น แต่ถ้าผิดกฎหมาย ตำรวจก็ดำเนินคดีไปตามปกติ ข้อ 11 กรณีมีการร้องเรียน ร้องทุกข์เกี่ยวกับการบริหารงานท้องถิ่น ใครจะเป็นเจ้าภาพ จะอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนของรัฐบาลกลางที่ถูกส่งมาหรือไม่
นายพงศ์โพยม กล่าวว่า ข้อ 12 เป็นข้อที่สำคัญ คือ การใช้อำนาจบังคับ (Enforcement) ของโครงสร้างการปกครองใหม่ จะมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนหรือไม่
“ข้อ 13 รูปแบบที่กำลังเสนออยู่นี้ ตอบโจทก์ของการแก้ปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่ จะเป็นโจทย์แรกที่รัฐบาลจะถามว่า ความสงบจะเกิดขึ้นหรือไม่หากมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ ท้ายที่สุดต้องมีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาพร้อมกับคำตอบที่มีเหตุมีผล โดยมีข้อมูลสถิติ ตัวเลขสนับสนุน” นายพงศ์โพยม กล่าว
นายสวิง อภิปรายว่า ตนมี 5 ประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ ประเด็นแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับองค์กรใหม่จะเป็นอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าจะจัดการตอนเองก็ไม่ควรจะมีหน่วยงานจากส่วนกลางเข้ามากำกับดูแลอีกต่อไป หมายความว่าจะไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค แต่จะมีส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งอนารยะประเทศส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ทั้งนั้นแล้ว
นายสวิง กล่าวว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ต้องให้เป็นรัฐบาลท้องถิ่น เพราะสามารถออกข้อกำหนด ข้อบัญญัติต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ในต่างประเทศกฎหมายใดที่ขัดกับท้องถิ่น ให้ยึดถือท้องถิ่นเป็นหลัก ในญี่ปุ่น กำหนดให้ท้องถิ่นออกกฎหมายได้ แต่ห้ามต่ำกว่ามาตรฐานกลางที่รัฐบาลกลางตั้งไว้ เพราะงานต่างๆ รัฐบาลท้องถิ่นทำได้หมดแล้ว รัฐบาลส่วนกลางจะมาบ่ง บอก ชี้แนะ กำกับ ไม่ได้อีกแล้ว ทำได้เพียงแค่ชักชวน จูงใจ ร่วมมือและสนับสนุนเท่านั้น
“ต้องปรับโครงสร้างรัฐส่วนกลางให้เล็กลง และรับผิดชอบแค่ 3 เรื่อง คือ การต่างประเทศ การป้องกันประเทศและการเงินการคลัง อย่างอื่นมาไว้ที่ท้องถิ่นทั้งหมด เพราะทุกวันนี้ท้องถิ่นสามารถจัดการได้หมดแล้ว” นายสวิง กล่าว
นายสวิง กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์ภายในจังหวัด โดยยุบผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วให้นายก อบจ.มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง
“ตอนนี้เราคุ้นชินกับคำว่ากับฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้นต้องสร้างขาที่สามขึ้นมา ที่เชียงใหม่เรียกว่า สภาพลเมือง ทำหน้าที่ 3 เรื่อง คือ สร้างการมีส่วนร่วม วางแผนวิสัยทัศน์ และไต่สวนสาธารณะนักการเมือง” นายสวิง กล่าว
นายสวิง กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดกับท้องถิ่น จังหวัดไม่ได้เป็นหัวหน้าของเทศบาล แต่ทำหน้าที่จูงใจ สนับสนุน ไม่ใช่บังคับบัญชา ที่คิดอย่างนี้เพราะใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง คือ พื้นที่ใครคนนั้นดูแล เพื่อให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กสามารถที่จะจัดการตนเอง
“ที่เชียงใหม่กำหนดไว้ว่า งบประมาณ 100 % ต้องจัดให้ท้องถิ่น 70% คงไว้ที่ส่วนกลางของจังหวัดแค่ 30% พอ มิฉะนั้นงบประมาณก็จะกองอยู่ที่จังหวัด ดังนั้นต้องดันงบประมาณลงพื้นที่ให้หมด เพื่อให้พื้นที่จัดการตนเอง” นายสวิง กล่าว
นายสวิง กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นขนาดเล็ก ทุกวันนี้พอจะไปกันได้แล้ว เพราะมี 3 ขา คือ ท้องถิ่น ท้องที่ และสภาองค์กรชุมชน ทั้ง 3 ขานี้ต้องเข้มแข็ง ต้องทำให้ 3 ขานี้ร่วมมือกันจึงจะสามารถจัดการตนเองได้
นายสวิง กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องภาษีหรือเงิน ทุกวันนี้ รัฐส่วนกลางเก็บภาษี 100% ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 25% ทั่วโลกเปลี่ยนหมดแล้ว โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้เก็บภาษีแล้วส่งให้ส่วนกลาง ถ้าท้องถิ่นเป็นผู้เก็บภาษีหมายความว่า เก็บภาษีได้ 100% เก็บไว้ 70% แล้วส่งให้ส่วนกลาง 30% เพราะส่วนกลางดูแลแค่ 3 เรื่องเท่านั้น ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก งานทุกอย่างอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว
“ตอนนี้เชียงใหม่กับอีก 8 จังหวัดทางภาคเหนือกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องจังหวัดจัดการตนเองนี้อยู่ โดยจังหวัดเชียงใหม่กำลังจะเสนอพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองภายใน 3 – 4 เดือนข้างหน้านี้ เพราะได้ยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว หลังจากนั้นหลังเทศกาลสงกรานต์ก็จะเคลื่อนไหวใหญ่ในเรื่องนี้” นายสวิง กล่าว
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า โครงสร้างการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปไม่ได้ที่จะเหมือน กับการปกครองในภาคอื่นๆ เพราะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ถึง 80% เพราะฉะนั้นต้องมีรูปแบบที่เป้นของตัวเอง เพื่อให้สอดคลองกับสภาพของพื้นที่
พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า รูปแบบโครงสร้างการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีมหานคร เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 2,000 คน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน จึงยังเป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ปัตตานีมหานครจึงยังไม่ใช่ข้อสรุปว่า โครงสร้างใหม่ในการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้รูปแบบปัตตานีมหานคร
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ในการนำเสนอรูปแบบหรือโมเดลการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 โมเดลในเวทีสมัชชาปฏิรูปครั้งนี้ ที่จริงแล้วยังโมเดลที่ 7 คือกระดาษเปล่าที่รอให้ประชาชนเข้ามาเขียน ซึ่งโมเดลที่ 7 อาจเป็นโมเดลที่ดีที่สุดก็เป็นได้