ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 8 January 2012

ห้ามแก้ไขมาตรา 112 : ความคิดกับความแค้นของอำมาตย์หลงยุค

ที่มา ประชาไท

กระแสการเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญากำลังขยายตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมีความเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้างและบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป กลายเป็นเครื่องมือการทำลายทางการเมืองและการลิดรอนสิทธิมนุษยชน โดยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองได้แถลงจุดยืนไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ในขณะที่นายทหารและพรรคการเมืองมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง อาทิเช่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่า พวกที่อยากแก้ไขมาตรา 112 “ก็ไปอยู่ต่างประเทศก็แล้วกัน” เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์นายอรรถพร พลบุตร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีกลุ่มนิติราษฎร์รณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาว่า ให้โอนสัญชาติไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

การที่คนเหล่านี้มีความยึดมั่นถือมั่นในแนวคิดจารีตนิยมสุดขั้ว หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงถึงกับดาหน้าออกมาตะโกนไล่ตะเพิดคนที่มีความคิดเห็น แตกต่างไปจากจารีตดั้งเดิมให้ไปอยู่ต่างประเทศเป็นทัศนะคับแคบ ล้าหลัง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งเชื่อมโยงทุกประเทศ ทุกมุมโลกเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดอยู่โดดเดี่ยวได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่น

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งทั่วโลกในขณะนี้อยู่ในกระแสเสรีประชาธิปไตยที่เน้นความสำคัญในเรื่อง สิทธิมนุษยชน แม้แต่ในแวดวงการค้าระหว่างประเทศยังกำหนดมาตรฐานสากลทั้งในด้านคุณภาพ สินค้า และการเคารพสิทธิมนุษยชนของคนงาน

ในอีกด้านหึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมให้สัตยาบรรณในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และยังเป็นภาคีในอนุสัญญาสิทธิพลเรือน และสิทธิทางการเมืองอีกด้วยจึงไม่อาจปฏิเสธแรงกดดันจากนานาชาติที่เห็นว่า ประเทศไทยยังมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนดังที่นาย Frank La Rue ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกได้ส่งแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยแก้ไข มาตรา 112 และให้ปล่อยนักโทษการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรวมไปถึง องค์กรสิทธิมนุษยชนจากภาคเอกชน 8 แห่งในเอเชีย ยุโรป คานาด ซึ่งออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร RED POWER ผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

การมีกฎหมายล้าหลังละเมิดสิทธิมนุษยชนย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ การกีดกัน การเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม การใช้ดุลยพินิจของศาลที่ใช้บทลงโทษรุนแรง จึงถูกนานาชาติดูถูกประเทศไทยว่ายังป่าเถื่อน ล้าหลัง แม้แต่พม่าซึ่งปกครองด้วยเผด็จการทหารมายาวนานยังต้องผ่อนคลายสิทธิมนุษยชน เช่น ปล่อยตัวนักโทษการเมือง เพราะแรงกดดันจากนานาชาติ

หรือว่า...เราจะทำการปิดประเทศ ไม่ต้องคบหาสมาคมกับใครในโลกนี้ ประเทศไทยจะได้มีอัตลักษณ์ที่แสนภูมิใจกันไปตลอดเหมือนกับแกนนำพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยเสนอกันมาก่อนว่า ประเทศไทยควรปิดประเทศแล้วจัดระเบียบภายในสังคมกันใหม่

การเอ็ดตะไร ไล่ตะเพิดคนที่มีความเห็นแตกต่างจากจารีตเดิมให้ไปต่างประเทศนอกจากสะท้อน ความคับแคบ และความเห็นแก่ตัวที่โง่เขลาแล้วยังสะท้อนแนวคิดสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อีกประการหนึ่ง ใครคือเจ้าของประเทศ ? อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ?

แน่นอนหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญหลายฉบับระบุตรงกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือประเทศไทยเป็นของราษฎรทั้งหลายนั่นเอง

การไล่ตะเพิดคนอื่นที่เรียกร้องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นโดยไม่เห็นด้วย กับมาตรา 112 ให้มีการปรับปรุง หรือบางกลุ่มเสนอให้ยกเลิกไปเลยแบบนี้ เท่ากับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะให้ใครอยู่อาศัยหรือไล่ตะเพิดใครย่อมทำได้ กระทั่งหากยึดอำนาจ ก่อการรัฐประหารก็ย่อมทำได้ตลอดเวลา ดังที่พวกนายทหารกองทัพบกเคยร่วมมือกันยึดอำนาจเมื่อคราวรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา

พวกเขามีความคิดมิติเดียวโดยไม่เข้าใจว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีมา ตั้งแต่สมัยรัฐกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นมีโทษสูงสุดแค่ 3 ปีเท่านั้น ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มโทษเป็น 7 ปี และสุดท้ายรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ได้แก้ไขเพิ่มโทษเป็น 3 – 15 ปี โดยศาลในขณะนี้จะพิพากษาโทษอยู่ในระหว่าง 6 – 15 ปี หมายความว่ามาตรา 112 นั้นมีการแก้ไขมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน

จึงเป็นเรื่องเหลวไหลและพิกลพิการสำหรับใครก็ตามที่ตะหวาดลั่นห้ามแตะ ต้อง ห้ามแก้ไข หรือบางคนถึงกับกล่าวว่าใครที่คิดแก้ไขมาตรา 112 เป็นพวกสติไม่ดี

การห้ามแก้ไข หรือห้ามคิดไปเป็นอย่างอื่นต้องคงความเป็นมาตรา 112 ตราบชั่วฟ้าดินสลาย คือการมองกฎหมายอย่างหยุดนิ่ง มองกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนเพื่อการปราบปรามผู้มีความคิดเห็น แตกต่างให้หมดไป

ประเทศไทยจึงไม่อาจสร้างนิติรัฐ และไม่อาจไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ หากผู้ปกครอง และนักการเมืองยังขาดความกล้าหาญในการับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือท้าทาย และพึงพอใจแต่เพียงการประจบสอพลอ การเชื่อฟัง ยอมจำนน และสิโรราบต่อผู้มีอำนาจ

เป็นอันว่าประเทศไทยต้องอยู่กับ “จารีตประเพณี” อยู่กับโครงสร้างเดิมเก่าแก่ อยู่กับกฎหมาย และกลไกอันล้าหลัง หากใครคิดเห็นเป็นอย่างอื่นต้องพบกับคุกตะราง หรือไม่ก็ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน ไปเสียให้พ้นจากแผ่นดินไทย