ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 15 January 2012

เปิดตัว "ครก.112" คาดใช้เวลา 112 วัน รวบรวม 10,000 รายชื่อ

ที่มา ประชาไท

เปิดตัวคณะรณรงค์ แก้ไขมาตรา 112 ผู้ฟังล้นห้องประชุมศรีบูรพา "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" นำลงชื่อเสนอแก้กฎหมายตามข้อเสนอนิติราษฎร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุ ต้องแก้ไขมาตรานี้เพื่อแก้ไขการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล

เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมศรีบูพา (หอประชุมเล็ก) มธ. ท่าพระจันทร์ กฤตยา อาชวนิจกุล กล่าวเปิดตัวคณะรณรงค์ แก้ไขมาตรา 112 โดยกล่าวขอบคุณผู้ร่วมลงชื่อและร่วมฟังการเสวนาในวันนี้ เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการสร้างระบอบการ ปกครองระบอบประชาธิปไตย

จากนั้นอ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่านับแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2553 มีการฟ้องรองถึง 478 ข้อหา นอกจากนี้ความ “จงรักภักดี” ยังได้กลายเป็นอาวุธสำหรับข่มขู่คุกคามและสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน และความอ่อนไหวต่อมาตรานี้มักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกกระทำอย่างไม่เคารพสิทธิ ขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่อนุญาตให้ประกันตน ดำเนินการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ อีกทั้งยังต้องพบกับการกดดันจากสังคมรอบข้างอย่างมาก ทำให้เกิดกรณีล่าแม่มดจำนวนมาก

มาตรา 112 ยังป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ ประเทศไทยตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยรายงานปี 2554 องค์กรฟรีดอมเฮาส์เปลี่ยสถานะเสรีภาพของไทยจากกึ่งเสรีเป็นไม่เสรี ส่งผลให้เราอยู่ในสถานกาพเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิมบา โซมาเลีย ปากีสถาน

ล่าสุดคดี “อากง” (นายอำพล สงวนนามสกุล) และนายโจ กอร์ดอนได้ทำให้ชื่อเสียงประเทศไทยดังกระหึ่มไปทั้วโลก จนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่างๆ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112

ขณะเดียวกัน ภายในประเทศไทย การเรียกร้องเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งในบรรดาการเคลื่อนไหวนี้ กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณา โดยมีสาระสำคัญโดยสรุป คือ

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น แทนพระองค์”

สำหรับการผลักดันรณรงค์ครั้งนี้ ต้องการรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 10,000 รายชื่อ โดยต่อไปนี้จะรณรงค์โดยคณะรณรงค์ 112 หรือ “ครก. 112”

การรณรงค์นี้ใช้เวลา 112 วัน โดยเอกสารที่ต้องใช้ คือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งลงนามรับรองเอกสารถูกต้อง และแบบฟอร์มขก. 1 โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.ilaw.org และส่งเอกสารทั้งหมดได้ที่ ตู้ปณ 112 ไปรษณีย์กรุงเทพฯ 10200

‘นิธิ’ ระบุ แก้ 112 เพื่อแก้ปัญหาการใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล

ภายหลังการเปิดตัวครก. 112 มีการเปิดวีดีทัศน์ปาฐกถาโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเขาระบุว่าในปัจจุบันนี้ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้สถาบันกษัตริย์เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในหลายๆ ประเทศทั่วโลกล้วนเป็นระบอบกษัตริย์ที่อนุวัตรตามระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นต่อมาคือสัดส่วนของการลงโทษในความผิดมาตรานี้ ไม่สอดคล้องกับความผิดที่กระทำเท่าใดนัก นั่นคือเป็นข้อบังคับแน่นอนตายตัว ไม่มีทางเลือกอื่นอีก คือ

ถ้าจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิด ต้องถูกจำขัง 3 ปี เป็นอย่างต่ำ 15 ปี เป็นอย่างสูง แล้วเมื่อเอาความผิดนี้ไปเทียบกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็จะพบว่าแตก ต่างกันมาก และรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพราะเหตุที่เราไปเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ผู้กระทำความผิดต้องเกี่ยวข้องหรือมีเจตนาชัดเจนว่ามุ่งทำลายความมั่นคงของ รัฐ ถ้าป็นการกระทำที่ไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น โทษก็ยิ่งต้องลดลงไป

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย คือ อำนาจในการกล่าวหาฟ้องร้องบุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรานี้ คือให้ทุกคนมีสิทธิที่จะกล่าวหาฟ้องร้องอย่างไรก็ได้ ถ้าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความั่นคงของรัฐ แต่ปรากฏว่า มาตรานี้ถูกใช้พร่ำเพรื่อ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแม้แต่ใครไม่ชอบหน้าใครก็สามารถนำไปฟ้องร้องกล่าวโทษได้ ฉะนั้น จึงต้องมอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะวินิจฉัยว่าควรหรือไม่ควรกล่าว โทษฟ้องร้องตามมาตรานี้

สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยตัวของมันเองจึงมีนัยยะทางการเมืองด้วย การตัดสินใจจะดำเนินคดีหรือไม่ ต้องใช้การพิจารณามากกว่าการบัญญัติของกฎหมาย บางครั้งการไม่ดำเนินคดี อาจจะเป็นผลดีต่อสถาบันฯ มากกว่า ไม่ใช่ใครก็ตามสามารถฟ้องร้องได้ ต้องมีหน่วยนงานที่จะใช้วิจารณญาณ

ตัวกฎหมายที่มีอยู่ทุกวันนี้ เปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายไปในทางที่ฉ้อฉลต่อเจตจำนงค่อนข้างมาก ฉะนั้นพยายามบอกว่า ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา ขอให้เราแก้ไขเฉพาะแนวปฏิบัติอย่างเดียว ไม่มีหลักประกันว่า การป้องกันการปฏิบัติที่ฉ้อฉลจะเป็นผลหรือไม่ และผู้ที่พูดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ภายใต้รัฐบาลที่กล่าวเช่นนั้นเองก็มีการฟ้องร้องหลายร้อยคดี

เมื่อใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉล ภายใต้วัฒนธรรมและการเมืองที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้การใช้กฎหมายฉ้อฉลมากขึ้นไปอีก เช่น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจไม่ฟ้อง ดังนั้นจึงต้องแก้ที่ตัวกฎหมายเพื่อให้ในทางปฏิบัติจะไม่มีใครนำมาตรานี้ไป ใช้อย่างฉ้อฉลได้

ภายหลังการปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ดำเนินรายการได้ประกาศว่า รายชื่อแรกของการร่วมรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเข้าร่วมฟังการเสวนาดังกล่าวด้วย โดยได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนผู้เข้าฟังการเสวนาอย่างกึกก้องด้วย

หมายเหตุ: งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน "แก้ไขมาตรา 112 กิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรม" ซึ่งจัดโดย "คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" เวลา 13.00-17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วยการแสดงละครเวที การตอบคำถามทางวิชาการ และการอภิปรายข้อเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งประชาไทจะทยอยนำเสนอต่อไป