ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 1 January 2012

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน: 10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อยประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554

ที่มา ประชาไท

เรื่องเด่นที่สุดในปี 2554 : การปฏิรูปประกันสังคม

เรื่องด้อยที่สุดในปี 2554 : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม

เรื่องเด่นที่สุด : การปฏิรูปประกันสังคม

ในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา “แรงงาน” เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญยิ่งในนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา คุณภาพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสมัยที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม กล่าวได้ว่าประเด็นเด่นที่สุดในรอบปี 2554 คงหนีไม่พ้นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณา “ร่าง พรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” จนผ่านเข้าสู่ชั้นวุฒิสภาในเดือนพฤษภาคม 2554 (แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการหยิบยกมาพิจารณาต่อในรัฐบาลปัจจุบัน) กับกรณีที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหยิบยก “ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.... (ฉบับนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ หรือที่เรียกว่าฉบับ 14,264 ชื่อ)” เข้าสู่การบรรจุวาระและพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ตามวาระการประชุมสภาฯสมัยสามัญนิติบัญญัติที่เพิ่งมีการเปิดสภาฯไปเมื่อวัน ที่ 21 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ต้นปี 13 มกราคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เกษตรพันธสัญญา ฯลฯ จัดสมัชชาแรงงานปฏิรูปประกันสังคม มุ่งเน้นการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวทีร่วมกับพี่น้องแรงงานอย่าง ชัดแจ้งว่า “การปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญยิ่ง ในการที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

ในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือกลุ่มอื่นๆมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันความมั่นคงในทางสังคม” จนในที่สุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการวาระ 1 ร่างพรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ทั้งฉบับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกฯเสนอรวม 4 ฉบับ ทั้งนี้มีฉบับของเครือข่ายแรงงานที่เสนอผ่าน สส.สถาพร มณีรัตน์ และ สส.นคร มาฉิม โดยตรงรวมอยู่ด้วย) ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วม 3 เดือนเต็ม ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2554 สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบในวาระ 2-3 ส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาต่อ และวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการวาระ 1 เห็นชอบกับร่างที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของวุฒิสภา เพราะมีการยุบสภาในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจำเป็นต้องให้รัฐบาลใหม่นำเสนอเพื่อให้รัฐสภา พิจารณาต่อ

ด้วยความกังวลขององค์กรเครือข่ายแรงงานเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กฎหมายฉบับใดจะได้รับการพิจารณาต่อ รัฐบาลใหม่ต้องเป็นผู้เสนอกฎหมายฉบับนั้น และในที่สุดก็เป็นไปตามคาด คณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้หยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเสนอต่อรัฐสภา จึงถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมิได้รับการพิจารณาต่อหรือ “ตกไป”

แต่นับว่ายังเป็นความโชคดีเพราะย้อนไปเมื่อปลายปี 2553 วันที่ 24 พฤศจิกายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรเครือข่ายยื่นร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้กับทางประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกช่องทางหนึ่งร่วมด้วย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทย ที่ใช้เวลาเพียง 20 กว่าวันในการลงให้การศึกษาและล่าลายมือชื่อในพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี สระบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อ่างทอง พะเยาและขอนแก่น ฯลฯ ถึงกฎหมายประกันสังคมฉบับวุฒิสภาจะตกไป อย่างน้อยก็ยังมีฉบับลงรายมือชื่อนี้ที่สามารถเดินหน้าได้ต่อ เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งเมื่อสิงหาคม 2554 การเดินหน้าผลักดันร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) ให้ได้รับการพิจารณาจึงมีความสำคัญยิ่งยวดนัก เพราะจากคำแถลงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้กล่าวถึงความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม

ดังนั้นจึงทำให้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และเครือข่ายภาคประชาชน 145 องค์กร ยื่นข้อเสนอเรื่องนโยบายเร่งด่วนต่อรัฐบาล และการเร่งรัดพิจารณากฎหมายภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ ที่รัฐสภา

18 สิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เข้าพบนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับ 14,264 ชื่อ)

13 กันยายน 2554 วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมเครือข่ายองค์กรแรงงาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ ครม.เห็นชอบสนับสนุนร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ....(ฉบับ 14,264 ชื่อ) พร้อมทั้งกฎหมายฉบับต่างๆของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมจำนวน 9 ฉบับเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

20 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เสนอกฎหมายของภาคประชาชนจำนวน 9 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ... (ฉบับ 14,264 ชื่อ) เป็นหนึ่งในกฎหมายดังกล่าว

28 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่รัฐสภา ที่ประชุมร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรวม 24 ฉบับ 1 ใน 24 ฉบับนั้น คือ ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ...(ฉบับ 14,264 ชื่อ)

21 ธันวาคม 2554 ร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ... (ฉบับ 14,264 ชื่อ) ถูกบรรจุวาระและเข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งขณะนี้มีเพียงร่างกฎหมายประกันสังคมของเครือข่ายแรงงานฉบับเดียว ยังไม่มีร่างรัฐบาลหรือร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกบพิจารณาร่วมด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจาก พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ถึง 7 ประการ คือ

(1) สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารงานแบบอิสระ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการประกันสังคมมาจากการสรรหา มีการระบุอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน

(2) การบริหารงานกองทุนประกันสังคมผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เอื้อต่อประโยชน์ผู้ประกันตน ทั้งนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการเพิ่มคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการการตรวจ สอบเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ชุด

(3) ผู้ประกันตน คู่สมรส และบุตร สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ได้ทุกสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงาน ประกันสังคม รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ล่าช้า อาจเกิดอันตรายกับผู้ประกันตน ก็สามารถใช้บริการในสถาน พยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง

(4) การขยายกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ให้ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และคนทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงการขยายขอบเขตคำว่า “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมถึง “แรงงานชั่วคราวของภาครัฐ”

(5) สิทธิประโยชน์ของทดแทนของผู้ประกันตน ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด (มาตรา 33 , 39, 40) ให้ครอบคลุมทั้ง 7 กรณี หรือสอดคล้องกับบริบทความต้องการของผู้ประกันตนให้มากที่สุด คือ เจ็บป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

(6) ผู้ประกันตนทุกคน (ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด หรือทำงานในสถานประกอบการขนาดใด) มีสิทธิเลือกตั้งหรือเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกัน สังคม ลักษณะ 1 คน ต่อ 1 เสียงได้

(7) การเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ , ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า “กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนใหญ่มาก มีเงินในกองทุนกว่า 7 แสนล้านบาท ต้องดูแลผู้ประกันตนประมาณ 10 ล้านคน จึงต้องมีระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัวและโปร่งใสตรวจสอบได้ ปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังไม่สอดคล้อง กับการบริหารจัดการงานประกันสังคม จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 ชื่อนี้ ได้แก้ไขทั้งในเรื่องนิยามคำว่าลูกจ้าง นายจ้าง ค่าจ้าง ทุพพลภาพ ให้มีขอบเขตการคุ้มครองที่ครอบคลุมกับลูกจ้างทุกประเภท รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆให้สอดคล้องและเป็นธรรมมากขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างและระบบการบริหารงาน รวมถึงกำหนดบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันในการตรวจสอบการบริหารกองทุนให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่ง ขึ้น”

สอดคล้องกับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ผู้เสนอร่างกฎหมาย กล่าวว่า “เหตุที่ต้องการปฏิรูปประกันสังคม เนื่องจากการบริหารงานที่ผ่านมาขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ทำให้เกิดการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องสิทธิประโยชน์ที่ยังมีปัญหาด้านการบริการ การรักษาพยาบาลที่ไม่ครอบคลุม ขาดประสิทธิภาพ การขยายสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรที่ควรขยายเป็น 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อการที่เด็กจะได้ศึกษาต่อได้อย่างมีคุณภาพ การขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มและครอบครัวของผู้ประกันตน ส่วนแนวคิดการปฏิรูปประกันสังคมเป็นหน่วยงานอิสระก็เพื่อให้เกิดความคล่อง ตัวในการบริหารงาน มีมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน โดยมีกรรมการต้องมาจากการเลือกตั้ง และประธานคณะกรรมการต้องมาจากสรรหา รวมทั้งการมีคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการบริหารงานที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

เรื่องด้อยที่สุด : การเลิกจ้างแรงงานด้วยข้ออ้างจากสถานการณ์น้ำท่วม

แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย สถานประกอบการหลายแห่งกลับมาดำเนินการผลิตได้อีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าลูกจ้างจะมีโอกาสได้กลับเข้าทำงานทุกคนอีกครั้งหนึ่ง

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “มีสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยที่อาศัยช่วงจังหวะเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิด บริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งแบบที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเลี่ยงกฎหมาย รวมถึงการอาศัยข้ออ้างจากภาวะน้ำท่วมเพื่อเลิกจ้างเพราะต้องการล้มสหภาพแรง งาน หรือต้องการรับแรงงานที่จ่ายค่าแรงได้ต่ำกว่าเข้ามาทำงานแทน หรือกระทั่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน ในภาวะเช่นนี้สหภาพแรงงานที่มีปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์กับนายจ้างอาจถูกเลิก จ้างโดยอ้างเหตุวิกฤตได้”

จากรายงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อ 30 ธันวาคม 2554 ระบุว่า ขณะนี้มีแรงงานถูกเลิกจ้างจากอุทกภัยแล้วกว่า 25,289 คน ในสถานประกอบการ 88 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สระบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กล่าวได้ว่าลูกจ้างกลุ่มแรกๆที่ถูกเลิกจ้าง คือ กลุ่มแรงงานในระบบแบบเหมาช่วงและเหมาค่าแรง (subcontract) โดยเฉพาะในพื้นที่ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่สถานประกอบการกว่า 50-60% มีการผลิตโดยใช้ลูกจ้างจากบริษัทเหมาค่าแรง บางโรงงานมีลูกจ้างเหมาค่าแรงมากถึง 70-80% ซึ่งโรงงานจะใช้วิธีการบอกเลิกสัญญาบริษัทรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงงานยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ปกติแล้วแรงงานจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างบริษัทรับเหมาค่าแรงในอัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำหรือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากนัก เมื่อมีการเลิกจ้างบริษัทเหมาค่าแรงมักไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งด้วยสภาพการจ้างงานที่เป็นแบบเหมาช่วง-เหมาค่าแรงจึงไม่อยู่ใน เงื่อนไขที่จะทำให้แรงงานได้รับความช่วยเหลือจากระทรวงแรงงาน 2,000 บาทตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง

แน่นอนตัวเลขกว่า 25,289 คนนั้นเป็นตัวเลขที่นับจากข้อมูลของแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกัน สังคมเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มแรงงานในระบบประเภทจ้างเหมาค่าแรง (subcontract) แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

ดังตัวอย่างบางรูปธรรมที่ชัดเจนจากพื้นที่

กรณีที่ 1

กรณีการเลิกจ้างพนักงานบริษัทโฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จำนวนกว่า 2,000 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์และขาดทุนซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยพิบัติน้ำ ท่วม แต่จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ตัวเลขผลกำไรของบริษัทที่ผ่านมา ล่าสุดปี 2553 บริษัทแห่งนี้มีกำไรถึง 591 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายการดำเนินงานไปยังประเทศฟิลิปปินส์และประเทศ เวียดนาม จึงทำให้กลุ่มสหภาพแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40% ให้พนักงานที่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นในปี 2555 โดยใช้เครื่องจักรใหม่มาแทนกำลังคน เนื่องจากมีการขนย้ายเครื่องจักรเข้าออกโรงงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิม บริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มตามส่วนต่างของค่าจ้างขั้นต่ำหากมีการปรับขึ้น ค่าจ้างเป็นต้น

กรณีที่ 2

การเลิกจ้างพนักงานบริษัทไอเอสซีเอ็ม เทคโนโลยี ประเทศไทย ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กับการเลิกจ้างพนักงานมอร์เมริกา (ประเทศไทย) จำกัด ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสุนัข เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ทั้ง 2 บริษัทต่างอ้างว่าเป็นผลกระทบมาจากเรื่องประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และมีการหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยการเลิกจ้างให้ กับพนักงาน

กรณีที่ 3

นายตุลา ปัจฉิมเวช ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อม น้อย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่อ้อมน้อยมีแรงงานได้รับผลกระทบแล้วจากกรณีต่างๆรวมไม่ต่ำ กว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอ ปัญหาส่วนใหญ่ที่มาร้องเรียนมากที่สุดคือ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่จ่ายค่าจ้าง ถูกเลิกจ้างเนื่องจากติดต่อนายจ้างไม่ได้ นายจ้างสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด ถ้าไม่ไปทำงานที่อื่นนายจ้างจะไม่จ่ายและไล่ออก น้ำท่วมไปทำงานไม่ได้ถูกหักค่าจ้างให้ออกและสมัครงานใหม่ นายจ้างหักเงินแต่ไม่ส่งประกันสังคม เป็นต้น มีกรณีคนงานที่พุทธมณฑลสาย 5 ถูกสั่งให้ไปทำงานที่ จ.ชัยภูมิ และ จ.ลำพูน พอน้ำลดกลับมาดูบ้านและยืนยันขอทำงานที่เดิม แต่นายจ้างจะถือว่าขาดงานและจะถูกลงโทษ ยังมีกรณีคนงานหญิงร้องนายจ้างจัดที่พักพิงให้นอนรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง รู้สึกอึดอัด ไม่อยู่ก็ไม่ได้ ไปทำงานลำบาก อาจถูกให้ขาดงานหรือมีความผิดฐานขัดคำสั่ง ยังมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุเครื่องตัดนิ้วขาดและเป็นแผลที่มือ ต้องรักษาด้วยตนเอง

กรณีที่ 4

มีสถานประกอบการจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง แต่กลับเลือกใช้วิธีการเลิกจ้างแรงงานแทนการเข้าร่วมโครงการป้องกันและ บรรเทาการเลิกจ้างของกระทรวงแรงงาน โดยให้เหตุผลว่าแม้น้ำจะลดลงแล้วแต่ตัวโรงงานได้รับความเสียหายอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ไตรมาส จึงจะกลับมาผลิตได้ใหม่ เมื่อถึงตอนนั้นโรงงานจึงจะประกาศรับสมัครแรงงานกลับเข้าทำงาน แน่นอนในมุมของนายจ้างแล้วการเลิกจ้างและการจ่ายเงินชดเชยในบางส่วนถือว่า เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการชะลอการเลิกจ้างโดยการจ่ายค่าจ้างตามเกณฑ์ 75% ของเงินเดือน โดยที่ไม่รู้ว่าโรงงานจะกลับมาผลิตสินค้าได้อีกเมื่อใด ดังเช่นกรณีของโรงงานซันแฟ็ค นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2554 และเลิกจ้างแรงงานทั้งหมด

กรณีที่ 5

โรงงานไดนามิค โปรโมชั่นและเคมิคัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ย่านพุทธมลฑลสาย 4 เป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังคงปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด และจากข้อมูลเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2554 พบว่าโรงงานยังไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่าหลังน้ำลดลูกจ้างกว่า 600 คน จะได้มีโอกาสกลับเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนผู้บริหารแจ้งว่าจะจ่ายเงินเดือนให้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างคนใดได้รับเงินค่าจ้างแม้แต่น้อย ทำให้ลูกจ้างจำนวนมากมีสภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด วิตกกังวล เพราะขาดรายได้ อีกหลายคนก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ไม่มีเงินส่งทางบ้าน บางคนต้องเป็นหนี้เพิ่ม เพราะกู้เงินนอกระบบเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้

เรื่องเด่นอื่นๆ

เรื่องเด่นที่ 2: เครือข่ายแรงงานร่วมใจกู้วิกฤติอุทกภัยและช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่ประสบภัย

น้ำท่วม

จากวิกฤตการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เป็นต้นมา ได้สร้างความเสียหายและผลกระทบกับทุกภาคส่วน ภาคแรงงานซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอีกภาคส่วนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง มวลน้ำมหาศาลที่ถาโถมเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางโดยตรง นำมาสู่ผลกระทบที่มิเพียงสถานประกอบการหรือนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่กลับลูกจ้างในฐานะแรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญต่างได้รับความ เดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือกระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย

แน่นอนรัฐบาลและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องมิได้นิ่งนอนใจ หลายฝ่ายต่างมีความพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือ-บรรเทา-เยียวยา เพื่อให้ความเดือดร้อนที่พี่น้องแรงงานประสบได้รับการผ่อนคลายและดีขึ้น แต่กระนั้นเองนโยบายของรัฐทั้งมติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายการช่วยเหลือ ของกระทรวงแรงงานโดยตรง ก็มิอาจจะเข้าถึงปัญหาที่แรงงานประสบอย่างแท้จริง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหรือแรงงานในระบบนั้นมิได้มีเพียงแรงงานที่ทำงานอยู่ ในสถานประกอบการเพียงเท่านั้น แต่การไหลบ่าของกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมออกนอกสู่โรงงาน ที่มาในชื่อของ “แรงงานเหมาช่วง แรงงานเหมาค่าแรง” ก็เป็นแรงงานในระบบอีกกลุ่มใหญ่ที่เผชิญกับสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว รวมถึงในกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และเกษตรกรพันธสัญญา นี้มินับว่าสถานการณ์จริงตอกย้ำให้เห็นเพิ่มเติมว่า “แรงงาน” ในฐานะที่เป็น “ประชากรแฝง” ก็ยิ่งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เมื่อแรงงานเหล่านี้ไม่มีทะเบียนบ้านในการแสดงหลักฐานยืนยันความมีตัวตน ในที่สุดการช่วยเหลือก็กลายเป็นทิศทางที่ผกผันกับการไหลบ่าของมวลน้ำที่ปะทะ ถาโถมรุนแรงกระแทกกระทั้นอยู่ตลอดเวลา

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรด้านแรงงาน รวมถึงองค์กรแรงงานในพื้นที่ประสบภัย เปิดศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม ครอบคลุมใน 4 กลุ่มแรงงาน คือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานในกลุ่มเกษตรพันธสัญญา คือ

(1) ศูนย์แรงงานในระบบ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ (1.1) ศูนย์บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (1.2) ศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม (1.3) ศูนย์คลองหลวง ตลาดบางขัน ย่านรังสิต

จ.ปทุมธานี

(2) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตัดเย็บเสื้อผ้า , ขับรถรับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่), ซาเล้ง ใน 9 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ เขตหนองจอก เขตบางเขน เขตภาษีเจริญ เขตจตุจักร เขตลาดกระบัง เขตบึงกุ่ม เขตหลักสี่ เขตวังทองหลาง เขตสะพานสูง

(3) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ (3.1) วัดป่าฝ้าย วัดไก่เตี้ย โรงงานเอสซีเค อ.เมือง จ.ปทุมธานี (3.2) โรงงานไม้อัดวนชัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี (3.3) มัสยิดแก้วนิมิต ซอย 40 ตรงข้ามมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (3.4) พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา (3.5) พุทธมณฑล สาย 4 และสาย 5 รวมถึงการประสานงานด้านข้อมูลกับพื้นที่คริสตจักรสามแยก สภาคริสตจักรในประเทศไทย ที่ช่วยเหลือกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ปลางที่ทำงานในสวนกล้วยไม้ จ.นครปฐม ร่วมด้วย

(4) พื้นที่ช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเกษตรพันธสัญญา จำนวน 3 กลุ่มอาชีพ ใน 2 พื้นที่ คือ กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเลี้ยงไก่เนื้อ ใน ต.ท้ายตลาด อ.เมือง จ.ลพบุรี และกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในบ้านขี้เหล็ก ต.เขวาใหญ่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

การเปิดศูนย์ช่วยเหลือมิได้เพียงบรรเทาทุกข์ด้วยสิ่งของยังชีพเท่านั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรยังได้ร่วมมือกับนักศึกษาคณะ ต่างๆจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมกว่า 20 คน ร่วมกันจัดเก็บข้อมูลจากแรงงานผู้ประสบภัยในพื้นที่ตั้งศูนย์ เพื่อรวบรวมสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงที่พี่น้องแรงงานต้อง ประสบ ด้วยความมุ่งหวังว่า “การเปล่งเสียงของแรงงานครั้งนี้” จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ส่งผ่านไปยังผู้กำหนดนโยบาย เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้มีนโยบายหรือกลไกการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างมี ประสิทธิภาพ ตรงจุด และมีส่วนร่วมจากผู้ใช้แรงงานที่ประสบภัยพิบัติอย่างแท้จริง

เรื่องเด่นที่ 3: การขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 จาก 3 กรณี เป็น 5 กรณี

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพต่างๆที่ไม่เคยได้รับสิทธิประกันสังคมมา ก่อน เช่น ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรพันธสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนเก็บของเก่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ แท็กซี่ เสริมสวย แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมได้ตามมาตรา40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และ อัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่ง สมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยเป็นการขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบใน 2 ทางเลือก โดยทางเลือกแรก คือ จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ทางเลือกที่สอง คือจ่ายเงินสมทบ 150 บาท ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีบำเหน็จชราภาพ ส่วนผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 5 กรณี ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบอัตรา 3,360 บาทต่อปีเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 3 กรณี เท่านั้น คือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยมาก เพราะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงินสมทบ และไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้อง กับลักษณะการจ้างงาน

เรื่องเด่นที่ 4: คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบพ.ศ. 2555-2559

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอก ระบบ พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบตาม แนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการ ทำงานหรือเป็นแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552) พบว่าผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีประสิทธิภาพจึงได้จัดทำ แผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงาน ทำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ คือ (1) เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอ ย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและมีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานในระบบ ได้รับ (2) มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่าง ประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) (3) แรงงานนอกระบบมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบและตลาดแรงงาน (4) แรงงานนอกระบบมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงาน และแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ (5) มีกลไกการทำงานในลักษณะภาคีและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการ ดูแลแรงงานนอกระบบ ชุมชน กลุ่มการเกษตร กลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้มี ประสิทธิภาพ (6) ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงแรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน

เรื่องเด่นที่ 5: การประกาศใช้ พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554

นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 พรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือ (1) ให้ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จัดให้มีมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในหน่วยงานของตนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าว (2) การจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยฯ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย

อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน แก้ไข และร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้ บังคับ

สาเหตุที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำ เทคโนโลยีเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ สารเคมี และสารเคมีอันตรายมาใช้ในกระบวนการผลิต การก่อสร้าง และบริการ แต่ขาดการพัฒนาความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานในด้านความปลอดภัยอาชีว

อนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน และก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงาน จนถึงแก่บาดเจ็บ พิการทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือเกิดโรคอันเนื่องจากการทำงานซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีหลักการส่วนใหญ่เป็นเรื่องการคุ้มครองแรงงานทั่วไปและมีขอบเขตจำกัดไม่ สามารถกำหนดกลไกและมาตรการบริหารงานความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศใช้กฎหมายนี้โดยเฉพาะขึ้นมา

รวมถึงเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรียังได้ให้ความเห็นชอบแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งเป็นแผนที่จัดทำขึ้นตามพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (2) การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (3) การจัดการองค์ความรู้ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพ แวดล้อมในการทำงาน (4) การพัฒนาระบบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และ (5) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีว

อนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

เรื่องเด่นที่ 6: การเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เมื่อมิถุนายน 2554 ที่รวมถึงบุตรและผู้ติดตาม

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และให้แรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องและ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้รัฐบาลได้ดำเนินการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา การที่รัฐบาลเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่เป็นการเอื้อให้แรงงานข้ามชาติและ ผู้ติดตามสามารถเข้าถึงการคุ้มครองและบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นในเชิงบริหารจัดการของประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนและสังคมไทยโดย รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางสุขภาวะ รวมถึงในเรื่องการทราบจำนวนและสะท้อนสภาพการณ์ที่แท้จริงซึ่งจะทำให้การ บริหารจัดการในด้านอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บรายได้เข้าสู่กองทุนสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อใช้ในงานด้านการ สาธารณสุขและควบคุมโรคในประเทศไทย เป็นต้น

เรื่องเด่นที่ 7: 8 มีนาคม 2554 100 ปี วันสตรีสากล

8 มีนาคม 2554 ถือว่าเป็นวันครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล ทำให้กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน 100 ปีสตรีสากล รวม 37 องค์กร ประกอบด้วยองค์กรแรงงาน องค์กรผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายต่างๆ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวันสตรีสากล ปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่เวียนมาครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงทั่วโลก เพื่อให้ได้รับสิทธิความเท่าเทียม ทั้งสิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ สิทธิในการทำงานที่มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิเสมอภาคที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เป้าหมายการจัดงานในครั้งนี้ คือ ต้องการให้ผู้หญิงจากทุกภาคส่วนได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประเด็นการต่อสู้และสรุป บทเรียน รวมถึงการรวมพลังผู้หญิงจากทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไข ปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงร่วมกัน กลุ่มบูรณาการสตรีและองค์กรเครือข่ายได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใน 4 เรื่องหลัก คือ

(1) ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม ต้องได้ทำงานในระบบสามแปดที่แท้จริง โดยมีระบบสวัสดิการสังคมที่จำเป็นตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ลูกจ้างภาครัฐ หญิงบริการ แรงงานเกษตรและประมง เพราะค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและไม่พอเพียงทำให้คนทำงานหญิงส่วนใหญ่ต้องอด ทนทำงานเกินวันละ 8 ชม.

- ให้แรงงานหญิงเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี

- ยอมรับหญิงบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร และประมง เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรัฐบาลช่วยส่งเงินสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง และให้มีระบบบำนาญประชาชน และให้รัฐตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสุขภาพและสังคมแก่คนอาชีพบริการโดยหักจาก ภาษีธุรกิจภาคบันเทิงและการท่องเที่ยว

- ต้องมีมาตรการเด็ดขาดห้ามการเลิกจ้างคนท้อง ส่งเสริมให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายทั่วถึงในชุมชน โรงงาน หน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน และจัดเสริมเจ้าหน้าที่บริการดูแลให้สอดคล้องกับเวลาทำงานของผู้หญิง

- รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดาในการได้รับสวัสดิการค่าจ้างในช่วงที่ ไม่ได้ทำงานเพราะการคลอดบุตร การคุ้มครองสุขภาพแม่และเด็ก โดยให้พ่อมีสิทธิลางานดูแลลูกและแม่หลังคลอดบุตรเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง

(2) ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับ ผู้หญิงอย่างมีคุณภาพ เพราะวันนี้ยังคงมีผู้หญิงที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเพราะมะเร็งเต้านมและ มะเร็งปากมดลูกในอัตราสูง ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ถ้ามีระบบการตรวจสุขภาพที่ครบถ้วน มีคุณภาพ บริการฟรีหรือราคาถูกและเข้าใจผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัย และดูแลรักษาโรคภัยที่เกิดจากการทำงาน จนถึงระดับสถานีอนามัย เพื่อคุ้มครองดูแลโรคภัยต่อระบบอนามัยเจริญพันธุ์จากสารเคมีภาคเกษตร

(3) การคุ้มครองดูแลปัญหาทัศนคติ “เหมารวม”และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการตั้งท้องไม่พร้อม ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางเพศและถูกข่มขืน การส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาศักยภาพความก้าวหน้าในตำแหน่งการงาน กระบวนการยุติธรรมที่มีอคติทางเพศ ตลอดจนสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ

(4) ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจและวางแผนทุกระดับ ทั้งกรรมการไตรภาคี กรรมการองค์กรอิสระและการมีสัดส่วนนักการเมืองหญิงเพิ่มขึ้นทุกระดับ

เรื่องเด่นที่ 8: นักสื่อสารแรงงาน ผู้สื่อข่าวภาคพลเมือง

แม้ว่าที่ผ่านมาประเด็น “แรงงาน” จะได้รับการหยิบยกจากสื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและกระแสรองมาสื่อสารตามหน้า หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามยังพบว่ามีอีกหลายประเด็นที่ตกหล่นหรือไม่ได้รับการหยิบยกมานำ เสนอ ทั้งด้วยข้อจำกัดของจำนวนเนื้อที่ข่าวที่จะนำเสนอ หรือประเด็นความน่าสนใจที่แต่ละสำนักข่าวก็มีมุมมองที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีความจำเป็นที่แรงงานจะต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารด้วยตนเอง เพื่อทำให้ประเด็นแรงงานกระจายสู่สาธารณะ ได้รับความสนใจ จนกระทั่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายหรือพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องใน อนาคต มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจึงได้ริเริ่มโครงการ "การพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน" ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. หนึ่งในสาระสำคัญของโครงการนี้ คือ การทำให้แรงงานสามารถผลิตสื่อ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนเอง ด้วยตนเอง นอกจากนั้นแล้วโครงการยังได้จัดทำเว็บไซต์ voicelabour.org ที่มีแรงงานเขียนข่าวใหม่ๆ มานำเสนอให้เห็นเกือบทุกวัน และมีหนังสือพิมพ์แรงงานวอยซ์เลเบอร์เผยแพร่เรื่องราวของแรงงานในแง่มุม ต่างๆที่ไม่พบตามหน้าสื่อทั่วไปในทุกเดือน

เรื่องเด่นที่ 9: เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูนกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน

เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูน จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในชุมชน จ.ลำพูน ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. โดยเป็นโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และ กลุ่มแรงงานในชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ใช้แรงงานในชุมชนทั้ง 10 แห่ง คือ เทศบาลเมืองลำพูน, เทศบาลตำบลบ้านกลาง, เทศบาลตำบลเหมืองง่า, เทศบาลตำบลประตูป่า, เทศบาลตำบลริมปิง, เทศบาลตำบลต้นธง, เทศบาลตำบลมะเขือแจ้, เทศบาลตำบลบ้านธิ, เทศบาลตำบลทากาศเหนือ และเทศบาลตำบลทาสบเส้า เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายอาชีพให้เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน เกิดรูปแบบการพัฒนาสวัสดิการที่เหมาะสม มีนโยบายท้องถิ่นระดับจังหวัดที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการพัฒนาในพื้นที่ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนภาค อุตสาหกรรมและการส่งออกจนทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดออกจากการคุ้มครองของ กฎหมายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม เนื่องจากเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เสี่ยงภัยต่อปัญหาสุขภาพของกลุ่มประชากรวัยทำงาน โดยเฉพาะที่เกิดจากการประสบอันตรายและเจ็บป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน อย่างไรก็ตามถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการรองรับโดยเฉพาะ การจัดบริการอาชีวอนามัยสำหรับแรงงานนอกระบบหรือแรงงานในชุมชน และท้องถิ่นถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการ ทั้งในเรื่องของการประสานทรัพยากรและการกระจายทรัพยากร ทั้งการจัดการในเรื่องของอาชีวอนามัย สวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับ การจัดการอาชีพเพื่อก่อให้เกิดสัมมาชีพที่ยั่งยืน เพราะสัมมาชีพเป็นการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม

เรื่องเด่นที่ 10: เกษตรกรในระบบพันธสัญญารวมตัวก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เพื่อเคลื่อนไหวให้ได้รับความเป็นธรรมและการดูแลจากรัฐบาล

เมื่อวันที่ 27-28 สิงหาคม 2554 เกษตรกรในระบบพันธสัญญาจาก 3 ภาค 3 เครือข่าย 8 กลุ่ม 6 จังหวัด ได้ร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรในระบบดัง กล่าว ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบลน้ำแพร่ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จากกระบวนการทำเกษตรในระบบพันธสัญญาทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้รับ ความเป็นธรรมจากบริษัท เช่น กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะถูกเอาเปรียบจากบริษัทหรือนายหน้าด้วยการหักเปอร์เซ็นต์ความชื้น โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ถูกเอาเปรียบจากบริษัทด้วยการนำลูกไก่ไม่มีคุณภาพมา ขายให้กับเกษตรกรทำให้เกษตรกรขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นหนี้ไม่สามารถใช้ หนี้คืนได้ ดังนั้นเกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมจึงได้ตกลงกันก่อตั้ง"เครือข่ายเกษตรกรพันธ สัญญา" เพื่อตัวแทนในการเรียกร้องกับรัฐบาลให้ดูแลเกษตรกรผู้ทำการเกษตรระบบพันธ สัญญา ดังนี้

-ออกกฎหมายคุ้มครองเกษตรกรที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญาได้รับความเป็นธรรม

-มีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการนำเข้าสารเคมีและการเก็บสารเคมี

-จัดตั้งกองทุนคุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธสัญญา

-ผลักดันให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นมีบทบาทผลักดันให้เกิดกลไกกลางในการดูแลความเป็นธรรม

-ให้มีกลไกในการกำกับมาตรฐานของราคาและคุณภาพปัจจัยการผลิต

-สนับสนุนให้เกิดธรรมนูญเกษตรกร

-ปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

-ให้รีบดำเนินการออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้อกับเกษตรกรรายย่อย

พร้อมกันนี้ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนร่วมกันดังนี้

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐและทุนยุติการดำเนินธุรกิจระบบเกษตรพันธสัญญา ที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้การทำเกษตรระบบพันธสัญญาและการผลิตที่มีลักษณะ ของการผูกขาดโดยทุนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมแก่เกษตรกร การไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร

-ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐมีมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเร่งด่วน

เรื่องด้อยอื่นๆ

เรื่องด้อยที่ 2: แรงงานภาคตะวันออก 3 บริษัทเดินเท้าร่วม 130 กิโลเมตร ทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน

กว่า 130 กิโลเมตรจาก จ.ระยอง ปลายทางเมืองหลวงประเทศไทย ที่ตั้งของกระทรวงแรงงาน แรงงานภาคตะวันออกกว่า 2,000 คน กับการเดินเท้าเพื่อทวงถามความเป็นธรรมในการจ้างงาน ย้อนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 แรงงานกว่า 2,000 คน จาก 3 บริษัทใหญ่ คือ บริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย ผลิตยางรถยนต์ บริษัทฟูจิตสึเจเนอรัล ประเทศไทย ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ และบริษัทพีซีบีเซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เช่น การทำงานเพิ่มขึ้นจาก 2 กะ เป็น 3 กะ ยกเลิกเบี้ยการผลิต ยกเลิกข้อตกลง 36 เดือน และที่สำคัญ คือ นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนกลับต่อการขอสวัสดิการจากลูกจ้างคืนจาก 3 ข้อที่ลูกจ้างเคยได้ นายจ้างขอคืนกลับถึง 5 ข้อ ซึ่งเท่ากับลูกจ้างจะไม่ได้อะไรเลย ในขณะเดียวกันนายจ้างก็ประกาศหยุดงาน โดยอ้างสาเหตุมาจากการทำงานของเครื่องจักรมีปัญหา ทั้งที่ผลประกอบการของนายจ้างชี้ชัดว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2552 จาก 9 ล้านบาท เป็น 1,564 ล้านบาท

ในระหว่างพิพาทแรงงานได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีเจ้าหน้าที่แรงงาน จังหวัดเข้ามาเป็นตัวกลาง อีกทั้งสหภาพแรงงานทั้งสามบริษัทได้เคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร (ในช่วงนั้น) มีการเรียกนายจ้างและแรงงานมาให้ข้อมูลแต่ก็ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำกลับถูกท้าทายจากกลุ่มนายจ้างผู้มีอิทธิพลที่เป็นเครือญาตินักการ เมืองในปีกรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและหลักการด้านสิทธิ มนุษยชน

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าในช่วงที่นายจ้างประกาศหยุดงานและอยู่ระหว่าง เจรจากว่า 14 ครั้ง แต่ก็ล้มเหลว บริษัทได้มีการนำแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวกัมพูชาและแรงงาน ไทยระบบเหมาค่าแรงผ่านบริษัทนายหน้าจัดหางาน เข้ามาทำงานในโรงงานแทนแรงงานไทยที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรม

การเดินเท้ากว่า 130 กม. จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในเมื่อระบบการบริหารจัดการแรงงาน ความเหลื่อมล้ำในการปฏิบัติระหว่างนายทุน นักการเมือง และประชาชนที่ขายหยาดเหงื่อแรงงานยังมีช่องว่างอยู่ เมื่อเสียงของแรงงานเบาและไม่เคยถึงผู้กำหนดนโยบาย การเดินเท้าสู่กระทรวงแรงงานจึงเป็นปฏิบัติการส่งเสียงดังเพื่อทวงถามความ เป็นธรรมจากผู้กำหนดนโยบาย

เรื่องด้อยที่ 3: พนักงานเคเอฟซีถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

เมื่อพฤษภาคม 2554 พนักงานเคเอฟซีในเครือบริษัทยัม เรสเทอรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คือ นายกฤษ สรวงอารนันท์ น.ส.ศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ได้ถูกนายจ้างเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากทั้ง 3 คน เป็นแกนนำในการเรียกร้องด้านสวัสดิการให้กับพนักงาน ที่ผ่านมาพนักงานโดยเฉพาะในระดับล่างและผู้จัดการร้านได้รับค่าจ้างต่ำกว่า ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ โดยได้ค่าจ้างเพียงชั่วโมงละ 27 บาท หรือเดือนละ 5,200 บาท หากปรับขึ้นเงินเดือนก็ปรับเพียง 100-200 บาท ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก พนักงานเหล่านี้จึงรวมตัวกันลงชื่อกว่า 260 คน ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายจ้าง เช่น ขอให้ปรับขึ้นเงินเดือน ปรับโบนัส ปรับปรุงสวัสดิการ ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดให้มีวันหยุดตามวันหยุดประเพณี ปรับปรุงค่ารักษาพยาบาล ค่ารถ จัดอาหารฟรีแก่พนักงานวันละ 1 มื้อ แต่นายจ้างไม่พอใจและได้เรียกแกนนำทั้ง 3 คนเข้าไปพบ เพื่อขอให้เซ็นใบลาออกพร้อมกับให้ซองขาว และยังได้ขึ้นชื่อบนเว็บไซต์ของบริษัท

เรื่องด้อยที่ 4: ชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติจากพม่าถูกล่ามโซ่ทั้งที่ยังเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุจากการทำ งาน: ความด้อยประสิทธิภาพของกองทุนเงินทดแทน

นายชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติชาวมอญจากประเทศพม่า อายุ 28 ปี ได้ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 7 ปี ปัจจุบันทำงานก่อสร้างกับผู้รับเหมาในย่านปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ระหว่างทำงานกำลังฉาบปูนเพื่อต่อเติมอาคารบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ได้เกิดอุบัติเหตุปูนหล่นทับระหว่างทำงานจนทำให้ลำไส้เเตกและทะลักออกมานอก ช่องท้อง จนต้องนำส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ทว่าทั้งนายจ้างของนายชาลี นายจ้างรับเหมา เเละเจ้าของอาคารที่กำลังก่อสร้าง ต่างไม่เหลียวเเลนำค่ารักษาเเละเงินชดเชยมาจ่ายให้นายชาลีเเละโรงพยาบาล

ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ปทุมธานีมาจับ โดยอ้างว่าเป็นเเรงงานผิดกฎหมาย ทั้งที่นายชาลีได้แจ้งว่าตนได้ขึ้นทะเบียนเเรงงานข้ามชาติมีใบอนุญาตทำงาน ถูกต้องแล้ว เเต่เมื่อประสบอุบัติเหตุเอกสารประจำตัวได้สูญหายไปทั้งหมด ทำให้นายชาลีได้ถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศพม่า ขณะที่อาการบาดเจ็บยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงร้องขอให้ สตม. ส่งนายชาลีไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เเต่ก็ถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง โดยการล่ามโซ่ขานายชาลีไว้กับเตียงคนไข้ เเละมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมอยู่ด้านนอกตลอดเวลา ในที่สุดจากการเรียกร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชน ตำรวจจึงได้ปลดโซ่และมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายชาลีทันทีเนื่องจากใบ อนุญาตทำงานไม่หมดอายุ ทำให้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายชาลีเเละจ่ายค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท เนื่องจากสตม.ดำเนินการควบคุมตัวโดยมิชอบเเละมิได้ใช้ความระมัดระวังในการ ตรวจสอบเอกสารก่อนการควบคุมตัวการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตามทุกวันนี้กระทรวงเเรงงานก็ยังไม่ได้เข้ามาดูแลเเละเยียวยานายชา ลี ดีอยู่ แม้แต่น้อย

กรณีของชาลี ดีอยู่ เป็นภาพสะท้อนสำคัญในเรื่องแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครอง/ไม่สามารถ เข้าถึงสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนการบาดเจ็บจากการทำงาน ทั้งที่รัฐบาลไทยมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม กัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ. 1925 รวมถึงรัฐบาลไทยยังปฏิเสธ/ผลักภาระ/ปัดความรับผิดชอบโดยกระทรวงแรงงานมี ประกาศให้นายจ้าง สถานประกอบการจัดทำประกันภัยคุ้มครองการทำงานแรงงานข้ามชาติ (เบี้ยประกันภัย 500 บาทกับบริษัททิพยประกันภัย) เพื่อให้มีหลักประกันคุ้มครองกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมา จากการทำงาน โดยให้มีการคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกับแรงงานไทยซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์จาก กองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ต้องจัดทำประกันภัยให้กับแรงงาน ซึ่งหากนายจ้างไม่ดำเนินการทำประกันภัยให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมออกคำ สั่ง ทั้งๆความเป็นจริงแล้วเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานโดยตรงที่ต้องเข้า มาดูแลเรื่องนี้

นี้ไม่นับในกรณีของแรงงานไทยก็ไม่แตกต่างกัน ทั้งๆที่ปัจจุบันกองทุนเงินทดแทนมีเงินอยู่ถึง 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสะสมโดยเงินสมทบแต่ละปีเก็บได้ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่จ่ายไปเพียงปีละ 2 พันล้านบาท ทั้งๆที่หลักการกองทุน คือ เก็บเงินจากนายจ้างเพื่อจ่ายเงินทดแทน ดูแลและฟื้นฟูคนงาน ส่งเสริมและป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน หลายครั้งที่คนงานเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างส่วนหนึ่งมักอ้างว่าไม่ได้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเพื่อจะได้ไม่ ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่ม เพราะยิ่งเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นายจ้างก็ต้องจ่ายเบี้ยเข้ากองทุนเงินทดแทนสูงขึ้น หรือในกรณีที่คนงานป่วยจากการทำงาน เช่น ได้รับสารเคมี สารตะกั่ว เข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก แต่แพทย์ก็มักไม่กล้าวินิจฉัยว่าป่วยจากการทำงาน เพราะหากนายจ้างไม่ยอมรับคำวินิจฉัยก็กลัวนายจ้างฟ้องร้องและไม่อยากไปขึ้น ศาล กองทุนเงินทดแทนจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกวัน แต่ทุกวันนี้แรงงานกลับไม่สามารถเข้าถึงกองทุนได้แม้แต่น้อย

เรื่องด้อยที่ 5: เมื่อแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางเรียบ ร้อยแล้ว แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 480,000 คน อย่างไรก็ตามในรอบปี 2554 ที่ผ่านมากลับพบปัญหาที่เป็นผลมาจากการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองถึง 6 ประการ

(1) มีหลายบริษัทที่นายจ้างส่งเงินสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย ทำให้มีนายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสบทบ เลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับจำนวนมาก ทำให้แรงงานจึงเสียสิทธิแม้ว่านายจ้างจะหักเงินแรงงานไปแล้วก็ตาม

(2) ข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม พบว่าในระหว่างที่แรงงานรอบัตรนั้น ต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด แต่มีแรงงานบางคนที่ไม่ทราบและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแทน การเบิกคืนย้อนหลังจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วในช่วงก่อน 3 เดือนที่จะมีสิทธิ แรงงานก็จะไม่สามารถนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลมาเบิกย้อนหลังได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานมักจะทำงานอยู่ในกิจการจ้างงานที่มีความ เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง เข้าไม่ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงานและการอยู่อาศัยที่ดี แต่แรงงานต้องส่งเงินสมทบมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงจะสามารถใช้สิทธิกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันมิใช่เนื่องจาก การทำงานได้

(3) แรงงานไม่สามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมได้ เนื่องจากในระหว่างที่สำนักงานประกันสังคมยังไม่สามารถออกบัตรประกันสังคม ให้แรงงานได้ การตรวจสอบสิทธิจะทำได้ยากมาก เพราะการออกบัตรประกันสังคมจะขึ้นอยู่กับเลขที่ใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้าม ชาติ ซึ่งประกันสังคมจะอ้างอิงเลขที่ใบอนุญาตทำงานในการบ่งบอกสิทธิของผู้ประกัน ตน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระทรวงแรงงานจะออกใบอนุญาตทำงานล่าช้ามาก แรงงานจึงไม่สามารถนำเลขที่ใบอนุญาตทำงานมาใช้ยืนยันสิทธิในการเบิกจ่าย สิทธิประกันสังคมได้ แม้ว่าทางสำนักงานประกันสังคมจะได้กำหนดมาตรการแก้ไข โดยการสร้างฐานทะเบียนผู้ประกันตนชั่วคราวไว้ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะชื่อของแรงงานข้ามชาตินั้นคล้ายคลึงกันและไม่มีนามสกุล และการบันทึกทะเบียนผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้แยกกลุ่มแรง งานข้ามชาติไว้ต่างหาก ทำให้เกิดความสับสน ล่าช้า เสียเวลามากยามต้องตรวจสอบสิทธิประกันสังคม

(4) มีบางโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม มีข้อจำกัดทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และขนาดของโรงพยาบาล ทำให้ความสามารถของการบริการสาธารณสุขในบางพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะรองรับแรง งานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในพื้นที่และมีจำนวนมาก รวมทั้งยิ่งทำให้คนในพื้นที่ต้องรอรับบริการล่าช้ามากขึ้น จึงส่งผลต่ออคติเชิงชาติพันธุ์ การกีดกัน การไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันในชุมชนเดียวกันติดตามมา

(5) ตัวแรงงานข้ามชาติเองมักจะไม่ทราบสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ระเบียบเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็น และยิ่งเป็นแรงงานที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ นายจ้างไม่สนใจดูแล ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเบิกจ่ายสิทธิทดแทนอย่างมาก มีแรงงานจำนวนมากที่นายจ้างยึดบัตรไว้ แรงงานจึงถือเฉพาะใบเสร็จเพื่อมารับการรักษาแทน จึงเป็นอุปสรรคต่อการรักษาอย่างยิ่ง เพราะแรงงานก็จะไม่มีทั้งบัตรโรงพยาบาล บัตรประกันสังคม และใบอนุญาตทำงาน โรงพยาบาลจึงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน

(6) มีบางกรณีที่แรงงานเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินนอกสถานที่ทำงานและถูกส่งตัวเข้า รับการรักษา ส่วนใหญ่แรงงานจะไม่มีเอกสารพกติดตัวมา เนื่องจากนายจ้างยึดเก็บไว้ เพราะกลัวแรงงานหลบหนี ทำให้การรักษาพยาบาลเกิดความล่าช้า เพราะโรงพยาบาลต้องติดต่อกับบริษัทที่แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่ เพื่อยืนยันสิทธิการเบิกจ่ายในการรักษาจริง รวมถึงแรงงานมักจะมีชื่อที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน ยิ่งทำให้การตรวจสอบสิทธิล่าช้ามากยิ่งขึ้น นี้ไม่นับว่าถ้าเป็นแรงงานหมดสติเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็มักจะแก้ปัญหาด้วยการทำทะเบียนผู้ป่วยใหม่ ไม่ตรวจสอบประวัติเดิม แรงงานก็จะเสียประโยชน์ในประวัติการรักษาที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น

นอกจากนั้นแล้วข้อมูลจากมติสมัชชาแรงงานข้ามชาติ เรื่องแรงงานข้ามชาติกับการปฏิรูประบบประกันสังคมในแบบที่เหมาะสม เมื่อ 13 มกราคม 2554 ก็ระบุชัดเจนว่า สิทธิประโยชน์ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่สอดคล้องกับลักษณะความเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะและแนว นโยบายการจัดการเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จาก

- นโยบายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติระดับล่างในประเทศไทย ไม่สนับสนุน/เอื้อให้แรงงานข้ามชาติหญิงได้มีโอกาสตั้งครรภ์ ฉะนั้นโอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะใช้สิทธิประโยชน์เรื่องการคลอดบุตรจึงมีความ เป็นไปได้น้อยหรือเป็นไปไม่ได้เลย

- ในกรณีสิทธิประโยชน์เรื่องสงเคราะห์บุตร ได้กำหนดอายุบุตรไว้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ แต่แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เพียง 4 ปี ก็สิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตน แรงงานก็จะสิ้นสุดการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวไปด้วย

- แรงงานข้ามชาติมีระยะเวลาทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น จึงขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งบำนาญชราภาพและบำเหน็จชราภาพ ที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี หรือต้องรอรับสิทธิประโยชน์เมื่อตอนอายุครบ 55 ปี

- แรงงานข้ามชาติที่ทุพพลภาพเนื่องมาจากการทำงาน ด้วยข้อจำกัดในการสื่อสารและการเดินทาง โอกาสที่แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงการรับเงินทดแทนการขาดรายได้จึงมีความเป็น ไปได้น้อยมาก

- แรงงานข้ามชาติไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิกรณีว่างงาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง และหากเป็นแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว เมื่อสิ้นสุดการเป็นลูกจ้างกับนายจ้างปัจจุบันจะต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภาย ใน 7-15 วัน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ รับบริการจัดหางานและการฝึกอบรมฝีมือ แรงงานก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานแล้วจึงไม่สามารถเข้าไม่ถึงสิทธิประกันการว่างงาน ได้

- เมื่อแรงงานข้ามชาติได้ส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขเวลาที่จะก่อให้เกิดสิทธิ ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือกรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตายแล้ว และได้สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกันตนผู้นั้นสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่แรงงานข้ามชาติเมื่อสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างแล้วจะต้องถูกส่งกลับ ประเทศต้นทางก็ไม่อาจที่จะใช้สิทธิต่อเนื่องอีก 6 เดือนนี้ได้

ดังตัวอย่างรูปธรรมที่นายทูเวนโก แรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเป็นแรงงาน

ข้ามชาติถูกกฎหมายได้เสียชีวิตลงหลังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร แต่ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ เพราะนายจ้างไม่ได้นำชื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน จึงต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

เรื่องด้อยที่ 6: ค่าแรง 300 บาท ความหวังริบหรี่ ฤา เป็นเพียงนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ได้มีมติชัดเจนว่า ให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 จากเดิมที่จะมีกำหนดใช้ทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2555 นี้ ซึ่งจะใช้เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูเก็ตก่อนเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะครอบคลุมในทุกจังหวัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป เพื่อให้สถานประกอบการมีเวลาเตรียมตัว ในขณะเดียวกันระหว่างใกล้ถึงกำหนดวันประกาศใช้นโยบายค่าแรง 300 บาท เสียงต่อต้านกลับดังระงมไปทั่ว โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าหากขึ้นค่าแรงระดับนี้ เศรษฐกิจทั้งระบบจะพังครืนรวมทั้งภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็น รัฐบาล ก็มีการเลี่ยงบาลีเรียกเป็น "รายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาท" ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการหาเสียงไม่สามารถทำได้จริงและเพื่อไม่ให้ เสียคะแนน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ "คณะกรรมการค่าจ้างกลาง" คิดสูตรค่าจ้างที่ทุกฝ่ายรับได้ จนมีแนวทางในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% จากเดิมจะปรับวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่มีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2 ปี จึงต้องดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเตรียมหารือเพื่อหาทางฟ้องศาลปกครองแล้ว

นายบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีนโยบายอะไรคืบหน้าตามสัญญาไว้กับประชาชน เหมือนสัญญาไปก่อนให้ได้คะแนน จึงมาคิดวิธีการดำเนินงานทีหลังแล้วเปลี่ยนวาทะ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง”

เรื่องด้อยที่ 7: รัฐบาลไทยยังไม่รับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98

จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรองอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87, 98 เสียที ! ทั้งๆที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงสำคัญต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยิ่งนัก

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะผู้ประสานงานคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 กล่าวว่า “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นี้ถือว่าเป็นอนุสัญญาหัวใจหลักของผู้ใช้แรงงานที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการ รวมตัวและเจรจาต่อรอง ทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนพ้นไปจากข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กร ของคนงานและในการเจรจาต่อรอง การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานก็จะลดน้อยลงไปด้วย การรับรองอนุสัญญาจะช่วยให้ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างได้ เพราะล่าสุดสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศทั่วโลกกว่า 183 ประเทศ ก็ได้รับรองอนุสัญญาฯ 2 ฉบับนี้ไปแล้ว เหลืออีกเพียง 20 ประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้นด้วยที่ควรเร่งดำเนินการในเร็ววัน”

บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ กล่าวว่า “ปัจจุบันแม้ไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ก็ถือเป็นกฎหมายแรงงานฉบับที่มีสาระที่ล้าหลัง ด้อยพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการจัดตั้งองค์กรและเรียกร้องต่อรอง ของลูกจ้างมากที่สุด มีการแก้ไขปรับปรุงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งปรับปรุงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงมหาดไทยหลายฉบับที่ออกตามมา และ พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี 2537 และปี 2542 โดย พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ได้มีการปรับปรุงแก้ไขสำคัญมาแล้วรวม 4 ครั้ง มักแก้ไขในยุคเผด็จการทหารปกครองประเทศ ซึ่งย่อมไปในทางควบคุม จำกัดเสรีภาพการรวมตัวต่อรองของลูกจ้างและสหภาพแรงงานมากขึ้น”

อนุสัญญาฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว มีสาระสำคัญ 3 ประการที่เมื่อให้สัตยาบันแล้วจะทำให้กระบวนการสหภาพแรงงานเติบโตอย่างมาก คือ

1. คนงานและนายจ้างสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากรัฐ

2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใดๆ ที่จะจำกัดสิทธิในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง

3. องค์กร(สหภาพ) มีเสรีภาพในการเข้าร่วมองค์กรใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเสรี

ในขณะที่อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง กล่าวถึง

1. การคุ้มครองลูกจ้างจากการกระทำใดๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

2. องค์กร ลูกจ้างและนายจ้างต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงระหว่าง กันทั้งในการก่อตั้ง การปฏิบัติ และการบริหาร และการมุ่งสนับสนุนการก่อตั้งองค์กรของคนงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของนาย จ้าง

3. ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกลไก การเจรจา โดยสมัครใจทั้งนายจ้างหรือองค์กร นายจ้าง กับองค์กรคนงาน

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่าเพราะคนงานต้องขออนุญาตจัดตั้งสหภาพจากกระทรวง แรงงาน ทำให้คนงานที่เป็นแกนนำถูกเลิกจ้างและทำให้นายจ้างขัดขวางและทำลายการจัด ตั้งสหภาพจำนวนมาก

เรื่องด้อยที่ 8: กระทรวงแรงงานยังไม่ประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน

ทุกวันนี้แรงงานที่ทำงานในบ้านหรืออาชีพแม่บ้านก็ยังไม่ได้รับการคุ้ม ครอง กฎหมายประกันสังคมก็ยังมีข้อจำกัดยกเว้นการบังคับใช้กับคนทำงานบ้านที่ไม่มี ธุรกิจรวมอยู่ด้วย หรือแม้กระทั่งอนุสัญญาฉบับที่ 189 ว่าด้วยการคุ้มครองดูแลคนงานบ้าน จนบัดนี้รัฐบาลไทยก็ยังไม่รับรอง แม้ว่าทุกวันที่ 28 สิงหาคม ของทุกปี จะเป็นวันคนทำงานบ้านสากล และเครือข่ายแรงงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนได้มีการเรียกร้องกับรัฐบาลไทย และกระทรวงแรงงานมาโดยตลอดแต่ยังมิเป็นผล ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่าคนทำงานบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งๆที่แรงงานที่ทำงานบ้านนั้นเป็นแรงงานที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเช่น เดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆจึงควรได้รับสิทธิพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม ได้รับวันหยุดประจำสัปดาห์หรือวันหยุดประจำปี ตลอดจนการได้รับสิทธิประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วยหรือมีสถานที่ทำงานที่ ปลอดภัย

นางสมร ทาสมบูรณ์ ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน เคยกล่าวไว้ว่า “ตนเองได้เข้าทำงานบ้านตั้งแต่ตอนอายุ 13 ปี ได้เงินเดือนเดือนแรก 20 บาท ต่อมาเพิ่มเป็น 100 บาท และอยู่มา 6 เดือนจึงได้เพิ่มค่าจ้างเป็น 150 บาท และเพิ่มเป็น 300 บาทต่อมา ตอนนั้นหวังว่าการเข้ามาทำงานบ้านในเมืองจะได้รับการสนับสนุนจากนายจ้างให้ มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่เป็นไปดังหวัง เพราะตนเองจบเพียงแค่ประถมศึกษาปีที่ 3 ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน คือ ขอให้รัฐบาลได้ออกกฎหมายให้มีวันหยุดกับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเวลาพักผ่อน ไปเรียนหนังสือ พบเพื่อน ญาติมิตร ขอให้มีการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบ และการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิการเจ็บป่วย ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม ลวนลาม หรือล่วงละเมิดทางเพศ”

เรื่องด้อยที่ 9: อุบัติเหตุซ้ำซากระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติ

ในรอบปี 2554 ยังเกิดอุบัติเหตุระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง เนื่องจากยังมีการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานอยู่เสมอ และรัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ในปี 2554 อย่างน้อยเกิดถึง 7 ครั้ง

-18 พฤษภาคม 2554 ที่บริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทานโรงสูบ 3 เขตเทศบาลเมืองชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี รถกระบะลักลอบขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าได้ขับรถหนีด่านตรวจตำรวจเพชรบุรี จนเป็นเหตุให้รถเสียหลักพลิกคว่ำตกคลอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 19 คน ขณะกำลังจะพาแรงงานไปส่งที่ จ.ปัตตานี

-23 พฤษภาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถกระบะขนแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา เสียหลักชนต้นไม้ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวน 19 คน ที่ถนนสายชนบท หมู่ที่ 4 หมู่บ้านหนองตะเคียน ต.ไทยอุดม อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เนื่องจากคนขับได้ขับรถหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยใช้ความเร็ว สูง ประกอบกับไม่ชำนาญเส้นทางจึงเสียหลักตกข้างทาง

-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุที่จุดกลับรถตรงข้ามสถานีไฟฟ้าย่อย หลักกม.ที่ 3-4 ถนนบายพาสทิศใต้ ท้องที่หมู่ 10 ต.โคกสว่าง อ.เมือง จ.สระบุรี เนื่องจากรถกระบะที่บรรทุกแรงงานข้ามชาติด้าวรวม 15 คน เพื่อมุ่งหน้าไปรับจ้างเก็บลำไยที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เฉี่ยวชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ขณะที่รถพ่วงกำลังกลับรถในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถกระบะที่ขับรถมาด้วยความเร็วเบรกไม่ทัน ทำให้แรงงานข้ามชาติที่นั่งอยู่ท้ายกระบะรถกระเด็นออกจากตัวรถกระแทกพื้น เสียชีวิตและบาดเจ็บ

-4 กรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โตโยต้าตกลงไปในเขื่อนคลองบางแก้ว หมู่ที่ 10 ต.บ้านอิฐ อ.เมือง จ.อ่างทอง เนื่องจากคนขับไม่ชำนาญทางและเป็นเวลากลางคืน ทำให้แรงงานจากพม่าที่เดินทางออกมาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปทำงานที่ตลาดไทยและที่จังหวัดราชบุรี ได้รับบาดเจ็บรวม 21 คน (เป็นเด็ก 3 คน ผู้ชาย 13 คน ผู้หญิง 5 คน)

-9 กรกฎาคม 2554 รถตู้ขนแรงงานข้ามชาติเสียหลักตกข้าง บริเวณหลักกิโลเมตร 322-323

ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับการว่าจ้างให้นำแรงงานจากประเทศพม่าที่ทำงานอยู่ในมหาชัย จ.สมุทรสาคร ไปต่อพาสสปอร์ตที่จังหวัดระนอง โดยขณะที่ขับมาถึงบริเวณดังกล่าว คนขับสังเกตเห็นเหมือนมีอะไรวิ่งตัดหน้าจึงหักหลบตกลงไปในคูข้างทาง จนมีผู้บาดเจ็บรวม 13 คน

-8 ตุลาคม 2554 รถกระบะขนแรงงานข้ามชาติจากกัมพูชาลักลอบเข้าเมืองเสียหลักพุ่งชนประสานงา กับรถบรรทุกไม้พะยูงแปรรูป บนถนนสายสระแก้ว-จันทบุรี บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.เขาฉกรรจ์ กับ อ.เมือง จ.สระแก้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บสาหัสกว่า 10 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบทั้งหมด

-13 ธันวาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ปิกอัพขนแรงงานข้ามชาติจากพม่าพลิกคว่ำลงข้างทาง บริเวณถนนสายแม่สอด – แม่ระมาด ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บถึง 8 คน สาเหตุเนื่องจากมีรถจักรยานตัดหน้าทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ

เรื่องด้อยที่ 10: ไม่มีศูนย์เด็กเล็กสำหรับแรงงานที่ทำงานในย่านอุตสาหกรรม

แม้ว่าทุกคนจะทราบดีว่าเด็กคืออนาคตของชาติและเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ ของทุกประเทศ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยเรียน แต่สภาพสังคมในปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกอยู่กับบ้านได้เหมือนในอดีต วิธีการเลี้ยงลูกจึงเปลี่ยนไป หลายคนจึงมักจะหาทางออกโดยการส่งลูกกลับไปให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ต่างจังหวัดเลี้ยง หรือไม่ก็ฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กต่างๆ ส่วนคนมีฐานะดีก็มีโอกาสเลี้ยงลูกเองหรือไม่ก็จ้างพี่เลี้ยงส่วนตัวได้ แต่สำหรับแรงงานแล้วที่ส่วนใหญ่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถส่งลูกไปที่สถานเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพดีได้ ทำให้แรงงานจำนวนมากจึงส่งลูกไปต่างจังหวัด โดยแต่ละปีจะมีโอกาสได้เจอลูกไม่กี่ครั้ง ที่ไม่ได้ส่งไปก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดเพราะต้องทำงาน หรือไม่ก็จ้างเลี้ยงไปตามมีตามเกิด สถานที่บางแห่งมีพี่เลี้ยง 1 คนต้องดูแลเด็กถึง 15 คน เป็นต้น

ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กเล็ก โดยมีมาตรการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 2 เท่า ให้แก่นายจ้างที่จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการและบุคคลทั่วไป รวมทั้งนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์เด็กเล็ก แต่การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งๆที่การปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กที่มีอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อม และคุณภาพของครูก็มิใช่เรื่องยากแต่อย่างใด นอกจากนั้นแล้วควรคำนึงถึงกรณีพ่อแม่ที่ทำงานในโรงงานแล้วไม่ได้เลิกงานตาม เวลาปกติของคนทั่วไป เพราะการทำงานแบ่งเป็นกะ มีตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เข้า 16.00 น. ออกเที่ยงคืน และเข้าดึก ออกเช้า ก็ควรจะต้องมีศูนย์เด็กเล็กที่ปรับเปลี่ยนเวลาของครูและพี่เลี้ยงให้สอด คล้องกับเวลาทำงานของคนงาน โดยเฉพาะในย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานทำงานเป็นจำนวนมาก

[1] คงต้องกล่าวในเบื้องต้นว่าการจัดลำดับ 10 เรื่องเด่น 10 เรื่องด้อย ประเด็น “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ในรอบปี 2554 นั้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ในฐานะที่ทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อน ความเป็นธรรมทางสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา แน่นอนมุมที่มองย่อมมีข้อจำกัดและอิงกับประสบการณ์การทำงานการพัฒนานโยบาย สาธารณะระดับชาติด้านแรงงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นสำคัญ ดังนั้นองค์กรสมาชิกในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย รวมถึงองค์กรเครือข่ายแรงงานอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป ความรับผิดชอบในเนื้อหาที่ปรากฎเป็นของผู้เขียนโดยตรง รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรต้นสังกัดที่ผู้เขียนทำงานประจำอยู่ใน ปัจจุบันด้วยเช่นเดียวกัน