นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนทั่วไปร่วมกันเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
15 ธ.ค. 54 - เวลา 17:30 น. นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และประชาชนทั่วไปร่วมกันเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการรณรงค์ทางเฟซบุ๊ก Thailand’s Fearlessness: Free Akong กล่าวถึงที่มาของการจัดพิมพ์หนังสือและการจัดนิทรรศการดังกล่าวว่า การณรงค์นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา
ปวินได้เริ่มการรณรงค์ Thailand’s Fearlessness: Free Akong ผ่านเฟซบุ๊กของตัวเขาเองในวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเชิญชวนผู้ที่เห็นปัญหาของมาตรา 112 ร่วมรณรงค์โดยการ ขอให้เขียนชื่ออากงบนฝ่ามือ และถ่ายรูปเต็มตัวให้เห็นหน้า เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากง" ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ส่งเอสเอ็มเอส 4 ข้อความ ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขาฯ ส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น
“เรามาจนถึงปลายทางแล้วเมื่อพูดถึงความยุติธรรมในประเทศไทย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝั่ง ตรงข้ามมากขึ้น น่าเศร้าที่ตุลาการไม่อยู่ข้างประชาชน แคมเปญนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ "ความไม่กลัว" ของพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนางอองซาน ซูจี เพื่อสนับสนุนความกล้าหาญให้แก่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากในพม่า นี่เป็นการรณรงค์อย่างสงบสันติ เราต้องการส่งสาร โดยการเขียนชื่อ "อากง" บนฝ่ามือ เพื่อสนับสนุนและรณรงค์เพื่ออิสรภาพของเขา”
จากนั้น เมื่อมีผู้สนใจร่วมรณรงค์มากขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดพิมพ์หนังสือและจัดนิทรรศการดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมรณรงค์จนถึงปัจจุบันกว่าพันคน
นอกเหนือจากการเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) และนิทรรศการภาพถ่าย แล้ว ยังมีการเสวนาว่าด้วยการก้าวข้ามความกลัว โดยมี สาวตรี สุขศรี กลุ่มนิติราษฎร์, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนอิสระและวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนา พร้อมทั้งฉายวีดีทัศน์ “อภยยาตรา” รวมไปถึงการร้องเพลง “แดนตาราง” นิธินันธ์ ยอแสงรัตน์ บรรเลงไวโอลีนโดย ฌส นิยมทรัพย์
หนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) นั้น เป็นหนังสือที่รวบรวมภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรม Thailand’s Fearlessness: Free Akong ในระหว่างวันที่ 30 พ.ย.- 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวนเกือบ 500 ภาพ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาการใช้ การตีความ และตัวบทกฎหมาบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขียนโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และเดวิว สเตรคฟัสส และคำนิยมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธงชัย วินิจจะกูล
หนังสือ "ก้าวข้ามความกลัว" (Thailand’s Fearlessness: Free Akong) จำพิมพ์จำนวน 1,500 เล่ม จำหน่วยในราคาเล่มละ 112 บาท โดยรายได้จากการจำหน่วยหนังสือเล่มนี้ รายได้จากการขายหนังสือทั้งหมด (หลังหักค่าจัดพิมพ์) มอบให้ครอบครัว “อากง”
หนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
คำนิยมโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธงชัย วินิจจะกูล, David Streckfuss
ราคาเล่มละ 112 บาท