ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 26 December 2011

สุรพศ ทวีศักดิ์:“ความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา

ที่มา ประชาไท

สุรพศ ทวีศักดิ์

ดูเหมือนพุทธเถรวาทไทยพยายามเสนอคำตอบของพุทธศาสนาแก่ปัญหาชีวิตและสังคม แทบทุกเรื่อง แต่เริ่มจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า เป็นการเสนอมั่วๆ หรือสับสนหรือไม่? โดยเฉพาะข้อเสนอทางแก้ปัญหาสังคมการเมืองที่อยู่บนพื้นฐาน “ศีลธรรมเชิงปัจเจก” (individual morality) ที่ว่า “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง”

หลักการ “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง” ถูกขยายความว่า “คนดี” หมายถึง คนที่คิดดี พูดดี ทำดี หรือที่พูดภาษาพระว่า “คนที่ทำดีด้วยกาย วาจา ใจ” นั่นเอง ฉะนั้น ข้อเรียกร้องในทางสังคมการเมืองที่ออกมาจากพระสงฆ์ หรือฝ่ายที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 5 ปี มานี้ จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กติกาของสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น แต่เป็นการเรียกร้องไปที่ “ตัวบุคคล” ว่า นักการเมืองต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ประชาชนต้องเลือกคนดี คนไทยต้องไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน ต้องรักกัน สามัคคี สมานฉันท์ ปรองดองกัน กระทั่งให้ปล่อยวางอคติ ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวกู ของกู ฯลฯ

ขอเรียกร้องทำนองนี้กลายเป็น “กระแส” ในสื่อหลักตลอดมา แต่ก็มีปัญหาที่น่าพิจารณา คือ 1) ข้อเรียกร้องทำนองนี้ จะบรรลุผลได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างสังคมการเมืองที่ให้อำนาจนอกระบบอยู่ เหนือการตรวจสอบ และเครือข่ายของอำนาจนอกระบบนั้นยังแทรกแซงอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ (เป็นต้น) ได้ 2) ที่สำคัญข้อเรียกร้องทำนองนี้มันเหมือนจะมีสมมติฐานล่วงหน้าว่า นักการเมืองและประชาชนเป็น “คนไม่ดี” (มีกิเลส โกง โกรธ เกลียด ไม่สามัคคี ไม่รักกัน ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ) จึงทำให้ละเลยปัญหาเชิงระบบ หรือปัญหาเกี่ยวกับกติกา โครงสร้างของ “อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ้างพุทธศาสนา อ้างธรรมะนำการต่อสู้ ได้เสนอข้อเรียกร้องทำนองนี้ให้เป็นทางออกของปัญหาสังคมการเมือง มันจึงเท่ากับเป็นการเสนอข้อเรียกร้องที่ไปขับเน้น “ปัญหาปลอม” ขึ้นมากลบเกลื่อน “ปัญหาจริง” แล้วก็เสนอ “ทางออกเทียม” ทำให้สังคมละเลยที่จะถกเถียงเกี่ยวกับ "ปัญหาที่แท้จริง" เพื่อให้เกิดการทุ่มเทพลังทางสังคมไปสู่การแสวงหา “ทางออกที่แท้จริง” ร่วมกัน

ยิ่งกว่านั้น การที่พระสงฆ์และชาวพุทธนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสนอข้อเรียกร้องเทียมๆ ขับเน้นปัญหาเทียมๆ หรือทางออกเทียมๆ แก่สังคมเช่นนั้น กลับทำให้คุณค่าของพุทธศาสนาต่อสังคมลดความหมายลงอย่างที่ไม่น่าจะเป็น ซ้ำร้ายข้อเสนอเทียมๆ การขับเน้นปัญหาเทียมๆ และทางออกเทียมๆ ดังกล่าวนั้น ยังกลายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่การดำรงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างเผด็จการ หรือ “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนตลอดมาอีก ด้วย

เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังได้แล้วว่า ทำไมการอ้างธรรมะและพุทธศาสนามาขับเคลื่อนสังคมการเมือง พระสงฆ์และชาวพุทธจึงไม่ขับเคลื่อนบนจุดยืนของ “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) ของพุทธศาสนาเองที่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยมากกว่า

ผมหมายความว่า ถ้าจะอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมการเมือง ทำไมจึงไม่นำทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนามาอ้างถึง หรือเป็นจุดยืนในการต่อสู้!

ทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือทัศนะเรื่อง “ความยุติธรรม” หรือทัศนะที่ว่า สังคมการเมืองที่มีความเป็นธรรมควรกำหนดโครงสร้างอำนาจ กติกาการอยู่ร่วมกันบน “หลักความยุติธรรม” (the principle of justice) อะไร

ทัศนะดังกล่าวนี้ เราสามารถเห็นได้จากข้อโต้แย้งของพระพุทธเจ้าต่อแนวคิดเรื่องความยุติธรรม ของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือว่าสังคมที่ยุติธรรมคือสังคมที่จัดระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกแห่ง สังคมแบบ “อินทรียภาพ” (organism) เช่น ระบบวรรณะ 4 คือ การกำหนดชนชั้นสูง-ต่ำทางสังคมตามโครงสร้างของร่างกายว่า คนในวรรณะพราหมณ์เกิดจากปากของพรหม กษัตริย์เกิดจากแขน (หรือไหล่) ของพรหม จึงเป็นชนชั้นสูง มีอภิสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนทั่วไป แพศย์เกิดจากสะดือเป็นสามัญชน ขณะที่ศูทรเกิดจากเท้าของพรหมจึงเป็นคนชั้นต่ำ

คนในแต่ละชนชั้นต่างมีหน้าที่ที่แน่นอนของตนเอง เช่น กษัตริย์เป็นนักรบ พราหมณ์สอนศาสนาและจัดการศึกษา แพศย์ค้าขาย สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ศูทรเป็นคนรับใช้ หรือผู้ใช้แรงงาน ในทัศนะของศาสนาพราหมณ์การที่คนแต่ละชนชั้นไม่เสมอภาคกันไม่ใช่ความไม่ ยุติธรรม เพราะความยุติธรรม หมายถึง การที่คนในแต่ละชนชั้นต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน เหมือนนิ้วมือแต่ละนิ้วแม้ไม่เท่ากัน แต่ต่างทำหน้าที่ของตนไม่ก้าวก่ายกัน

พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว จึงเสนอข้อโต้แย้งว่า 1) ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดจากพรหม ทุกคนล้วนเกิดจากโยนีของมารดา 2) ระบบวรรณะ 4 ไม่ได้ถูกำหนดไว้โดยพระพรหม แต่เป็นผลของวิวัฒนาการทางสังคม 3) คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นกับชาติกำเนิดแต่อยู่ที่ “กรรม” หรือการกระทำ ฉะนั้น ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรม หรือการกระทำ

การที่พระพุทธเจ้าถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรมหรือการกระทำมีความหมายสำคัญว่า “บุคคลเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม” คือ ภายใต้กฎศีลธรรมเดียวกันทุกคนทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว เสมอเหมือนกัน ไม่สามารถอ้างสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้นมาเป็นข้อยกเว้น หรือเป็นข้อซ้ำเติมได้

และในเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำนั้น พุทธศาสนาถือว่า การกระทำเกิดจาก “เจตนา” หรือเสรีภาพในการเลือกกระทำของแต่ละบุคคล เมื่อเราเลือกทำสิ่งที่ดี หรือชั่วอย่างอิสระด้วยตนเอง เราจึงต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำที่ตามมา การที่เรามีเสรีภาพเลือกการกระทำเท่ากับเรามีเสรีภาพเลือกปกครองตนเองได้ ด้วย อย่างที่เรียกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งหมายถึง เราสามารถเลือกกระทำสิ่งที่ดีทางศีลธรรมได้ด้วยเสรีภาพของตนเอง การเลือกทำสิ่งที่ดีด้วยตนเองได้ เท่ากับเลือกปกครองตนเองให้เดินตามครรลองที่ถูกต้องได้

แน่นอนว่า พุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์มีกิเลส แต่พุทธศาสนาก็สอนด้วยว่า มนุษย์สามารถมีเสรีภาพจากกิเลส (วิมุติ) ได้ ซึ่งเสรีภาพจากกิเลส ก็คือผลขั้นสุดท้ายของการใช้เสรีภาพในการเลือกทำความดีนั่นเอง

ฉะนั้น ความคิดที่ว่ามนุษย์เสมอภาคกันโดยการกระทำ หรือเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม และมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกกระทำ หรือมีเสรีภาพปกครองตนเอง (พึ่งตนเอง) ได้ สะท้อนว่า “หลักความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา คือหลักความเสมอภาคและเสรีภาพ รูปธรรมของชุมชนทางพุทธศาสนาที่ยึดหลักความยุติธรรมดังกล่าวนี้คือ “สังฆะ” หรือชุมชนสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

แต่ชุมชนสงฆ์เถรวาทไทยปัจจุบันกลับมีระบบชนชั้นเข้มข้นมาก คือ “ระบบสมณศักดิ์” ที่เป็นเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคราชาธิปไตยและมีวิวัฒนาการมาภาย ใต้ระบบราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาเองนอกจากไม่มีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้มีความ เสมอภาคและมีเสรีภาพตามหลักคำสอนครั้งพุทธกาลแล้ว คำสอนของพุทธในระยะต่อมายังถูกตีความ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นตามวัฒนธรรมทางสังคมการเมืองแบบราชา ธิปไตย และสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย

พุทธศาสนาเถรวาทไทยในปัจจุบันนี้ก็คือ “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ยังถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่อย่างเข้มข้น ฉะนั้น พระสงฆ์และชาวพุทธที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนา ในการต่อสู้ทางการเมืองในระยะ 5 ปี มานี้ จึงเป็นการอ้างธรรมะและพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้อยู่เหนือประชาธิปไตยทั้งโดยตรง และโดยปริยาย

ฉะนั้น การอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางการเมืองอย่างที่ทำๆ กันมานี้ จึงควรถูกตั้งคำถามว่า ในเมื่อหลักความยุติธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรมทางสังคมของพุทธ ศาสนานั้น คือ “หลักเสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักที่พุทธศาสนาใช้ปฏิเสธระบบวรรณะ 4 มาก่อน แต่ทำไมหลักการดังกล่าวนี้จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดยืนในการต่อสู้ทาง การเมืองเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทว่าการอ้างธรรมะและพุทธศาสนากลับเป็นไปในทางสนับสนุนอุดมการณ์ทางชนชั้น มากกว่า

ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่พระสงฆ์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาต้องตอบ และเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ และ/หรือระบบการศึกษาสงฆ์ควรทบทวนให้ชัดเจนว่า การประยุกต์พุทธศาสนากับปัญหาสังคมการเมืองนั้น ทำอย่างไรจะไม่เป็นการนำศีลธรรมเชิงปัจเจกมาเสนอ “ทางออกเทียมๆ” แก่สังคม และทำอย่างไรจึงจะอ้างอิงหลักศีลธรรมทางสังคม หรือ “หลักสังคมที่มีความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมาก ขึ้น