หมายเหตุ ผู้เขียนขอใช้คำว่า “เมียนมาร์” แทน “เบอร์มาร์” ในบทความนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล จะขออธิบายในบทความอีกบทความหนึ่งที่จะเขียนขึ้นในเร็ว ๆ นี้
การเดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ทุกเล่ม และเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
คลินตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯคนแรกในรอบ 56 ปีที่เยือนเมียนมาร์ ทำให้ชื่อของประเทศยากจนที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างเมียนมาร์กลับ มาปรากฎต่อสายตาผู้เสพสื่ออย่างเราๆ ท่านๆ อีกครั้งหลังจากที่ชื่อของประเทศนี้ถูกทำให้เลือนหายไปในความทรงจำมาเนิ่น นานนับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาร์เริ่มปิดประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980
บทบาทของฮิลลารี คลินตัน กับท่าทีที่ค่อนข้างผ่อนคลายของรัฐบาลเมียนมาร์ต่อรัฐบาลสหรัฐฯอย่างที่ไม่ เคยมีมาก่อนในครั้งนี้อาจทำให้สาธารณชนประหลาดใจ แต่ “ไม่พลิกโผ” สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองและประวัติศาสตร์เมียนมาร์ นอกจากการเยือนเมียนมาร์ของหญิงเหล็กอย่างคลินตันจะเป็นประเด็นร้อนในหมู่ ผู้บริโภคสื่อทั่วไป ประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ปรมาจารย์ด้านเมียนมาร์ศึกษา (อันหมายรวมถึงทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมวิทยา ฯลฯ) หลายคนต้องออกโรงวิจารณ์ประเด็นนี้ในสื่อหลายแขนง ทั้งในรูปแบบของบทความในหนังสือพิมพ์ชั้นนำ หรือบทวิจารณ์ในเว็บไซต์ต่าง ๆ อันเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
โรเบิร์ต เอช เทเลอร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายอเมริกันที่คลุกคลีในวงการวิชาการ การเมืองเมียนมาร์มาอย่างยาวนานกว่านักวิชาการคนอื่น ๆ ทั้งยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลเมียนมาร์ เขียนบทความที่น่าสนใจชื่อว่า “US commentary misguided” ลงหนังสือพิมพ์ Strait Times ในบทความชิ้นนี้ เทเลอร์วิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯที่มีต่อเมียนมาร์ (และกับประเทศขนาดเล็กอื่น ๆ) อย่างหนัก เขาเห็นว่า ท่าทีของสหรัฐฯที่เน้นประเด็นเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมาร์เป็น พิเศษ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการกันเมียนมาร์ออกจากใต้ร่มอิทธิพลของจีนนั้นเป็น เรื่องที่ชวนให้ขบคิดอย่างมาก[1]
หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์เยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการในปีเดียว กับที่สงครามเวียดนามปะทุขึ้น เหตุผลหลักและเหตุผลเดียวที่ทำให้ฟอสเตอร์ ดัลเลสจำเป็นต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์กับเมียนมาร์และให้ความสำคัญกับเมีย นมาร์เป็นพิเศษทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีชาวอเมริกันน้อยคนที่รู้จักประเทศนี้คือ สหรัฐฯมีความจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อโน้มน้าวให้เมียนมาร์เข้าร่วม สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน โดยหวังว่า เมียนมาร์จะเชื่อมั่นการเป็นผู้นำฝ่ายเสรีประชาธิปไตยของสหรัฐฯและยอมเซ็น สนธิสัญญาซีโต (SEATO – Southeast Asia Treaty Organization) ตามไทยและฟิลิปปินส์
เทเลอร์จึงเห็นว่า การเยือนกรุงย่างกุ้งและกรุงเนปยีด่อของคลินตันในครั้งนี้มีวาระซ่อนเร้นที่ แทบจะไม่แตกต่างจากการเยือนเมียนมาร์ของ ดัลเลสในปี 1955 เทเลอร์เชื่อมั่นว่า จุดประสงค์การเยือนเมียนมาร์ในครั้งนี้ของคลินตัน ไม่ได้มีจุดหมายปลายทางอยู่แต่กับเมียนมาร์เท่านั้น แต่สหรัฐฯยังต้องการแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า สหรัฐฯยังเป็น “เพื่อน” และเป็น “ที่พึ่ง” ให้กับเอเซียได้อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
การเยือนเมียนมาร์ของทั้งดัลเลสและคลินตันถูกทำให้กลายเป็น “ความสำเร็จ” ก้าวใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและเมียนมาร์ แต่เทเลอร์ได้เตือนให้เราคิดว่า ในอันที่จริงการที่รัฐบาลสหรัฐฯจะตัดสินใจเป็นมิตรหรือศัตรูกับรัฐบาลเมีย นมาร์แทบไม่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองของเมียนมาร์เลย เมื่อนายพลเนวินเยือนสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ปี 1966 ทั้งเมียนมาร์และสหรัฐฯต่างฝ่ายต่างไม่มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องใด ๆ ทำให้นายพลเนวินกลับเมียนมาร์มือเปล่า และด้วยความที่เมียนมาร์รักษาสถานะความเป็นกลางในช่วงสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯเองก็ไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากฝ่ายเมียนมาร์ได้อีก
การเยือนเมียนมาร์ของคลินตันในครั้งนี้ ถ้าดูให้ดี ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเยือนสหรัฐฯของนายพลเนวินเมื่อ 45 ปีก่อนเท่าใดนัก เหตุการณ์ที่ติดตราตรึงใจผู้ติดตามข่าวนี้ ไม่ใช่การพบปะหารือระหว่างคลินตันกับประธานาธิบดีเตงเส่ง ณ กรุงเนปยีด่อ แต่เป็นการพบกันครั้งแรกของสตรี 2 คนที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า เป็นสตรีที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการเมือง ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงสองวันกับอองซานซุจี แสดงให้เห็นว่า ทีมงานของคลินตันทั้งที่วอชิงตันดีซีและในย่างกุ้ง (สถานเอกอัครทูตสหรัฐฯประจำเมียนมาร์ก็แทบจะอยู่ติดกับรั้วบ้านพักของอองซาน ซุจี) ทำงานอย่างหนัก เพราะแม้ว่าคลินตันจะอภิปรายประเด็นการเมืองหนัก ๆ ทั้งกับอองซานซุจีและกับประธานาธิบดีเตงเส่ง แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าฝ่ายเมียนมาร์จะรู้สึกอึดอัด แม้แต่กระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลเมียนมาร์อย่างหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar (เมียนมาร์อะลิ่ง) ก็พูดถึงการเข้าคารวะอองซานซุจีของนางคลินตัน [2]
ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ในสมัยรัฐบาลทหาร ชื่อของอองซานซุจี ถือเป็นชื่อต้องห้ามที่ไม่มีสื่อใดกล้าพูดถึงเลยนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990
สำหรับเทเลอร์ การพบกันของสตรีทั้งสองดูเหมือนจะไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับเขา เทเลอร์ลงท้ายบทความของเขาด้วยคำพูดที่อาจจะทำให้นักเรียกร้องประชาธิปไตย หลาย ๆ คนอาจต้องผิดหวัง เขากล่าวไว้ว่า
“นางคลินตันจะมีโอกาสถ่ายรูปร่วมกับอองซานซูจี แต่อองซานซูจีคงจะจำได้ว่า การพบปะสนทนาที่มีใจความเกี่ยวกับเธอและความสำคัญของประชาธิปไตยในประเทศที่ ชาวอเมริกันยังคงยืนกรานจะเรียกว่าเบอร์ม่า (Burma) ทั้งเธอและเบอร์ม่าหรือเมียนมาร์ไม่ได้อยู่ในความทรงจำของทั้งประธานาธิบดี บิล คลินตัน และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชอีกต่อไปแล้ว
แมเดอลีน อัลไบรท์เป็นข้าราชการชั้นสูงสหรัฐฯคนสุดท้ายที่ได้ถ่ายรูปกับ ‘คุณหญิง’ (‘The Lady’ - เป็นชื่อเรียกที่หลายคนโดยเฉพาะสื่อต่างชาติใช้เรียกเพื่อแสดงความยกย่องออ งซานซุจี – ผู้เขียน) แต่ว่าใครยังจำอัลไบรท์ได้ในทุกวันนี้ล่ะ?”
ความเห็นของเทเลอร์เป็นความเห็นที่ออกจะเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐบาลทหาร เมียนมาร์ เพราะเขาเป็นนักวิชาการตะวันตกในสายรัฐศาสตร์หนึ่งในสองคน (เท่าที่ผู้เขียนทราบ) ที่มีสายสัมพันธ์ขั้นดีมากกับรัฐบาลเมียนมาร์ แต่สำหรับนักวิชาการที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเมียนมาร์โดยสิ้นเชิงอย่าง เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ นักวิชาการ-นักหนังสือพิมพ์ชาวสวีเดน (ลินท์เนอร์อยู่ในบัญชีดำที่ห้ามเข้าประเทศเมียนมาร์) ที่คร่ำหวอดในวงการศึกษา “คนชายขอบ” หลาย ๆ กลุ่มตามตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ก็จะมีความเห็นที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้น เชิง ความเห็นของลินท์เนอร์ ปรากฎในเวบไซท์ของนิตยสาร Foreign Policy โดยใช้หัวเรื่องว่า ‘Realpolitik and the Myanmar Spring’[3]
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนเริ่มนำนโยบายปฏิรูปของเมียนมาร์ไปเปรียบเทียบกับนโยบายกลาสนอสต์-เป เรสทรอยกาของโซเวียต และถึงกับเริ่มเรียกประธานาธิบดีเตงเส่งว่า “กอบาชอฟแห่งเมียนมาร์” ด้วยนโยบายการเมืองและการต่างประเทศที่ดู “ซอฟท์” ลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในรัฐบาลนายพลตานฉ่วยก่อนหน้านี้
‘การปฏิรูปทางการเมือง’ ดังกล่าวเห็นได้จากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี การปล่อยตัวอองซานซุจี การปล่อยนักโทษการเมืองหลายคน หรือแม้แต่การที่รัฐบาลเมียนมาร์แสดงเจตจำนงที่จะปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราสามารถเชื่อได้เพียงใดว่า รัฐบาลเมียนมาร์มีความจริงใจอย่างแท้จริง? ลึก ๆ แล้วการเยือนเมียนมาร์ของคลินตันครั้งนี้ก็คงมาจากความสงสัยหรือความหวาดระ แวงเมียนมาร์ตรงจุดนี้มากกว่าเรื่องอื่น
แต่ลินท์เนอร์กลับมองการเยือนเมียนมาร์ของบุคคลสำคัญในรัฐบาล ประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ว่า เต็มไปด้วยวาระซ่อนเร้นที่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ทั้งลับและไม่ลับ) ของเมียนมาร์ กับจีน และเกาหลีเหนือ
สำหรับจีน การคว่ำบาตรที่โลกตะวันตกมีต่อเมียนมาร์ นับตั้งแต่เหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่ สุดที่รู้จักกันในนาม 8888 ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 เป็นโอกาสที่ดีของจีนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับโลกเสรีตะวันตกอยู่แล้วในการขยาย แผนการลงทุนในเมียนมาร์ ส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุนานาชนิดที่ยังมีอยู่เหลือเฟือในเมียนมาร์ อีกส่วนหนึ่ง เพราะจีนเล็งเห็นโอกาสด้านการส่งออกในเมียนมาร์
ลินท์เนอร์อ้างข้อเขียนของนาย Pan Qi อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสื่อสารของจีน ชื่อเรื่องว่า ‘Opening to the Southwest: An Expert Opinion’ ที่เขียนมาตั้งแต่ปี 1985 ลินท์เนอร์อ้างว่า ข้อเขียนชิ้นที่ปรากฎในนิตยสาร Beijjing Review ถือเป็นการเริ่มต้นนโยบายต่างประเทศสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางการ ค้าและการทหารระหว่างจีนกับเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ การลงทุนและมูลค่าการส่งออกมหาศาลไหลจากจีนไปสู่เมียนมาร์ ลินท์เนอร์อ้างว่า ในระหว่างปี 1988 ถึง 1998 มูลค่าการส่งออกอาวุธที่จีนขายให้กับเมียนมาร์มีมูลค่าสูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมาร์เป็นไปในลักษณะ “วิน-วินซิตูเอชั่น” มาตลอดต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้จีนได้สัมปทานการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ที่จะเชื่อมอ่าวเบงกอล (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาร์ ในเขตรัฐยะไข่) กับเมืองคุนหมิงในมณฑลยุนนานของจีน ด้านเมียนมาร์ก็ได้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลราว 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปใช้ลงทุนหลัก ๆ เช่น ในโครงการสร้างเขื่อน ซึ่งพลังงานที่ได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะถูกส่งกลับไปยังจีน
นโยบายแลไปข้างหน้าด้วยกันของทั้งจีนกับเมียนมาร์ได้แสดงให้โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯอเมริกา (ส่วนชาติต่าง ๆ ในยุโรปคงห่วงแต่สถานภาพทางการเงินของตนเองก่อนในขณะนี้) ต้องเริ่มหันกลับมาทบทวนนโยบายต่างประเทศของตน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับเมียนมาร์ แต่กับจีนและชาติอื่น ๆ ในอาเซียนที่ต่างได้ผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเมียนมา ร์ทั้งสิ้น
แม้ความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเมียนมาร์จะดูดี แต่คงจะไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่า ในโลกแห่งผลประโยชน์และการเมืองระหว่างประเทศย่อมไม่มีมิตรรักและศัตรูถาวร เมียนมาร์เองก็มิได้พอใจกับบทบาทและอิทธิพลของจีนที่มีอยู่ล้นเหลือในประเทศ ของตนสักเท่าใดนัก การผลักดันชาวจีนที่ไหลทะลักเข้ามายังทางตอนเหนือของเมียนมาร์กลับประเทศ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เมียนมาร์เริ่มบาดหมางกับจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่มาเห็นได้ชัดขึ้น เมื่อนายพลขิ่นยุ้น นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่เป็นกระบอกเสียงใหญ่ให้กับรัฐบาลจีนถูกปลดเมื่อปี 2004 และยิ่งมาปะทุหนักเมื่อรัฐบาลของเตงเส่งในปัจจุบัน ตัดสินใจแขวนโครงการสร้างเขื่อนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่มีจีนเป็น สปอนเซอร์รายใหญ่
นโยบายแลไปข้างหน้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาลระหว่างจีนกับเมียนมาร์ในสมัย ประธานาธิบดีเตงเส่งจึงถูกพับเอาไว้ คนในรัฐบาลเมียนมาร์หลายคนก็เริ่มทักท้วงให้รัฐบาลเปลี่ยนทีท่าและเริ่ม สถาปนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯอีกครั้งหนึ่งพร้อม ๆ กับการหันมาแสดงทีที่เป็นมิตรกับอาเซียนมากขึ้น
แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯจำเป็น (หรือจำใจ) ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับเมียนมาร์ และทำตัวเป็นนักการทูตแทนที่จะเป็นนักสิทธิมนุษยชนคือข่าวความสัมพันธ์ระ หว่างเมียนมาร์กับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะความร่วมมือทางการทหารและพลังงานที่มีข่าวว่าทั้งสองประเทศร่วมกัน พัฒนาระเบิดนิวเคลียร์[4]
ลินท์เนอร์อ้างว่า การเยือนเกาหลีใต้ของคลินตันเพียงไม่กี่วันก่อนการเยือนเมียนมาร์เป็นตัวชี้ วัดได้อย่างดีว่า สหรัฐฯต้องการให้เกาหลีใต้ช่วยตนตะล่อมให้เมียนมาร์เลิกติดต่อกับเกาหลี เหนือ
ด้านโทรทัศน์ช่องข่าวอัลจาซีรา ที่ทำสกู๊ปเจาะลึกประเด็นนี้ได้เด่นกว่าช่องอื่น ๆ ได้สัมภาษณ์นักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีผลงานเกี่ยวกับเมียนมาร์ ไมตรี อ่องทวิน และหม่องซานี อาจเป็นนักวิชาการสองคนที่ไม่เป็นที่รู้จักนักในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร์โดยตรง แต่สำหรับผู้ที่คลุกคลีกับนักวิชาการด้านเมียนมาร์แล้ว ทั้งไมตรี อ่องทวิน และหม่องซานี เป็นนักวิชาการยังเติร์กที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจมากที่ผู้ดำเนินรายการเจมส์ เบส์ ถามหม่องซานีคือประเด็นการบ้านการเมืองชื่อประเทศเมียนมาร์ ที่หลายคนยังคงยึดกับชื่อเก่าคือ “เบอร์ม่า” แทนที่จะเรียกว่า “เมียนมาร์” แต่สำหรับฮิลลารี คลินตัน เมื่อเลือกจะไม่ใช้ทั้งสองชื่อ หมายความว่า เลือกที่จะละชื่อประเทศ สำหรับเรื่องนี้หม่องซานี ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า สหรัฐฯต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เมียนมาร์น้อยใจหรือตะขิดตะขวงใจ ซานีเชื่อว่า นี่คือสงครามเย็นระลอกใหม่ที่สหรัฐฯจะรบกับจีน จึงทำให้คลินตันต้องเดินสายพบปะพูดคุยกับพันธมิตรในฝ่ายของตนที่มีอยู่แต่ เดิมและก็ต้องสร้างมิตรเพิ่มขึ้นด้วย[5]
ซานียังเสริมด้วยว่า สิ่งที่ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์เกรงกลัวเป็นพิเศษ ไม่ใช่การคว่ำบาตรหรือการลดความสัมพันธ์กับจีน แต่เป็นความเกรงกลัวที่เกิดจากการปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ (Arab Spring) ที่รัฐบาลที่ผูกขาดอำนาจมาอย่างยาวนานทั้งในอียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย ฯลฯ ต่างก็มีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ความกลัวและความระแวง (ที่ในอดีตส่งผลให้กษัตริย์หลายพระองค์หรือแม้แต่รัฐบาลทหารย้ายเมืองหลวงมา แล้วหลายต่อหลายครั้ง-ผู้เขียน) นี้ เป็นหอกทิ่มแทงใจนายพลในรัฐบาลและกองทัพเมียนมาร์มาหลายยุค รัฐบาลเมียนมาร์จึงชิงปล่อยตัวอองซานซุจี เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนการประท้วงที่ต่อมาจะพัฒนาเป็นการปฏิวัติใน อียิปต์
กล่าวโดยสรุป แม้สื่อหลายแขนงจะให้ความสำคัญกับการเยือนเมียนมาร์ของคลินตันมาก บ้างเรียกว่าเป็น “การเยือนเมียนมาร์ครั้งประวัติศาสตร์” แต่ในวงการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองเมียนมาร์แล้ว ไม่มีนักวิชาการแนวหน้าคนใดที่เห็นว่าการปรากฎตัวของคลินตันในประเทศที่ปิด ตายตัวเองมากว่า 2 ทศวรรษ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นหรือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดที่เคยเกิดขึ้นใน เมียนมาร์ในรอบหลายปี
แต่นักวิชาการเกือบทุกคนเห็นว่า ความพยายามปฏิรูปการเมืองในเมียนมาร์พร้อม ๆ กับการก่อตัวของประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ยิ่งเมียนมาร์ได้รับเลือกให้เป็นประธานอาเซียนในปี 2014 และกับบทบาทเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเนปยีด่อในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นยุค “เมียนมาร์ฟีเว่อร์” ก็เป็นได้
ป.ล. อย่าลืมว่าที่ผ่านมา เลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่เป็นคนเอเซียมีอยู่เพียง 2 คน คนหนึ่งคือนายบันคีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบัน และอีกคนหนึ่งคือ อูถั่น และอูถั่น ยังเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติที่ดำรงตำแหน่งนี้นานที่สุด ถึง 10 ปีด้วย
[1] บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ Strait Times เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม แต่ไม่สามารถเข้าถึงบทความนี้จากเวบไซท์ของหนังสือพิมพ์ Strait Times ได้ แต่สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://file2.uploadfile.biz/i/IMIMMEIIIXENWM
[2] ‘US Secretary of State Mrs Hillary Clinton concludes visit’ ใน New Light of Myanmar ฉบับวันที่ 2 ธันวาคม 2011 http://www.myanmar.com/newspaper/nlm/index.html
[3] อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ http://www.foreignpolicy.com/articles/2011/11/30/democracy_myanmar_china_clinton
[4] ดูรายงานของอัลจาซีราห์เรื่องความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเมียนมาร์ (มี 4 ช่วง) ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=oUa_OODAjNQ